|
“บางลี่” ที่นี่เคยเป็น “ตลาดเก็บน้ำ”
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
เมืองไทยมีตลาดน้ำหลายที่ ยิ่งสมัยนี้ไปจังหวัดไหนก็มี ไม่เว้นแม้แต่หัวหิน พัทยา ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลก็มีตลาดน้ำกับเขาด้วย แต่ตลาดกลางน้ำนี่สิเคยเห็นกันไหม ไม่ได้ล้อสถานการณ์น้ำท่วม แต่นี่คืออดีตที่เคยเกิดขึ้นจริง ที่ตลาดบางลี่ ตลาดเทศบาลอำเภอ สองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่เทศบาลเมืองที่ต้องมีสภาพไม่ต่างจากอ่างเก็บน้ำ ทำให้ตลาดของเทศบาลครึ่งปีต้องค้าขายกันกลางน้ำ ส่วนอีกครึ่งปีเมื่อน้ำแห้งถึงจะขนของลงมาค้าขายกันปกติในบริเวณบ้านชั้นล่าง
การใช้ชีวิตเช่นนี้เป็นภาพแปลกตาที่จากอดีตถึงวันนี้ก็มีเพียงตลาดบางลี่แห่งเดียวเท่านั้นในเมืองไทย เป็นภาพในอดีตที่คนวัย 40 ปีขึ้นไปในพื้นที่อำเภอสองพี่น้องและบริเวณใกล้เคียงยังคงจำได้และคิดถึงอยู่ เป็นสภาพที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติที่ผู้อยู่อาศัยไม่เคยไปปั้นแต่ง หากแต่เลือกที่จะใช้ประโยชน์และใช้ชีวิตปรับตัวไปตาม สภาพธรรมชาติโดยไม่มีเงื่อนไข ขณะที่อีก ด้านหนึ่งก็อาจจะมองได้ว่าเป็นการเสียสละ เพื่อคนในพื้นที่อื่นไปพร้อมกัน
หน้าน้ำรถยนต์ที่เคยวิ่งเข้ามาถึงหน้าบ้านร้านตลาดได้ ต้องจอดไว้ตรงขอบ แอ่งกระทะด้านนอกก่อนเข้าเขตตลาดกลางเมือง แล้วเดินลัดเลาะตามสะพานไม้ ที่พาดโยงกันไปมาระหว่างร้านค้าที่ตนต้องการ ขณะที่ถือเป็นช่วงจังหวะดีของคน อยู่อาศัยตามชายคลองที่ยังคงใช้เรือเป็นพาหนะในยุคนั้น เพราะพวกเขาจะเข้าถึงตลาดได้สะดวกทุกซอกทุกมุม จากหน้าแล้งที่ต้องจอดเรือไว้ริมคลอง พอหน้าน้ำก็พายเรือไปถึงหน้าร้านกันได้เลย แถมเรือรับจ้างก็เข้ามามีบทบาทแทนที่รถเมล์ เรียกว่าแบ่งงานกันทำตามฤดูโดยอัตโนมัติ ชีวิตของคนสองพี่น้องสมัยนั้นจึงเป็นคนสองฤดู ฤดูแล้งก็ทำนาทำสวนทำไร่ไป พอ หน้าน้ำก็เริ่มทำนาแล้วก็หากินเกี่ยวกับเรื่อง การประมงควบคู่ไป
“ที่ตั้งตลาดเป็นแอ่งกระทะอยู่ติดลำคลอง สาเหตุที่น้ำต้องท่วมเพราะเขาจะ ทำเป็นคันคลองกั้นไว้ ใช้พื้นที่ตลาดกักน้ำเพื่อเผื่อแผ่น้ำให้ไปถึงพื้นที่ชายดอนและที่ดอนที่อยู่นอกเขตเทศบาลออกไปที่น้ำท่วม ไม่ถึง ให้มีน้ำพอสำหรับทำนาปีได้ ดังนั้นเมื่อน้ำจากทางเหนือลงมาทุกปีก็จะถูกกักไว้ให้สูงขึ้นๆ ในบริเวณนี้ การกักน้ำสมัยนั้นก็ใช้ระบบชลประทานธรรมดา มีประตูระบายน้ำ มีคันคลอง”
คำบอกเล่าของรัชพล ฉันทดิลกรองนายกเทศมนตรีเทศบาลอำเภอสองพี่น้องต่อผู้จัดการ 360 ํ บอกเราเป็นนัยถึง ความเสียสละและพึ่งพากันระหว่างคนในอดีตในการวางแผนใช้น้ำร่วมกันได้อย่างดี
ภายใต้ภาพการเปลี่ยนแปลงของเมือง คนส่วนใหญ่เมื่อมองผิวเผินอาจจะเข้าใจว่าเป็นสภาพที่ต้องเปลี่ยนไปตามฤดูกาลของธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว แม้แต่รัชพลก็บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ ถึงกับเรียกว่าเป็นการเสียสละก็ได้
นั่นก็เพราะระหว่างน้ำท่วมตลาดเต็มพื้นที่ ข้าวนาปีที่เริ่มปลูกกันมาตั้งแต่หน้าฝนซึ่งสมัยนั้นเรียกกันว่านาฟางลอย พอเข้าเดือนสิบสอง น้ำทรง ข้าวก็ตกรวง รวงข้าวลอยสูงตามน้ำ น้ำหนักของเมล็ดข้าวโน้มรวงโค้งสู่ผิวน้ำ นอกจากรอเก็บเกี่ยว เป็นอาหารคน ข้าวอ่อนก็เป็นอาหารที่ปลาหมายตากระโดดฮุบกันจนปลามัน ปลาหน้าหนาวอาหารสมบูรณ์เนื้อปลาก็รสชาติดี จนรู้กันในหมู่นักบริโภคปลาว่า กินปลาอร่อยต้องปลาหน้าหนาว
สภาพพื้นที่ที่น้ำจากแม่น้ำใหญ่แตก สาขาไหลรวมมาขังในแอ่งกระทะแห่งนี้นานถึง 6 เดือนต่อปี ทำให้ตลาดบางลี่เคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลาชุมที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
“ช่วงน้ำหลากมาปลาจะเยอะมาก แพร่กระจายไปทั่วเพราะพื้นที่ถูกน้ำท่วม หมด เยอะกว่าอำเภอบางปลาม้า (จังหวัด สุพรรณบุรี) และเยอะจนขนาดคนสิงห์บุรี เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องปลาช่อนก็ยังมาเช่าบ้านอยู่เพื่อมารับซื้อปลาไปทำปลาร้า ทำน้ำปลา บางรายรับซื้อเพื่อทำปลาเกลือส่งไปขายถึงกาฬสินธุ์ เรียกว่ามีคนถิ่นอื่นเข้ามาทำกินที่นี่ในหน้าน้ำกันมาก”
ปัจจุบันรัชพลอายุ 60 ปีเศษ แซ่ฉั่ว ลูกหลานคนเชื้อสายจีนแต้จิ๋วที่เข้ามาตั้งรกรากกันจำนวนมาก สามารถสืบย้อนประวัติกลับไปได้ถึง 170 กว่าปีก่อนหน้านี้ สมัยที่เริ่มสร้างชุมชนบางลี่ มีคนแต้จิ๋วถึง 43 แซ่ที่เข้ามาอาศัยทำกินในพื้นที่นี้เพราะความอุดมสมบูรณ์ทั้งข้าวและปลา
ชื่อบางลี่ที่ฟังดูไทยๆ มีชื่อเฉพาะที่ คนแต้จิ๋วนิยมเรียกว่า “หมังหลี่” หมังหมายถึงเครื่องมือทำมาหากิน อาชีพ หรือ การเสาะแสวงหาความก้าวหน้า ส่วนหลี่ คือความเจริญรุ่งเรืองของพื้นที่
“คนจีนหอบเสื่อผืนหมอนใบเข้ามาทำมาหากินทำการค้า ทำไปทำมาคิดเรื่อง ทำแห ทำอวน ทำยอ ปัจจุบันเครื่องมือหากินเกี่ยวกับการประมง บางลี่ก็ยังทำเยอะกว่าที่อื่น เป็นอาชีพเลย สองพี่น้องนี่มีเครื่องมือประมงเยอะที่สุด”
มรดกจากอาชีพประมงที่ยังเหลืออยู่ ยังมีให้เห็นในตลาด จากร้านอุปกรณ์จับปลาที่ยังมีผลิตและขายกันอยู่หลายเจ้า ซึ่งทำให้บางลี่ยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งขายเครื่องมือจับปลาที่ชาวประมงพื้นบ้านและประมงแบบฟาร์มมาหาซื้อกันเป็นประจำจนถึงปัจจุบัน
ส่วนคนไทยเรียก “บางลี่” ตามลักษณะการเรียกพื้นที่ราบริมน้ำเหมือนกัน ในทุกๆ พื้นที่ใกล้เคียงบางลี่เป็นที่ราบเหมือนพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคกลางจึงมีชื่อบางเหมือนกัน เช่น บางเลน บางหลวง บางสาม บางน้อย บางสะแก ฯลฯ
รัชพลจำได้ว่าในยุคที่การทำประมงที่บางลี่คึกคัก มีแพปลาเกิดขึ้นมากมาย มีผู้มารับซื้อปลาได้วันหนึ่งไม่ต่ำกว่าเจ้าละ 3 ตัน ต้องใช้รถสิบล้อบรรทุกส่งไปขายข้างนอก
“มีกลุ่มที่มาอาศัยบ้านเรารับซื้อปลา เปิดท่าปลา เท่าที่จำได้ที่มารับซื้ออย่างน้อยก็ 5 เจ้าหลักๆ แล้วยังมีอีก 2 รายที่รับซื้อปลาเศษหรือปลาเล็กปลาน้อยสำหรับทำน้ำปลา ทำปลาเกลือ ปลาร้า”
นอกจากเศรษฐกิจจากข้าวและประมง ความแปลกของตลาดบางลี่ในหน้าน้ำยังสร้างเศรษฐกิจทางการท่องเที่ยวให้กับชุมชน เมื่อทุกหน้าน้ำซึ่งกินเวลาไปถึงช่วงฤดูหนาว สมัยนั้นยังมีนกเป็ดน้ำอพยพจากเขตหนาวมาหากินบริเวณใกล้เคียงเพราะความที่ปลาชุก ทำให้มีกลุ่มนักท่องเที่ยวฝรั่งวันหนึ่งๆ อย่างน้อย 10 กว่าราย ขับรถเข้ามาเหมาเรือ เพื่อออกเที่ยวสนุกล่านกเป็ดน้ำให้เห็นทุกวัน เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาเรือรับจ้างเพราะมีโอกาสในการหารายได้เพิ่มขึ้นอีกทาง บางรายเช่าเหมาพักค้างคืนกันเลยก็มี แน่นอนว่า คนต่างชาติกลุ่มนี้ยังกระจายรายได้ด้วยความตื่นตาตื่นใจกับการเดินเที่ยวชมตลาดแถมท้ายก่อนจากไปด้วย
“พวกฝรั่งชอบมากเรื่องสภาพบ้านเรือน บอกว่าเป็นวิถีชีวิตที่ทำไมมาเดินตรงหน้า บ้าน เดินต่อเชื่อมโยงกันหมด มีสะพานโยงไปโยงมาไม่เคยเห็น มีที่เดียวในประเทศไทย ตลาดน้ำที่อื่นก็เป็นตลาดชายน้ำ ใกล้ชายคลอง แต่ของเราอยู่ในน้ำเลย”
บางลี่เริ่มหมดยุคเป็นตลาดสองฤดูจริงๆ ในช่วงปี 2536-2537 หลังจากเริ่มมีร้านค้าบางส่วนเปลี่ยนจากบ้านไม้เพราะราคาไม้สูงขึ้นและต้องซ่อมแซมหลังน้ำลดทุกปี มาถมที่สูงหนีน้ำสร้างบ้านตึกเพราะความเหนื่อยต้องย้ายของขึ้นลงตามน้ำตั้งแต่ พ.ศ.2525-2526 สภาพตลาดก็เริ่มมีทั้งที่สูงที่ต่ำจากการถมตลาดไม่ให้น้ำท่วมถึงของบางบ้าน
“ปี 2519 ตลาดเก่าแถวแรกเริ่มถม ปี 2526 คือช่วงที่เทศบาลเริ่มเข้าไปพัฒนา”
การพัฒนาเพื่อเปลี่ยนรูปแบบตลาดไม่ใช่มติของชุมชน แต่เป็นชาวตลาดแต่ละบ้านที่ใคร พร้อมก็เริ่มทำ ต่างคนต่างถม พอคนหนึ่งเริ่มถมสูงคนต่อๆ ไปก็เอา อย่าง จนท้ายสุดเทศบาลก็ต้องมายกระดับถนนให้เป็นระดับเดียว กับอาคารใหม่ที่เข้ามาแทนตลาดเดิม
“เทศบาลใช้งบประมาณในการสร้างปีหนึ่งๆ เยอะมาก เป็นการพัฒนาไปตามสมัยนิยม ไม่มีใครคิดว่าจะทำให้เสน่ห์ของธรรมชาติที่เป็นอยู่หายไป และไม่มีใครคิดว่าคนจะกลับมานิยมตลาดเก่าๆ เหมือนในอดีต”
เมื่อเทศบาลปรับปรุงพื้นที่ชุมชนบางลี่ พื้นที่รอบนอกก็เริ่มปรับตัวตาม การทำนาในยุคนั้นก็เริ่มจากพัฒนาการทำนาปีละครั้งมาเป็นการทำนาปรังปีละ 2 ครั้ง ชาวนาก็ปรับปรุงพื้นที่ทำนา ตีหรือยกคันล้อม หันมาทำนาทั้งปีไม่ไปทำอาชีพอื่นเสริม ภาพของชุมชนที่ทำนาครึ่งปี ทำประมงครึ่งปีก็ค่อยๆ หายไปพร้อมๆ กัน ส่วนพื้นที่ชายดอนและที่ดอนที่ห่างไกลออกไปก็เริ่มมีการพัฒนาระบบชลประทานเข้าไปถึงพื้นที่ไม่ต้องอาศัยน้ำจาก “ตลาดเก็บน้ำ” แห่งนี้อีกแล้ว
“ทุกอย่างพัฒนา พันธุ์ข้าวก็มีการปรับปรุงคิดสูตรให้ข้าวโตเร็วขึ้น เรียกว่า ข้าวเบา จาก 4 เดือนเหลือ 3 เดือน 3 เดือนครึ่งก็เก็บเกี่ยวได้ ช่วยย่นระยะเวลาให้ชาวนาทำนาได้ทันเก็บเกี่ยวปีละ 2 ครั้งก่อนน้ำหลาก”
นับตั้งแต่นั้นมาวิถีชีวิตของชาวบางลี่ก็มีสภาพไม่ต่างจากวิถีชีวิตของคนไทยทั่วไปที่ไม่มีเอกลักษณ์ของชุมชนมาเป็น ตัวดึงดูดคนภายนอกหรือสร้างวิถีชีวิตที่แตกต่างให้กับชาวชุมชนที่มีสภาพเป็นคน 2 ฤดูอีกต่อไป แถมพัฒนาตัวไปสู่การเป็นชุมชนเมืองและมีวิถีชีวิตที่ห่างไกลจากวิถีของชาวน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเขตเทศบาลส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับน้ำอีกต่อไป แม้ว่าถัดจากบ้านเขาไปไม่เท่าไรก็ถึง ชายคลองที่เคยพาน้ำมาเยือนถึงหน้าบ้านเป็นประจำทุกปีเมื่อหลายสิบปีก่อน
“ถ้าเรามาคิดถึงวิถีชีวิตในอดีตที่เราเคยมี ความเป็นอยู่แบบอดีตที่ต้องยกขึ้นยกลงมันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งนะครับ และเท่าที่ผมมาอยู่ในระบบการพัฒนาทำให้รู้ว่าวิถีชีวิตในอดีตนั้นมันสร้างอะไรที่คนเราไม่มี ถ้าไม่คิดคำนึงก็จะไม่เข้าใจ เพราะทุกบ้านช่วยกัน ทำให้ทุกคนเหมือนกับว่าจะไม่ทะเลาะกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เพราะคนสมัยก่อนมีการพึ่งพาอาศัยกันทำให้เกิดความรักความสามัคคี เข้าใจกัน พอถึงเวลาก็มาช่วยเหลือกัน เป็นวิถีชีวิตที่เดี๋ยวนี้หาไม่ได้เราไม่มีการทำกิจกรรมแบบ นั้นแล้ว กลายเป็นตัวใครตัวมัน อยู่โดยไม่พึ่งพาอาศัย มาเบียดขายของวางล้ำกันหน่อยก็ยังไม่ได้เลย จะทะเลาะกัน ผมต้อง เอาภาพอดีตเก่าๆ มาให้เขาดูว่านี่นะ สมัย อาอี๊ อาโกว บ้านอยู่ติดกัน 5-6 บ้าน เขามาทำกิจกรรม มานั่งมาถ่ายรูปด้วยกัน คุยกันทุกวัน เพื่อเตือนใจให้เกิดความรักสามัคคีในชุมชน”
รัชพลบอกว่าถ้าจะให้ประเมินกันจริงๆ การพัฒนาของเทศบาลที่ทำให้ภาพอดีตหายไป จึงมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย
ส่วนเสียที่เห็นได้ชัดคือความนิยมของยุคสมัยที่ปัจจุบันคนหันมาให้ความสนใจแหล่งท่องเที่ยวย้อนยุครำลึกอดีต ทำให้ชาวชุมชนหลายคนรู้สึกเสียดายว่า หากเทศบาลยังคงภาพในอดีตไว้ ป่านนี้บางลี่คงได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวไม่ขาดสาย แต่หากมองข้อดีตามหลักการพัฒนาที่ต้องเดินไปข้างหน้า ก็ต้องยอมรับว่าการเติบโต ของเมืองมักเป็นปฏิภาคส่วนกลับกับการอนุรักษ์อยู่เสมอ
“ถ้าจะทำการค้าให้สะดวกแต่ต้องมายกของขึ้นลงกันทุกปีคงไม่ทัน สภาพการค้าปัจจุบันเติบโตขึ้นจนค้าขายกันไม่ทัน ร้านต้องปิดช้าลง ก็เป็นความจำเป็นที่เราต้องพัฒนาให้รองรับ การเติบโต ซึ่งมันขัดกับการอนุรักษ์”
แม้การพัฒนาจะทำให้ชาวบางลี่ในเขตเทศบาลห่างจาก น้ำมากขึ้น ปัจจุบันดูเหมือนว่าทำอย่างไรภาพของชุมชนริมน้ำ ก็คงจะหนีพ้นน้ำไปยาก เพราะเทศบาลสองพี่น้องยอมรับว่า แม้จะพัฒนาคันคลอง และคอยดูแลระบายน้ำให้เหมาะสมกับ ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านในแต่ละปีอย่างดีแค่ไหน ก็พบว่าปริมาณ น้ำมากขึ้นทุกปี ชนิดที่เรียกว่า ถ้าจะทำให้กลับมาเป็นตลาดกลางน้ำอย่างอดีตอาจจะง่ายกว่าด้วยซ้ำ
“ทุกปีผมต้องสู้กับน้ำ ป้องกันตลาดซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจ ให้อยู่ให้ได้ อย่างปีนี้น้ำมากกว่าปี 2538 มากกว่าปี 2526 ปีนี้ เกือบเทียบเท่าปี 2485 แล้ว เราก็ยังป้องกัน ต้องสู้สุดฤทธิ์ ผมเคยคุยเล่นๆ กับชาวบ้าน เขาบอกว่าถ้าเป็นวิถีชีวิตอย่างสมัยก่อน เป็นตลาดน้ำเศรษฐกิจน่าจะดี คนคงมาเที่ยวเยอะ ผมถามว่าเอาไหมล่ะ ถ้าชาวบ้านยกมือกันหน่อยเดียวผมทำได้เลย แค่ขุดถนนให้เป็นคลองน้ำก็เข้ามา ก็เป็นตลาดสองฤดูไปกลับมายกของขึ้นลง ไม่มีใครยอม เพราะแค่ได้ภาพตลาดน้ำให้คนมาท่องเที่ยวดู แต่พวกเขาไม่มั่นใจเลยว่าเขาจะขายอะไร ได้”
อย่างไรก็ตาม หากจะประเมินสภาพน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลสองพี่น้อง ต้องยอมรับว่าเทศบาลจัดการกับปริมาณน้ำมหาศาลของปีนี้ได้ดีทีเดียว ซึ่งการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เช่นนี้ มาจากประสบการณ์ล้วนๆ
รัชพลเล่าว่า โดยส่วนตัวหลักการที่เขาใช้สังเกตปริมาณน้ำแต่ละปีและเป็นจริงทุกครั้งก็คือ ปีไหนที่เทศกาลกินเจซึ่งอยู่ในช่วงเดือนเก้าของคนจีนมาถึงเร็ว หรือคิดง่ายๆ ว่าเดือนเก้าจีนตรงกับช่วงเดือนกันยายนเดือนเก้าตามปฏิทินสากลพอดี ปีนั้นน้ำจะมากเป็นพิเศษ ซึ่งเขาอาศัยประสบการณ์นี้เตือนชาวนาในพื้นที่ให้ชะลอการทำนารอบ ล่าสุดไว้ก่อนเพราะอาจจะเก็บเกี่ยวไม่ทัน
“ประสบการณ์ชีวิตของผม ผมกินเจตลอด ช่วงกินเจวันที่หกเดือนเก้าของคนจีน น้ำเหนือจะมาน้ำทะเลจะหนุน มันจะมาผนวกกัน ตรงนี้ วันนั้นน้ำจะขึ้นมาก เพราะพระจันทร์อยู่ตรงหัว แรงดึงดูดของ พระจันทร์จะทำให้มวลน้ำสูงเอ่อ เป็นแบบนี้ น้อยปีที่จะน้ำน้อย เรียกว่า ร้อยละ 90 ที่น้ำเยอะทุกปี มีแต่คนบอกว่าผมคิดเยอะ ผมบอกไม่เชื่อให้ลองดู”
รัชพลไม่ได้เชื่อแค่ฤกษ์ยามแต่เพื่อยืนยันหลักการส่วนตัว เขาติด ตามสภาพอากาศและปริมาณน้ำเหนือร่วมด้วย พบว่าเทศกาลกินเจปีนี้ มีฝนตกชุกทางตอนเหนือของประเทศเพราะมรสุมเข้าหลายลูก เขาแจ้ง ต้นสังกัดและแนะนำว่าให้มีการพร่องน้ำในลำคลองสองพี่น้องให้มากที่สุด และพร่องไกลไปถึงนครชัยศรีเพื่อรอรับน้ำเหนือ
“ตอนนั้นมีเครื่องสูบน้ำ 30 ตัว เปิด 12 ตัวผมเสนอให้เปิดหมด มีคนแย้งว่าเดี๋ยวน้ำไม่พอใช้แต่ผมเชื่อว่าจะรับน้ำไม่ไหวมากกว่า”
การเตรียมการอย่างจริงจังแบบนี้ทำให้เทศบาลสองพี่น้องรับมือ กับน้ำที่เอ่อล้นลำคลองขึ้นมาได้โดยไม่ทำให้เขตเศรษฐกิจเกิดความเสียหาย แต่ก็ต้องยอมให้บางพื้นที่ท่วมโดยเทศบาลเข้าไปดูแลพื้นที่เหล่านั้นอย่างใกล้ชิด ส่วนริมคลองหลังตลาดก็ต้องกันพื้นที่ให้น้ำจากคลองขยายขึ้นมา กว้างขนาดเป็นลำคลองเพิ่มอีกสายเลยทีเดียว
เสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าเหตุใดน้ำท่วมสุพรรณน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หากยอมรับความจริงกันตามสภาพ สิ่งหนึ่งที่ผู้รับผิดชอบดูแลจัดการน้ำ หรือรับผิดชอบดูแลพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม อาจจะนำไปเป็นตัวอย่างได้ก็คือ การติด ตามความเคลื่อนไหวในพื้นที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด และวางแผนงานล่วงหน้าเพื่อ ป้องกันปัญหาต่อให้แก้ปัญหาไม่ได้ 100% อย่างน้อยก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาลงได้
จากประสบการณ์ของเมืองและคนที่บางลี่ คงจะเป็นตัวอย่างที่พอจะบอกพวกเราได้ว่า การจัดการน้ำนั้นจะถูกหรือผิด นอกจากขึ้นอยู่กับสภาพวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ในชุมชนว่ารับสภาพได้หรือไม่แล้ว ยังต้องอาศัยประสบการณ์และความใส่ใจของผู้บริหารที่รับผิดชอบดูแล ที่ต้องไม่ละเลยและวางใจหรือวางงานโดยไม่เฝ้าติดตามหรือแสดงความรับผิดชอบต่องานที่ทำอยู่เสมอ เพราะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไรก็ไม่ดีพอสำหรับการรับมือกับปัญหามากเท่ากับการรู้ทันและเตรียมการล่วงหน้าได้แน่ๆ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|