อิตาลีล้ม euro zone ล่ม


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

euro zone จะอยู่รอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอิตาลีจะรอดหรือไม่

ในที่สุด Silvio Berlusconi ก็ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลี หลังจากครองอำนาจมานาน 8 ปีครึ่ง แต่อาจจะสายเกินไป กว่าที่เขาจะยอมลาออกนั้น ดอกเบี้ยพันธบัตรอิตาลีก็พุ่งขึ้นไปเกือบ 7.5% แล้ว ซึ่งเป็นระดับที่จะทำให้อิตาลีล้มละลายในท้ายที่สุด หลังจากที่เกิดการแห่ถอนเงินจากธนาคาร

เมื่อตลาดพันธบัตรใหญ่อันดับ 3 ของโลกอย่างอิตาลีเริ่มมีปัญหา หายนะก็กำลังมาเยือนทุกคน อันตรายใช่จะเกิดเฉพาะเศรษฐกิจของอิตาลีเท่านั้น หากแต่ยังพ่วงเอาเศรษฐกิจของสเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ เงินยูโร สหภาพยุโรปตลาดเดียว ระบบธนาคารโลกไปจนถึงเศรษฐกิจโลกนั่นเลยทีเดียว หากถือว่ากรีซมีความสำคัญในแง่ที่ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับเขต euro zone (17 ชาติยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน) นั่นคือการที่ธนาคารเจ้าหนี้ต้องยอมขาดทุนลดหนี้ให้กรีซ และการที่ยุโรปต้อง เข้าอุ้มกรีซจากวิกฤติหนี้ แต่อิตาลีมีความสำคัญยิ่งไปกว่ากรีซหลาย เท่า เพราะความใหญ่กว่าของเศรษฐกิจอิตาลี

ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า อิตาลีกำลังจะกลายเป็นบททดสอบ euro zone ว่าจะรอดหรือจะล่ม ถ้าหาก euro zone ต้องการให้เงินยูโรรอด ก็จำเป็นต้องหยุดยั้งความตื่นตระหนกให้ได้ และทำให้การเมืองอิตาลีมีความน่าเชื่อถือ วิธีแก้ปัญหาทั้ง 2 ประการยังอยู่ในวิสัย ที่ยุโรปจะทำได้ แต่หากยังคงปล่อยให้ euro zone ซวนเซด้วยความกลัวว่าวิกฤติจะลุกลามแพร่ระบาดไปทั่วยุโรป หรือยังปล่อยให้เกิดการเปลี่ยนรัฐบาล และยังคงลังเลที่จะแทรกแซงตลาดเงินต่อไปอีก การแก้ปัญหาก็จะยิ่งยากขึ้นและสิ้นเปลืองมากยิ่งขึ้น

งานเร่งด่วนที่สุดคือต้องรีบหยุดความตื่นตระหนกในตลาดการเงิน ความตื่นตระหนกนี้เกิดขึ้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน หลังจากที่ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีพุ่งกระฉูด เมื่อ LCH Clearnet ซึ่งเป็นสำนักหักบัญชี (clearing house) ได้เรียกหลักประกันเพิ่ม (margin call) ซึ่งหมายความว่า ใครที่เกี่ยวข้องกับพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีในขณะนี้ จำเป็นต้องกันเงินทุนสำรองเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงว่าอิตาลีจะผิด นัดชำระหนี้ การที่ต้องกันเงินทุนเพิ่มขึ้นนี้ ทำให้ต้นทุนในการเกี่ยวข้องกับพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีต้องเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการเทขายเนื่องจากนักลงทุนพากันหนีออกจากตลาด

ขณะนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติหนี้ในอิตาลีได้อีกต่อไปแล้ว ต้นทุนการกู้ยืมเงินในอิตาลีจะยังคงสูงเหนือกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติต่อไป และอุตสาหกรรมการเงินก็คงจะไม่ยกเลิกการเรียกหลักประกันเพิ่มในเร็วๆ นี้ด้วย และถึงแม้จะทำเช่นนั้น นักลงทุนก็ไม่พร้อมที่จะมองพันธบัตรอิตาลีว่าไร้ความเสี่ยง เหมือนอย่างแต่ก่อนอีกแล้ว บรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ก็จะต้องลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลีอย่างแน่นอน ทำให้พันธบัตรอิตาลีเริ่มเสื่อมค่าลง เมื่อนั้นอิตาลีก็จะถูกตัดขาดจากตลาดพันธบัตร ธนาคารในอิตาลีก็จะเริ่มมีความเสี่ยง เมื่อทั้งผู้ฝาก เงินและผู้กู้เงินจากธนาคารเกิดความตื่นตระหนักว่า ทั้งตัวเองและรัฐบาลอิตาลีกำลังจะล้มละลายแล้ว เมื่อนั้นวิกฤติก็จะระบาด ลุกลามไปทั่วทั้ง euro zone และนำไปสู่จุดจบของ euro zone ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อิตาลียังไม่ได้ล้มละลาย แม้ว่าแผน การที่จะอุ้มอิตาลีของ euro zone เมื่อเดือนตุลาคมจะไม่คืบหน้า แต่ธนาคารกลางแห่งยุโรป (European Central Bank: ECB) ยังสามารถจะประกาศว่า จะเข้าซื้อพันธบัตรอิตาลีอย่างไม่จำกัดจำนวน เพื่อปกป้องธนาคารในยุโรป และเพื่อหยุดยั้งความตื่นตระหนก และ ECB เคยเข้าแทรกแซงซื้อพันธบัตรอิตาลีแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน

กระนั้นก็ตาม ความเสี่ยงที่ euro zone จะแตกเป็นเสี่ยงๆ เพิ่มสูงขึ้นจริงๆ Angela Merkel และ Nicolas Sarkozy ผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศส ยอมรับเป็นครั้งแรกในการประชุมสุดยอด G20 เมื่อเดือนพฤศจิกายนว่า พวกเขาอาจตัดหางปล่อยทิ้งกรีซไปตามยถากรรม คำพูดดังกล่าวนับเป็น การเปลี่ยนจุดยืนที่น่ากลัวของ 2 ผู้นำยุโรป ที่เคยยืนยันตลอดมาว่า euro zone จะต้องอยู่รอดต่อไปโดยไม่บุบสลาย ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม พร้อมกับมีเสียงลือ เสียงเล่าอ้างว่า ทั้ง 2 ชาติกำลังคิดการจะดึงเอาชาติยุโรป เฉพาะ ที่เป็นแกนหลักของ euro zone ซึ่งสามารถปฏิบัติตามกฎได้เท่านั้น ออกไปตั้งเป็นกลุ่มใหม่ แล้วโละชาติที่เหลืออื่นๆ ทิ้งไป

ข่าวลือทำนองนี้ทำให้ยากยิ่งขึ้นที่ ECB จะกอบกู้ความเชื่อมั่นของตลาดให้กลับคืนมาว่า euro zone จะต้องคงอยู่ต่อไป ลำพัง ECB อาจช่วยซื้อเวลายืดลมหายใจได้ระยะหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของผู้นำยุโรปที่จะต้องใช้โอกาสที่ ECB สร้างขึ้นนี้ รีบเร่งฟื้น ความเชื่อมั่นของโลกที่มีต่อกลุ่ม euro zone และทำให้โลกเห็นว่า euro zone มีศักยภาพพอที่จะจัดการกับปัญหาหนี้ของตนเอง และสามารถจะปฏิรูปตัวเองได้ แต่หากผู้นำยุโรปล้มเหลว euro zone ก็จะต้องล่มในที่สุด

ชายผู้ป่วน euro zone

Berlusconi ชอบให้คนอื่นมองตัวเขาว่าเป็นนักปฏิรูปหัวเสรีที่สนับสนุนธุรกิจเต็มที่ แต่ภายใต้การปกครองของเขา อิตาลียังคงล้มเหลวในการเลิกใช้สูตรการลดค่าเงินลีร่า เพื่อชดเชยปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาเศรษฐกิจชะงักงันหรือการผลิตที่ตกต่ำ ในระหว่างปี 2001-2010 ต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อหน่วยของอิตาลีเพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจอิตาลีก็เติบโตน้อยกว่าทุกประเทศในโลก ยกเว้นเพียงเฮติกับซิมบับเว เมื่อวิกฤติ euro zone เริ่มคืบคลานเข้าใกล้อิตาลี Berlusconi ยังคงสนุกกับงานปาร์ตี้และเล่นการเมือง โดยไม่สนใจความจำเป็นที่อิตาลีจะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ

เมื่อปราศจาก Berlusconi แล้ว อิตาลีมีโอกาสจะแก้ตัว เพราะหนี้สะสมของอิตาลีแม้ว่าจะอยู่ในระดับสูงมากแต่ก็ทรงตัว นอกจาก นี้ อิตาลีไม่มีปัญหาหนี้สินเชื่อบ้านและธนาคารก็ไม่ได้รับผลกระทบ ชาวอิตาลียังเป็นนักออมเงินตัวยง ส่วนรายได้จากภาษีของรัฐบาล ก็ไม่ได้พึ่งภาษีที่เก็บจากภาคการเงิน หรือจากทรัพย์สินมากจนเกินไป จริงๆ แล้วงบประมาณของอิตาลีก่อนจ่ายดอกเบี้ยหนี้สาธารณะอยู่ในภาวะเกินดุลด้วยซ้ำ

ขณะนี้อิตาลีได้รัฐบาลใหม่เป็นเทคโนแครตสมใจแล้ว Mario Monti นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลี เป็นอดีตกรรมาธิการยุโรป ที่ได้รับการยกย่องนับถือ หน้าที่สำคัญของรัฐบาลรักษาการอิตาลี คือต้องปฏิรูป แต่การปฏิรูปต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะอยู่ตัว ดังนั้น รัฐบาลรักษาการคงจะมีอายุเพียงไม่กี่เดือน จะต้องเตรียม พร้อมสำหรับการจัดการเลือกตั้งอย่างเร่งด่วนและจะต้องได้รัฐบาล ใหม่ที่ยึดมั่นในการปฏิรูป

หาก euro zone ต้องการจะอยู่รอดต้องลุ้นให้อิตาลีปฏิรูปได้สำเร็จ การจะทำให้อิตาลีปฏิรูปสำเร็จ บรรดานักการเมืองอิตาลี จะต้องมีเอกภาพและกล้าหาญ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประชาชนชาวอิตาลี ที่จะต้องเสียสละ ฝ่าย ECB ก็จะต้องหนุนหลังอิตาลี และชาติใหญ่อย่างเยอรมนีและฝรั่งเศสก็จะต้องหนุนหลัง euro zone อย่างเข้มแข็ง

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.