|
โลกาภิวัตน์ รากเหง้าปัญหาวิกฤติยุโรป
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
วิกฤตเงินยูโรไม่เหลือความสามารถของยุโรปที่จะแกไข แต่การปฏิเสธกระแสโลกาภิวัตน์ต่างหาก คือรากเหง้าของความล้มเหลวในการแกปัญหาวิกฤติยุโรป
Joseph Schumpeter นักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวออสเตรียกล่าวว่า “ระบบการเงินของประเทศสะท้อนทุกสิ่งทุกอย่างที่ประเทศนั้นต้องการ ที่ประเทศนั้นทำ ที่ประเทศนั้นทนทุกข์ และที่ประเทศนั้นเป็น”
ดังนั้น หากระบบการเงินของประเทศเกิดวิกฤติ วิกฤตินั้น ย่อมไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาวิกฤติการเงิน
วิกฤติที่กำลังโอบล้อมสหภาพยุโรป (European Union: EU) อยู่ในขณะนี้ จึงเป็นปัญหาที่มากกว่าเพียงวิกฤติเงินยูโร เมื่อพันธบัตรรัฐบาลยุโรป ราคาหุ้น และธนาคารของยุโรปกำลังจะเกิด วิกฤติตามไปด้วย และภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็กำลังจะกลับมาเยือนทั้งโลกอีกครั้ง แต่สิ่งที่น่ากลัวเป็นอันดับแรกคือ ระบบการเงิน และเศรษฐกิจของยุโรปกำลังจะล่มสลาย
การจะเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเงินยูโร ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับยุโรป อยู่ในขณะนี้
เงินยูโรจะไม่มีวันปลอดภัย ตราบใดที่ยุโรปยังคงหลีกเลี่ยงไม่ยอมตอบคำถามพื้นฐานที่สุดที่ยุโรปหลีกเลี่ยงมานานหลายปี ปัญหาที่เป็นรากเหง้าของวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นกับยุโรปคือ คำถามที่ว่าชาติยุโรปควรจะรับมือกับโลก รอบๆ ตัวที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอย่างไร และยุโรปควร จะทำอย่างไร เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำลายการผูกขาดของชาติตะวันตกที่มีต่อความรู้ทางเทคโนโลยี ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่ทำให้ยุโรปร่ำรวยขึ้นมา และยุโรปที่กำลัง “แก่ลง” ทุกวันนี้ กำลังด้อยความสำคัญลงทุกขณะเมื่อเทียบ กับเอเชียที่กำลังเจริญวัยเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาคือยุโรปยังคงไร้เอกภาพในการตอบคำถามนี้ ชาติยุโรปบางชาติต้องการจะล้อมรั้วปิดตาย EU ซึ่งยังคงเป็นตลาดที่กว้างใหญ่ไพศาลและร่ำรวย ไม่ให้คลื่นโลกาภิวัตน์กล้ำกรายได้ ส่วนชาติยุโรปอีกบางชาติ โดยเฉพาะนักการเมืองประเภทประชานิยม ต้องการให้ชาติของตนหันหลังให้กับโลก แม้กระทั่งหันหลังให้แก่การรวมยุโรปด้วย คงมีแต่เพียงบางชาติ โดยเฉพาะชาติชั้นนำ ที่เป็นต้นคิดการรวมยุโรปเท่านั้น ที่ยืนยันว่า วิธีเดียวที่ยุโรปจะสามารถรักษาวิถีชีวิตอันโดดเด่นของตนต่อไปได้ ไม่ใช่พยายามหลบเลี่ยงกระแสโลกาภิวัตน์ หากแต่เป็นการเปิดใจยอมรับมันอย่างเต็มอกเต็มใจ
และนี่มิใช่เพียงทางเลือกในเชิงปรัชญาที่เป็นนามธรรม หากแต่เป็นสงครามที่กำลังเกิดขึ้นจริงจังและโหดร้าย เป็นสงคราม เพื่ออนาคตของยุโรป เป็นสงครามที่กำลังสู้รบกันอยู่ในหลายชาติ ยุโรปขณะนี้อย่างเช่นกรีซ ซึ่งนายกรัฐมนตรี George Papandreou ของกรีซ กลายเป็นผู้นำยุโรปคนแรกที่ถูกสังเวยเซ่นสงครามนี้ไปแล้ว เมื่อเขาต้องประกาศลาออกและหมดอำนาจลง เป็นสงคราม ที่กำลังสู้รบกันอยู่ในโรงงานที่กำลังถูกทิ้งร้างในฝรั่งเศส และในเบลเยียม ซึ่งเป็นเหมือนเมืองหลวงของ EU เป็นสงครามที่กำลังทำลายชีวิตนับล้านๆ ของหนุ่มสาวสเปนที่ตกงาน ให้กลายเป็นชีวิตที่ไร้ค่า
ผลของสงครามนี้จะทำให้ความเป็นรัฐสวัสดิการของยุโรปต้องถูกจำกัด
และสงครามนี้จะตัดสินว่า ความเป็นหุ้นส่วนที่ไม่เคยสมดุล กันระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศส และอังกฤษที่ยิ่งตีตัวออกห่างไปเรื่อยๆ จะทำให้ EU เป็นอย่างไรต่อไป ที่สำคัญที่สุดคือ สงคราม นี้จะตัดสินชะตากรรมของสิ่งซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่างของ EU นั่นคือเงินยูโร
ขณะนี้สภาพของ euro zone หรือกลุ่มชาติยุโรปที่ใช้เงินยูโรร่วมกัน 17 ชาติ กำลังหมุนคว้างดิ่งลงก้นเหวอย่างน่าสลด ความกลัวว่ารัฐบาลกรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และที่น่าตกใจที่สุดคืออิตาลี จะไม่สามารถชำระ หนี้มหาศาลที่มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 3 ล้านล้านยูโร (4.2 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐ) ได้ กำลังจะทำลาย ธนาคารในยุโรป ซึ่งลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลของชาติเหล่านี้ไว้ เมื่อธนาคารซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการเงิน ทำท่าว่าจะมีปัญหา ก็จะยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือ และยิ่งทำให้กลัวมากขึ้นว่า รัฐบาลจะหมดความสามารถในการชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งก็จะย้อนกลับไปทำให้ธนาคารยุโรปยิ่งอ่อนแอลงอีก
อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้ว euro zone ยังมีความสามารถ ที่จะหยุดยั้งความอ่อนแอของธนาคารและรัฐบาลยุโรปได้ หนี้สาธารณะของ 17 ชาติ euro zone รวมกันแล้ว ยังน้อยกว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ประเทศเดียว และยอดขาดดุลงบประมาณ ของรัฐบาลยุโรปก็ยังต่ำกว่าของสหรัฐฯ ด้วย นอกจากนี้ยุโรปยังมีเงินมากพอที่จะเป็นปราการแข็งแกร่งปกป้องธนาคารยุโรป ถ้าหากว่ากรีซหรือโปรตุเกสหรือไอร์แลนด์เกิดผิดนัดชำระหนี้ แถมยังมีปราการอีกชั้นจากธนาคารกลางแห่งยุโรป (European Central Bank: ECB) ซึ่งสามารถหนุนหลังรัฐบาลที่ประสบปัญหา วิกฤติหนี้ ด้วยการเข้าช้อนซื้อพันธบัตรของรัฐบาลที่มีปัญหาได้อย่างไม่จำกัดจำนวนในตลาดรอง
แต่ที่ทำให้ EU ยังแก้ปัญหาวิกฤติยูโรไม่ได้ เป็นเพราะ EU ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในการเดินหน้าแผนการกอบกู้เงินยูโรที่น่าเชื่อถือ สาเหตุเป็นเพราะชาติต่างๆ ในยุโรปยังคงขัดแย้งกันไม่จบไม่สิ้น ไม่อาจสรุปได้ว่า ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นคืออะไรกันแน่ ซ้ำยังแตกแยกเกี่ยงกันว่า ประเทศใดควรจะต้องเสียสละมากน้อย เท่าใดเพื่อจะแก้ปัญหาวิกฤตินี้ ตราบใดที่ชาติสมาชิก euro zone ยังคงแตกแยกกันอยู่อย่างนี้ และไม่ตระหนักว่าความขัดแย้งกันนี้ คือต้นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ยุโรปยังล้มเหลวในการแก้ปัญหาวิกฤติยูโร หาใช่เพราะไร้วิธีแก้ปัญหาแต่อย่างใดไม่ ตราบนั้นความร่วมมือร่วมใจกันในหมู่ชาติยุโรป ซึ่งจะสามารถช่วยปกป้องเงินยูโรได้สำเร็จก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น
ระหว่างที่โลกกำลังรอการตัดสินใจของยุโรป ลางร้ายทั้งหลายเริ่มโผล่มาให้เห็น ชาติ euro zone บางชาติอาจถอนตัวออกจากการใช้เงินยูโร แม้ว่าสนธิสัญญารวมยุโรปจะห้ามการทำเช่นนั้นก็ตาม ธนาคารยุโรปอาจสูญเสียความน่าเชื่อถือ อิตาลีหรือ สเปนอาจไม่สามารถกู้ยืมเงินโดยเสียดอกเบี้ยที่ไม่สูงเกินไป รัฐบาลที่พยายามจะออกมาตรการรัดเข็มขัดจนทำให้ประชาชนไม่พอใจอาจจะล้ม และถูกแทนที่ด้วยนักการเมืองประชานิยมที่ไม่ เอามาตรการรัดเข็มขัด ผลกระทบทั้งหลายนี้สามารถติดต่อกันได้เหมือนโรคร้าย ในที่สุดก็จะฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้ดิ่งลงสู่หุบเหว
บางคนคาดว่าเยอรมนีอาจเป็นผู้นำชาติแกนหลักของกลุ่ม euro-zone ให้แยกตัวออกไปตั้งกลุ่มใหม่ นั่นอาจทำให้เงินยูโร แข็งค่าขึ้น ทำให้ธนาคารและบริษัทเยอรมนีต้องสูญเสียมหาศาล จากการลดค่าลงของสินทรัพย์ที่อยู่ในต่างประเทศ และธุรกิจส่งออกของเยอรมนีนั่นเองที่จะเสียประโยชน์ นอกจากนี้ เยอรมนียังเป็นชาติที่เคารพกฎหมาย EU รวมถึงสนธิสัญญารวมยุโรปที่ห้าม การถอนตัวออกจาก euro zone และมักห้ามเพื่อนสมาชิกอื่นๆ ไม่ให้ละเมิดกฎหมาย EU
ถ้าจะมีชาติใดที่อาจจะถอนตัวออกจาก euro zone กรีซอาจดูมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะชาวกรีซอาจ ทนไม่ได้กับมาตรการรัดเข็มขัด โดยเฉพาะหากมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่อีกหลายครั้ง แต่นั่นกลับจะยิ่งทำให้กรีซย่ำแย่หนักยิ่งขึ้น เพราะธนาคารของกรีซจะพากันล่มและเงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว ส่วนบริษัทของกรีซก็จะหมดความสามารถในการชำระหนี้ด้วยเงินยูโร และจะต้องล้มละลาย ขณะนี้ กรีซก็หมดทางเข้าถึงตลาดเงิน ตลาดทุนได้ต่อไปแล้ว หากยังจะถอนตัวออกจาก euro zone อีก กรีซก็คงจะไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก EU อีกต่อไป แต่ที่ตกอยู่ในอันตรายมากที่สุดคือ ความ เป็นตลาดเดียวของยุโรป
เป็นเพราะความกลัวว่าผลกระทบอันร้ายแรงทั้งหมดข้างต้นอาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งการที่ยุโรปมีวิธีแก้ปัญหา อยู่แล้ว แต่ยังทำไม่สำเร็จ ทำให้หลายคนอาจคิดว่า ผลกระทบร้ายแรงข้างต้นนั้นจะไม่เกิดขึ้น อย่างเช่นกรีซก็เชื่อว่า ยุโรปคงจะ ไม่มีวันปล่อยให้กรีซล่มสลาย อย่างไรก็ตาม เยอรมนีกับ ECB อาจปฏิเสธไม่ช่วยอุ้มประเทศที่มีปัญหาอีกต่อไป เพราะไม่ต้องการให้ประเทศเหล่านั้นสามารถหลบเลี่ยงการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ต้องทำ หรือไม่ก็มาตรการรัดเข็มขัดที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่ประชาชนในชาติที่มีปัญหา อาจทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงทางการเมือง และได้รัฐบาลใหม่ที่เป็นประชานิยม ซึ่งอาจตัดสินใจหันหลังให้กับเงินยูโร
สหภาพเศรษฐกิจและการเงินยุโรป (Economic and Monetary Union: EMU) เคยสามารถปกป้องการตกต่ำของค่าเงิน ยูโรที่คุกคามความเป็นยุโรปตลาดเดียวในช่วงทศวรรษ 1990 ได้ ด้วยการสัญญาว่าจะดึงเยอรมนีเข้าร่วมกับ EU และหาทางรวมยุโรปในทางการเมือง มาถึงวันนี้ ความฝันนั้นยังไม่อันตรธานไปหมดเสียทีเดียว แต่ยุโรปตลาดเดียวกำลังตกอยู่ในอันตรายอีกครั้ง เพราะชาติยุโรปขัดแย้งกันอีก และเยอรมนีก็กำลังโกรธเพื่อน ส่วนความผูกพันระหว่างเงินยูโรกับชาติยุโรปก็เต็มไปด้วยปัญหามากกว่าที่เคยเป็นมา ดังนั้น EMU จึงอาจไม่ได้ย่อมาจาก Economic and Monetary Union อีกต่อไป แต่อาจย่อมาจาก “Europe’s Melancholy Union” หรือ “สหภาพที่น่าเศร้าแห่งยุโรป”
Dominique Strauss-Kahn อดีตผู้อำนวยการ IMF กล่าวว่า หากยุโรปล้มเหลวในการแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนี้ ก็จะต้องทนทุกข์กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และการถูกครอบงำทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ยุโรปจะสามารถรอดพ้นจากการตกลงไปในหุบเหวได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับชาติแกนหลักของยุโรปจะต้องหนุนหลังชาติอื่นๆ ที่เหลือ โดยที่ชาติในกลุ่มหลังก็จะต้องยอมปฏิรูปตนเองอย่างถอนรากถอนโคน ทั้งทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ และไม่ควรมีใครหลอกตัวเองว่า นั่นเป็นเรื่องที่จะทำสำเร็จได้โดยง่าย
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|