“นอกเมือง” หรือ “เมืองนอก” ผลิตไฟฟ้าต้องมาตรฐานเดียว

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

มีหลายปัจจัยที่ทำให้การขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าในเมืองไทยสะดุดอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทางเลี่ยงหนึ่งของผู้ผลิตจึงหันไปพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ได้รับการยอมรับว่าจะไม่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่โรงไฟฟ้าเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ก็มีข้อจำกัดทั้งด้านการลงทุน ขนาดพื้นที่ และเทคโนโลยี

ที่จำกัดที่สุดคือกำลังการผลิตซึ่งเพิ่มได้คราวละไม่มากเท่าโรงไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล แต่เมื่อ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะเติบโตอย่างน้อยปีละ 13-15% ต่อปี ทำให้พวกเขาหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องเดินหน้าหากำลังการผลิตเข้ามาในพอร์ต ให้ได้ตามที่กำหนดไว้

ตามแผนของไฟฟ้าราชบุรีตั้งเป้าว่าภายในปี 2559 บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า รวม 7,800 เมกะวัตต์ กับอีก 100 เมกะวัตต์ ที่มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนซึ่งบรรลุเป้าหมายแล้ว ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าประเภทอื่นรวมที่ทำได้ตอนนี้มีอยู่ 6,600 เมกะ วัตต์

“เรายังมีเวลาเหลือ 4 ปี อีก 1,200 เมกะวัตต์ที่เหลือก็ไม่ยากที่จะสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้”

นพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัด การใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง บอกด้วยความมั่นใจจากประสบการณ์ความสำเร็จ ที่ผ่านมา เพราะ 11 ปีที่แล้วที่บริษัทเพิ่งเริ่มก่อตั้ง บริษัทผลิตไฟฟ้าเล็กๆ แห่งนี้ตั้งเป้าจะ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียง 1,800 เมกะวัตต์เท่านั้น ตอนนี้เติบโตมาไกลกว่านั้นมาก

เรื่องท้าทายของไฟฟ้าราชบุรีวันนี้จึงไม่ได้อยู่ที่การสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ตามเป้าหมาย มากเท่ากับการสร้างภาพลักษณ์ ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ต้องการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอรองรับความต้องการใช้งาน รวมทั้งได้รับบการยอมรับจากประชาชนในการ ทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในการพัฒนาโรงไฟฟ้า โดยเป็นผู้ผลิตที่ได้รับการยอมรับ ในทุกระดับไม่ว่าจะดำเนินการอยู่ ณ ที่ใด

ในยามที่การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า บ้านเราอยู่ในช่วงชะลอตัว รวมทั้งเหตุการณ์ น้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ ทำให้นพพลคาดการณ์ว่า จะมีผลทำให้การใช้ไฟจากภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงอย่างน้อยก็อีกครึ่งปีต่อจากนี้ เพราะกว่าอุตสาหกรรมต่างๆ จะเคลียร์ คลีน ซ่อม และสั่งเครื่องจักรเข้ามาใหม่ ให้เข้าสู่การดำเนินงานได้เต็มกำลังตามปกติเหมือนเดิม ก็คงใช้เวลาไม่มากหรือน้อยไปกว่านี้เท่าไร นัก

ดังนั้นแล้ว แม้การชะงักงันของภาคการผลิตจะมีผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงอย่างไร ท้ายที่สุดความต้องการใช้ไฟก็จะกลับมาเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาดังเดิม

ให้บังเอิญว่าก่อนเหตุการณ์ที่จะทำให้ ปริมาณใช้ไฟในไทยลดลง แม้จะไม่มีผลต่อรายรับของบริษัทโดยตรง แต่ก็เป็นจังหวะที่ไฟฟ้าราชบุรีหันไปเปิดเกมรุกก้าวใหม่ในแดนไกล ทำให้บริษัทมีกิจกรรมต้องทำอีกมากมาย พอดี

ความเคลื่อนไหวของไฟฟ้าราชบุรีแต่เดิมนั้นคนไทยจะคุ้นเคยภาพของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านในสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็น หลักมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของลาว แต่วันนี้ไฟฟ้าราชบุรีก็ตัดสินใจนำธุรกิจก้าวข้ามทวีปไปลงทุนไกลถึงออสเตรเลียเพิ่มอีกแห่ง

“เป้าหมายการเข้าไปลงทุนในออสเตร เลียเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้บริษัทมีอัตราเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างน้อยปีละ 13-15% ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วการลงทุนครั้งนี้ยังสอดคล้องกับเกณฑ์ในการลงทุนของบริษัทอีกหลายด้านด้วย” นพพลกล่าว

หนึ่งในนั้นคือการที่ไฟฟ้าราชบุรีมองเห็นโอกาสว่าออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีการตื่นตัวของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ประชาชนตอบรับและ ภูมิประเทศส่วนใหญ่ของออสเตรเลียมีแหล่งทรัพยากรที่ให้นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจำนวนมาก

“ข้อได้เปรียบที่เห็นได้ชัดคือ ความต้องการพลังงานทดแทนที่ออสเตรเลียมีมาก รัฐบาลเขาส่งเสริมและเปิดกว้างให้คนนอกเข้า มาลงทุน กฎหมายต่างๆ กำหนดชัดเจน อะไรทำได้ไม่ได้ ตรงกับพฤติกรรมของนักลงทุนที่ไม่ต้องการอะไรที่เป็นสีเทา ขณะที่กลไกตลาด ค่อนข้างบ่มเพาะมาดีเป็น Measure Market และยังเป็นโอกาสของเราต่อไปในการรุกเข้านิวซีแลนด์เพราะใกล้กัน”

ขณะที่บริษัทที่ไฟฟ้าราชบุรีเข้าไปซื้อกิจการมีโครงสร้างระบบการผลิตไฟฟ้าใกล้เคียงกับที่ดำเนินงานอยู่ในเมืองไทย เฉพาะพอร์ตที่อยู่ภายใต้บริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (RAC) ซึ่งเป็นบริษัทที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อจากบริษัทที่ไฟฟ้าราชบุรีเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ผ่าน RHIS บริษัทย่อยในสิงคโปร์ มีสินทรัพย์ที่ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 3 แห่ง กำลังการผลิต 569 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง กำลังการผลิต 489 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 แห่ง กำลังการผลิต 68 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตรวมทุกประเภท 1,126 เมกะวัตต์ คิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของ RAC โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งจริง 3,100 เมกะวัตต์ 90% ของกำลังการผลิตมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าคงเหลือเฉลี่ยเป็นเวลาประมาณ 11 ปี

เป้าหมายการลงทุนในออสเตรเลีย ของไฟฟ้าราชบุรีกำหนดไว้คร่าวๆ เพียงว่า จะใช้กำไรของ RAC ซึ่งนพพลคาดว่าจะทำรายได้ปีละหลายร้อยล้านเหรียญ ในการขยาย กิจการอย่างต่อเนื่องตามจังหวะและโอกาส โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นโรงไฟฟ้าประเภทใด ที่มีแนวโน้มจะเป็นไปได้ในระยะใกล้ เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมด้วยการติดตั้งกังหันลมเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่ เป็นต้น

“พลังงานลมที่เราเข้าไปดูตอนนี้พยายามเน้นเรื่องปรับปรุงประสิทธิภาพของเดิมก่อน แล้วจะขยายต่อไปโดยการติดตั้งกังหันลมเพิ่ม 3 โรงรวมกันน่าจะได้เป็น 100 เมกะวัตต์ แต่การพัฒนาต้องมีกระบวนการหลายขั้นตอน”

นพพลเล่าว่า การลงทุนโรงไฟฟ้าในออสเตรเลียค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องของพลังงานทดแทน โดยรัฐบาลออสเตรเลียกำหนดไว้ชัดเจนว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะต้องมีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างน้อย 20% ซึ่งไม่ต่างจากนโยบายของการผลิตไฟฟ้าในเมืองไทย

ในภาคประชาชนผู้ใช้ในประเทศออสเตรเลียก็เริ่มมีประชากรบางส่วนที่แสดง ความต้องการที่จะเลือกใช้บริการไฟฟ้าจากตัวแทนจำหน่าย (Retailer) ที่ขายไฟให้กับโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยตรงอีกด้วย

“การที่ผมลงทุนใน Renewable เพราะผมมองว่าในอนาคตในธุรกิจไฟฟ้าก็อาจจะเหมือนกับระบบการค้าอื่น ที่มีการกีดกันการค้าด้วยมาตรฐานต่างๆ อย่างสมัยที่มี ISO ทางยุโรปกำหนดว่าถ้าบริษัทไหนไม่มีก็ไม่สามารถส่งสินค้าไปขายได้ หรือทุกวันนี้ก็เริ่มมีการกำหนดว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกไปมีคาร์บอนฟุตพริ้นต์เท่าไร ซึ่งจะคำนวณจาก การดูว่ามีการใช้พวก Renewable มากน้อยแค่ไหน ซึ่งผมมั่นใจว่าประเทศไทยเราตื่นตัวในเรื่องนี้มาก ทำอย่างจริงจังและมีนโยบายค่อนข้างชัดเจนเหมือนที่ออสเตรเลีย แต่ที่นี่ด้วยความที่ประเทศเป็นเกาะกลางมหาสมุทรใหญ่ ภูเขาสูง ลมแรง ถือเป็นข้อได้เปรียบ”

ไทยและออสเตรเลียจึงไม่แตกต่างในด้านแสดงนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการสนับสนุน การใช้พลังงานทดแทน แต่ในเชิงปฏิบัติต้องพิสูจน์ด้วยเวลาว่าใครจะจริงจังแค่ไหน

นพพลเองก็ยอมรับว่า การพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในไทยหากไม่มี Adder (ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าที่ภาครัฐสนับสนุนผู้ผลิต) ก็จะไม่มีอะไรจูงใจผู้ผลิต โดยเฉพาะรายเล็กรายน้อยให้เข้ามาลงทุน เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าประเภทนี้สูงมากและต้องใช้เวลานานกว่าจะคุ้มทุน

ทำให้การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอาจจะทำได้ไม่เพียงพอรองรับความ ต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

“การสร้างไฟฟ้าหนึ่งโรงใช้เวลา 5-7 ปี ถ้าเราไม่ทำจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้เมื่อประเทศยังต้องพัฒนาต่อไป จะให้ทำโรงไฟฟ้าอะไรบอกมา ผมคิดว่าถ้าเราคุยกันด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อสังคมและประเทศร่วมกัน ผมมีความ มั่นใจว่ามันจะพัฒนาอะไรขึ้นมาก็ได้ แต่ต้องเข้าใจว่าไม่มีอะไรที่เราได้โดยไม่ต้องเสียอะไร ไปเลย เพราะของฟรีไม่มีในโลก”

ประโยคนี้เหมือนจะเป็นความอัดอั้นส่วนตัวของนพพลที่มีมาตลอดจากปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องเจอกับแรงต้านเสมอ และสิ่งที่เขาพยายามย้ำเสมอก็คือขอให้ทุกฝ่ายหันหน้าคุยกันและใช้เหตุผล รับฟังซึ่งกันและกัน

“ขนาดโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกก็ยังโดนประท้วง บอกมีฝุ่น มีเขม่า พลังงานลมก็บอกเสียงดัง ทำให้วัวเครียดให้ผลผลิตน้ำนมน้อย ก็ขึ้นอยู่ว่าจะยกเหตุผลอะไรมาอ้างกัน แต่พิสูจน์ได้ไหม”

คงไม่ใช่เรื่องที่ผู้ผลิตไฟฟ้าจะไปเถียงกับใครได้ทุกคน สิ่งที่ไฟฟ้าราชบุรีทำจึงเลือก ดำเนินงานผ่านกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทเพื่อแสดงมาตรฐานของการดำเนินงานที่คำนึง ถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการทำธุรกิจไฟฟ้า โดยเฉพาะความพยายามในการลดผลกระทบ ทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เช่น

“เราเป็นรายแรกที่นำคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้าไปเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองที่ให้โปรตีนสูง สนับสนุนป่าชุมชนสร้างเยาวชน ให้รักป่า เพราะเรามองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องปลูกฝังตั้งแต่เล็ก และเราคาดว่าจะเด็กที่โตขึ้นจะเป็นกลไกที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อม ต่อไป แต่อีกด้านหนึ่งสถานการณ์ด้านพลังงาน ที่แท้จริงของประเทศ พลังงานฟอสซิลอย่างแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทยเราก็มีจำกัด เป็นความจำเป็นที่เราต้องหาแหล่งพลังงานอื่นเข้า มาแทน หรือหาแหล่งพลังงานจากที่อื่นเข้ามา เสริม”

ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็คือต้องไม่ลืมเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและการเตรียมพร้อม

“เพราะฉะนั้นผมก็จะดูว่าโอกาสไหนที่เราสามารถทำได้ ผมยังมุ่งมั่นที่จะหาแหล่ง พลังงานเข้ามาเสริมความมั่นคงให้กับประเทศ โดยรวม ทั้งสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว ผมพยายามทำอะไรที่ Win-win มากกว่า Win-lose บริหารผลประโยชน์ร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด พยายามที่จะให้ทุกคนได้ แต่ได้มากได้น้อยคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

สุดท้ายหากพิจารณาความเชื่อมโยงของการดำเนินงานของไฟฟ้าราชบุรีระหว่างออสเตรเลียกับไทย มีมุมหนึ่งที่อาจจะช่วยส่ง ผลให้การดำเนินงานในไทยง่ายขึ้นได้บ้างก็คือ หากบริษัทสามารถขยายการลงทุนในออสเตรเลียได้อย่างต่อเนื่องจากนี้ไป ก็น่าจะนำมาใช้เป็นตัวการันตีมาตรฐานให้กับบริษัทได้บ้างว่า บริษัทห่วงใยและจริงใจเรื่องผลกระทบของโรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นเพียงใด เพราะแม้แต่ในออสเตรเลียซึ่งได้ชื่อว่ามีกฎหมายและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด ประชากรมีความรู้ความเข้าใจ และมีชุมชนเข้มแข็ง บริษัทก็ยังผ่านมาตรฐานมาได้ แล้วทำไมคนไทยด้วยกันจะไม่ลองวางใจกันดูบ้าง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.