สัมผัสธรรมชาติ ปางช้างแม่ตะมาน

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ ไม่มีข่าวสารไหนที่จะได้รับความสนใจมากไปกว่าน้ำท่วม นับว่าเป็นอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ทำให้หลายครอบครัวต้องอพยพหนีน้ำท่วมออกต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก

จังหวัดเชียงใหม่ ภาคเหนือตอนบน เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ประชาชนคนไทยเลือกที่จะหนีน้ำท่วมมาพักพิงเป็นการชั่วคราว จนทำให้โรงแรมบางแห่งถึงกับติดป้ายประกาศขนาดใหญ่ไว้หน้าโรงแรมว่า “ช่วย เหลือน้ำท่วม ลดราคาห้องพักเหลือ 4,900 บาทต่อหนึ่งสัปดาห์”

นอกจากโรงแรมแล้ว ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวก็คึกคักมากเป็นพิเศษ ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหนาว ฤดูกาลท่องเที่ยว

อำไพพรรณ ทับทอง เจ้าของธุรกิจ ปางช้างท่าแพแม่ตะมาน หรือปางช้างแม่ตะมาน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีประสบการณ์ในการให้บริการท่องเที่ยวขี่ช้างสัมผัสธรรมชาติ ให้ความเห็นเกี่ยวกับบรรยากาศท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงนี้ว่า บรรยากาศการท่องเที่ยวกลับมา คึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะคนไทยบางส่วนหนีน้ำท่วมมาท่องเที่ยว แต่มีผลเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

ภาพรวมการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ในปีนี้เริ่มกลับมาดีขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบด้านการเมืองติดต่อกันมาเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งในตอนนั้นยอมรับ ว่าเป็นวิกฤติของธุรกิจท่องเที่ยว

จากตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า จังหวัดเชียงใหม่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศโดยเฉลี่ย ประมาณ 2 ล้านคน ในปี 2553 นักท่องเที่ยวคนไทย 1,659,438 คน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 1,110,704 คน โดยมีนักท่องเที่ยว จากสหรัฐอเมริกา เป็นอันดับ 1 จำนวน 125,885 คน ญี่ปุ่น 116,430 คน ฝรั่งเศส 85,548 คน ออสเตรเลีย 80,881 คน และอังกฤษ 74,022 คน และมีรายได้ประมาณ 35,124,000 ล้านบาท

ส่วนปี 2552 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1,020,465 คน และคนไทย จำนวน 1,373,923 ราย มีรายได้ประมาณ 32 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบจำนวน นักท่องเที่ยวทั้งประเทศจะพบว่านักท่องเที่ยวจะเลือกเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนอันดับสองพัทยา ชลบุรี ส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นอันดับ 3

ประสบการณ์ให้บริการธุรกิจท่องเที่ยวของอำไพพรรณ ทับทอง กว่า 22 ปี ทำให้ปางช้างแม่ตะมานต้องปรับตัวตลอด เวลาเพื่อต่อสู้กับคู่แข่งและรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อย่างเช่นเหตุการณ์ ไข้หวัดนก โรคซาร์ส หรือการเมือง แต่จุดขายของจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงเป็นเรื่องของวัฒนธรรม และธรรมชาติ เหมือนเช่นปางช้างแม่ตะมาน เส้นทาง การเดินทางออกจากอำเภอเมือง ผ่านอำเภอแม่ริม ไปสู่อำเภอแม่แตง ทอดยาวเป็นเส้นทางตรง หลังจากนั้นลัดเลาะเข้าสู่ถนนสายรองเข้าตำบลกื๊ดข้าง ที่มีป่าไม้เขียวปกคลุมทั้งสองข้างทาง และมีแม่น้ำสายเล็กๆ ชื่อแเม่น้ำแม่แตงไหลคู่ขนานไปกับถนน เพื่อเข้าสู่หมู่บ้านแม่ตะมาน มีระยะทางประมาณ 50 กิโล เมตร ใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมงด้วยรถยนต์

แม้ว่าต้นเดือนพฤศจิกายนจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีฝนตกประปรายสลับกับแดดออกทั้งวัน แต่ดูเหมือนว่านักท่องเที่ยวต่างชาติก็ไม่ยี่หระและต่างรอคอยที่จะขึ้นขี่ช้างเพื่อท่องป่า หลังจากได้ชมการแสดงของช้างเสร็จสิ้นลง

นักท่องเที่ยวหลักของปางช้างแม่ตะมาน ส่วนใหญ่เป็นกรุ๊ปทัวร์จากยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คาดหมายมาที่นี่ เพื่อต้องการขี่ข้าง ชมการแสดงและอิงแอบธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งมีวิถีชีวิตแตกต่างจากคนตะวันตก

ภาพแรกที่เห็นและจากการเดินชมบางส่วนอาจจะคิดว่ามีเพียงการขี่ช้าง ล่องแพไม้ไผ่ นั่งเกวียน และร้านจำหน่ายของที่ระลึก

หากกิจกรรมมีเพียงเท่านี้ ธุรกิจอาจ ไม่สามารถดูแลจำนวนพนักงานกว่า 290 คนและช้าง วัว รวมกว่า 100 ตัวได้อย่างแน่นอน

อำไพพรรณ หรือ “แม่เลี้ยง” ที่พนักงานหรือบุคคลทั่วไปมักเรียกติดปาก เล่าให้ผู้จัดการ 360 ํ ฟังว่า เนื้อที่ปางช้างแม่ตะมาน 70 ไร่ และพื้นที่ล้อมรอบอีก 30 ไร่ นอกเหนือจากการให้บริการนักท่องเที่ยว ในแต่ละวันแล้ว ปางช้างยังมีกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้ได้สัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริง หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การสัมผัสธรรมชาติแบบดิบๆ เช่น มีบ้านพักให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างคืน โดยสถานที่พักจะไม่มี ไฟฟ้า กลางคืนจะจุดตะเกียง รวมไปถึงทดลองทำอาหารกินเอง ซักผ้าเอง

“มีครอบครัวต่างชาติรายหนึ่งได้มาเที่ยวปางช้างและชอบใจ อยากกลับมาพักค้างคืนเพื่อสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เขาเช็กเอาต์จากที่พักโรงแรม ดาราเทวี ราคาค่าห้องหลายหมื่นบาทมาพักของเราไม่กี่พันบาท”

การผจญภัยในรูปแบบดังกล่าวไม่ได้ให้บริการเฉพาะครอบครัวเท่านั้น บางครั้งมีโรงเรียนนานาชาติมาติดต่อเพื่อให้เด็กนักเรียนได้เข้ามาเรียนรู้ประสบการณ์ เพื่อสัมผัสบ้านที่ไม่มีไฟฟ้า ต้องทำอาหารรับประทานเอง เช่น ไข่เจียว ผัดผัก ถนนทางเข้ายังเป็นดินลูกรังตลอดสาย และอยู่ร่วมกับชาวเขาเผ่าลีซอ

นอกจากนี้ยังรับอาสาสมัครที่ต้อง การมาเรียนรู้วิถีชีวิตช้าง โดยเฉพาะชาวต่างชาติจะให้ความสนใจ มีกิจกรรมหลักๆ เช่น ป้อนอาหาร อาบน้ำช้าง เก็บขี้ช้างขายของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งปางช้างจะมีอาหารและที่พักให้กับอาสาสมัคร เช่น สร้างบ้านต้นไม้ให้พักและอยู่ระหว่าง การก่อสร้างบ้านพักเพิ่มเติมเพื่อรองรับอาสาสมัคร

กิจกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เกิดจากการเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าที่ต้องการสัมผัสกับธรรมชาติ และแนวโน้มของนักท่องเที่ยวไม่ได้ปรารถนาเพียงเข้าไปชมการแสดงชั่วระยะเวลาอันสั้นๆ แต่การเข้า ไปสัมผัสวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นได้พูดคุย ร่วมแบ่งปันประสบการณ์นับเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับนักท่องเที่ยว

ความต้องการของนักท่องเที่ยวจึงกลายเป็นโอกาสของธุรกิจทัวร์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศสามารถเสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้กับลูกค้า

นอกจากรายได้หลักที่เกิดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าร้อยละ 80 แล้ว หรือมีนักท่องเที่ยวราว 200-300 คนต่อวัน การแสดง 2 รอบต่อวัน ในช่วงเช้าและบ่าย สามารถเพิ่มการแสดงได้ กรณีกรุ๊ปทัวร์มาจอง ซึ่งเปิดเวลาพิเศษ 08.30 นาฬิกา

แม้ว่าปางช้างจะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไม่น้อย แต่ฤดูกาลท่องเที่ยวเชียงใหม่จะคึกคักมากเป็นพิเศษในช่วง ฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลา 2-3 เดือนเท่านั้น แต่หลังจากนั้นลูกค้าจะลดน้อยลง ดังนั้นการหารายได้ของปางช้างแม่ตะมานไม่ได้พึ่งนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว

การให้บริการนอกสถานที่เป็นอีกบริการหนึ่งที่ปางช้างให้บริการ คือ นำช้าง ไปรับจ้างในงานบวช แห่นาค เทศกาลต่างๆ ที่ต้องการใช้ช้างในการจัดขบวนในพิธีต่างๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการท้องถิ่น

การปรับตัวของปางช้างแม่ตะมาน เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน เพราะการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ แม้จะเป็นจังหวัดที่ภูเขาสวยงาม ตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดี เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทยก็ตาม แต่เนื่องด้วยปางช้างแม่ตะมานต้องพึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก การปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด จึงเป็นเรื่องสำคัญ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.