Function และ Emotion ของคันดินที่ริมโขงเวียงจันทน์

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

“บ่ต้องห่วงว่าพายุจะพัด เพราะว่าลาวเฮามีภูหลวงกั้นกลางระหว่างประเทศลาวกับเวียดนาม เพราะฉะนั้นเวลาพายุเข้าเวียดนาม ลาวจะได้ฮับอิทธิพลลมมรสุมเล็กน้อย” เสียงไกด์สาวที่เคยพูดทีเล่นทีจริงให้ได้ยินเมื่อครั้งที่มีโอกาสไปเยือน สปป.ลาว เป็นการมองโลกในแง่ดีว่า สปป.ลาวเป็นประเทศที่ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยจากการถูกพัดถล่มจากพายุและน้ำท่วมหนัก เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม หรือแม้แต่ต้องเจอกับสภาพน้ำท่วมขังแบบฝั่งไทย

ส่วนผลกระทบจากแม่น้ำโขง หนึ่งในแม่น้ำสายหลักของ สปป.ลาว แม้ว่าทุกวันนี้ จะไม่ค่อยปรากฏสภาพเอ่อล้นให้เห็น เพราะปัญหาน้ำจากหลายปัจจัย เช่น การจัดการน้ำเพื่อใช้ในเขื่อนของประเทศที่อยู่ต้นน้ำอย่างจีน การให้น้ำของลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ที่ลดลง และตะกอนจากริมฝั่งที่ทำให้น้ำตื้นเขิน ฯลฯ

สปป.ลาวไม่ได้ละเลยแล้วปล่อยชะตากรรมของเมืองอยู่บนความไม่แน่นอนของระดับน้ำ โดยเฉพาะนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เตรียมแนวป้องกันไว้ก่อนที่นครหลวง เวียงจันทน์จะขยายความเป็นเมืองมากขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ถือเป็นข้อได้เปรียบของประเทศที่พัฒนาขึ้นมาทีหลังที่มีบทเรียนทั้งดีและเสียให้เรียนรู้มากมายจากหลายเมืองทั่วโลก

นครเวียงจันทน์มีลักษณะภูมิประเทศ ไม่ต่างจากหลายจังหวัดที่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขงของไทย โดยเป็นที่ราบลุ่มที่มีความลาดเอียงต่ำ พื้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ มักพบปัญหาการกัดเซาะตลิ่ง และการตกตะกอนของลำน้ำซึ่งไม่อาจจะคำนวณได้แน่นอน เพราะระดับน้ำในแม่น้ำโขงเวลาขึ้นก็ขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม ส่วนหน้าแล้งในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน น้ำแห้งจนระดับน้ำลดฮวบ จนบางพื้นที่ของฝั่งไทยและลาวแทบจะเดินถึงกันได้โดยไม่ต้องใช้เรือ

ความแตกต่างจากการขึ้นลงของระดับน้ำ ประกอบด้วยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาพพื้นที่ริมฝั่งที่เปลี่ยนแปลงไปไม่แน่นอน ที่น่ากลัวคือ ไม่รู้ว่าวันหนึ่งการกัดเซาะหรือระดับการขึ้นลงของน้ำ บวกด้วยกระแส น้ำจะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือชีวิตของคนที่อาศัยริมฝั่ง หรืออาจจะส่งผลต่อถนนหนทาง พื้นที่ทำกินอย่างไรบ้าง

ริมแม่น้ำโขง หรือที่คนลาวเรียกกันว่า “แคมของ” เป็นศูนย์กลางธุรกิจสำคัญแห่งหนึ่งของเวียงจันทน์ ในอดีตพื้นที่ริมฝั่งโขงในเขตเมือง ก็มีการทำการเกษตรให้เห็นบ้าง โดยมีประชาชนลาวเข้าไปปลูกพืชผักบริเวณพื้นดินที่ตกตะกอนริมน้ำ รัฐบาล สปป.ลาวก็ไม่ได้เฝ้าดู การใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชนเฉยๆ จาก การสังเกตพบว่า ริมฝั่งแม่น้ำมีอัตราการถูกกัดเซาะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำขึ้นสูง

ปี 2552 โครงการป้องกันชายฝั่งและพัฒนา ริมฝั่งโขง นครหลวงเวียงจันทร์ จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง เมื่อรัฐบาล สปป.ลาวพิจารณาแล้วว่า วิธีการที่จะป้องกันและหยุดยั้งการกัดเซาะริมฝั่งแม่น้ำโขงที่รุนแรงขึ้น ต้องอาศัยเทคนิคด้านวิศวกรรมในการจัดการน้ำ โดยตัดสินใจก่อสร้างแนวเขื่อนริมแม่น้ำโขงเพื่อเป็นแนวป้องกันระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรในจุดที่เหมาะสมและมีทางน้ำระหว่างพื้นที่ในเขต เมืองถึงแม่น้ำ รวมทั้งประตูน้ำ เพื่อจัดการน้ำช่วงฝนตกหรือแม่น้ำโขงปรับระดับขึ้นสูงให้อยู่ภายใต้การควบคุม

ปัญหาแบบนี้ไม่ต้องดูที่ไหนไกลที่จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ หรือจังหวัดมุกดาหารของฝั่งไทย ล้วนเคยเจอปัญหาการเกาะเซาะดินริมตลิ่งและน้ำจากแม่น้ำโขงปรับระดับสูงจนส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำจากเมืองในช่วงฝนตกจนเกิดเป็นปัญหาน้ำท่วมมาแล้วทั้งสิ้น กรณีที่ระดับน้ำแม่น้ำโขงยังอยู่ในระดับที่รองรับการระบายน้ำจากเมืองลงได้ ปัญหาจากช่วงฝนตกหนักพายุเข้าก็ทุเลาลงได้เร็ว แต่ถ้าฝนตกหนักช่วงเดียวกับแม่น้ำโขงปรับระดับขึ้นสูงก็เป็นอันว่าหนีไม่พ้นต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมขัง นานแค่ไหนก็ขึ้นกับระดับน้ำของแม่น้ำโขงนั่นเอง โดยไม่มีระบบป้องกันที่ถาวร ต้องอาศัยจังหวะของธรรมชาติในการจัดการน้ำเท่านั้น

แผนกโยธาธิการและขนส่ง นครหลวงเวียงจันทน์ ผู้ดูแลโครงการดังกล่าว ได้บริษัทรับเหมาก่อสร้างจากเกาหลีชื่อเอสเอสคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งชนะการประมูลเข้ามาเป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้าง การเซ็นสัญญาโครงการเมื่อปี 2552 ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก โดยมีสมมาด พนเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่งเป็นตัวแทนลงนามฝ่าย สปป.ลาว และเอกอัครราชทูต เกาหลีใต้ประจำประเทศลาวเป็นตัวแทนฝ่ายเกาหลี

โครงการก่อสร้างดังกล่าวมูลค่าประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้รับการ สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากองค์การพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ รายละเอียด โครงการประกอบด้วยการสร้างแนวป้อง กันการพังทลายของริมฝั่งแม่น้ำและคันดิน ป้องกันน้ำท่วมตั้งเขตเก้าเลี้ยวไปจนถึงหลัก 3 (หลักกิโลเมตรที่ 3) เส้นทางระบายน้ำจากในเมืองไปยังริมฝั่งน้ำ ประตูน้ำ 2 จุด ได้แก่ จุดหลังหอคำ (ทำเนียบประธานประเทศ) และจุดสะพานขาว และสร้างสวนเจ้าอนุวงศ์ให้เป็นแหล่งพักผ่อนของชาวเมืองครบวงจร

ปัจจุบันโครงการบางส่วนยังคงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่ส่วนของสวนเจ้าอนุวงศ์แล้วเสร็จและเปิดให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวแล้ว ทันการครบรอบก่อสร้างนครหลวงเวียงจันทน์ 450 ปี เมื่อปี 2553 ตามกำหนดที่วางไว้

สวนเจ้าอนุวงศ์เป็นการใช้ประโยชน์ จากแนวป้องกันริมแม่น้ำโขง ที่กลายเป็นสถานที่พักผ่อนและแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ของ สปป.ลาว มีไฮไลต์ที่อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เวียงจันทน์ ความสูง 8 เมตร ในรูปประทับยืนหันพระพักตร์พร้อมกับยกพระหัตถ์ข้างหนึ่งชี้ไปทางฝั่งไทย นอกจาก ตัวสวนที่ให้ประโยชน์ต่อการใช้งานของชาวเมืองโดยตรงอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นนี้ก็ให้ผลในเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ของเยาวชนรุ่นหลังของ สปป.ลาวด้วย

พื้นที่บริเวณสวนแห่งนี้กว้าง 16 เฮกตาร์ มีทั้งส่วนของสวนดอกไม้ ร้านอาหาร ห้องน้ำ ลานออกกำลังกาย และอุปกรณ์ออกกำลังกาย ส่วนบริเวณใกล้เคียงเป็นทั้งย่านโรงแรมที่พักชั้นนำ แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งชอปปิ้งของนครหลวงเวียงจันทน์

คนที่เดินเข้าไปใช้ประโยชน์ของสวนแห่งนี้ จะได้เห็นแต่บรรยากาศภายในสวนที่กล่าวถึง หากต้องการชมวิวริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้งฝั่งไทยและลาว ก็จะต้องออกแรงเดินขึ้นบันไดไปตามแนวคันดิน เพราะสวนแห่งนี้อยู่ต่ำกว่าแนวคันดินที่ออกแบบไว้สำหรับป้องกันน้ำท่วมกรณีที่น้ำโขงล้นตลิ่งไว้นั่นเอง วันนี้แนวป้องกันอาจจะดูสูงเกินจำเป็น แต่ยามที่น้ำหลากมาประชาชนลาวคงเห็นประโยชน์ว่าแนวป้องกันนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจของพวกเขาอย่างไรบ้าง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.