Malaysia 'SMART' Tunnel Beyond Flood Management

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

หลายปีมานี้ กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซียตกอยู่ในอันตรายจากน้ำท่วมไม่ต่างจากหัวเมืองปักษ์ใต้บ้านเรา สาเหตุสำคัญหนีไม่พ้นผลความรุนแรงของธรรมชาติ ปริมาณฝนที่สูงขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัวในแต่ละปี อาจจะมากเกินกว่าที่ผู้คนในเมืองจะตั้งรับได้ต่อไป แต่กลับไม่มีข่าวน้ำท่วมจนสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินเหมือนข่าวที่เกิดขึ้นถี่ในช่วง 2-3 ปีนี้ในหลายจังหวัดของไทย เพราะที่กัวลาลัมเปอร์มีสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า SMART Tunnel

กัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองที่มีประชากร อาศัยอยู่ประมาณ 2 ล้านคน เป็นเมืองที่เติบโตทุกวันไม่ต่างจากกรุงเทพฯ พื้นฐานของการสร้างเมืองก็ไม่ต่างกันด้วย เพราะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างแม่น้ำสองสาย ฉะนั้นจินตนาการ ได้เลยว่า ในยุคคอนกรีตบล็อกพื้นดินที่พบ เห็นได้ทุกเมือง เมื่อเจอฝนเทกระหน่ำ ประชากรในเมืองก็จะได้เห็นการประกาศเตือนภัยน้ำท่วมพร้อมกับภาพน้ำที่เอ่อล้นฝั่งให้เห็นเป็นปกติ

สภาพการณ์แบบนี้คือภาพในอดีตที่ทำให้คนในเมืองหลวงแห่งนี้ต้องทนรับสภาพน้ำล้นเมืองมาหลายทศวรรษ เมืองยิ่งขยายสถานการณ์น้ำท่วมก็ยิ่งรุนแรงเกิดการแย่งชิงพื้นที่ระหว่างมนุษย์กับน้ำโดยปริยาย แต่มีมนุษย์ฝ่ายเดียวเท่านั้นที่ต้องทนกับสภาพที่เกิดขึ้น เพราะน้ำไหลมาแล้ว ก็ไหลไปไม่ได้ใส่ใจใคร

ขณะที่คนเมืองต้องเผชิญกับความเสียหายที่เพิ่มขึ้น อัตราการเติบโตของเมือง เพิ่มขึ้นเท่าไร อัตราความเสียหายก็ดูเหมือน จะเขยิบขึ้นด้วยเช่นกัน เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของกรมชลประทานและการระบาย น้ำ (Department Irrigation and Drainage) มาเลเซียให้ข้อมูลว่า ความเสียหายดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นจนประเมินได้ว่า ในแต่ละปีหากปล่อย ให้น้ำท่วมเมืองหลวง จะสร้างความ เสียหายคิดเป็นมูลค่าเกือบ 1% ของ จีดีพี ดังนั้นแม้น้ำท่วมจะเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นได้ในกัวลาลัมเปอร์ แต่คงไม่ใช่เรื่องถูกต้องที่จะปล่อยให้ คนในเมืองต้องเผชิญกับความเสียหายที่เพิ่มขึ้น

ปัจจัยการเกิดฝนมาจากสองเรื่องหลัก ความชื้นกับความร้อน ที่ตั้งของมาเลเซียก็ไม่ต่างจากไทยซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างสองมหาสมุทรใหญ่อย่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ความร้อนที่ทำให้น้ำจำนวนมากในมหาสมุทร กลายเป็นไอและเพิ่มปริมาณไอน้ำสะสมด้วยภาวะโลกร้อน เมื่อฝนตกในเมืองที่เต็มไปด้วยพื้นคอนกรีต ที่ไม่มีคุณสมบัติดูดซับน้ำโดยสิ้นเชิง ปัญหาก็ย่อมเกิดขึ้นคาตา

อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาจากธรรมชาติที่เพิ่มปริมาณฝนนี้ เทียบแล้วก็ยังไม่สู้น้ำมือมนุษย์ ซึ่งเร่งภาวะโลกร้อนจากการ ตัดสินใจเลือกทำลายพื้นที่เขียวแล้วแทนที่ด้วยป่าคอนกรีตทั้งตึกและพื้นถนน ดังที่ปรากฏ อยู่ในทุกเมืองทั่วโลก จนกระทั่งหลายเมืองเกิดปรากฏการณ์ The Urban Heat Island Effect ให้มนุษย์สัมผัสได้ด้วยความร้อนผ่าวตามผิวหนังในยามอยู่นอกห้องปรับอากาศ

สถิติของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในกัวลาลัมเปอร์สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก อีกทั้งยังมีอุณหภูมิสูงติดอันดับเมืองที่ร้อนที่สุดเมืองหนึ่งในโลกพอๆ กับกรุงเทพฯ ความร้อนสูงและความชื้นสูงเมื่อผสมกันเป็นตัวเร่งที่ดีของการเกิดฝนปริมาณมาก ความถี่ ในการผจญกับพายุของกัวลาลัมเปอร์จึงมีแต่แนวโน้มที่สูงขึ้นทุกปี

เดิมรัฐบาลมาเลเซียต้องการพัฒนาคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ แต่ติดปัญหาไม่มีที่ดินมากพอที่จะทำได้ เพราะไม่มีทางที่รัฐบาลจะตัดคลองผ่านพื้นที่ย่านธุรกิจซึ่งมีมูลค่าสูงลิบลิ่วได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมาเลเซียรู้ว่าต้องหาโครงการสักโครงการเพื่อให้เมืองรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้

อะไรสักอย่างที่ทำให้มนุษย์ควบคุมน้ำที่จะไหลมาถึงตัวได้ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาจะทำได้ ขณะที่การฝากอนาคตไว้กับสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้และคาดการณ์ล่วงหน้าได้ไม่นาน ถึงแม้จะพยายามหาวิธีคาดการณ์ ได้แม่นยำเพียงไร เช่นทำให้รู้ว่าจะต้องรับมือกับพายุปีละกี่ลูก หรือรุนแรงระดับไหน ก็ไม่ใช่วิธีการป้องกันที่ดี เพราะรู้แต่ก็ต้องทนรับหากไม่มีทางป้องกัน

ปี 2003 รัฐบาลมาเลเซียตัดสินใจเริ่มต้นพัฒนาโครงการ Stormwater Management and Road Tunnel หรือเรียกชื่อย่อว่า SMART Tunnel เป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และต้องอาศัยความสามารถทางวิศวกรรมเพื่อเลี่ยงไปใช้พื้นที่ใต้ดินในการพัฒนาโครงการแทนปัญหาที่ไม่สามารถหาที่ดินในเมืองมาทำคลอง ระบายน้ำได้

โครงการนี้ถูกเรียกว่า อุโมงค์ฉลาด เป็นอุโมงค์มอเตอร์เวย์ และอุโมงค์ระบายน้ำในอันเดียวกัน ใช้งบประมาณจำนวน 1,887 ล้านริงกิตมาเลเซีย (1 ริงกิตประมาณ 10 บาท) ถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ มีระยะทางทั้งหมด 9.7 กิโลเมตร โดยเป็นส่วนที่สามารถใช้เพื่อเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมด้วยระยะทาง 4 กิโลเมตร เริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2007

การผสมผสานการใช้งานของอุโมงค์แบบนี้ ทำให้อุโมงค์นี้ ได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อป้องกันตัวเองจากธรรมชาติเลยทีเดียว เพราะอุโมงค์นี้อาจจะใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงใน 365 วันเท่านั้นเพื่อการระบายน้ำในการป้องกันน้ำท่วมเมืองแบบ 100% เต็ม จำนวนวันและเวลาที่เหลือก็ไม่สูญเปล่าและถูกจัดสรรให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนไปในการใช้ประโยชน์ ด้านการคมนาคมแทน

วัตถุประสงค์ของอุโมงค์ถูกกำหนดไว้ชัดเจนแต่แรกว่า นอกจากเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมฉับพลันก็จะใช้เป็นอุโมงค์มอเตอร์เวย์ สำหรับลดการจราจร ติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนของกรุงกัวลาลัมเปอร์ด้วย

อุโมงค์นี้แบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 จะเป็นทางขึ้นทางลงของรถยนต์ โดยอนุญาตเพียงรถยนต์ส่วนตัวและรถแท็กซี่เท่านั้นที่ใช้อุโมงค์ได้ โดยเปิดให้ใช้งานเมื่อสภาพดินฟ้าอากาศปกติ ไม่มีน้ำ พายุ ไม่มีน้ำท่วม และชั้นที่ 3 ชั้นล่างสุด ใช้เพื่อระบายน้ำในกรณีที่เริ่มมีน้ำท่วมเกิดขึ้นไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ชั้นจะปรับมาใช้เพื่อการระบายน้ำโดยปิดการจราจรแล้วเคลียร์รถออกจากอุโมงค์ทั้งหมด ในกรณีที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันจากฝนตกอย่างหนักและเมื่อเคลียร์น้ำได้หมดระบบจะสามารถปรับกิจกรรมในอุโมงค์เปิดเป็นมอเตอร์เวย์ได้ภายใน 48 ชั่วโมง

จากการพุดคุยกับผู้ใช้อุโมงค์ พบว่า โครงการอุโมงค์ฉลาดนี้เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นบ่อยมากในกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมา มีน้ำท่วมฉับพลันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และส่งผลกระทบต่อจราจรในบริเวณดังกล่าว ทรัพย์สินของประชาชนได้รับความ เสียหาย โดยเฉพาะรถยนต์เสียหายเป็นจำนวนมาก แต่หลังมีอุโมงค์นี้ปัญหาต่างๆ ก็แทบไม่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอีกเลย

อุโมงค์ฉลาดเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยาวเป็นอันดับสองในเอเชีย เป็นอุโมงค์อเนกประสงค์ที่ยาวที่สุดในโลกด้วย

แม้ความคิดริเริ่มโครงการจะมาจาก หน่วยงานอย่างกรมชลประทานและการระบายน้ำ แต่เมื่อการใช้งานหลากหลายจึงมีอีกหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนเกี่ยว ข้องดูแลการใช้งานอุโมงค์ ได้แก่ หน่วยงาน ทางหลวงมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงร่วมทุนระหว่างบริษัท กามูดา เบอร์แฮด และการเหมืองแร่คอร์ปอเรชั่น มาเลเซียด้วย เพราะระบบวิศวกรส่วนใหญ่ของโครงการเป็นกลไกที่ปฏิบัติการอยู่ใต้ผิวดิน

กลไกในการปรับเปลี่ยนอุโมงค์จากมอเตอร์เวย์เป็นทางน้ำ จะมีประตูน้ำขนาดใหญ่กั้นอุโมงค์ทั้งสามชั้นใช้ระบบเปิด-ปิดเหมือนประตูน้ำคือ เปิดโดยยกขึ้นจากพื้นล่างสุดทีละชั้น เมื่อเปิดประตูหมดจะทำให้น้ำวิ่งผ่านอุโมงค์ได้เต็มพื้นที ทั้ง 3 ชั้นรวมแล้วมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างถึง 15 เมตร

กรมชลประทานและการระบายน้ำผู้ริเริ่มโครงการนี้บอกว่า อุโมงค์นี้ไม่ใช่แค่ป้องกันน้ำท่วมจากปริมาณฝนจำนวน มากที่ตกในเมือง แต่ยังช่วยป้องกันน้ำเหนือ หรือน้ำจากพื้นที่ตอนบนที่อาจจะเกิดฝนตกและไหลเข้าสู่เมืองด้วย

การมีเครื่องมือที่ฉลาดอาจจะไม่ช่วยเมืองให้รอดพ้นจากการแก้ปัญหาน้ำท่วมเลยก็ได้ หากปราศจากระบบเฝ้าระวังและการจัดการที่ฉลาดพอกัน เช่น มีประตูน้ำแต่ไม่รู้จะเปิดปิดตอนไหน ไม่มีระบบเคลียร์การจราจรในอุโมงค์ที่ดี ซึ่งนอกจากแก้ปัญหาน้ำท่วม ไม่ได้ อาจจะสร้างปัญหาด้านความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถในอุโมงค์อีกด้วย

บริษัทที่รับผิดชอบเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในกัวลาลัมเปอร์ จะมี Critical Team ที่คอยมอนิเตอร์สถานการณ์น้ำบนผิวดินตามจุดต่างๆ ของเมืองผ่านกล้องวงจรปิดที่ติดไว้ทั่วเมือง คอยตรวจเช็กปริมาณน้ำซึ่งจะมีการวางระบบและจุดตรวจวัดไว้ในจุดต่างๆ ของเมือง การติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ที่คลองระบาย ต่ำจากระดับคันคลองประมาณ 1 เมตร หลายสิบจุดตลอดแนว เพื่อทำการตรวจวัดระดับน้ำซึ่งจะส่งสัญญาณไปยังเครื่องรับและส่งเข้าระบบ จากนั้น Critical Team จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยในการประมวลผลเพื่อทำให้คาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้อย่างรวดเร็ว

หากเป็นช่วงเวลาปกติการตรวจเช็กจะทำทุกชั่วโมง แต่ในช่วงที่ฝนตกหนักการเฝ้าระวังและตรวจเช็กจะเพิ่มความถี่ขึ้นเป็นทุกๆ 5 นาที

4 ปีมาแล้วที่อุโมงค์นี้เปิดทำการ ส่วนพื้นที่บ่อรับน้ำของระบบเปิดสแตนด์บายอยู่เสมอ ประตูกั้นน้ำพร้อมใช้ตลอดเวลา ระบบเตือนภัยทำงานอย่างต่อเนื่อง มอนิเตอร์สถานการณ์เรียลไทม์ไม่เคยขาด อุโมงค์พร้อมใช้งาน ทุกระบบงานที่ประสานกันอย่างลงตัวนั่นเอง ทำให้อุโมงค์นี้ได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์จากน้ำมือ มนุษย์โดยสมบูรณ์ เป็นอีกบทที่พิสูจน์ว่า เมื่อมีความท้าทายมนุษย์ต้องหาทางแก้ปัญหาเพื่อความอยู่รอด แม้ว่าเกมไล่ล่าระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่มีตอนจบอย่าง แท้จริงแม้เมื่อโลกสลายไปแล้วก็ตาม

ความสำเร็จของอุโมงค์ฉลาดทำให้กลายเป็นมาตรฐานในการป้องกันอุทกภัยของเมืองใหญ่ แต่สำหรับความท้าทายเฉพาะหน้าของกรมชลประทานและการระบายน้ำของมาเลเซีย หลังสิ้นสุดโครงการอุโมงค์ฉลาด

พวกเขาบอกว่า พวกเขาอาจจะประสบความสำเร็จแล้ว กับการจัดการกับอุทกภัยในเขตเมือง แต่เรื่องที่พวกเขาต้องการ ทำให้สำเร็จต่อจากนี้ไปก็คือ พวกเขาจะนำธรรมชาติกลับมาสู่เมืองกัวลาลัมเปอร์อีกครั้งได้อย่างไร

เพราะนี่คือแง่มุมของการยอมรับในวิถีธรรมชาติที่มนุษย์ ไม่ควรหลีกเลี่ยงด้วยเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.