Boeing 787 Dreamliner: Made With Japan

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

มีใครเคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่า “อัตราการหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายนวัตกรรมมักจะแปรผันตรงกับขนาดของสินค้า” ดังตัวอย่างที่พบเห็นได้ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มของบริบทที่ว่านี้เช่น โทรศัพท์มือถือรวมถึงสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่จะออกมาอวดโฉมกันแทบทุกเดือน มีงานเปิดตัวยนตรกรรมใหม่อยู่ทุกไตรมาส ส่วนรถไฟชินกันเซนขบวนใหม่ก็มีให้เห็นหลายๆ ปีครั้ง จะได้นั่งเครื่องบินรุ่นใหม่ก็อาจใช้เวลาโดยเฉลี่ยแล้วนานนับทศวรรษ

แม้ข้อสังเกตดังกล่าวอาจไม่เป็นจริงเสมอไปอย่างไรก็ตามเครื่องบิน Boeing Jet 787 ใหม่ล่าสุด ก็ใช้เวลาพัฒนานานถึง 13 ปีกว่าจะส่งมอบให้กับสายการบิน All Nippon Airways (ANA) ประเดิมให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศญี่ปุ่น 2 เส้นทาง ระหว่าง Haneda-Hiroshima กับ Haneda-Okayama แล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2011 ที่ผ่านมาและจะขยายให้บริการเส้นทางอื่นทั้งในและนอกประเทศเพื่อทยอยปลดระวางเครื่องบินรุ่น 767

เดิมทีพันธกิจของทีมวิศวกรค่าย Boeing ทางฝั่งอเมริกามุ่งมั่นเสริมศักยภาพเครื่องบินพาณิชย์ รุ่นใหม่ซึ่งใช้รหัส 7E7 บินด้วยความเร็วเหนือเสียงสำหรับทดแทนเครื่องรุ่นก่อนๆ ที่ยอดขายเริ่มฝืดลง อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อถ่วงดุลกับความร้อนแรงของ A380 จากค่าย Airbus ทางฝั่งยุโรปที่กำลังพัฒนาเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่โตกว่า Jumbo Jet 747 เกือบเท่าตัวซึ่งมีสายการบินหลายรายแสดงท่าทีสนใจสั่งจอง

ทว่าคอนเซ็ปต์การผลิต 7E7 กลับตาลปัตรด้วยแนวคิดของสายการบิน ANA ที่เสนอวิสัยทัศน์อันสะท้อนรูปลักษณ์ของอากาศยานสำหรับอนาคตได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแบบที่ไม่เคย ปรากฏมาก่อนโดยอ้างอิงข้อเท็จจริงและประสบการณ์ ตรงในฐานะสายการบินหนึ่งที่เผชิญวิกฤตการณ์น้ำมันโลกประกอบกับภาพหลอนจากเหตุจี้เครื่องบิน โดยสาร 4 ลำที่ใช้ก่อวินาศกรรมที่นิวยอร์กเมื่อ 11 กันยายน 2001

แม้ไม่ค่อยราบรื่นนักที่จะโน้มน้าวปรับจูน ทัศนะของ Boeing ผู้ผลิตให้เข้ากับ ANA ผู้ใช้ อีกทั้งวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างระหว่างสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น แต่ทีมวิศวกรทั้ง 2 บริษัทผนึกพลังพัฒนา แม่แบบ 7E7 ร่วมกันกว่า 2 ปีภายใต้โปรเจ็กต์ “Working Together” ต่อมาได้เผยปริศนาอักษร E ในรหัสเครื่องบินนี้ด้วยชื่อเต็ม 7Eight7 หรือ 787

กำเนิดเป็นโมเดล Dreamliner 787 เครื่องบิน ในฝันแห่งศตวรรษใหม่ที่สัมฤทธิผลออกมาโดยมีองค์ ประกอบของนวัตกรรมญี่ปุ่น 35%, Boeing 35% และบริษัทพันธมิตรอื่นๆ 30% เป็นเครื่องบินขนาดกลางประหยัดน้ำมัน พิสัยไกล ที่รวมอรรถประโยชน์สำหรับผู้โดยสารไว้อย่างครบถ้วน ANA เป็นสายการบินแรกที่สั่งซื้อฝูงบินนี้จำนวน 55 ลำทันทีหลังประกาศตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2004

กระนั้นก็ยังพบอุปสรรคหลายประการในระหว่าง กระบวนการผลิตโดยเฉพาะปัญหาน้ำหนักเครื่องบินที่มีแนวโน้มมากกว่ากำหนดอยู่ราว 2-6 ตันซึ่งเกินขีดความ สามารถของเทคโนโลยีการผลิตเครื่องบินยุคเก่า

เบื้องหลังความสำเร็จในการลดน้ำหนักตัวเครื่องเกิดขึ้นได้เนื่องเพราะความร่วมมือจากพันธมิตรสัญชาติ ญี่ปุ่นโดยการประยุกต์นวัตกรรม Carbon-Fiber-Reinforced Plastic (CFRP) ของบริษัท Toray มาใช้กว่าครึ่งหนึ่งของโครงสร้างหลักเครื่องบิน ซึ่งเดิมใช้โลหะอะลูมิเนียมมาต่อกันด้วยนอตจำนวนมาก

ตามปณิธาน “Innovation by Chemistry” ของบริษัทที่ก่อเกิดมานะอุตสาหะในงานวิจัยและพัฒนาวัสดุคุณภาพเยี่ยมมากว่า 40 ปี ปัจจุบัน Toray มีความเชี่ยวชาญในการผลิต CFRP ป้อนตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลกอันเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ เรือ จนถึงยานอวกาศ และเมื่อปี 1995 เคยใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของหางเครื่องบินรุ่น 777 มาแล้ว

CFRP เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีความแข็งแรง ไม่เป็นสนิม ไม่ผุกร่อน ทนสารเคมีและมีน้ำหนักเบาซึ่งช่วยประหยัดเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ยังมีความทนทานต่อแรงกดดันสูงทำให้สามารถ ลดความดันภายในเครื่องบินจากเดิมปรับไว้ที่ 8,000 ฟุตเหลือเท่ากับความดันที่ 6,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล และยังสามารถเพิ่มความชื้นภายในห้องโดยสารรวมทั้งเพิ่มช่องระบายอากาศจาก 2 เป็น 4 ช่อง ให้ความรู้สึกผ่อนคลายในระหว่าง การเดินทางมากยิ่งขึ้น

การเปลี่ยนมาใช้ CFRP เป็นหลักส่งผลให้เครื่องบินมีความแข็งแรงมากพอที่จะเพิ่มความสูงของเพดานและขยายความกว้างภายในห้องโดยสารออกไปได้อีก 75 เซนติเมตรเมื่อเทียบกับเครื่องบินที่มีขนาดใกล้เคียงกันอย่าง Boeing 767 อีกทั้งยังช่วยให้มีหน้าต่างบานใหญ่กว่าเดิม 1.3 เท่าซึ่งสร้าง สรรค์จากไอเดียของ ANA ที่ออกแบบมาให้เหมาะสม กับสภาพภูมิอากาศของทวีปเอเชียโดยเฉพาะ

ปัญหาฝุ่นทรายเหลือง1 ที่พัดมาจากประเทศ จีนโดยนำเทคโนโลยีกระจกปรับความเข้มแสงจากภายนอกได้ 5 ระดับแทนการใช้บานปิดเปิดหน้าต่าง ซึ่งช่วยให้ดูแลรักษาเครื่องบินได้ง่ายขึ้น สามารถมอง ผ่านหน้าต่างบานใหญ่ออกไปได้ตลอดเวลาอีกด้วย

นับเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมการบิน ที่สร้างปีกเครื่องบินด้วย CFRP ซึ่งท้าทายความ สามารถทีมวิศวกรของ Mitsubishi Heavy Industries เป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบจนกระทั่งหลอมเสร็จเป็นแผ่นเดียว มีส่วนที่กว้างสุดขนาด 5 เมตร ยาว 30 เมตรจากโรงงานในเมืองนาโงยาแล้วส่งไปประกอบที่ฐานผลิตเครื่องบิน Boeing ในเมือง Everett ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมือง Seattle ในสหรัฐ อเมริกา

การออกแบบปีกของ 787 นี้ไม่เพียงแต่ปฏิวัติเทคนิคการพยุงเครื่องให้บินได้ดีขึ้นตามหลักอากาศ พลศาสตร์แต่ยังช่วยเพิ่มความเสถียรในขณะลอยตัวกลาง อากาศได้มากกว่าปีกแบบเก่าที่ใช้อะลูมิเนียมมาต่อกัน นอกจากนี้ปีกเครื่องบินยังทำหน้าที่เป็นถังบรรจุเชื้อเพลิง และเชื่อมต่อกับเครื่องยนต์ Rolls-Royce Trent 1000 ซึ่งเดินเครื่องเงียบกว่าเดิมที่ติดตั้งอยู่ด้านล่างของปีก

ในทำนองเดียวกัน Kawasaki Heavy Industries ก็รับหน้าที่ออกแบบลำตัวและสร้างแม่พิมพ์หลอมช่วงหน้าของตัวเครื่องและบางส่วนของหางเครื่องบินด้วยวัสดุ CFRP อีกทั้งทำงานร่วมกับ Mitsubishi Heavy Industries ในส่วนของการผลิตปลายปีกและขอบปีก

บริษัทพันธมิตรญี่ปุ่นอีกแห่งคือ Fuji Heavy Industries มีประสบการณ์ผลิต Center Wing ให้กับเครื่องบินรุ่น 767 เมื่อ 30 ปีก่อนประยุกต์วิทยาการใหม่ มาใช้ในกระบวนการผลิต Center Wing ซึ่งเป็นเสมือนกล่องดวงใจที่ตำแหน่งกลางลำให้เข้ากับส่วนลำตัวและปีก CFRP รวมถึงรับผิดชอบผลิต Main landing gear wheels

ความแปลกใหม่ที่สัมผัสได้ทันทีเมื่อเข้าสู่ภายในห้องโดยสารอยู่ที่แสงสีฟ้าสบายตาจากนวัตกรรมหลอดไฟ LED ของญี่ปุ่น ซึ่งส่องสว่างกว่าและใช้พลังงานน้อยกว่า แสงไฟทั้ง 128 เฉดสีจะช่วยปรับให้ร่างกายตอบสนองต่อแสงในโทนสีที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นแสงสีที่กระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารในช่วงเวลาก่อนเสิร์ฟอาหาร เป็นต้น

การตกแต่งอันโดดเด่นอีกจุดหนึ่งพบได้ในห้องน้ำ ที่สะอาดและล้ำสมัยด้วยสุขภัณฑ์ Washlet ของบริษัท Toto ซึ่งติดตั้งระบบชักโครก ชำระล้างทำความสะอาดรวมถึงเป่าแห้งโดยอัตโนมัติที่สะท้อนอัตลักษณ์ห้องน้ำไฮเทคลอยฟ้าตามแบบฉบับญี่ปุ่นในเครื่องบินพาณิชย์เป็น ครั้งแรกในโลก2

ในขณะเดียวกันรูปโฉมภายนอกเครื่องบินก็ซ่อนความพิถีพิถันด้วยเทคนิคการพ่นสีของญี่ปุ่นซึ่งถึงแม้จะเพิ่มต้นทุนการผลิตแต่สามารถยืดอายุการใช้งานได้นาน กว่าเกือบเท่าตัวและทำความสะอาดได้ง่ายช่วยลดทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาในระยะยาว

ยิ่งไปกว่านั้น Dreamliner 787 ยังควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์สมบูรณ์แบบทั้งลำด้วยระบบไร้สายที่ส่งผ่านข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ประสานกับภาคพื้นดินสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้อย่างรวดเร็วแม่นยำและที่สำคัญคือเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยในแต่ละเที่ยวบินให้สูงขึ้นกว่าเดิม

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Boeing 787 จะสร้างสถิติ Best Seller ด้วยยอดสั่งจองจากทั่วโลกสูงถึง 821 ลำพร้อมกับสร้าง Global Standard ใหม่สำหรับธุรกิจการ บินแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เป็น Dreamliner สำหรับสายการ บินในมิติของการประหยัดพลังงานน้ำมันลง 20% และมาตรฐานความปลอดภัย เป็น Dreamliner สำหรับผู้โดยสาร เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง และเป็น Dreamliner สำหรับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมถึงก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆและลดมลภาวะเสียง

* ภาพทั้งหมดจาก www.ana.co.jp

อ่านเพิ่มเติม:
1 คอลัมน์ Japan Walker นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับมีนาคม 2552 เรื่อง “ฝุ่นทรายเหลือง” http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=77980

2 คอลัมน์ From Japan นิตยสาร Positioning ฉบับสิงหาคม 2550 เรื่อง “Boeing 787, We Fly First!” http://www.positioningmag.com/magazine/details.aspx?id=62424


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.