เศรษฐกิจเปราะบาง

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

เหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่สุด ยิ่งมีการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยรวมทั้งหมด ว่ากันว่ามีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่สามารถสรุปว่าเป็นทิศทางเศรษฐกิจของไทยทั้งหมด ทว่า ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไป

ในงานสัมมนาธนาคารกรุงเทพและชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอีได้จัดสัมมนาเรื่อง ทิศทางเศรษฐกิจและธุรกิจไทยหลังวิกฤติน้ำท่วมไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไว้อย่างน่าสนใจว่า ทิศทางเศรษฐกิจโดยรวม ในรอบนี้สั่นสะเทือนมากจากจีดีพีที่กำหนด ไว้ 4% ถูกลดลงเหลือเพียง 1.3% ซึ่งหมาย ถึงหายไป 2.7%

นับว่าเป็นเรื่องที่รุนแรง เพราะจีดีพี ที่หายไป 2.7% ใช้เวลาเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่และสิ่งที่หาย ไปจะดึงให้เพิ่มมากขึ้นไม่มี แต่นักธุรกิจหลายๆ คนมองว่าวันหนึ่งจะหายเป็นปกติ ซึ่งโฆสิตมีความเห็นเช่นเดียวกัน เพราะจาก วิกฤติหลายๆ อย่างที่ผ่านมา เมื่อเวลาผ่าน ไปวันหนึ่งจะกลับคืนสู่สภาพปกติ และในรอบนี้ผู้เชี่ยวชาญมองกันว่าความปกติอาจจะเริ่มไตรมาสแรกปี 2555 หรือช้าสุดในไตรมาส 2 เพราะฉะนั้นรายได้จะหายไปในครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ดี หากมองเรื่องน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว คงจะไม่ใช่ทิศทางเศรษฐกิจ ของประเทศไทยโดยรวม ทว่าขณะนี้ไทยกำลังเดินเข้าไปสู่ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ประเทศที่เคยแข็งแรงอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น กำลัง ตกอยู่ในปัญหาและมีหนี้สินสูง และมีรายได้ เพิ่มต่ำ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่เห็นนักวิชาการคนไหนออกมาบอกว่าจะแก้ไขได้ใน ระยะเวลาอันสั้น แม้แต่ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่าปัญหาดังกล่าวจะใช้เวลานาน ดังนั้นเศรษฐกิจโลกจะลอยเท้งเต้ง และสิ่งสำคัญเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออก 2 ใน 3 ในขณะที่ WTO ประเมินการเติบโต การค้าของโลก ปี 2554 โต 5% แต่ในปีหน้าจะลดลง หากเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร

โฆสิตแนะนำผู้ประกอบการให้ปรับแผนธุรกิจให้เหมาะสม 4 ส่วน คือ 1. ผลกระทบจากน้ำ ระหว่างรายได้ที่หาย ไป ดูแลสภาพคล่อง ตัดรายจ่าย 2. ปรับตัวให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก ประเทศที่เคยอ่อนแอกลายเป็นประเทศสำคัญ เช่น จีนและรัสเซีย 3. ปรับให้เข้ากับคนที่อยู่ในวงจรของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมั่นปรับให้สอดคล้องกับน้ำ เศรษฐกิจโลก และความเชื่อมั่น 4. ต้องพัฒนาบุคลากรให้มีฝีมือความรู้มากขึ้น เพราะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ แรงงานหายาก ค่าแรงเพิ่มขึ้น

ภาพรวมของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต้อง ใช้เวลาปรับตัวให้เข้ากับน้ำ ต่างประเทศ และลูกค้า รวมถึงบุคลากรในองค์กร เพื่อสร้างรายได้ที่หายไป ให้กลับมาเป็นปกติ และนำไปสู่การฟื้นฟูรายได้

ในส่วนของประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้มุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเริ่มตั้งแต่กันยายน 2554 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบรุนแรงและเป็นวงกว้างต่อทุกภาคส่วน ทั้งในเขตพื้นที่น้ำท่วม และนอกเขต โดยเฉพาะภาคการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้กระทบต่อภาคการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และส่งผลต่อระบบขนส่งสินค้าไปสู่ภาพรวมการส่งออกที่ลดลง จึงทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 หดตัวเหลือ 2.6%

นอกเหนือจากเรื่องน้ำท่วม ผลกระทบจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่มองว่ามีปัญหาแก้ยาก และไม่มีใครยืนยันว่าจะแก้ไขได้ แม้ว่ากรีซ อิตาลี สเปน จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้วก็ตาม

ส่วนสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะไม่คลี่ คลาย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบ้าน หรือสินเชื่อ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขในระยะเวลาสั้นๆ

ส่วนปัญหาแรงงานว่างงานสูงมากกว่า 9% ยังไม่มีทีท่าจะลดลงในขณะที่ระดับปกติ ตัวเลขการว่างงานต้องมีเพียงประมาณ 5% และหากสหรัฐฯ ต้องการลดการว่างงานให้ได้เพียงครึ่งเปอร์เซ็นต์จะต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตถึง 4%

สถานการณ์น้ำท่วมและเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในรอบนี้ ทำให้ประสารมองว่าน้ำท่วมจะกระทบในระยะสั้น แต่ในไตรมาส 2 ปีหน้าจะเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ใน ต่างประเทศเศรษฐกิจอาจกลายเป็นสีดำก็เป็นได้

จากการประมวลเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก เห็นได้ว่านำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เช่น แผ่นดินไหวโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ปี 2537 สึนามิในอินโดนีเซีย และไทย ปี 2547 พายุแคทรีนา ปี 2548 ในสหรัฐอเมริกา แผ่นดินไหวในมลฑล เสฉวน ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ในพื้นที่เศรษฐกิจเหล่านั้น เช่น เมืองไครส์เชิร์ส นิวซีแลนด์ มีนโยบายสร้างเมืองสมัยใหม่ จากเดิมที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมในอดีต

ประเทศไทยจึงไม่ได้รับผลกระทบระยะยาวจากน้ำท่วม แต่มองในด้านบวก ภาคเกษตรกรรม ดินที่ตกตะกอนส่งผลให้ราคาพืชผลเกษตรราคาสูง ส่วนภาคอุตสาหกรรม ประชาชนจะเริ่มจับจ่ายมากขึ้น คาดว่าธุรกิจรถยนต์จะมียอดขายสูงขึ้น

แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่รัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายการจัดการน้ำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างประเทศ เพราะนักลงทุน มีทางเลือกและต้องการกระจายความเสี่ยง

แม้ว่ารัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในเรื่องน้ำ แต่ต้องเหลือกระสุนไว้บ้างเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลกอาจมีผลกระทบสูงเช่นเดียวกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.