|

สื่อภัยร้ายใกล้ตัวเด็กผู้หญิง
โดย
ศศิภัทรา ศิริวาโท
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ปัจจุบันพ่อแม่ส่วนใหญ่มักอยากจะให้ลูกเล่นอยู่แต่ในบ้านเพื่อความปลอดภัย เพราะอันตรายต่างๆ ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม เด็กๆ จึงมักจะไม่ค่อยได้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านกับเพื่อนๆ เหมือนกับสมัยก่อน แต่กลับต้องเล่นอยู่ในบ้านแทน
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่ ถ้าเดี๋ยวนี้ เด็กๆ จะหันมาเล่นเกม PlayStation เกม Wii เกมออนไลน์ เกมใน iPad และการเล่นอินเทอร์เน็ต แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เด็กเหล่านี้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่มเกมและท่องอินเทอร์เน็ต โดยที่ผู้ปกครอง ไม่ได้สังเกตดูว่าลูกใช้อินเทอร์เน็ตทำอะไรบ้าง และเกมที่เล่นมีลักษณะอย่างไร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ มากที่ผู้ปกครองจะต้องคอยดูว่า เด็กๆ เหล่านี้เล่นและทำอะไรบ้าง
การที่อินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมโลกของเราเข้าไว้ด้วยกันเป็นเรื่องที่ดี แต่อินเทอร์เน็ตเองก็ให้โทษเช่นกัน ถ้าหากว่านำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร อย่างเช่นเว็บไซต์ลามกอนาจารต่างๆ ที่เดี๋ยวนี้มีอยู่มากมาย สามารถโหลดมาดูได้อย่างง่ายดายโดยที่ไม่ต้องเสียเงินเลย ซึ่งไม่เหมือนเมื่อก่อนที่จะหาดูวิดีโอเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะต้องใช้บัตรเครดิตในการสมัครสมาชิกหรือซื้อ ทำให้เด็กในยุคสมัยนี้อาจจะเกิดอาการเก็บกด อยากรู้อยากเห็นหรือ อยากลอง และอาจจะหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเพศได้
นอกจากนี้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ นิตยสาร และโปสเตอร์ต่างๆ ก็มักจะเน้นไปที่การตลาดมากกว่าความเหมาะสม เช่นทุกวันนี้เราจะเห็นได้ว่า ดารานักแสดง หรือนักร้องคนไหนที่แต่งตัวค่อนข้างโป๊ เพื่อแสดงภาพลักษณ์ของความเซ็กซี่นั้นก็จะมีงานให้ทำอยู่เสมอ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้แต่งตัวไม่เรียบร้อยกันซะส่วนใหญ่ แต่ที่สำคัญคือ คนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นไอดอลของเด็กเล็กและเด็กวัยรุ่นกันทั้งนั้น การที่เด็กๆ ขาดความเข้าใจและยังไม่สามารถแยะแยะเรื่องความเหมาะสมในการแต่งตัวของดารานักแสดงได้ ก็อาจจะนำไปสู่พฤติกรรมการ ลอกเลียนแบบโดยที่เด็กๆ เหล่านี้ล้วนแต่ทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาสังคมตามขึ้นมาในภายหลังได้
สื่อเป็นปัญหาที่สำคัญและมีผลกระทบต่อเด็กเป็นอย่างมาก ประเทศอังกฤษจึงได้ทำการศึกษา เรื่องผลกระทบจากสื่อต่างๆ ที่มีต่อเด็กผู้หญิงและพบว่า เด็กผู้หญิงในทุกวันนี้ล้วนแต่อยู่ในภาวะอันตราย อันเนื่องมาจากการหมกมุ่นในเรื่องเพศก่อนวัยอันควร และการพยายามเลียนแบบไอดอลของตัวเองจากสื่อต่างๆ
อย่างเช่น สื่อในทุกวันนี้พยายามนำเสนอภาพลักษณ์และทัศนคติที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก (1) สื่อพยายามชักจูงให้เด็กวัยรุ่นหญิงจากทั่วทุกมุมโลกแต่งตัวเซ็กซี่ ซึ่งในที่สุดแล้วเด็กเหล่านี้อาจจะได้รับอันตรายจากการถูกทำร้ายร่างกาย เช่นการข่มขืน เป็นต้น (2) สื่อพยายามที่จะนำเสนอว่า การมีรูปร่างที่ผอมเป็นเรื่องที่ดี และยังสามารถดึงดูด ความสนใจจากเพศตรงข้ามได้อีกด้วย ทำให้เด็กวัยรุ่นหลายๆ คนมักจะอดอาหาร เพื่อให้ตัวเองมีรูปร่างที่ดี และในที่สุดอาจจะทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา อย่างเช่นการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ หรือการเป็นโรคบูลิเมีย ที่คนป่วยจะมีอาการกินอาหารมากเกินไป เพราะไม่สามารถควบคุม ตัวเองได้ เสร็จแล้วต้องล้วงคอให้อาเจียนออกมาหรือ อาจจะเป็นโรคอโนเร็กเซีย ที่คนป่วยมักจะปฏิเสธไม่ยอมกินอาหารเพื่อจะให้มีรูปร่างผอม ซึ่งในที่สุด ก็อาจจะถึงขั้นไม่กินอาหารไปเลย
เพราะปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน ดังนั้นรัฐบาลอังกฤษ จึงได้จัดตั้งโครงการ Letting Children be Children เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้มีการเรียนรู้ที่เหมาะสมในวัยต่างๆ เพราะเด็กในแต่ละวัยก็มีความสามารถในการ เรียนรู้ที่ต่างกัน ถ้าหากเด็กต้องมาเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ก็อาจจะทำให้พัฒนาการของเด็กมีปัญหาได้ เพราะเด็กอาจจะเกิดความสับสนขึ้นได้ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ถูกต้องกันแน่
ยกตัวอย่างเช่น ละครทีวีในบ้านเราเดี๋ยวนี้ มักจะมีแต่ฉากที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เช่นผู้หญิงสองคนตบกันเพื่อแย่งผู้ชาย หรือการที่ผู้หญิงที่เป็นเมียหลวงต้องมาทะเลาะตบตีกับผู้หญิงที่เป็นเมียน้อย ความรุนแรงต่างๆ เหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบถึงเด็ก ได้โดยตรง เพราะเด็กอาจจะไม่เข้าใจและไม่แน่ใจว่าการกระทำไหนเป็นการกระทำที่ถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้น ในช่วงหลังๆ มานี้เราจึงได้ยินข่าว กันอยู่บ่อยๆ ว่า มักจะมีคลิปวิดีโอที่มีนักเรียนหญิงตีกันหรือทำร้ายกันเป็นประจำ
หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาของโครงการ Letting Children be Children คือการควบคุมสื่อ คำว่าควบคุมสื่อในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า ฉากความรุนแรงที่มีจะถูกตัดออกให้หมด เพียงแต่ว่ารัฐบาลจะดูที่ความเหมาะสมของเนื้อหา ดูว่าเหมาะกับเด็กที่อายุเท่าไร หลายๆ คนอาจจะบอกว่าก็คงจะเหมือน กับการจัดเรตรายการในบ้านเรา ต่างประเทศก็ทำเช่นเดียวกัน เพียงแต่เขามีการควบคุมที่ดีกว่า
เช่น ถ้ารายการไหนมีฉากของความรุนแรง หรือคำพูดที่ไม่สุภาพก็จะไม่มีการออกอากาศก่อนเวลาสี่ทุ่ม รวมไปถึงมิวสิกวิดีโอด้วย ยิ่งถ้าเพลงไหน มีฉากความรุนแรงหรือดูแล้วไม่เหมาะสมสำหรับ เด็ก ก็จะมีการกำหนดอายุของเด็กในการเข้าไปดาวน์โหลดหรือซื้อเพลงเหล่านั้นตามอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ยังมีการให้ข้อมูลกับผู้ปกครองในการควบคุมการเข้าเว็บไซต์ต่างๆ ของเด็กๆ ซึ่งผู้ปกครองสามารถบล็อกเว็บที่เห็นว่าไม่เหมาะสมได้ หรือถ้าเห็นว่าเว็บไซต์ เกมออนไลน์หรือรายการใดที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก แต่มีการฉายในช่วงเวลาที่มีเด็กดูอยู่ก็สามารถทำเรื่องแจ้งไปที่เจ้าหน้าที่ ได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่ไปที่หน้าเว็บไซต์และพิมพ์ข้อมูลรายละเอียดของรายการ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะรีบดำเนินการทันที
ไม่เพียงแต่สื่อด้านทีวี วิทยุ และอินเทอร์เน็ตเท่านั้น สื่อสิ่งพิมพ์ก็เช่นกัน หน้าปกนิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ไม่สามารถลงภาพที่ออกไปทางแนวเซ็กซี่ หรือเน้นไปที่เรื่องเพศ เช่นภาพผู้ชายจูบกับผู้หญิง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กๆ ได้เห็นภาพที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ได้โดยง่าย
งานอีเวนต์และป้ายโฆษณาก็มีกฎข้อบังคับด้วยเช่นกันว่า ถ้าหากงานอีเวนต์หรือป้ายโฆษณาอยู่ในย่านชุมชนที่มีเด็กเดินผ่านไปมาอยู่เรื่อยๆ จะไม่สามารถแต่งตัวหรือแสดงภาพใดๆ ที่เน้นไปที่เรื่องเพศได้ โดยเฉพาะเรื่องความเซ็กซี่ เช่น ตามป้ายรถเมล์ โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า และสวนสาธารณะ
ร้านขายเสื้อผ้าสำหรับเด็กก็ไม่ได้รับการยกเว้น ร้านที่ขายเสื้อผ้าสำหรับเด็กจะต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับอย่างเคร่งครัดว่า เสื้อผ้าแบบไหนที่สามารถ ขายในร้านได้ และแบบไหนที่ไม่สามารถนำมาขายได้ และการแต่งตัวในหุ่นโชว์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ทางร้านค้าไม่สามารถแต่งตัวให้หุ่นให้ดูออกมาเซ็กซี่ได้ และต้องไม่มีป้ายโฆษณาใดๆ ที่เขียนหรือเน้นถึงความเซ็กซี่
เรื่องสื่อที่ไม่มีความเหมาะสมสำหรับเด็กในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่รัฐบาลอังกฤษเท่านั้นที่ให้ความสำคัญ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน
ที่ออสเตรเลียก็มีโปรแกรม Letting Children be Children เช่นกัน มีงานวิจัยเป็นจำนวนมากถูกทำขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อเสียต่างๆ ที่เด็กได้เรียนรู้จากสื่อในเรื่องเพศ ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลา นอกจากออสเตรเลียจะออกกฎหมายควบคุมสื่อต่างๆ ที่คล้ายๆ กับของรัฐบาลอังกฤษแล้ว ยังมีการให้คำแนะนำสำหรับคนเป็นพ่อแม่ว่าควรจะต้องปฏิบัติตัวเช่นไรอีกด้วย
เช่น พ่อแม่ไม่ควรแต่งตัวให้ลูกดูเป็นผู้ใหญ่เกินตัว หรือสนับสนุนให้ลูกใส่ส้นสูง แต่งหน้า หรือแต่งตัวเซ็กซี่ ควรมีการเขียนแสดงความชื่นชมร้านค้าที่ขายของได้เหมาะสมกับอายุของเด็กและมีการบอกต่อๆ กันไปให้เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาและการตลาดที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก
หรืออย่างที่นิวซีแลนด์ เวลาที่เดินทางด้วยสายการบินนิวซีแลนด์ ภาพยนตร์ ทีวี และรายการเพลงต่างๆ จะถูกจัดเรตเอาไว้ และยังมีโปรแกรมให้ ผู้ปกครองเลือกตั้งค่าโทรทัศน์ตรงที่นั่งสำหรับเด็กด้วยว่า เด็กคนนี้อายุเท่าไหร่ และเมื่อเลือกอายุเสร็จ โปรแกรมที่มีอยู่บนหน้าจอทีวีก็จะมีเฉพาะโปรแกรมที่เหมาะสำหรับเด็กเท่านั้น และเด็กก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าของหน้าจอทีวีได้ นอกจากผู้ปกครองจะบอกแอร์โฮสเตสให้เปลี่ยนการตั้งค่านั้น เพราะคนที่จะสามารถตั้งค่ารีเซตหน้าจอได้จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่เท่านั้น
เด็กเป็นกำลังที่สำคัญของประเทศชาติในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่เด็กควรจะมีการเรียนรู้และมีพัฒนาการไปตามวัยที่เหมาะสม โดยเฉพาะในบ้านเราที่ทุกวันนี้สื่อต่างๆ มักจะมีแต่ความรุนแรง และเน้นแต่ผลประโยชน์ทางการตลาด และการโฆษณา โดยไม่สนใจถึงวิธีการและความเหมาะสม
รัฐบาลหรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงน่าจะ ลองศึกษาโครงการเหล่านี้ในต่างประเทศและนำมาปรับใช้ในบ้านเรา เพราะถึงแม้ว่าบ้านเราจะมีการจัดเรตของรายการไว้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผล เพราะเด็กก็ยังคงดูละคร รายการทีวี มิวสิกวิดีโอ หรือภาพโปสเตอร์ต่างๆ ที่เน้นไปที่เรื่องเพศและความเซ็กซี่ที่ไม่เหมาะสม
ถ้าหากเด็กเติบโตขึ้นมาด้วยความเข้าใจแบบผิดๆ จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้าได้อย่างไร
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|