|
ปฏิบัติการแก้แล้งแบบอีสาน
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
สำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้งและทำให้อีสานพัฒนาขึ้นได้ด้วยการเข้าไปจัดการพัฒนาแหล่งน้ำ พูดได้ว่าไม่มีโครงการไหนเทียบได้กับโครงการพระราชดำริที่ค่อยๆ พลิกอีสานจากดินแดนแห้งแล้งให้กลับมามีป่ามีน้ำ และทำให้คนอีสานมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการจัดการน้ำ
พื้นที่สกลนคร ยโสธร เป็นดินแดนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จเยือนหลายครั้ง เพราะประชาชนจำนวนมากต้องทุกข์กับการไม่มีน้ำใช้ ขาดการพัฒนาระบบชลประทานที่งบประมาณเข้าไม่ถึง พื้นดินแห้งแล้งไม่สามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารที่เพียงพอ แต่ภาพเหล่านี้ก็ค่อยลดหายไปในที่สุด
เทือกเขาภูพานที่ล้อมพื้นที่ของนครพนม สกลนคร และมุกดาหารไว้ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาและป่า ไม่มีแหล่งน้ำ น้ำที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้มาจากแหล่งเดียวคือจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากอ่าวตังเกี๋ย พอฝนตก น้ำจะไหลลงแม่น้ำโขงไปหมด เป็นภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืนยันว่าพื้นที่นี้ยากจน เพราะชาวบ้านไม่สามารถจัดการกับน้ำฝนที่ตกมาเฉพาะช่วงมรสุมนี้ได้เลย ถ้ามีน้ำก็มีแต่น้ำหลากกับน้ำท่วมและแล้งน้ำ
ชาวบ้านและข้าราชการต่างรู้สภาพที่เป็นอยู่เช่นนี้ แต่ไม่มีการพัฒนาแก้ไขกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเข้าถึงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ศึกษาสภาพและเริ่ม พระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำให้กับพื้นที่ จนกระทั่งมีพระตำหนัก ภูพานราชนิเวศน์ไว้แปรพระราชฐานในครา ที่เสด็จอีสานซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติอยู่เสมอ
“ปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัดนี้มีลุ่มน้ำก่ำและแม่น้ำสงครามที่อยู่ตอนเหนือทั้ง 2 สายไหลไปลงแม่น้ำโขง แม่น้ำ 2 สายนี้ เลี้ยงดูสกลนคร นครพนม มุกดาหาร จากแม่น้ำโขงมีเส้นทางเชื่อมสะพานข้ามไปลาวแห่งที่สองที่มุกดาหาร แห่งที่สามที่นครพนม ทำให้อุตสาหกรรมของภาคอีสาน ดีขึ้น เพราะมีเส้นทางขนส่งสินค้าเชื่อมโยง ไปได้ถึงเมืองหนานหนิงของจีน ฮานอยของเวียดนาม มีผลไม้จีนมาขายไทยและไทยก็ไม่มีผลไม้ล้นตลาดอีกเลย” พิสิทธิ์ พลอยโสภณ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสกลนครให้ข้อมูล
เขาบอกด้วยว่าภาพการพัฒนาที่ต่อยอดจากพื้นดินแห้งแล้งมาสู่ความก้าว หน้าด้านอุตสาหกรรมของพื้นที่สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร เป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ตระหนักดีว่า เป็นเพียงแค่ก้าวต่อจาก ที่ในหลวงทรงวางรากฐานไว้
“ทุกวันนี้เฉพาะที่สกลนคร มีรายได้ จากการเกษตร 21% จากรายได้รวม 4 หมื่นกว่าล้านต่อปีของทั้งจังหวัด ตัวเลขนี้เกิดขึ้นได้เพราะแหล่งน้ำจริงๆ ไม่ใช่เรื่องอื่นและจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าพระองค์ท่าน ไม่ได้ทรงลงมาวางแผนไว้ให้”
ปัจจุบันสกลนครมีประชากรประมาณ 1.1 ล้านคน มีพื้นที่รวม 6 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่สามารถทำการเกษตรได้จำนวน 2.6 ล้านไร่ แต่เป็นพื้นที่เกษตรที่มีน้ำเพียง 5 แสนกว่าไร่ หรือแค่ 20% ของพื้นที่เพาะปลูก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางจังหวัดจะยึดแนวพระราชดำริที่วางไว้มาพัฒนาเชื่อมต่อเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น
โอกาสที่สกลนครจะพัฒนารายได้จากการเกษตรก็จะเพิ่มขึ้นตามการพัฒนานั้นด้วย คาดว่าตัวเลขรายได้ของจังหวัดที่มาจากค้าส่งค้าปลีกเป็นอันดับหนึ่งถึง 26% อาจจะถูกแซงหน้าด้วยรายได้จากการเกษตรซึ่งมีต้นกำเนิดในพื้นที่เองในอนาคต เช่นเดียวกับโมเดล รายได้ของหลายจังหวัดในอีสาน ซึ่งพึ่งพารายได้จากค้าปลีกค้าส่งเป็นอันดับหนึ่งเหมือน กันใน 20 กว่าจังหวัดก็จะหันมาเพิ่มรายได้จากการพัฒนาการเกษตรได้เหมือนๆ กัน หากทุกพื้นที่ได้รับการจัดการน้ำเพื่อการ เกษตรมากขึ้น
“เราเคยพูดกันเล่นๆ ว่า เป็นไปได้ไหม ถ้าชาวกรุงเทพฯ จะยอมเสียรถไฟฟ้า สักสายเอางบเปลี่ยนมาพัฒนาน้ำให้กับอีสาน เพราะถ้ายอมบางทีท่านอาจจะไม่ต้องสร้างสายที่เหลือเลยก็ได้ เพราะความเจริญจะกระจายมาอีสาน แต่ตอนนี้อีสานขาดแคลนน้ำอย่างมาก ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็น และต้องใช้งบลงทุนค่อนข้างสูง ถ้าคนกรุงเทพฯ ยอมสละสักสาย ผมเชื่อว่าชาวอีสานจะกลับมามีเงินทั้งหมดเลย”
พิสิทธิ์ให้ข้อมูลว่าในสภาพขาดน้ำ สกลนครสามารถผลิตข้าวนาปีได้ถึง 2.7 แสนตันต่อปี ข้าวเหนียวประมาณ 6.3 แสนตัน แต่ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อบริโภค ปริมาณที่มีทำให้โอกาสจำหน่ายไปนอกพื้นที่น้อย ทางจังหวัดจึงพยายามส่งเสริมอาชีพอื่นให้ประชาชน เพื่อให้มีรายได้จากผลิตภัณฑ์และอาชีพที่หลากหลาย ตั้งแต่รายได้จากยางพารา มันสำปะหลัง การผลิตผ้าครามซึ่งทำรายได้ปีละ 60 ล้านบาท และเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัด การทำไวน์มะเม่า ก็เป็นที่รู้จักแต่ยังทำรายได้ไม่สูง ปีหนึ่งแค่ 3-4 ล้านบาท เพราะวัตถุดิบยังผลิตได้ไม่เต็มที่ และเนื้อโคขุนโพนยางคำ
“ขอเพียงแค่มีน้ำ เศรษฐกิจก็มีความหลากหลาย ตอนนี้เนื้อโคขุนโพนยางคำมีชื่อ เสียงกระฉ่อน ถนนเกือบทุกสายในกรุงเทพฯ เขียนขึ้นป้ายโพนยางคำ เราผลิตได้ตามศักยภาพปีละ 6 พันตัว มูลค่า 360 ล้านบาทต่อปี เป็นความพยายามต่อยอดเศรษฐกิจของจังหวัดจากที่ในหลวงท่านทรงหาน้ำมาให้เราใช้”
น้ำที่ว่าน้อยในสกลนคร หากเช็กจากปริมาณน้ำท่ามีอยู่ 3,900 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ถือว่าไม่น้อย แต่ปัญหาคือกักเก็บน้ำไว้ไม่ได้ อีกทั้งลุ่มน้ำก็มีไม่น้อย เช่น ลุ่มน้ำสงคราม ลุ่มน้ำยาง น้ำปูน ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญใช้ทำน้ำประปาเลี้ยงเมืองสกลนคร หนองหาน ลุ่มน้ำก่ำ ฯลฯ แก้ปัญหาคือแต่ละที่เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบในการรักษาระบบนิเวศเดิม บางแห่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ พื้นที่ที่จะกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์จริงๆ จึงหายาก
โครงการชลประทานที่เกิดขึ้นหลังพระราชดำริของในหลวงที่ริเริ่มไว้จึงประกอบด้วยโครงการหลายขนาดและหลายรูปแบบตามศักยภาพที่พื้นที่จะเอื้ออำนวย โครงการที่เกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ โครงการชลประทานขนาดใหญ่ 3 แห่ง ขนาดกลาง 39 แห่ง และขนาดเล็ก 182 แห่ง รวมกันทั้งหมดแล้วเก็บน้ำได้ 1,170 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 20% หรือประมาณ 4-5 แสนไร่จากพื้นที่ เกษตรกรรม 2.6 ล้านไร่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น
การต่อยอดประโยชน์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจากการมีแหล่งน้ำที่เห็นผลในวันนี้ เป็นสิ่งที่ชาวสกลนครตระหนัก เมื่อยังไม่สามารถพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำใหม่ได้มากไปกว่านี้ สิ่งที่พวกเขาทำได้จึงเป็นเพียงการพัฒนาติดตามแหล่งน้ำทุกแหล่ง ให้ใช้การได้มากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนารูปแบบการใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งด้านเกษตร ปศุสัตว์ และแม้แต่ด้านศิลปาชีพ ต่างๆ อีกทั้งจดจำไม่ลืมว่าสิ่งที่ทำให้จังหวัดขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้นี้เริ่มต้นจาก แหล่งน้ำภายใต้โครงการพระราชดำริโดยแท้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|