ปรับตัวธุรกิจหลังวิกฤติน้ำท่วม

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

วิกฤติน้ำท่วมครั้งร้ายแรงในรอบ 50 ปีของประเทศไทย ทำให้นักธุรกิจต้องวางแผนและปรับตัวอย่างมากและติดตามอย่างใกล้ชิด

ในงานสัมมนาทิศทางการปรับตัวทางธุรกิจหลังวิกฤติน้ำท่วมของธนาคารกรุงเทพ ได้นำเสนอความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้ประกอบการที่มีต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้

พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า น้ำท่วมในครั้งนี้นับว่ารุนแรงที่สุด และไม่เคยเห็นมาก่อน จนทำให้นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งได้รับความเสียหาย มีโรงงานและเครื่องจักรที่ลงทุนทั้งหมด 4 แสนล้านบาท ประเมินความเสียหายเบื้องต้น 6 แสนล้านบาท และธุรกิจอยู่นอกนิคมฯ อีก 5 หมื่นกว่าล้านบาท

บริษัทที่มีประกันความเสียหาย ประเมินไว้จำนวน 2 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือเสียหายอีก 1-3 แสนล้านไม่มีประกัน ทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นเศรษฐกิจเสียหายเดือนละ 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ส่งผลกระทบต่อการส่งออก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบ การมีหลากหลายอารมณ์ เช่น ต้องการย้าย ฐานการผลิต หรือฟ้องร้อง เป็นต้น เพราะ ผู้ผลิตร้อยละ 70 เป็นประเทศญี่ปุ่น

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย บอกว่า น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากพระเจ้าเป็นผู้กำหนด แต่เกิดจากการจัดการ และความเสียหายที่เกิดขึ้นเชื่อว่ามีถึง 1 ล้านล้านบาท เพราะความเสียหายไม่ได้กระทบทรัพย์สิน ธุรกิจ แต่กระทบการค้าหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงธุรกิจ ไปสู่ภาคการบริโภค

ผลกระทบได้เชื่อมโยงธุรกิจส่งออกทำให้ตกวูบเกือบจะศูนย์ ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาคอนเทนเนอร์กว่า 1 พันตู้ค้างอยู่ ท่าเรือไม่สามารถนำออกไปได้เพราะไม่มีสถานที่จัดเก็บสินค้า ทำให้ต้องทิ้งสินค้าไว้ ที่ท่าเรือและต้องจ่ายค่าเช่า เช่น ท่าเรือแหลมฉบังต้องจ่ายค่าเช่าตู้วันละ 1,600 บาท

นอกจากนี้ปัญหาแรงงานที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ เพราะถูกจำกัดเขตใน การทำงาน ทำให้ผู้ประกอบการขาดแคลน แรงงาน เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

แต่สิ่งที่ควรแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ให้กับผู้ประกอบการ คือรัฐควรเร่งเจรจาบริษัทประกันภัยให้จ่ายเงินชดเชย โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายทั้งหมดในระยะแรก แต่อาจจ่ายก่อนร้อยละ 20-25 เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจดำเนินการได้ และเพื่อเป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบา

กงกฤช หิรัญกิจ ประธานนโยบายสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย กล่าวในมุมมองธุรกิจท่องเที่ยวว่า ภัยน้ำท่วมดูเหมือนจะไม่รุนแรงต่อธุรกิจท่องเที่ยว และจากการประเมินนักท่องเที่ยว ในปี 2554 พบว่า มีมากกว่า 1 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 730,000 คน คนไทย 420,000 คน แต่หลังจากประสบปัญหาน้ำท่วมทำให้เส้นทางการเดินทางตัดขาด กรุงเทพฯ ไปภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคเหนือ ทำให้นักท่องเที่ยวไทยหายไป 5 หมื่นคน มีมูลค่าเสียหาย 250 ล้านบาทต่อวัน

โดยเฉพาะเทศกาลวันลอยกระทงความเสียหายมีถึง 1 หมื่นล้านบาท ธุรกิจท่องเที่ยวความเสียหายที่เกิดขึ้น หายแล้ว หายเลย ไม่สามารถเรียกร้องให้กลับมาได้

ทองมา วิจิตรพงศ์พันธ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทพฤกษาเรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่อยู่บนเวทีสามารถแบ่งปันประสบการณ์ตรง เพราะให้บริการธุรกิจสร้างบ้าน ทาวน์เฮาส์และคอนโดมิเนียม ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในครั้งนี้

ทองมาเล่าว่าโครงการใหม่ของบริษัทที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้มีทั้งหมดราว 140 โครงการ และมี 70 โครงการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ตั้งแต่ระดับ 20 เซนติเมตรไปจนถึงกว่า 50 เซนติเมตร และความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทตั้งประเมินรายได้ใหม่จากเดิมกำหนดเป้าหมายในปี 2554 รายได้ 30,000 ล้านบาท เหลือ 22,000 ล้านบาท

เงินจำนวน 8 พันล้านบาทที่หายไป เกิดจากโครงการต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการจัดการบริหารใหม่ หลังน้ำท่วม

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้บริษัทเร่ง บริหารจัดการ โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน เป็นช่วงเฝ้าระวัง จะมีการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับ สูง 18 คนบ่อยครั้งมากขึ้นเพื่อประเมินภาวะตลาดอย่างไรให้อยู่รอด เช่น โครงการน้ำไม่ท่วม บริษัทต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าเพื่อให้มีการโอน

ส่วนโครงการที่ติดน้ำท่วม บริษัทจะมีมาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เช่น สร้างให้สูงกว่าน้ำท่วม สร้างรั้วรอบโครงการใหม่ หรือการติดตั้งไฟฟ้า น้ำประปา รวมไปถึงห้องสุขาให้พ้นจากน้ำ เป็นต้น

สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมหรือบ้านใหม่ได้ชะลอการก่อสร้างออกไปอย่างน้อย 3 เดือน เนื่องจากมองว่ายังอยู่ในภาวะไม่ปกติ รวมไปถึงการลงทุนในต่าง ประเทศเลื่อนออกไปจนถึงกลางปีหน้า

บริษัทยังต้องบริหารเงินสดเงินเข้า กับเงินออกให้มีปริมาณเพียงพอ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป

ทองมากล่าวว่าการบริหารจัดการทั้งหมดขององค์กรในปัจจุบันเป็นการปรับแผนธุรกิจรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อประคอง ธุรกิจให้รอดพ้นไปถึงไตรมาสแรกปี 2555

พยุงศักดิ์แนะนำวิธีการปรับตัวว่า กรณีมองใน 6 เดือนข้างหน้าจะอยู่ในภาวะ ซ่อม สร้าง ฟื้นฟู จะต้องปรับปรุงการบริหารจัดการ และมองหาตัวอย่างที่มีการบริหารจัดการที่ดีที่สุด เชื่อว่าผู้ประกอบการ ร้อยละ 80-90 จะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ในเดือนมีนาคม 2555

พรศิลป์กล่าวว่า น้ำเป็นบทเรียนที่ดี สำหรับประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญทั้งหมดผู้ประกอบการต้องช่วยเหลือตนเองเป็นหลัก และมองว่าธุรกิจของตนเองเชื่อมโยงกับธุรกิจใดบ้าง และผูกให้ติด อย่าทำธุรกิจเพียงลำพัง และมีองค์ประกอบ 4 ส่วนหลัก ที่จะช่วยผลักดันธุรกิจในอนาคตคือ หุ่นยนต์ การตัดแต่งพันธุกรรม นาโนเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต

กงกฤชแนะนำแนวโน้มธุรกิจท่องเที่ยวในอนาคตว่า พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จากเดิมเน้น ชะโงกทัวร์จะกลายเป็นนักท่องเที่ยวที่คำนึง ถึงสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ธรรมชาติ ส่วนการ เข้าถึงแหล่งข้อมูลจะอ่านจากอินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้นร้อยละ 61 และเชื่อมโยงเข้าสู่สังคม ออนไลน์ร้อยละ 26

ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับตัว เพราะหลังจากมีการร่วมมือกันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2558 พนักงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้สามารถเคลื่อนย้ายแหล่งงานได้ไปอยู่ใน 10 ประเทศที่เปิดการค้าเสรี เช่น พนักงานต้อนรับส่วนหน้า หรือพนักงานดูแลห้องพัก เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.