บริษัทอเมริกัน เอ็กซเพรส เป็นบรรษัทข้ามชาติที่ให้บริการด้านบัตรเครดิตและเช็คเดินทาง
ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดบริษัทหนึ่งของโลก
เข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทยเมื่อปี 2523 และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเมื่อสามารถดึงเอา
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาเป็นนายแบบโปรโมตบัตรเครดิตของตน
ปัญหาหนึ่งที่อเมริกัน เอ๊กซเพรสต้องเจอในเมืองไทยเหมือนกับที่เคยเจอในประเทศอื่น ๆ
ก็คือ การพยายามฉ้อโกงของเหล่ามิจฉาชีพ ที่มีคนไทยซึ่งเป็นเจ้าถิ่น ร่วมมือกับทุรชนต่างชาติทั้งประเภทมืออาชีพที่หลบคดีมาจากประเทศอื่นเข้ามาฝังตัวในประเทศไทย
และประเภทมือสมัครเล่นที่ชอบหาเงินแบบง่าย ๆ โดยเอาอิสรภาพของตัวเองเป็นเดิมพัน
และนี่ก็เป็นที่มาของหน่วยงานที่เรียกว่า SPECIAL AGENT ของอเมริกัน เอ๊กซเพรส ประเทศไทย
โดยมี พ.ต.อ.ปรีชา ประเสริฐ อดีตผู้กำกับการตำรวจนครบาล 1 เป็นผู้รับผิดชอบ
ในการสืบสวนประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ของ สน.ในท้องที่ต่างๆ
เพื่อปราบปรามจับกุมพวกมิจฉาชีพที่จ้องหากินกับอเมริกัน เอ๊กซเพรส
"ความผิดส่วนใหญ่ที่เราเจอก็คือเอาบัตรเครดิตการ์ดหรือเช็คเดินทางที่ขโมยมาเอาไปขึ้นเงิน
สำหรับความผิดประเภทหลังนี้ก็จะมีความผิดในฐานปลอมแปลงเอกสารควบไปด้วย เพราะต้องทำหนังสือเดินทางปลอมให้ตรงกับชื่อในเช็คที่ขโมยมา"
พ.ต.อ.ปรีชา ประเสริฐ เล่าให้ฟัง
กลุ่มมิจฉาชีพทั้งสองประเภทนี้จะอาศัยบรรดาเกสต์เฮาส์ราคาถูก ย่านซอยงามดูพลี
ทุ่งมหาเมฆ สุขุมวิท 22 และซอยข้าวสาร แถวบางลำพู เป็นแหล่งติดต่อประสานงาน
ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหลายชาติที่เรียกคลุม ๆ ว่า
"ฝรั่ง"
ฝรั่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจริง ๆ ที่มาอาศัยอยู่เพราะต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย
และฝรั่งโจรที่แฝงตัวอยู่เพื่อปิดบังอาชีพที่แท้จริง เนื่องจากสามารถปะปนได้อย่างกลมกลืนไม่เป็นที่สงสัยของใคร
"ตอนเช้า ๆ ถ้าไปเดินดูตามย่านที่ว่านั้น จะเห็นฝรั่งพวกนี้นั่งกันตามร้านกาแฟ
คอยรับบัตรเครดิต เช็คเดินทางที่ขโมยมาจากลูกพี่คนไทย และรับคำสั่งว่าจะให้ไปขึ้นเงินที่ไหน
กลางคืนก็ออกเที่ยวตามบาร์หรืออาบอบนวด...มีความสุขมาก" อีกประโยคหนึ่งของหัวหน้าหน่วย
SPECIAL AGENT เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
เช่นเดียวกับการดำเนินธุรกิจที่ถูกกฎหมาย ในหมู่มิจฉาชีพประเภทดังกล่าวนี้จะมี
"สินค้า" คือ เครดิตการ์ด เช็คเดินทาง และหนังสือเดินทาง ตลอดจนเอกสารปลอมแปลงอื่น ๆ
มี "พ่อค้า" ที่เป็นตัวกลางรับซื้อขายสินค้า และมี "ลูกค้า"
ที่ต้องการสินค้านั้นไปแลกเปลี่ยนกับเงินหรือสิ่งของ
บ่อยครั้งที่พ่อค้าใน "ตลาดมืด" ของสินค้า จะเป็นผู้ที่ทำการเลือกลูกค้าเองจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ร้อนเงิน
เพื่อเป็นกลไกนำสินค้าไปขึ้นเงิน อาศัยที่คนไทยเป็นคนที่มีอัธยาศัยดีและให้เกียรติคนต่างชาติ
จึงเป็นจุดอ่อนให้ผู้ร้ายสามารถหากินได้คล่องพอสมควร
พ.ต.อ.ปรีชากล่าวว่า ในกรณีบัตรเครดิตการ์ดที่ถูกขโมยไม่ว่าจากประเทศไหนทั่วโลก
หากได้รับการแจ้งหายและผู้ที่รับบัตรมีการตรวจสอบมายังสำนักงานอเมริกัน เอ็กซเพรส
มักจะป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่เป็นปัญหาก็คือบัตรที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศผ่านการสื่อสารแห่งประเทศ
ไทย
"การ์ดพวกนี้จะมีปัญหาเพราะเป็นการ์ดของสมาชิกใหม่ยังไม่มีลายเซ็นของผู้ที่เป็นเจ้าของ
เพราะเขาเข้ามาอยู่ในเมืองไทยแล้ว อย่างรายล่าสุดเจ้าของเป็นนักสอนศาสนาอยู่ที่เชียงใหม่
ก่อนที่จะเข้ามาเขาขอบัตรไว้ก่อนที่เยอรมนี พอผ่านเข้ามาที่กองการสื่อสารภายในประเทศปรากฏว่าซองใส่การ์ดของเขาถูกขโมย
และผู้ที่ขโมยก็จะเอาไปให้ใครเซ็นชื่อลงไป สามารถเอาไปใช้ได้โดยที่เจ้าของยังไม่รู้
เราก็ไม่รู้เพราะไม่มีการแจ้งหาย ตอนหลังถ้าเป็นการ์ดของสมาชิกในประเทศเราจึงใช้บริการส่งผ่านบริษัทประกันภัย"
พ.ต.อ.ปรีชาให้ความเห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องที่เสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศมาก
และเชื่อว่าจะต้องมีคนบางคนในกองการสื่อสารฯ เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนร้ายด้วย
"เราก็แจ้งให้เขาทราบ ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการสอบสวนอะไรเพื่อตัวคนทำผิด
ก็ซาไปพักหนึ่งแล้วก็เกิดขึ้นอีก วิธีการป้องกันเรามีอยู่แล้ว แต่ไม่สะดวกกับการเปิดเผย
อย่างรายสุดท้ายที่ถูกจับได้ เจ้าของการ์ดตัวจริงก็ไม่รู้ การแจ้งหายก็ไม่มี
เราก็จับได้"
ความผิดประเภทที่สองก็คือการเอาเช็คเดินทางที่ขโมยมามาแอบอ้างขึ้นเงิน กรณีหลังนี้ยุ่งยากขึ้นบ้าง
เพราะจะต้องมีหนังสือเดินทางและลายเซ็นปลอมให้เหมือนกับลายเซ็นที่ปรากฏอยู่บนเช็คเดินทาง
"ที่พบกันมากมักจะเป็นของชาวเยอรมัน อาจจะเป็นเพราะเขามาเที่ยวในเมืองไทยมากกว่าชาติอื่น
แหล่งผลิตหนังสือเดินทางปลอมก็ในเมืองไทยนี้แหละ แต่เท่าที่ผ่านมาไม่ว่าปลอมหรือเอาของจริงมาดัดแปลงเรามีวิธีการตรวจจับได้เสมอ"
พ.ต.อ.ปรีชาเล่าให้ฟังว่า เดิมทีพนักงานรับแลกเปลี่ยนเช็คเดินทางตามบุ๊กต่างๆ
ของธนาคารของไทยไม่ค่อยเข้มงวดกับหนังสือเดินทางของชาวต่างชาติเท่าไหร่ เพราะไม่คิดว่าจะเป็นพวกมิจฉาชีพ
"ภายหลังเขาก็ทราบและระมัดระวังมากขึ้น รวมทั้งเราก็ได้ติดต่อไปพูดถึงวิธีการต่าง ๆ
ในการตรวจสอบกับพนักงานของธนาคาร เพราะบางรายมีลูกเล่นอย่างอื่น เช่น ใช้บัตรประจำตัวนักศึกษาบ้าง
หรือบางรายใช้บัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ โดยอ้างว่าลืมหนังสือเดินทางไว้ที่โรงแรม"
ก็มีนักปลอมแปลงบางรายเหมือนกันที่พลาดในเรื่องง่าย ๆ เช่น ในหนังสือเดินทางหน้าที่ติดรูปผู้ถือ
ประโยคที่พิมพ์ว่า "PHOTOGRAPH OF THE …….." ดันไปปลอมว่า ""PHOTOGRAPH
OF HE….." คือตกตัว "T" ก็ไม่มีปัญหา เอามาใช้ปุ๊บก็ถูกจับปั๊บเหมือนกัน
"ฝรั่งพวกนี้เวลาอยู่ที่บ้าน มีเมียคนไทย พูดไทยคล่อง ข้าวเหนียวส้มตำกินได้หมด
แต่เวลาที่เขาไปตามธนาคารหรือห้างสรรพสินค้าจะไม่ยอมพูดภาษาไทยเลย เขาคงคิดว่าถ้าพูดไทยจะทำให้เกรดต่ำลงหรือความเชื่อถือน้อยลงมั้ง"
พ.ต.อ.ปรีชา ประเสริฐ เล่าให้ฟังตอนท้าย ๆ ของการสนทนา
ในส่วนของ "ผู้จัดการ" ไม่ได้ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องผิดแปลกอะไร
เพราะไม่ว่าชาติไหน ๆ ต่างก็มีทั้งคนดีคนเลว เมืองไทยเป็นเมืองเปิดและมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย
การที่จะมีทุจริตชนแฝงตัวเข้ามาบ้างเป็นของธรรมดา
เขียนรายงานเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพียงอยากจะให้เป็นเสียงเตือนว่า ขึ้นชื่อว่าฝรั่งใช่ว่าจะเป็นคนดิบดีเสมอไป
ผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวพวกนี้ควรให้ความระมัดระวังให้มาก ตรวจดูลายมือหรือเอกสารให้ถี่ถ้วน
และติดต่อกับอเมริกัน เอ๊กซเพรส ในประเทศไทยทุกครั้ง ก็เท่ากับสามารถป้องกันได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่ก็ไม่ได้หมายความเลยเถิดไปจนถึงกับว่า เห็นหน้าฝรั่งแล้วคิดว่าเป็นโจรไปหมดหรอกนะ