ทางด่วนสายน้ำที่จันทบุรี

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ขาดน้ำ ทั้งที่ภาคตะวันออกของไทยเป็นภาคที่มีปริมาณฝนเฉลี่ยต่อปีสูงมาก พอๆ กับภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรีแทบจะเรียกว่าเป็นเมืองฝนแปดแดดสี่ได้เหมือนกัน มีปริมาณฝนแต่ละปีช่วงพฤษภาคมถึงตุลาคมมากกว่า 2,500 มม.ต่อปี จัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีฝนตกมากที่สุด

ทั้ง 3 จังหวัดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกัน เป็นจังหวัดที่มีภูเขาและอยู่ติดทะเล ลักษณะภูมิประเทศแบ่งเป็นสามโซน โซนแรกตอนบนเป็นพื้นที่สูงและภูเขา ตอนกลางเป็นพื้นที่ ราบลูกคลื่นและเชิงเขา ตอนล่างเป็นพื้นที่ราบชายฝั่งและที่ราบลุ่มแม่น้ำ การจัดเก็บน้ำทำได้ยาก เพราะระยะทางไหลของน้ำจากเขาถึงทะเลไม่ไกลกันเท่าไรนัก น้ำไหลเร็ว และ แม่น้ำแต่ละสายในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็เป็นแม่น้ำสายสั้นๆ พอช่วงฤดูฝนน้ำมากก็ต้องเร่งระบาย น้ำทิ้งลงทะเล พอถึงฤดูแล้งก็มักจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ

จากโจทย์นี้มีวิธีการจัดการน้ำเพื่อแก้ 3 ปัญหาหลัก ได้แก่ ขาดน้ำในหน้าแล้งน้ำท่วมในหน้าฝน และขาดพื้นที่เก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร

ที่จังหวัดจันทบุรีมีคำตอบ และเป็นวิธีการจัดการน้ำแบบบูรณาการความร่วมมือจากหลายฝ่ายด้วยเครื่องมือการจัดการน้ำหลากหลาย สามารถแก้ปัญหาทั้ง 3 ด้านพร้อมๆ กัน แม้ว่าจุดเริ่มต้นของการจัดการน้ำจะเริ่มจากการแก้ปัญหาอุทกภัยที่ทำให้พื้นที่เศรษฐกิจเป็นพื้นที่เสี่ยงทุกปีก็ตาม

ส่วนสำคัญของความคิดในการจัดการน้ำที่จันทบุรี เริ่มต้นไม่ต่างจากหลายพื้นที่ที่พบวิกฤติน้ำในเมืองไทย นั่นคือ ได้ความคิดริเริ่มมาจากโครงการพระราชดำริของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนอกจากพระราชทานแนวพระราชดำริในการจัดการน้ำ ยังทรงให้แนวการดำเนินงานโครงการจัดการน้ำแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย โดยทรงย้ำให้ “ประสานการร่วมมือกัน” ในการจัดการน้ำซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย

ลุ่มแม่น้ำจันทบุรีมีต้นกำเนิดจากเขาสอยดาวใต้ เขาสามง่าม เขาชะอม ไหล ผ่านอำเภอเมืองออกสู่อ่าวไทยที่อำเภอ แหลมสิงห์ ครอบคลุมพื้นที่ 1,722 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 2,186 ล้าน ลูกบาศก์เมตร การจัดการน้ำที่เชื่อมโยงกับ แม่น้ำจันทบุรีมีการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ความจุ 100-200 ลูกบาศก์เมตร 3 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 7 แห่งรวมความจุ 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่แก้มลิง 20 แห่ง กระจายอยู่ในตำบลและอำเภอต่างๆ รวม ความจุ 3 ล้านกว่าลูกบาศก์เมตรและมีฝายชะลอน้ำสร้างความชุ่มชื้น 356 แห่ง และฝายในแม่น้ำ 22 แห่ง

ความหลากหลายของแหล่งน้ำทำให้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลการก่อสร้างและการจัดการแหล่งน้ำต่างๆ มากตามไป ด้วย เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน องค์การบริหารส่วนตำบล แม้แต่หน่วยงานอย่างสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วิทยุชุมชน และภาคประชาชนที่ร่วมกันตื่นตัวดูแลในยามที่ต้องเฝ้าระวังน้ำเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ตลอดแนวของระบบการจัดการน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังจัดให้มีการสำรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง มีงานขุดลอก คลองและฝาย ปรับปรุงทางระบายน้ำ พัฒนาพื้นที่แก้มลิง ดูแลรักษาตรวจเช็กประตูระบายน้ำ ปรับปรุงถนนที่ขวางทางน้ำให้เป็นแบบเปิดเพื่อให้น้ำไหลผ่านและไม่ให้กลายเป็นเขื่อนหรือเครื่องกีดขวางทางน้ำ ทำสะพานข้ามคลองเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการสัญจรไปมาและป้องกันการบุกรุกพื้นที่เก็บกักน้ำทุกประเภท

จันทบุรีแบ่งการจัดการน้ำเป็นระยะ เร่งด่วนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อปี 2549 และอีกหลาย ครั้งก่อนหน้านั้นกับแผนจัดการน้ำระยะยาว โดยมีหน่วยงานจากภาครัฐเป็นฝ่ายปฏิบัติ แบบเข้มข้นในช่วงต้น เพื่อกระตุ้นประชาชน ให้ตระหนัก สร้างความเข้าใจ และเข้ามามีส่วนร่วมดูแลจัดการน้ำในพื้นที่ด้วยความ เต็มใจ เพราะเชื่อว่านั่นคือวิธีที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการจัดการที่ดีที่สุด

โครงการทั้งหมดนี้รวมถึงโครงการขุดทางเบี่ยงน้ำเพื่อรับน้ำจากเทือกเขาตอน บนของจังหวัดให้ไหลเลี่ยงตัวเมืองลงสู่ทะเลโดยมีกรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบ รวมมูลค่าโครงการซึ่งจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2556 กว่า 2,500 ล้านบาท เพื่อเป็น การป้องกันน้ำท่วมเมืองจันทบุรีอย่างถาวร

เกรียงเดช เข็มทอง รองผู้ว่าราชการ จังหวัดจันทบุรี เป็นคนจันทบุรีโดยกำเนิด เล่าว่า กว่าจังหวัดจันทบุรีจะมีโครงการแก้ปัญหาน้ำอย่างถาวรเช่นนี้ เท่าที่จำได้ประชาชนก็ต้องเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่มากๆ มาแล้วอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งในชีวิต คือช่วงปี 2542 และปี 2549 แต่ละครั้งท่วมระดับ 2 เมตรขึ้นไปในเขตเมือง

เขาบอกว่า ปกติจันทบุรีน้ำท่วมทุกปี แต่ในอดีตน้ำท่วมมากแค่ไหน ความ เสียหายก็ไม่เท่ากับครั้งล่าสุดเมื่อปี 2549 เพราะเมืองจันทบุรีพัฒนาไปมากกว่าเดิมมาก ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ แต่ก่อนคนไม่มากยังมีพื้นที่รับน้ำอยู่มาก ความรุนแรงจึงไม่มาก เท่าตอนนี้ที่มีการสร้างบ้านเรือนทับถมที่กันมากขึ้น ถนนตัดใหม่หลายสายก็กลายเป็นเขื่อนขวางทางน้ำซ้ำเติมปัญหา ดังนั้นแทนที่น้ำจะไหลหลากไปท่วมทุ่งก็พุ่งตรงสู่แม่น้ำ ไหลสู่เมือง ถ้ามาเจอช่วงน้ำทะเลขึ้นซ้ำเข้าอีก แล้วยิ่งเป็นแบบน้ำตายก็จะค้างอยู่อย่างนั้นเป็นวันสองวันเลยทีเดียว

“จันทบุรีทุกข์ทนทรมานมาหลายปี เคยมีฝนตกหนักขนาด 7 วัน 7 คืนไม่หยุดไม่เห็นพระอาทิตย์เลย ปริมาณฝนมากถึง 400 มม.ต่อวัน น้ำจากเขาไหลเข้าเมืองโดยตรงน้ำจากสันเขาก็เหมือนน้ำที่เราเทจากแก้วลงฝ่ามือ มีทางแยกซ้ายขวาให้ไป พอมีเขื่อนมีแก้มลิงรับน้ำไว้หลายแห่ง แต่ก็ยังไม่พอเนื่องจากพื้นที่รับน้ำด้านล่างของเทศบาลเมืองที่เรานั่งกันอยู่นี้ ผมเรียนว่ามีบ้านเรือนถมที่ดินกันมาก อีกอย่างถนนบายพาสเป็นตัวการสำคัญทำหน้าที่เป็นเขื่อนกั้นน้ำมหาศาล จากที่น้ำเคยไหลไปได้ เจอบายพาสก็เป็นคันดินกั้น พอปะทะ ระบายยาก น้ำก็ท่วมขังอยู่ในเมืองออกไปไหนไม่ได้เลย”

ทางแก้ปัญหาน้ำของจันทบุรี ที่พยายามกันมานานจนมีโครงการที่จะแล้วเสร็จในปี 2556 เกรียงเดช กล่าวว่าเกิดขึ้นได้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“พระองค์ท่านให้แนวความคิดว่า ต้องทำให้น้ำแยกออกไปก่อนเข้าเมืองจันทบุรี จึงเกิดโครงการขุดคลอง บายพาสขึ้นมา แทนที่น้ำร้อยส่วนเราดักไว้ประมาณ 40% อีก 60 ส่วนซึ่งมหาศาลจะเข้าเมืองจันทบุรีก็สามารถ แยกออกซ้ายขวาแล้วไหลไปไม่เข้าเมือง โครงการนี้จึงไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วจะทำได้อย่างเดียว ต้องมีความคิดที่เลิศล้ำด้วย”

นี่คือหลักแนวคิดดีๆ ที่ เกรียงเดชอยากให้ผู้สนใจด้านการจัดการน้ำมาดูที่จันทบุรี

ตอนที่กรมชลประทานดำเนินการขอสร้างโครงการทาง ด่วนสายน้ำหรือทางเบี่ยงน้ำจากแนวความคิดนี้ เกรียงเดชย้ายไป ประจำที่จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีปัญหาเรื่องน้ำแบบ เดียวกับที่จันทบุรีเมื่อ 40 ปีที่แล้ว น้ำจากเขาไหลเข้าเมืองเต็มที่ไม่มีแยกเลี่ยงเมืองทำให้น้ำท่วมถึง 7 วัน

“ตอนย้ายกลับมาจันทบุรีได้เดือนหนึ่งมาเจอน้ำท่วมอีก รอบนี้หนักมาก ตอนนี้จันทบุรีเริ่มสบายเพราะมีทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง ถ้าโครงการแล้วเสร็จก็จะแก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ และเชื่อว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้กับหลายพื้นที่ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน”

สำหรับแผนระยะเร่งด่วนที่กรมชลประทานดำเนินงานไปแล้ว ได้แก่ การก่อสร้างทางด่วนสายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองระบาย ขุดลอกคลองธรรมชาติและแม่น้ำจันทบุรี เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังในตัวเมืองจันทบุรีลงสู่ทะเลให้รวดเร็ว ก่อสร้างประตูระบายน้ำ และขุดคลองเชื่อมเพื่อระบายน้ำ ก่อสร้างระบบโทรมาตร เพื่อการพยากรณ์และเตือนภัยลุ่มน้ำจันทบุรี โดยมีสถานีหลักและสถานีตรวจวัด 17 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำจันทบุรี

ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการระบบคลองผันน้ำสามารถผันน้ำจากแม่น้ำจันทบุรี ได้ประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มเติมศักยภาพเดิมของแม่น้ำจันทบุรีที่ระบายน้ำได้ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมเป็น 800 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที ระดับเดียวกับสถิติปริมาณน้ำสูงสุดรอบ 25 ปี ที่พบในอุทกภัยปี 2542

ศักยภาพการระบายน้ำระดับนี้ สามารถป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มบริเวณปากแม่น้ำเข้ามาในพื้นที่โครงการในช่วงฤดูแล้งได้ด้วย อีกทั้งใช้เป็นแหล่ง เก็บกักน้ำสำหรับการเกษตรและกิจกรรมอื่นๆ โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ถึง 5 พันไร่

ประโยชน์โดยอ้อมเป็นการเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน เสริมเส้นทางคมนาคมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนให้สามารถเดินทางสะดวกยิ่งขึ้นและมีสะพาน ข้ามคลองผันน้ำบริเวณถนนตัดใหม่ เสริมการวางผังเมืองและเสริมขีดความสามารถในการพัฒนาเมืองจันทบุรีโดยสามารถควบคุมสภาวะน้ำท่วมจากแม่น้ำจันทบุรีและคลองสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรมชลประทานดูแลด้านน้ำ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี (ปภ.) หน่วยงานที่ต้องรองรับปัญหาเมื่อมีภัยใดๆ เกิดขึ้น รวมถึงอุทกภัยก็เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการน้ำตั้งแต่ต้น ในส่วนงานที่ถนัดด้วย โดยแต่งตั้งคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน อุตุนิยมวิทยา ปภ.คอยประกาศข้อมูลสำคัญๆ เกี่ยวกับความเสี่ยงจากน้ำที่จะทำให้เกิดอุทกภัยอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ปภ.ยังรับผิดชอบดูแลด้านการป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำที่ทำไปพร้อมกัน ได้แก่ การใช้สิ่งก่อสร้างเพิ่มความ จุน้ำกรณีที่มีแหล่งน้ำเดิมอยู่แล้ว สำรวจหาพื้นที่แก้มลิงเพิ่มเพื่อเก็บกักน้ำ และดำเนินกิจกรรมในส่วนที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง เช่น การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ การฟื้นฟูไม่ให้มีการรุกล้ำแหล่งน้ำ ปัจจุบันลุ่มน้ำจันทบุรีมีการปรับปรุงพื้นที่แก้มลิงและขุดลอกคลองไปแล้ว 27 โครงการในลุ่มน้ำต่างๆ รวมทั้งขุดลอกและออกแบบสำรวจหน้าฝาย

จากตัวอย่างโครงการจัดการน้ำของเมืองจันทบุรี สิ่งที่เห็นไม่เพียงแต่การใช้เครื่องมือด้านการจัดการน้ำที่หลากหลาย แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญในการจัดการน้ำไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเลือกใช้เครื่องมือ และสมควรดูเป็นแบบอย่างเพื่อนำไปใช้ดำเนินการจัดการน้ำในที่อื่นๆ อย่างยิ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.