|
การศึกษาไทยกับความเป็นนานาชาติ 1
โดย
ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อพูดถึงการค้าเสรีอาเซียน 2015 ที่จะมีผลบังคับใช้ในเวลาอีกไม่ถึง 4 ปีข้างหน้านี้ เรามักจะมั่นใจว่าประเทศของเรามีความพร้อมอันดับต้นๆ ในชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถ้าเรามองจากตึกรามบ้านช่องที่เรามีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก การเดินทางที่ทันสมัยและท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่โตติดอันดับโลก ทั้งท่าเรือขนาดใหญ่ โรงเรียนนานาชาติ และโปรแกรมนานาชาติในมหาวิทยาลัยที่เปิดกันเป็นดอกเห็ด แต่พอเอาเข้าจริงๆ เรากลับไม่มีความพร้อมอย่างไม่น่าจะเป็น จากผลสรุปเรามีความพร้อม เป็นอันดับที่ 8 จาก 10 ประเทศในอาเซียน และความรู้รอบตัวเรื่องอาเซียนเราได้ที่ 1 จากท้ายหรือเรียกง่ายๆ ว่าที่โหล่ไปอย่างน่าภาคภูมิใจจริงๆ
โดยเริ่มจากกรุงเทพฯ ทุกครั้งที่ผมออกไปให้ วิชาการเรื่องความพร้อมของไทยในเวทีโลกหรืออาเซียน ปรากฏว่าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงที่ผมไปพูด จะหานักเรียนที่ตอบคำถามเรื่องประชาคมอาเซียนได้น้อยกว่า 1 ใน 4 ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่จะกระทบกับ พวกเขาโดยตรง ในต่างจังหวัดผมกลับได้ผลที่ค่อนข้างสับสน ต้องยอมรับว่าโรงเรียนดังแห่งหนึ่งในราชบุรีทำให้ผมทึ่งมากๆ เพราะผู้บริหารท่านมีวิสัยทัศน์และเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเป็นอย่างมาก ในทางกลับกัน ข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่ที่ดังไปทั่วโลก เพราะนักเรียนแต่งชุดทหารนาซีในงานกีฬาสี ทำให้ สื่อมวลชนทั่วโลกนำเสนอประเทศไทยในเชิงลบ แบบ คนที่ไม่รู้วัฒนธรรมของโลก ทำให้เราต้องหันมาตอบ โจทย์กันใหม่ว่าเราสร้างความพร้อมให้กับนักเรียนของเราไว้อย่างไรและไม่ใช่แค่การสร้างเชิงวัตถุแค่แจกแท็บเล็ต แต่เป็นการเสริมสร้างความรู้ให้กับนักเรียน
จากประสบการณ์ทำให้ผมหันมามองการศึกษาไทยในระดับประถม มัธยมศึกษา และอุดม ศึกษา ซึ่งมีวิธีการที่แตกต่างกัน ในฉบับนี้ผมจะขอพูดถึงการบริหารการศึกษาในโปรแกรมทั่วไปก่อน และฉบับต่อๆ ไปจะพูดถึงโปรแกรม EP และนานา ชาติ ก่อนที่จะจบด้วยแนวคิดของโปรแกรมนานา ชาติในระดับมหาวิทยาลัย
สำหรับระดับประถมและมัธยมศึกษา โดยมากจะเริ่มทำโครงการ English Programme หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า EP ซึ่งตอนนี้กระจายไปรวดเร็วไม่แพ้น้ำท่วมประเทศไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถ้ายังทำ EP ไม่ได้ จ้างครูฝรั่งมาสอนก่อนก็ยังดี เรียกว่าตื่นตัวไม่แพ้คนขนของหนีน้ำท่วม ทำไมผมถึงเปรียบเทียบพวกเขากับคนขนของหนีน้ำท่วม นั่นก็เพราะว่าโรงเรียนหลายแห่งทำกันแบบไม่มีการเตรียมพร้อม คิดจะจ้างก็จ้างเพราะมีงบ แต่บริหารไม่เป็น ตรงไหนที่ผมมองว่าบริหารไม่เป็น ผมขอยก ตัวอย่างจากโรงเรียนต่างๆ ที่ผมได้ทราบมา เช่น โรงเรียนวิชาชีพแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร จ้างชาวฝรั่งเศสมาสอนภาษาอังกฤษ แต่ให้ครูไทยที่จบภาษาฝรั่งเศสในไทยและไม่เคยใช้ภาษาฝรั่งเศสจริงๆ สอนภาษาฝรั่งเศส ในขณะที่ครูฝรั่งเศสต้องคอยแก้แกรมม่าครูคนไทย
โรงเรียนหลายแห่งในไทยว่าจ้างครูต่างชาติ ผ่านเอเยนต์โดยไม่ทำสัญญากับครูโดยตรง เมื่อเอเยนต์ส่งมาก็ให้ทำงาน แล้วก็เปลี่ยนครูต่างชาติเป็นว่าเล่น เพราะไม่ชอบครูตั้งแต่ต้น เหตุผลที่ไม่ชอบก็ต่างกันไป เช่น ครูที่ส่งมาไม่มีประสบการณ์จริงตามที่โรงเรียนต้องการ ผู้บริหารโรงเรียนไม่พอใจ ครูฝรั่งที่ไม่ไหว้ตนก็ฝรั่งเขาพูด แค่ Good Morning หรือ Hi เวลาทักกัน ตกลงว่า ผู้อำนวยการและครูใหญ่ในโรงเรียนเหล่านั้นพยายามอ้างว่าจะไปอินเตอร์ แต่คนที่มีปัญหาที่สุด คือบรรดาท่านผู้บริหารที่ยังอยู่ในยุคหิน
ตรงนี้ยังมีปัญหามากมายจากการจ้างฝรั่งซึ่งผมไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ เพราะเป็นข้อมูลที่ทราบจากฝรั่งในเมืองไทยที่มาเป็นครูในโรงเรียนของรัฐบาลว่ารัฐบาล มีงบว่าจ้างครูต่างชาติให้คนละห้าถึงแปดหมื่นบาทต่อเดือนตามแต่พื้นที่ แต่เนื่องจากทั้งโรงเรียนและครูต่าง หันมาใช้เอเยนต์เพราะ 2 เหตุผลคือ ครูก็ไม่ทราบภาษา ไทย แถมประกาศของราชการโดยมากก็เป็นภาษาไทย ทั้งๆ ที่ต้องการครูฝรั่ง ต้องถือว่าเป็นการบูรณาการมากๆ ที่จะให้ฝรั่งรู้ภาษาไทยเพื่อแก้ปัญหาภาษาอังกฤษในเมือง ไทย ผมเลยไม่ทราบว่าฝรั่งโง่เพราะจะทำงานเมืองไทยดันไม่เรียนภาษาไทยอันแสนจะโด่งดังในทวีปออสเตรเลีย ผมจำได้ว่ามีมหาวิทยาลัยสอนสองแห่งคือมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในอเมริกามีราวๆ 10 แห่ง เช่น คอร์แนล ซึ่งผมเชื่อว่าฝรั่งที่จบมหาวิทยาลัยระดับนั้นก็คงจะมีน้อยมากที่จะมาขายของเก่ากินโดยการสอนภาษา จึงเหลือสมมุติฐานเดียวว่า เราลืมคิดไปว่าฝรั่งพูดไทยไม่ได้แล้วการไปออกเอกสารภาษาไทยเพื่อหาครูต่างชาติมันย่อมไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้โดยตรง
ปัญหาที่สอง คือการขาดความเป็นสากลของผู้บริหาร พูดง่ายๆ คือ ผู้อำนวยการ ครูใหญ่ ต่างต้องเป็นอินเตอร์เพราะรัฐบาลสั่ง แต่จะไปสัมภาษณ์ฝรั่งหัวทองหัวแดง ก็กลัวจะเสียฟอร์มว่าท่านผู้บริหารพูดภาษา อังกฤษได้แบบงูๆ ปลาๆ ครั้นจะไปนั่งเก๊กแล้วให้ผู้น้อย ทำการสัมภาษณ์ก็ดูจะขาดความขลัง สุดท้ายโรงเรียนหลายแห่งก็แก้ปัญหาด้วยการไปหาเอเยนต์ ให้เอเยนต์เป็นคนว่าจ้างครูเหล่านี้โดยจ่ายเงินไปที่เอเยนต์ส่วนเอเยนต์จะหักเท่าไหร่เป็นเรื่องของเอเยนต์กับครูฝรั่ง ส่วนถ้าโรงเรียนไม่พอใจก็ไล่ครูกลับไปให้เอเยนต์ส่งคนใหม่มาแทน ฟังดูก็อาจจะไม่เลวนักแต่ที่จริงแล้วเป็นปัญหามาก ในแง่คิดของโรงเรียนหลายแห่งอาจจะมองว่า เอาง่ายเข้าว่า ไม่พอใจก็ไล่กลับดีจะตายไม่ต้องยื่นซองขาว แต่ในแง่ของการศึกษาผมถือว่านี่คือวิกฤติแห่งชาติทีเดียว
ทำไมผมถึงคิดว่าเป็นวิกฤติ ผมขอแบ่งเป็นห้าข้อหลักๆ ข้อแรก คือปัญหาของโรงเรียนโดยตรง การที่โรงเรียนอาศัยเอเยนต์โดยไม่ได้ศึกษาว่าครูที่ส่งมามีวุฒิจริงหรือไม่ มีประสบการณ์ที่ดีไหม และขาดศักยภาพในการบริหารที่เป็นสากล ย่อมทำให้โรงเรียนขาดบุคลากรที่ดี นอกจากนี้การจ้างครูผ่านเอเยนต์แบบที่ฝรั่งเรียกว่า outsources อาจจะดูดีในองค์กรเอกชน หรือแม้แต่วงการศึกษาถ้าส่วนที่ outsources ไม่ได้เป็นหัวใจของ operation system เช่น มหาวิทยาลัยหลายแห่งเลือกที่จะ outsources พนักงานทำความสะอาด พนักงานดูแลความปลอดภัย แต่ยังไม่มีมหาวิทยาลัยไหน outsources อาจารย์ ดังนั้นสิ่งที่ผมเห็นในเมืองไทยในเว็บไซต์ เช่น อาจารย์ดอทคอมได้สร้างความแปลกใจจนผมต้องหาข้อมูล ส่วนที่เสียสำหรับโรงเรียนต่อมาคือ การบริหารงานย่อมมีปัญหา อย่าลืมว่าคนส่วนมากจะมองคนที่จ่ายเงินให้ว่าเป็นนาย ดังนั้นการสั่งงานต้องให้ตรงสายงาน เมื่อเราเอา logic ง่ายๆ แบบนี้ มา apply กับโรงเรียนที่ไป outsources ครูมาจาก เอเยนต์แล้ว หัวหน้าสาขาวิชาภาษาอังกฤษจะสั่งฝรั่ง พวกนี้ได้ไหม ถ้าไม่ได้แล้วเปลี่ยนเขาออก ก็แปลว่า ครูท่านนั้นลืมไปว่าครูฝรั่งเหล่านี้เป็นคนนอก และการเปลี่ยนครูออกตลอดเวลาแปลว่าชื่อเสียงของโรงเรียนเหล่านั้นก็จะติดลบ
ข้อสอง คือปัญหาต่อครูผู้สอนทั้งต่างชาติและ ครูไทยเพราะการทำ outsources สำหรับครูไทยย่อม มองว่าครูฝรั่งที่เข้ามาไม่เข้าใจวัฒนธรรมการบริหาร และสร้างทัศนคติที่เป็นลบกับครูฝรั่ง สำหรับครูฝรั่ง ที่จ้างผ่านเอเยนต์ก็มองว่า ตนเป็นมือปืนรับจ้างไม่ต้อง ไปสนใจทางโรงเรียน ส่วนครูฝรั่งที่โรงเรียนจ้างมาตั้งแต่แรกก็จะมองว่า ทำไมครูกลุ่มใหม่มีพฤติกรรม ที่เป็นเอกเทศ ทำให้เกิด double standard ในที่ทำงาน นอกจากนี้การที่โรงเรียนปฏิบัติไม่ดีต่อครูต่าง ชาติจะขยายวงกว้างในเชิงลบต่อครูต่างชาติทั้งหมด
ข้อที่สาม คือปัญหาในการบริหารวิชาการ เพราะเมื่อมีครูหมุนเวียนบ่อยระดับเดือนเว้นเดือน โรงเรียนนั้นๆ ย่อมไม่มีศักยภาพในการคาดเดาว่าจะบริหารวิชาการอย่างไร ครูคนไหนเก่งไม่เก่ง จะเอา ครูต่างชาติคนไหนไปสอนห้องไหน นั่นย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อมาตรฐานการศึกษาของสถาบันนั้นๆ และของประเทศไทยไปในที่สุด
ข้อที่สี่คือปัญหา ในระบบการศึกษาทั้ง หมด เพราะการเปิดรับ คนกลางอย่างเอเยนต์เข้ามานั้น ย่อมสร้างผลกระทบต่อระบบการ ศึกษา ผมไม่ได้ต่อต้าน ระบบเอเยนต์ ถ้าท่านที่ตามข้อเขียนของผมน่าจะจำกันได้ว่าผมเชียร์เอเยนต์ ด้านการศึกษาที่สามารถให้คำแนะนำที่ดีต่อนักศึกษาที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศอยู่หลายแห่ง แต่เอเยนต์สำหรับอาจารย์ต่างชาติในสายตาของผมคือยาพิษต่อวงการศึกษาของเราในปัจจุบัน เพราะเท่าที่ทราบจากครูต่างชาติที่ผมได้พูดคุยด้วยนั้นมักจะโดนเอเยนต์หักค่าผลประโยชน์จากเงินเดือนในรูปแบบต่างๆ เช่น รับเงินโดยตรงจากโรงเรียนและหักออกส่วนหนึ่งก่อนจ่ายครูต่างชาติ เมื่อปิดเทอม เอเยนต์จะไม่จ่ายครูต่างชาติโดยอ้างว่าปิดเทอมไม่มีเงินเดือน แน่นอนครับ เอเยนต์ไม่ได้อิ่มทิพย์มาจากไหน ต้องมีค่าผลประโยชน์ไม่มากก็น้อยซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่เนื่องจากระบบของไทย ตอนนี้ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเอเยนต์ในลักษณะนี้ ทำให้เกิดคนหาผลประโยชน์จากเงินของรัฐ เพราะเอเยนต์บางแห่งผมได้ยินมาว่าน่าจะหักไปเกือบครึ่งหรือในบางกรณีคือมากกว่าครึ่ง ย่อมทำให้ครูดีๆ ที่หวังเงินเดือนที่เหมาะสมก็จะไม่มาที่ไทย ผมมองว่าถ้าเอเยนต์จะคิดเงินจากครูเป็นค่าหางานและให้โรงเรียนจ่ายในบางส่วนโดยโรงเรียนเป็นคนคัดเลือกครูเอง การมีคนกลางมารับ เงินหลวงและหักเอาไป ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งปัญหาของวงการศึกษาของไทย นอกจากนี้เอเยนต์บางแห่งก็ไม่ได้เป็นคนไทยเสียด้วยซ้ำเท่ากับว่าเป็นการทำลายระบบการศึกษาไทยโดยคนที่ไม่สนใจระบบการศึกษาอย่างแท้จริง เอเยนต์เหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นเทวดามาจากไหน ก็ไปหาฝรั่งตามเว็บไซต์ บางที่ก็ได้ฝรั่งขี้นกที่มาเที่ยวเมืองไทยแล้วเงินหมด ไปเข้าคอร์ส TESOL อยู่ราวๆ หกอาทิตย์ก็พร้อม มาสอนเด็กไทยแล้ว ท่านผู้อ่านเชื่อหรือว่าเท่านี้ก็เพียงพอที่จะสอนเด็กที่เป็นอนาคตของชาติไทยได้ แล้วเรายังฝากความหวังได้มากหรือน้อยอย่างไรกับระบบในปัจจุบันที่ขาดการควบคุม
ข้อสุดท้ายของผู้เสียหายทั้งหมดคือเด็กนักเรียนของไทยซึ่งเป็นอนาคตของชาตินั่นเอง เพียงเพราะผู้ใหญ่ที่เอาง่ายเข้าว่า ผู้ใหญ่ที่ขาดความรับผิดชอบ และผู้ใหญ่ที่เห็นแก่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นที่ตั้ง นั่นเป็นเพราะถ้าอาจารย์ไม่มีคุณภาพหรือขาดความต่อเนื่องในการทำการเรียนการสอน หรือทั้งสองอย่าง การที่เด็กจะได้ความรู้นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ อย่าไปคิดว่าฝรั่งเขาไวยากรณ์จะถูกต้องและ อธิบายได้ทั้งหมด ในบางครั้งฝรั่งเองก็เขียนไวยากรณ์ ผิดอยู่ไม่น้อย ตัวผมเองก็ไม่ได้เก่งแกรมม่าแต่อย่างใด แต่ก็เคยแก้แกรมม่าให้นักศึกษาฝรั่งมาหลายต่อหลายคน นอกจากนี้ฝรั่งที่แกรมม่าถูกต้องก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะอธิบายได้ เขาใช้เป็นแต่อธิบายไม่ได้ก็มีไม่น้อย เช่นเดียวกับคนไทยที่เขียนเป็นแก้ภาษาไทย ให้ฝรั่งได้ แต่อธิบายไม่ได้ว่า ทำไมถึงใช้ศัพท์คำนี้ ทำไมต้องจัดรูปประโยคแบบนั้น
การที่เราจะก้าวไปสู่ความเป็นนานาชาติในเบื้องต้นนั้นเราอย่าไปมองแต่การเป็นอินเตอร์โดยจ้างชาวต่างชาติหรือมีอุปกรณ์มากๆ เช่น แท็บเล็ตเท่านั้น แต่การที่จะก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนและความเป็นนานาชาตินั้นเราต้องหันมามองการพัฒนา เชิงคุณภาพที่เป็นรูปธรรม การมีครูต่างชาติกี่คน มีห้องโสตกี่ห้อง นั้นสำคัญน้อยกว่าการที่เรามีอาจารย์ ที่มีคุณภาพมากเท่าไร มีการบริหารจัดการอาจารย์ต่างประเทศดีขนาดไหน ทางโรงเรียนมีความพร้อมมากขนาดไหนเกี่ยวกับทัศนคติของอาจารย์ไทยเองต่อความเป็นสากล
นอกจากนี้เรามีมาตรฐานอย่างไรเกี่ยวกับครูผู้สอนจากต่างประเทศ ในต่างประเทศการเป็นครูที่สามารถสอนเด็กได้ไม่ใช่แค่ไปเข้าคอร์ส 6 สัปดาห์แล้วมาสอน เขามีเหมือนบ้านเราคือ อบรมครูและสอบใบอนุญาต นอกจากนี้การที่จะสอนเด็กเล็กได้ต้องเข้าคอร์สปริญญาตรีด้าน Early Childhood ซึ่งตอนนี้ในต่างประเทศเป็นที่ตื่นตัวกันมากในการเรียนรู้ที่จะสอนเด็กเล็กและแทบจะเป็นข้อบังคับแล้วว่าจะสอนเด็กเล็กได้ต้องมีการฝึกในด้านนี้ก่อน
ดังนั้น การพัฒนาการศึกษาไทยไปสู่ความเป็นสากลนั้นต้องเน้นการพัฒนาด้านบุคลากรให้มากที่สุด เมื่อคนของเราเจริญแล้ว ความเจริญทางวัตถุจะมีหรือไม่ นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะการศึกษา เป็นเรื่องการสร้างคน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|