|

10 ข้อเสนอแนะ มุมมองต่ออุทกภัยไทยปี 2011
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
เพราะสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปีนี้ ทำให้น้ำหนักของการจัดการน้ำเทไปที่เรื่องปัญหาน้ำท่วมเป็นหลัก เช่นเดียวกันโครงการน้ำแห่งเอเชียของ IUCN โดย Ganesh Pangare หัวหน้าโครงการน้ำแห่งเอเชีย (Water Programme) ระบบนิเวศและกลุ่มอาชีพ IUCN สำนักงานภูมิภาคเอเชีย (Ecosystems and Live-lihoods Group, IUCN Asia Regional Office) สรุปมุมมองที่เป็นต้นเหตุปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นของไทยในครั้งนี้ให้กับผู้จัดการ 360 ํ
IUCN หรือสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากร ธรรมชาติ (International Union of con-servation or Nature and Natural Resources หรือ World Conservative Union: IUCN) เป็นองค์กรระหว่างประเทศ จัดตั้งขึ้นเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อ พ.ศ.2491 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองแกลนด์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีประเทศสมาชิก 83 ประเทศ ประกอบด้วยตัวแทนรัฐบาล 108 กลุ่ม องค์กรอิสระ 766 กลุ่ม และองค์กรระหว่างประเทศ มีนักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญในสังกัดประมาณ 10,000 จากทั่วโลก พันธกิจของ IUCN คือ การโน้มน้าว สนับสนุน และส่งเสริมสังคมทั่วโลกให้ร่วมกันสงวนไว้ซึ่งความสมบูรณ์และความหลากหลายของธรรมชาติ และการรับประกันการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใดๆ จะเป็นไปอย่างเที่ยงธรรมและรักษาสภาพเชิงนิเวศไว้ได้
หลายประเด็นคือสิ่งที่เราคนไทยรู้กันอยู่แก่ใจ เมื่อมองด้วยสายตาคนนอก ไม่ใช่คนในที่คุ้นเคยหรือเติบโตมาบนแผ่นดินนี้ยังมองเห็นต้นเหตุปัญหาได้ชัดเจน ไม่ต่างกัน บทสรุปนี้น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจและช่วยสะกิดเตือนทุกคนให้หันมาใส่ใจและมีส่วนร่วมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นกันได้อย่างจริงจังเสียทีแล้ว
อย่างน้อยก็คิดเสียว่า นี่คือมุมมองและข้อเสนอแนะที่เราสามารถนำไปทบทวนกัน อีกครั้ง โดยหัวหน้าโครงการน้ำแห่งเอเชียของ IUCN สรุปมุมมองของเขาไว้ดังนี้
การเข้าใจระบบนิเวศของที่ราบน้ำท่วมถึง เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการบรรเทาผลกระทบของอุทกภัยต่อพื้นที่อื่นที่มีภูมิประเทศคล้ายคลึงกัน
1. แม่น้ำ ลำธาร ห้วยหนองคลองบึง และพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำหน้าที่เป็นทั้งทางน้ำไหล และที่เก็บกักน้ำในระบบการระบายน้ำตามธรรมชาติ การวิเคราะห์เชิงพื้นที่เพื่อดูว่า ทาง น้ำเหล่านี้ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นระบบการระบายน้ำ มีผลต่อกันและกันและสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร บวกกับการวัดค่าต่างๆ ในเชิงอุทกวิทยา (Hydrological measure-ments) เป็นระยะๆ จะทำให้มองเห็นภาพทางไหลของน้ำและรูปแบบการไหลของน้ำในยามปกติได้
2. การวัดค่าในเชิงอุทกวิทยาควรทำซ้ำในปีที่เกิดน้ำท่วมด้วย เพื่อตรวจดูความเบี่ยงเบนทางอุทกวิทยาเมื่อเกิดน้ำท่วม และข้อมูลทางอุทกวิทยาที่วัดได้นี้ จะเป็นพื้นฐาน สำหรับการสร้างแบบจำลองน้ำท่วม ซึ่งสามารถนำไปใช้ประเมินการไหลและความหนาแน่นของน้ำได้
เพิ่มอำนาจให้หน่วยงานและสถาบันที่บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกี่ยวกับน้ำ
3. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นงานที่ยากและซับซ้อน จึงมักต้องแบ่งงานกันทำในหลายหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้น การมีหน่วยงานที่จะคอยประสานงาน อย่างเช่นการมีองค์กรที่ราบลุ่มแม่น้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เป็นองค์กรที่จะมีบทบาท สำคัญ ในการดูแลการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำให้ทำงานสอดคล้องประสานกันและไม่ขัดแย้งกันเอง
4. ยามเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ภัยธรรมชาติขึ้น สิ่งสำคัญคือจะต้องประสานการทำงานของหน่วยงานและสถาบันที่มีอยู่หลายแห่งให้ดี ซึ่งอาจทำได้โดยการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการภัยพิบัติขึ้นมาโดยเฉพาะ ที่มีอำนาจสั่งการและดูแลการแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ ตั้งแต่การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การฟื้นฟูเยียวยา การบรรเทาความเดือดร้อน ไปจนถึงการบริหารสื่อ
5. เพื่อเป็นการสนับสนุนการทำงานของศูนย์บัญชาการกลาง หน่วยงานและสถาบันที่มีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ควรได้รับทรัพยากรเพิ่มเติมสำหรับใช้แก้ไขปัญหาในพื้นที่และสำหรับการฟื้นฟูเยียวยา การเพิ่มความสามารถให้หน่วยงานและสถาบัน ที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการอุทกภัย จะเป็นประโยชน์ อย่างยิ่ง เมื่อรัฐเริ่มดำเนินการตามมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน
ควรรวมการระบายน้ำตามธรรมชาติ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่น เข้าไว้ในการวางผังเมืองและการพัฒนาเมือง
6. การวางผังเมืองแบบยั่งยืน จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการลดผลกระทบของการ พัฒนาเมืองที่มีต่อการระบายน้ำตามธรรมชาติ ตัวอย่างของการวางผังเมืองโดยคำนึงถึงลักษณะธรรมชาติทางภูมิศาสตร์ ก็อย่างเช่นการปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำไว้ให้เป็นพื้นที่สันทนาการของคนเมือง เป็นต้น
7. แม้จะเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดการณ์ว่าภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่การเตรียม ตัวเพื่อรับมือผลกระทบจากภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ การกันพื้นที่บางส่วนในที่ราบน้ำท่วมถึงไว้เป็นเขตกันชน และการทำทางเฉพาะให้น้ำไหลผ่านจะสามารถป้องกัน การสูญเสียที่ไม่พึงประสงค์ได้
8. นอกจากจะลงทุนในการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการระบายน้ำตามธรรมชาติ แล้ว ประชาชนยังจะได้รับประโยชน์จากการใช้กลไกเตือนภัยแต่เนิ่นๆ จะให้ข้อมูล แก่ชุมชนที่มีความเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วม เราสามารถใช้เว็บไซต์ประเภท social media และเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ มาช่วยกระจายข้อมูลเหล่านี้ได้
9. การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนรับมือภัยพิบัติ จะช่วยในแง่ของการลงมือแก้ปัญหาได้ทันเวลาเมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น นอกจากนี้การให้ประชาชน มีส่วนร่วมตั้งแต่แรกเริ่มของการวางแผน จะทำให้ชุมชนมีความพร้อมมากกว่าในกรณีที่ต้องอพยพเมื่อเกิดภัยพิบัติ
10. แม้ว่ามาตรการแก้ปัญหาด้วยโครงการด้านวิศวกรรมขนาดใหญ่จะสามารถบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างได้ผลในทันที แต่การแก้ปัญหาระยะยาวซึ่งรวมเอากระบวนการทางระบบนิเวศเข้าไว้ด้วย ก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการอุทกภัยในระยะยาว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|