|

อุโมงค์ยักษ์ กทม. ทางแก้หรือปัญหายั่งยืน
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
อุโมงค์ยักษ์ กทม.เพิ่งเปิดตัวส่วนอุโมงค์ช่วงพระรามเก้า-รามคำแหง ซึ่งเป็นเฟสแรกของโครงการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นก็ได้ใช้งานจริงทันที ช่วงที่น้ำเริ่มรุกเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน ประชาชนจำนวนหนึ่งหวังเต็มที่ว่า ถึงเวลาแล้วที่อุโมงค์ยักษ์โครงการที่กรุงเทพมหานครภูมิใจเสนอได้เวลาแสดงความสามารถเต็มที่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังได้เห็นประสิทธิภาพ กลับกลายเป็นข้อสงสัยที่เข้ามาแทนว่า ตกลงคนกรุงเทพฯ จะพึ่งพาอุโมงค์นี้ได้จริงไหม หรือจะเรียกว่านี่คือการทดสอบที่จะทำให้อุโมงค์ส่วนที่เหลืออีก 3 แห่งปรับปรุงได้ถูกทาง
อุโมงค์ยักษ์ กทม.เริ่มต้นดำเนินงาน ไล่หลังอุโมงค์ฉลาดของมาเลเซียไม่กี่ปี (อ่าน Malaysia ‘SMART’ Tunnel Beyond Flood Management) งบประมาณการก่อสร้างก็ไม่ต่างกันมาก ที่มาเลเซียอุโมงค์ ที่สร้างขึ้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เมตร ระยะทาง 9 กิโลเมตร ใช้งบประมาณประมาณ 19,000 ล้านบาท ได้รับการยกย่องจากการออกแบบและประสิทธิภาพการใช้งานว่าเป็นอุโมงค์มหัศจรรย์ เพราะแก้ได้ทั้งน้ำท่วมเมืองจากฝนตกหนัก และป้องกันน้ำไหลบ่าจากพื้นที่ตอนเหนือของกรุงกัวลาลัมเปอร์ แถมยังใช้ช่วยระบายรถติดในศูนย์กลางเมืองได้อีกด้วย
ส่วนอุโมงค์ยักษ์ กทม.รวมแล้วมีระยะทางยาวมากกว่ามาก เส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า และใช้งบประมาณรวม 16,000 ล้านบาท เป็นโครงการที่ไฮไลต์มาตั้งแต่เริ่มว่า จะเกิดมาเพื่อระบายน้ำท่วมจากฝนตกหนักในพื้นที่ กทม.เท่านั้น ส่วนน้ำเหนือที่ไหลล้นเข้าไปเหมือนเหตุการณ์น้ำท่วมล่าสุดในปีนี้ ไม่ได้อยู่ในจินตนาการ มาก่อน และระบบน้ำที่จะไหลเข้าอุโมงค์ก็ไม่ได้จินตนาการไว้เผื่อว่า หากกรณีมีขยะจำนวนมากไหลรวมมาด้วยจะมีปัญหาต่อ ระบบอย่างไร เราจึงไม่เห็นระบบตักขยะอัตโนมัติ นอกจากพนักงานทำความสะอาดของ กทม.ที่เข้ามาจัดเก็บขยะที่ไหลมาติดตะแกรงบริเวณที่น้ำจะไหลเข้าอุโมงค์แทน
ถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ กทม.ต้องออกมาขอความร่วมมือประชาชนอย่าทิ้งขยะลงคลอง ในช่วงที่น้ำท่วมหนัก เพื่อไม่ให้ขยะและสิ่งต่างๆ ไปกีดขวางทางน้ำ เพราะขยะยิ่งมากประสิทธิภาพการระบายน้ำก็ยิ่งลดลง
อุโมงค์ยักษ์สายแรกพระรามเก้า-รามคำแหง ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดระหว่างคลองลาดพร้าวกับคลองแสนแสบ ระยะทาง 5 กิโลเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ใหญ่กว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อระบายน้ำใน กทม.เดิมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 1.8 เมตรปลายทางอุโมงค์คือแม่น้ำเจ้าพระยา รองรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตรในเขตลาดพร้าว วังทองหลวง บางกะปิ ห้วยขวาง บึ่งกุ่ม และสะพานสูง เป็นจุดที่ กทม. เลือกสร้างอุโมงค์เพราะเป็นพื้นที่ต่ำและมีปัญหาน้ำท่วมทุกปี สามารถระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่วนอุโมงค์ส่วนที่เหลือได้แก่ สายรัชดาภิเษก-สุทธิสาร จากจุดตัดของถนนสองสายลงสู่เจ้าพระยา ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จใน 4 ปี รับผิดชอบระบายน้ำในพื้นที่ห้วยขวาง ดินแดง จตุจักร พญาไท ดุสิต และบางซื่อ สายที่สามจากสวนหลวง ร.9 ลงแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร สำหรับพื้นที่ประเวศ พระโขนง บางนา และสวนหลวง จะแล้วเสร็จปี 2555 และสายสุดท้ายยาว 13.5 กิโลเมตรจากบริเวณสนามบินดอนเมืองลงแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายที่ยาวที่สุดและมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เมตร รับระบายน้ำในพื้นที่จตุจักร หลักสี่ บางเขน ดอนเมือง และบางส่วนของพื้นที่เขตสายไหม
ทั้ง 4 อุโมงค์รวมกันจะสามารถระบายน้ำได้ 240 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้ กทม.เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำเพิ่มมากกว่า 2 เท่าภายใน 5 ปีเมื่ออุโมงค์ทุกสายแล้วเสร็จ
“เวลาน้ำท่วมส่วนใหญ่ก็ระบายโดยธรรมชาติได้ แต่ระบบอุโมงค์ยักษ์จะเหมือนทางด่วนทำให้น้ำไหลผ่านไปลงเจ้าพระยาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็ดีใจที่วันนี้เราได้เริ่มก้าวแรกที่ได้เริ่มต้นระบบอุโมงค์เพื่อลดความเสี่ยงของพื้นที่เสี่ยงที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อนมานาน พี่น้องที่สัญจรไปมาใช้พื้นที่เสี่ยงเป็นทางผ่านหรือมาทำงานในพื้นที่นี้จะสบาย ขึ้นอีกเยอะ” คำพูดของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งกล่าว ไว้ในวันทำพิธีเปิดอุโมงค์สายแรก
ความรู้สึกดีใจของผู้ว่าฯ จะส่งผ่านไปถึงชาว กทม.ได้ทั่วถึงหรือไม่ คงไม่มีใครตอบได้ดีกว่าชาว กทม.ซึ่งสัมผัสกับประสบการณ์จากอุโมงค์ยักษ์สายแรกกันแล้วถ้วนหน้า
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|