เมืองไทยกับอุทกภัย ต้องดูที่ต้นตอ

โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

สืบเนื่องจากเรื่องน้ำท่วมในบทความของเดือนที่แล้ว ณ วันนี้น้ำท่วมยังคงอยู่กับเราและขยายวงกว้างขึ้น สร้างความปั่นป่วนเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ น้ำได้กระจายตัวไปเกือบทุกจังหวัดทุกพื้นที่ ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก เมื่อมาถึงกรุงเทพมหานคร อัตราความเสียหายก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าทวีคูณ ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม การขนส่ง อุตสาหกรรม การค้าขาย ไปจนถึงการเมืองในสภาและนอกสภา ไม่ต้องพูดกันถึงรายละเอียด ซึ่งรวมทั้งความผิดพลาดในการบริหารจัดการ ขาดการประสานงาน ขาดบูรณาการ ขาดการสื่อสาร ขาดความรู้ทางวิชาการ ขาดความปรองดองระหว่างผู้บริหารบ้านเมืองและผู้เกี่ยวข้อง แต่ต้นตอของภัยพิบัติครั้งนี้ เราก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไรกันแน่ เราจึงจำเป็นต้องย้อนกลับไปดูปัญหาและวิเคราะห์กันอย่างจริงๆ จังๆ เพื่อแก้ไขระยะยาวให้ถูกที่คันกันเสียที

จากการสแกนภาพรวมเห็นได้ว่า อุทกภัยครั้งนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นต้นตอหลัก แต่ความรุนแรงถูกเพิ่มดีกรีด้วยการบริหารจัดการเฉพาะหน้าที่ผิดพลาด การใช้ประโยชน์ที่ดินผิดประเภท และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติผิดทิศผิดทาง

ต้นตอของปัญหา-ความล้มเหลวในการบริหารจัดการดิน น้ำ และทรัพยากร

แน่นอน! ความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศเป็นต้นตอหลักที่กระตุ้นให้เกิดภัยพิบัติครั้งนี้ ปริมาณฝนตกหนักและอุทกภัยที่เราเผชิญอยู่นี้เป็นผลพวงอันหนึ่งจากภาวะโลกร้อน ร่วมกับวัฏจักรของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกๆ คาบ สี่ปี ซึ่งได้เกิดขึ้นกับหลายประเทศ มิใช่แต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา ออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ในแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ต่างก็ได้รับทุพภิกขภัยไปตามๆ กัน มากน้อยต่างกันไปบ้างเท่านั้น ปัจจุบันเป็นผลจากปรากฏการณ์ลานินญาที่ครอบคลุมมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่เป็นเวลาประมาณ 4 ปี และจะสลับกับเอลนินโญที่จะนำความ แห้งแล้งมาให้ ภาวะโลกร้อนเพิ่มความรุนแรงและความถี่ของปรากฏการณ์ทั้งสอง

ในอดีตประเทศไทยได้รับอิทธิพลของปรากฏการณ์ดังกล่าวอยู่บ้างเพียงเบาๆ แต่ต่อจากนี้ไปเราจะต้องเผชิญกับทั้งอุทกภัยและความแห้งแล้งบ่อยครั้งขึ้น รุนแรงขึ้น สลับสับเปลี่ยนกันไป วิถีทางเดียว ที่เราจะเอาตัวรอด คือการเตรียมการปรับตัวตั้งรับเสียใหม่ให้ทันการณ์

เกริ่นไว้แล้วว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่เสริมความรุนแรงของอุทกภัยครั้งนี้ คือความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการดิน น้ำและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศในทศวรรษที่ผ่านมา นับว่าเป็นความล้มเหลว โดยสิ้นเชิง ตั้งแต่การกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน การบริหารจัดการน้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้เพราะโครงสร้างการดำเนินนโยบายเกือบทุกด้าน ของประเทศอ่อนแอ มิใช่แต่เรื่องประชา ธิปไตยที่ทุกคนเห็นว่ามีความสำคัญยิ่งยวด เท่านั้น แต่การบริหารนโยบายต่างๆ ตั้งแต่การวางแผน การนำแผนไปปฏิบัติ การ ตรวจสอบ การมีส่วนร่วม และการใช้กฎหมาย ล้วนเต็มไปด้วยช่องว่าง จึงมีการคอร์รัปชั่นอยู่ทั่วไป แม้ว่าเราจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นแผนแม่บทของประเทศมาถึง 11 ฉบับ แต่การบังคับใช้ก็ไร้ผล เพราะหน่วยงานปฏิบัติอื่นๆ ไม่สอดรับประสานกัน ด้วยมีการบิดเบือนไปในทิศทางอื่นที่ถูกชี้นำโดยนักการเมือง และส่วนกลางรวมศูนย์อำนาจ ไว้โดยไม่มีการกระจายอำนาจไปยังส่วนท้องถิ่นอย่างจริงจัง เมื่อเป็นดังนั้นจึงไม่มีแผนที่ประชาชนมีส่วนร่วมเกิดขึ้นจริง

โซนนิ่งการใช้ที่ดิน-กลไกในการบริหารจัดการ

การกำหนดพื้นที่การใช้ที่ดิน หรือโซนนิ่ง เป็นกลไกในการควบคุมสภาพธรรมชาติให้มีการใช้ประโยชน์ได้ตามความเหมาะสม ในขอบเขตที่รองรับได้ของ พื้นที่นั้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติไปด้วยในตัว เราอาจเห็นความล้มเหลวของการบังคับใช้โซนนิ่งการใช้ที่ดินได้ชัดเจน จากเขาหัวโล้นที่เห็นกันอยู่ทั่วไปในพื้นที่ป่าเขาต้นน้ำลำธาร เช่น เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ฯลฯ ที่ควรปล่อยไว้ในสภาพธรรมชาติเพื่อรักษาต้นน้ำ แต่กลับปล่อยให้ถูกทำลายเพื่อประโยชน์ของคนเพียงไม่กี่คน พื้นที่ราบลุ่มดินดีน้ำท่วมถึง เช่น อยุธยา รังสิต ซึ่งควรเป็นแหล่งปลูกข้าวพืชผักผลไม้สำหรับชาวกรุง กลับเต็มไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม บ้านจัดสรร ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรอันมีค่าของประเทศไปในทางที่ผิดแล้ว ยังเป็นความเสี่ยงต่อการผลิตอุตสาหกรรมและการอยู่อาศัยแบบหนาแน่นด้วย ต่อไปในอนาคตยุคพลังงานแพง ถ้ามีการส่งเสริมให้ปลูกสวนปาล์ม สวนยางพารา เต็มไปหมดโดยไม่มีขอบเขตจำกัด ก็จะเป็นการทำลายดินและระบบนิเวศเพิ่มขึ้นอีก

ทั้งนี้ การโซนนิ่งที่ดินทั่วประเทศจะเป็นการกำหนดภาพรวมของการบริหาร จัดการได้ แต่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐจะต้องมีการประสานสอดรับกันได้อย่างพร้อม เพรียง รวมทั้งมีการถ่ายทอดกระจายอำนาจ ให้กับองค์กรส่วนท้องถิ่นไปปฏิบัติกันอย่าง จริงจัง มีการตรวจสอบติดตามผล และปรับปรุง ส่วนประชาชนก็ต้องมีจิตสำนึกและความเข้าใจจึงจะมีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ กฎหมายจะต้องถูกนำมาใช้อย่างเป็นธรรม ตรงตามวัตถุประสงค์ มิใช่เป็นเครื่องมือสำหรับการบิดเบือนกลั่นแกล้ง

นอกจากนั้นการกำหนดการใช้ที่ดิน ยังช่วยในการบริหารจัดการดินและน้ำให้สมดุลได้อย่างสำคัญ ตั้งแต่การกำเนิดต้น น้ำลำธาร การกักเก็บและการใช้น้ำในช่วงกลางน้ำและปลายน้ำ เช่น น้ำจะไม่ไหลบ่าผ่านดินไปอย่างรวดเร็ว แต่จะมีป่าไม้ซึมซับ น้ำส่วนหนึ่งจะถูกซึมซับเก็บกักไว้ในชั้นหินใต้ดิน ส่วนที่เหลือเก็บไว้ในลำ คลอง หนอง บึงที่เหลือจึงไหลลงสู่แม่น้ำ ใหญ่ซึ่งมีเขื่อนใหญ่กักเก็บไว้ ถ้าเป็นดังนี้ได้ก็จะเพิ่มขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำ ชะลอน้ำ และการเป็นแก้มลิง ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งการป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้ง อีกทั้งยังป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม ในพื้นที่เชิงเขาได้อีกด้วย การโซนนิ่งจึงให้ผลประโยชน์ในทุกๆ ด้านกับทุกๆ ฝ่าย (ยกเว้นนายทุนหมู่บ้านจัดสรรและรีสอร์ตที่เสียประโยชน์)

การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ ก็จะต้องมีการปฏิบัติให้สอดคล้องกับการใช้ที่ดินใต้เขื่อนเช่นกัน เช่น ปล่อยน้ำเพื่อการชลประทาน เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการอุตสาหกรรม เพื่อการผลิตไฟฟ้า ทั้งหลายแหล่เหล่านี้ ไม่มีทฤษฎีระบุไว้แน่นอน ย่อมขึ้นอยู่กับข้อมูล ข้อตกลง สภาพความเป็นจริง ความเป็นธรรม และความหนาแน่นของประชากร เป็นต้น อันเป็นสามัญสำนึกและธรรมาภิบาลของผู้บริหารเสียมากกว่า ไม่อยากจะโทษใครเพราะไม่มีข้อมูลแน่ชัด เพียงแต่ได้ยินมาว่า ในอุทกภัยครั้งนี้ มีความผิดพลาดจากการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอย่างมีนัยสำคัญ เพราะไม่มีการระบายน้ำออกจากเขื่อนก่อนในช่วงต้นหน้าฝน ทั้งที่มีการพยากรณ์ ล่วงหน้าว่าปีนี้ฝนจะตกชุกในช่วงปลายฝน มีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปกติ แต่การณ์กลับเป็นว่ามีคำสั่งให้กักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนสูงด้วยเหตุผลที่ไม่แจ้งชัด เมื่อมีฝนเข้ามาปริมาณมากจากลมมรสุม จึงมีน้ำเติมเข้า ไปเกินพิกัด มีการปล่อยน้ำพรวดพราดออก มาพร้อมๆ กันหลายๆ เขื่อนสู่ปลายน้ำ เมืองและกิจกรรมต่างๆ ใต้เขื่อนลงมาจึงเกิดโกลาหลและภัยพิบัติกันทั่วไปหมดจริงหรือเท็จอย่างไรผู้เขียนยังไม่ได้สืบสาวราวเรื่องแน่ชัด เพียงแต่ยกมาเป็นตัวอย่างหนึ่งของการบริหารจัดการที่ผิดพลาดและขาดการประสานงาน

อย่างไรก็ตาม การใช้ที่ดินผิดประเภทมาเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษได้บั่นทอนความเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ไทยทีละน้อย มาบัดนี้ ดินหลายแห่งของประเทศมีคุณภาพเสื่อมโทรม ดินแห้งด้านขาดธาตุอาหารในดิน และป่าไม้ (จริงๆ) ก็ลดลงเป็นอย่างมาก เหลือแต่ป่าปลูก หรือ ป่ายางพารา ป่าสวนปาล์ม ป่ายูคาลิปตัส ซึ่งมีค่าทางเศรษฐกิจก็จริง แต่ไม่ได้ให้ผลทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ยิ่งปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมแล้ว กลับจะทำให้เปลืองดิน เปลืองน้ำ มากเกินไป

การเตรียมการตั้งรับในอนาคต-อย่าเดินผิดทาง

ในปีหน้า เราน่าจะยังคงอยู่ในอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานินญาอยู่ ฉะนั้นในหน้าฝน เราก็จำเป็นจะต้องเตรียม การตั้งรับฝนชุกกันอย่างขนานใหญ่อีก หวังว่าเราจะคงจะได้บทเรียนในปีนี้ไปบ้าง โดยมีการศึกษาวิเคราะห์กันถึงต้นสายปลายเหตุกันให้ดี ทั้งในเชิงตื้นเชิงลึกของสภาพพื้นที่และปริมาณน้ำ เราดูกันที่บริเวณ น้ำท่วมหรือจังหวัดที่ประสบภัยอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องทุกอย่างทั้งพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในภาพรวมของทุกๆ ลุ่มน้ำ ข้อมูลที่มีอยู่จะต้องนำมาประมวลกัน ร่วมกับข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อจัดทำแผนหลักแผนปฏิบัติการ แผนฉุกเฉินกันเป็นระบบ รวมทั้งมีการเตือนภัย การให้ข้อมูลกันอย่างมีประสิทธิภาพ

คาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เราคงหนีไม่พ้นที่จะก้าวเข้าสู่อิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนินโญ ซึ่งจะนำความแห้ง แล้งมาให้ ดูเหมือนว่าอาจจะเป็นความแล้ง ที่รุนแรงไม่น้อยไปกว่าอุทกภัยครั้งนี้ ดังที่ออสเตรเลียได้ประสบมาแล้วเมื่อไม่นานมานี้ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งจึงจำเป็น ต้องทำควบคู่กันไป มิใช่คิดแก้ไขกันอย่างตื้นๆ เท่าที่เห็นๆ เฉพาะหน้า เช่น การเสนอโครงการเมกะโปรเจ็กต์สร้าง express floodway ขนาดใหญ่ หรือแนวกำแพงกั้นน้ำที่ยาวและใหญ่สุดๆ หรือแม้กระทั่งการย้ายเมืองหลวงหนีน้ำ ล้วนเป็นการเสนอ ทางออกที่มิได้คิดถึงผลดีผลเสีย และวิเคราะห์ถึงต้นสายปลายเหตุกันอย่างแท้จริง

การแก้ไขที่จะทำให้ประเทศชาติของเราอยู่รอดได้อย่างแท้จริง คือ การวางแผนและปฏิบัติกันเป็นขั้นเป็นตอน ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานและประชาชนทุกฝ่ายในการบริหารจัดการดิน น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบ โดยเน้นในเรื่องการโซนนิ่ง การใช้ที่ดิน การจัดสรรการใช้น้ำ การตรวจสอบติดตามผล และการนำวิชาการและเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม

ผู้เขียนทำได้แต่เพียงหวังและรอคอยนักการเมืองและข้าราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหลายได้ตระหนักและลงมือทำกันอย่างถูกทิศถูกทางเสียที


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.