แบงก์ปล่อยกู้ฟื้นฟูกิจการน้ำท่วม

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลจากอุทกภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในรอบ 50 ปี และยืดเยื้อเป็นระยะยาวเกือบ 6 เดือน ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากที่สุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จีดีพีประเทศไทยจะติดลบถึง -3.6 และเศรษฐกิจได้รับความเสียหายมูลค่าราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งการประเมินในครั้งนี้เป็นเพียงการคาดการณ์จากธุรกิจเป็นหลัก

ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งออกมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปที่เป็นลูกค้าของแต่ละราย

กฤษฎา ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เชื่อว่าลูกค้ารายเล็กจะสามารถฟื้นฟูและกลับมาดำเนินกิจการปกติได้เร็วกว่าลูกค้ารายใหญ่ ที่มีการลงทุนสูงและต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกิจการที่นานกว่า

มีการคาดการณ์ว่าการฟื้นฟูธุรกิจของลูกค้าจะแบ่งเป็น 3 ช่วง โดยช่วงแรกเป็นช่วงสำรวจความเสียหาย เมื่อน้ำท่วมในบางพื้นที่เริ่มลดระดับลงเรื่อยๆ ลูกค้าสามารถเข้าสำรวจความเสียหายของธุรกิจ อุปกรณ์ เครื่องจักร ทำความสะอาดสถานที่ วางแผนฟื้นฟูกิจการ

ช่วงที่ 2 เป็นช่วงฟื้นฟูกิจการ การซ่อมแซมเครื่องจักร การสั่งซื้ออุปกรณ์และเครื่องจักรมาติดตั้งทดแทนส่วนที่เสียหายจากภาวะน้ำท่วม เริ่มสำรองวัตถุดิบ ช่วงที่ 3 เป็นช่วงเร่งการผลิตเต็มกำลัง เพื่อชดเชยการผลิตที่หายไปในช่วง น้ำท่วมและธนาคารมองว่าในไตรมาสสอง ปี 2555 ธุรกิจต่างๆ จะสามารถกลับมาผลิตได้เต็มกำลังอีกครั้ง

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือของธนาคารจะพิจารณาตามความเสียหายและความจำเป็นทางธุรกิจของลูกค้าแต่ละรายเป็นหลักภายใต้แนวคิด K-Value Chain Solutions ซึ่งหมายถึงจะปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่เอื้อต่อกันเป็นหลัก (รายละเอียดสินเชื่อในตาราง)

ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใน 32 จังหวัด มีถึง 2.4 แสนราย เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญประมาณ 20% ของจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมดของประเทศ

ส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารกสิกรไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยครั้งนี้มีทั้งสิ้น 14,118 ราย คิด เป็นวงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 37,173 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.6% ของสินเชื่อเอสเอ็มอีของ ธนาคาร

ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เช่น ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้าง โครงการหมู่บ้านจัดสรรต่างๆ ภาคอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ อาทิ เครื่องจักร และวัสดุอุปกรณ์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร จากพื้นที่การเกษตรในหลายจังหวัดได้รับความเสียหาย

ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนสำคัญของประเทศได้รับความเสียหายจำนวนมาก ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคที่ จ.อยุธยา และนิคมบางกระดี จ.ปทุมธานี

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ได้ปรับวงเงินช่วยเหลือจาก 1 หมื่นล้านบาทเป็น 2 หมื่นล้านบาท (รายละเอียดเพิ่มเติมในตาราง) ด้านธนาคารกรุงเทพได้ช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นวงเงิน 5 พันล้านบาท ภายใต้โครงการ ‘สินเชื่อบัวหลวงเอสเอ็มอี บรรเทาทุกข์จากอุทกภัย’ จนถึงสิ้นปีนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.