การเดินบทบาทที่มีนัยสำคัญของพม่า

โดย เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ภายหลังผ่านการเลือกตั้งใหญ่ และได้รัฐบาลที่มีภาพเป็นประชาธิปไตย พม่าเริ่มเดินบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะกับเวียดนาม ซึ่งมีนัยสำคัญต่อบทบาทในการคานกับมหาอำนาจในภูมิภาคนี้อย่าง “จีน”

เว็บไซต์ BBC ภาษาเวียดนามรายงานข่าวนำเสนอผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเยือนเวียดนามของผู้บัญชาการสูงสุด กองกำลังติดอาวุธพม่าคนใหม่ พลเอก Min Aung Hlaing ที่นครฮานอย

เนื้อหาที่นำเสนอระบุว่า ครั้งนี้นับเป็นการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกของนายพล Min Aung Hlaing ในตำแหน่งผู้นำกองทัพแห่งชาติพม่า ซึ่งปัจจุบันเล็งเก้าอี้ประธานหมุนเวียนของกลุ่ม ASEAN

Irrawaddy หนังสือพิมพ์มีชื่อเสียงตามแนวโน้มประชาธิปไตยของคนพม่าในต่างประเทศ เพิ่งมีบทวิเคราะห์ระดับความ สำคัญของการเยือนนี้

บทวิเคราะห์ของ Irrawaddy ระบุว่าการที่นายพล Min Aung Hlaing เลือก เวียดนามแทนที่จีนเพื่อออกไปเยือนครั้งแรก เป็นการฝ่าการกระทำที่มีอยู่ก่อนของบรรดา บุคคลในตำแหน่งของเขา ทำให้หลายคนเห็นว่า พม่ากำลังมีการกระทำต่างๆ เพื่อค่อยๆ แยกตัวออกจากวงจรอิทธิพลของจีน วงการนักสังเกตการณ์ได้ให้ความสนใจในข้อนี้ นับตั้งแต่เมื่อ Naypyidaw ตัดสินใจ หยุดโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ Myitsone ซึ่งจีนเป็นผู้ลงทุนเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถึงแม้ทางปักกิ่งได้ประท้วงอย่างสุดกำลัง

หนังสือพิมพ์กองทัพประชาชนเวียดนามรายงานว่า กระทรวงกลาโหมเวียดนามได้จัดพิธีต้อนรับนายพล Min Aung Hlaing และลงภาพเขากับรัฐมนตรีกลาโหม ฝู่ง กวาง ทาญ ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้อ้างคำพูดนายพลพม่าที่กล่าวว่า ต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ของเวียดนาม “พม่าสนใจติดตามและวิจัยการเรียนการฝึกที่ประสบความสำเร็จของเวียดนามบ่อยๆ นั่นไม่เพียงเป็นประสบการณ์และความสำเร็จในสงคราม แต่ในการเปลี่ยนใหม่ เวียดนามก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง”

นายพลฝู่ง กวาง ทาญ และนายพล Min Aung Hlaing ได้เห็นพ้องกันเกี่ยวกับความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศระหว่างสองประเทศ

อดีตผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า Tin Oo ปัจจุบันเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน “สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย” ในพม่า บอกกับหนังสือพิมพ์ Irrawaddy ว่า Naypidaw ปัจจุบันประสบความลำบากกับจีน นับตั้งแต่หลังกรณีเขื่อน Myitsone ดังนั้นการส่งคณะทหารไปยังฮานอยจึงอาจจะเป็นเพื่อ “เสริมสร้างการป้องกันประเทศกับเวียดนาม”

Aung Lynn Htut อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองพม่า ผู้ซึ่งได้หลบหนีไปยังสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2548 ขณะเป็นรองเอกอัครราชทูตพม่าที่กรุงวอชิงตันกล่าวว่า ถึงแม้เวียดนามและพม่าไม่ใช่พันธมิตรทางทหาร แต่กองทัพของทั้งสองประเทศก็ได้มีความสัมพันธ์แนบแน่นเมื่อสมัยสงครามเวียดนาม

Aung Lynn Htut ยังกล่าวว่า “การเยือน (ของนายพล Min Aung Hlaing) สำคัญอย่างยิ่ง เพราะดูเหมือนแสดงให้เห็นว่า กองทัพพม่ากำลังต้องการมีพันธมิตรทางทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อหาทางแก้ไขปัญหาแทนที่จีน ประเทศที่เคยจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์หลายอย่างให้แก่พม่า”

ประสบการณ์เปลี่ยนใหม่

Aung Kyaw Zaw นักวิเคราะห์ความสัมพันธ์จีน-พม่าก็เห็นด้วยกับทัศนะนี้ เขากล่าวกับหนังสือพิมพ์ Irrawaddy ว่า เป้าหมายของการเยือน แน่นอนคือเพื่อส่งสัญญาณสำหรับความสัมพันธ์กับปักกิ่ง “จีนอาจจะกังวลเมื่อเห็นผู้บัญชาการสูงสุดพม่าไปเยือนเวียดนาม ประเทศที่มีความขัดแย้งกับจีนเกี่ยวกับปัญหาอธิปไตย ทะเลตะวันออก”

“พม่าต้องการแสดงให้เห็นว่า พวกเขาสามารถตั้งความสัมพันธ์กับไม่ว่าประเทศใดก็ได้ แม้กระทั่งอาจจะสั่งซื้อยุทโธปกรณ์จากเวียดนามในอนาคต”

ขณะอยู่ที่ฮานอย พลเอก Min Aung Hlaing พบพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี เวียดนาม เหงียน เติ๊น หยุง

สำนักข่าวเวียดนามรายงานว่า ในขณะ “ยืนยันการสนับสนุนในการเสริมสร้าง ความร่วมมือด้านความมั่นคง-ป้องกันประเทศ ระหว่างสองประเทศ นายกรัฐมนตรี เหงียน เติ๊น หยุง ก็ขอให้พม่าสนับสนุนสถานธุรกิจต่างๆ ของกองทัพเวียดนามที่เข้าไปลงทุนประกอบการในพม่า โดยเฉพาะบนขอบเขต โทรคมนาคม การธนาคาร การผลิตเกษตรกรรม เป็นต้น”

บรรดาสถานธุรกิจกองทัพเวียดนาม ค่อนข้างแข็งแกร่งในการลงทุนเข้าประเทศ ใกล้เคียง เช่น ลาวและกัมพูชา ดูเหมือนกำลังมีการเปิดไฟเขียวเพื่อรุกเข้าตลาดพม่าที่อุดมด้วยศักยภาพของสินแร่

อีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ นอกจากหัวข้อเศรษฐกิจ-การค้า บรรดาแกนนำเวียดนามส่งเสริมให้พม่าและเวียดนาม “สนับสนุนซึ่งกันและกันบนเวทีพหุภาคี”

ภายหลังการเลื่อนมาหลายปี กลุ่ม ASEAN อาจจะมอบเก้าอี้ประธานหมุนเวียน ของกลุ่มให้พม่า หลังจากประเทศนี้แสดงท่าทีเปิดเผยทางด้านการเมือง

เวียดนามแสดงออกอย่างรวดเร็ว โดยพลเอกฝุ่ง กวาง ทาญ ชี้แจงกับผู้บัญชา การสูงสุด Min Aung Laing เกี่ยวกับเรื่อง ทะเลตะวันออกทันทีหลังพิธีต้อนรับที่ฮานอย

นายพลทาญกล่าวว่า “นี่เป็นปัญหา ที่ประวัติศาสตร์ทิ้งไว้ นโยบายของเวียดนาม คือแก้ไขทุกการพิพาทในทะเลตะวันออก ด้วยมาตรการสันติบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ”

เมื่อวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม ฝ่าม บิ่ญ มิญ ก็ได้พบปะรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า Wunna Maung Lwin นอกกรอบการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ASEAN ที่บาหลี โดยฝ่าม บิ่ญ มิญ กล่าวว่าได้”เสนอมาตรการจำนวนหนึ่งที่มุ่งส่งเสริมและขยายความร่วมมือทวิภาคี” กับรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.