บทบาทของวิศวกรกับสังคมไทย


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528 ที่ผ่านมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปี ของการก่อตั้งคณะ ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นการครบรอบวาระ 72 ปีของการเผยแพร่วิชาการด้านวิศวกรรมในประเทศไทยก็ได้

ถ้าเราลองหันมาดูรอบตัวเราแล้ว

จะเห็นได้ว่าชีวิตของเราคงหนีไม่พ้นที่จะเกี่ยวข้องกับ “วิศวกร” ทำไมเราไม่ลองมาสนใจว่า วิศวกรเหล่านี้มีบทบาทอย่างไรกับสังคม และวิศวกรเองก็น่าที่จะสนใจมาทบทวนบทบาทของตน ว่ามีสิ่งใดหรือเปล่าที่จะช่วยกันเพื่อพัฒนาสังคม และประเทศชาติโดยส่วนรวมโดยมากกว่านี้

ท่านทราบไหมว่า ขณะนี้ประเทศไทยเรามีวิศวกรสักกี่คน คำตอบที่ได้อาจจะทำให้ท่านรู้สึกแปลกใจ เพราะขณะนี้เรามีคนที่ร่ำเรียนมาด้านนี้มากกว่าหมื่นคนทีเดียว แล้วบุคคลเหล่านี้ไปหลบหน้าหลบตาอยู่ที่ไหน ทำให้หลายๆ คนยังไม่เคยพบหรือรู้จักบทบาทที่แท้จริงของวิศวกรกันเลย

สาเหตุที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ วิศวกรหลาย ๆ ท่านไม่ได้ทำงานด้านนี้โดยตรง แต่ที่จริงท่านจะเคยได้สัมผัสหรือพูดคุยกับบุคคลเหล่านี้ไม่น้อยทีเดียว ตัวอย่างอันหนึ่งก็คงจะได้จากผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีผู้สมัครที่เป็นตัวเก็งถึง 2 ท่านที่ร่ำเรียนมาด้านวิศวกรรม คือ คุณมงคล สิมะโรจน์ และ พล.ต.ต. ม.ร.ว. เจตจันทร์ ประวิตร หรือนักการเมืองระดับรัฐมนตรีในหลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมาก็ล้วนแล้วแต่มาจากค่ายวิศวกร

ที่ดูเหมือนจะขาดอยู่ก็คงเป็นแต่นายกรัฐมนตรี ที่ส่วนมากจะมาจากสายทหาร แต่เราก็ยังน่าภูมิใจที่อย่างน้อย ตัวเก็งนายกฯ สมัยหนึ่งก็เป็นวิศวกรและอาจจะถือได้ว่าเป็นวิศวกรอาวุโสของประเทศทีเดียวคือ ดร.เชาว์ ณ ศีลวันต์

เมื่อเราเริ่มเห็นตัวอย่างวิศวกรผู้มีชื่อเสียงทางด้านวงการอื่นๆ ที่มิใช่สาขาที่ท่านเหล่านี้ได้เรียนมาโดยตรงแล้ว ลองหันมาดูท่านผู้บริหารระดับสูงของวงการราชการและเอกชนที่ยังคงต้องรับผิดชอบงานด้านนี้ดูบ้าง ถ้าจะให้บรรยายชื่อเสียงของบุคคลเหล่านี้ เนื้อที่ของบทความนี้ก็คงจะไม่เพียงพอเป็นแน่ คงจะพอยกตัวอย่างบุคคลที่เป็นที่รู้จักสัก 2-3 คน

คุณเกษม จาติกวนิช อดีตผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่าผลิตแห่งประเทศไทย

ดร.ทองฉัตร หงลดารมภ์ ผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ที่เป็นเครืออุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

จากบทบาทของท่านเหล่านี้ท่านคงจะเห็นแล้วว่า วิศวกรนั้นเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอยู่เสาหนึ่งทีเดียว

จากนี้เราควรที่จะมองในรายละเอียดว่า วิศวกรนั้นเข้าไปมีบทบาททางใดบ้างในแง่ของสังคมส่วนรวม ก่อนอื่นคงต้องแยกแนวทางพิจารณาออกเป็น 3 ทางด้วยกันคือ

การเกษตร

อุตสาหกรรม

คมนาคม

เมื่อพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจของบ้านเรา ก็คงไม่อาจมองข้าม การเกษตรและอุตสาหกรรมไปได้ ในแง่ของการเกษตร การชลประทานคงเป็นหัวใจสำคัญของการเกษตรบ้านเรา เพราะน้ำเป็นเหมือนเลือดที่ใช้หล่อเลี้ยงร่างกาย เกษตรกรถ้าขาดน้ำก็คงเหมือนคนเราขาดเลือด วิศวกรรมชลประทานถือได้ว่าเป็นวิชาการสาขาหนึ่งที่มีการเรียนการสอนในบ้านเรานานกว่า 40 ปีเข้าไปแล้ว โดยเริ่มจากโรงเรียนชลประทาน และต่อมาก็ขยับขยายออกมาเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เขื่อนและฝายต่าง ๆ คงจะเป็นผลงานที่พิสูจน์ความพยายามของวิศวกรที่มีต่อการเกษตรของประเทศได้อย่างดี

นอกเหนือจากงานด้านชลประทานแล้ว ยังมีอีกหลายสถาบันที่ได้มีการสอนด้านวิศวกรรมการเกษตร หลายคนคงจะไม่เข้าใจนักว่าวิศวะจะเข้าไปยุ่งอะไรกับการเกษตรได้ เพราะงานไม่น่าจะสอดคล้องกันเลย แต่ผลงานหลักของวิศวกรการเกษตรนั้นก็คือ การคิดค้นหาเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อช่วยทุ่นแรงด้านการเกษตรเป็นส่วนใหญ่

คราวนี้ลองมาดูงานด้านอุตสาหกรรมดูบ้างว่าวิศวกรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องขนาดไหน ในแง่ของอุตสาหกรรมนั้น วิศวกรมากมายหลายสาขาได้เข้ามามีบทบาทอย่างสูง อาทิ วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรโยธา วิศวกรเครื่องกล วิศวกรอุตสาหกรรม วิศวกรเคมี วิศวกรเหมืองแร่ หรือแม้แต่สาขาวิชาใหม่ เช่น วิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมการควบคุม วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เหล่านี้เป็นต้น งานของเขาเหล่านี้จะเป็นงานหลักของชาววิศวะทีเดียว เพราะมากกว่า 70% ของวิศวกรที่ทำงานอยู่ปัจจุบัน ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับงานด้านอุตสาหกรรม ไม่ว่าเป็นภาคราชการ อาทิ การไฟฟ้า การปิโตรเลียม กรมทรัพยากรธรณี หรือภาคเอกชน ดังเช่นโรงงานอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

ยิ่งรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจบ้านเราเท่าใด บทบาทของวิศวกรยิ่งต้องมีมากขึ้นเท่านั้น เขาเหล่านี้จะกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่นำวัตถุดิบมาแปรรูปให้เป็นสินค้า เขาจะต้องควบคุมการทำงานของเครื่องจักร ซ่อมแซมเมื่อเจ้าเครื่องยนต์กลไกเหล่านี้ทำงานไม่ได้ เขายังมีหน้าที่ดูแลและควบคุมคุณภาพของสินค้าที่ออกมาจากการผลิตให้ได้มาตรฐาน

หรืออาจกล่าวได้ว่า ในทุกกลไกของการทำงานในองค์กรด้านอุตสาหกรรมนั้น จะต้องมีบุคคลที่เราเรียกว่า “นายช่าง” หรือวิศวกรเข้าไปมีส่วนอยู่ทุกขณะจิต

การคมนาคมนั้นเปรียบเสมือนหัวใจของการพัฒนาประเทศ ถ้าโรงงานผลิตสินค้าเสร็จแล้วไม่มีถนนหนทางที่ดีในการที่จะนำสินค้าออกสู่มือประชาชน หรือการติดต่อธุรกิจถ้าขาดปัจจัยในการสื่อสาร อาทิ โทรศัพท์ โทรเลข แล้วไซร้ ก็คงจะไม่มีการพัฒนาด้านอื่น ๆ เกิดขึ้นแน่

ถ้าเรามองเห็นความสำคัญของการคมนาคมแล้ว ทำไมเราไม่ลองดูว่า วิศวกรนั้นไปมีบทบาทอย่างไรกับการคมนาคม

ท่านเคยได้ยินชื่อ “โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ” มั้ย ท่านลองผ่านไปตรงทางแยกลาดพร้าว ข้างๆ สวนจตุจักรดู ท่านจะเห็นป้ายชื่อสถาบันดังกล่าวตั้งเด่นอยู่ นั่นแหละครับคือสถาบันที่สร้างช่างทางด้านการคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศทีเดียว นอกเหนือจากรถไฟที่เป็นการขนส่งวิธีหนึ่งแล้ว วิศวกรรมการบิน วิศวกรรมด้านการขนส่งก็ยังคงเป็นงานอีกด้านที่วิศวกรได้มีโอกาสรับใช้สังคมด้านการคมนาคม

การสื่อสารซึ่งจัดว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการคมนาคมนั้นเล่า ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ โทรเลข หรือแม้แต่โทรสาร ที่เป็นวิทยาการใหม่ล่าสุดสำหรับเมืองไทย ก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นของวิศวกร จนถึงบัดนี้แม้แต่การควบคุมการซ่อมบำรุงต่าง ๆ ก็คงต้องอาศัยบุคคลเหล่านี้ดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด

ปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวล้ำหน้าเราไปมาก ทำให้เกิดสาขาวิชาวิศวกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นไม่น้อยทีเดียว อาทิ วิศวกรรมชีวภาพ วิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมพลังงาน และอื่น ๆ อีกมาก

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นภาพโดยรวมของวิศวกรที่มีบทบาทอย่างกว้างขวางในสังคมไทย และเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างสูง ดูได้จากเป้าหมายการเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนนั้น คณะวิศวะเป็นคณะแรก ๆ ที่หนุ่มสาวใฝ่ฝันอยากเข้ามาอยู่ แต่ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงที่วิศวกรพึงมีต่ออาชีพของตน แต่ที่จริงแล้วเขาเหล่านั้นยังมีความรับผิดชอบอีกส่วนหนึ่งในฐานะที่เป็นผู้นำหรือผู้ที่มีบทบาทชี้นำบุคคลชนชั้นต่าง ๆ จำนวนไม่น้อย

“วิศวกร” มีฐานะเป็นผู้นำของบรรดาช่างฝีมือ เขาต้องมีความสำนึกในความปลอดภัยของพนักงานใต้บังคับบัญชาของเขาด้วยนอกเหนือไปจากหน้าที่ประจำ และเหนือสิ่งอื่นใดเขายังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการควบคุมขบวนการผลิตให้ได้มาซึ่งสินค้าที่มีคุณภาพ ดูแลไม่ให้เกิดมลภาวะ ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ถึงแม้ว่าเรายังมีสถาบันที่คอยสอดส่องดูแลความเป็นไปของวิศวกรอยู่หลายหน่วยงาน อาทิ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท) คณะกรรมการควบคุมวิชาชีพวิศวกรรม (กว.) แต่หน่วยงานเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถควบคุมวิศวกรจำนวนนับหมื่นได้อย่างทั่วถึง ทำให้บางครั้งเกิดข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของวิศวกรอยู่หลายครั้ง ดังเช่นเมื่อเกิดตึกหรืออาคารถล่มลงมา บุคคลแรกที่จะถูกโจมตีก็คือวิศวกรที่ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ที่ละเลยหน้าที่ที่พึงกระทำ

เหตุการณ์เหล่านี้ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ?

ในเมื่อมันเกิดจากน้ำมือของพวกท่านกันเอง ถึงแม้จะไม่ใช่ท่านโดยตรง แต่ท่านก็ยังคงต้องร่วมกันรับผิดชอบอยู่ดี ท่านอาจจะช่วยกันผดุงภาพลักษณ์ที่ดีได้โดยการทำงานตามหน้าที่ด้วยหลักวิชาการที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมา อย่าเห็นแก่เงินหรือค่าจ้างที่จะโน้มน้าวท่านไปในทางที่ไม่ถูก นอกจากนี้ท่านยังต้องช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อนๆ ชาววิศวกรด้วยกันเอง ไม่ให้เกิดพวกนอกคอกที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่สถาบันวิศวกร

สถาบันการศึกษาก็คืออีกหน่วยงานหนึ่งที่จะต้องมีบทบาทอย่างมากต่อกรณีนี้ เพราะหน้าที่ของสถาบันการศึกษานั้น มิใช่เพียงแต่สอนความรู้ด้านวิศวกรรมเท่านั้น แต่ครูบาอาจารย์ทุกท่านยังต้องสร้างความสำนึกให้เกิดแก่นักศึกษาวิศวกรรมทุกคนถึงจรรยาบรรณของวิศวกร และความรับผิดชอบที่พึงมีต่อส่วนรวม

ถ้ามีใครสักคนลองสำรวจภาพพจน์ของวิศวกร ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันดู ก็คงจะได้เห็นสิ่งแปลกอยู่หลายอย่างทีเดียว

ภาพลักษณ์ของวิศวกรรุ่นพี่หรือรุ่นพ่อเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา คงจะเสมือนหนุ่มใหญ่ผู้เคร่งขรึม ดูน่าเชื่อถือ เป็นผู้นำ

แต่ภาพลักษณ์ของวิศวกรขณะนี้จะคืออะไร คงไม่มีใครตอบได้ดีกว่าตัววิศวกรเองแหละ ลองถามคนรอบข้างดูก็ได้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราหวังว่าภาพลักษณ์ของวิศวกรในอนาคตคงจะต้องดีขึ้นถ้าพวกเราทุกคนมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.