เอไอเอหารายได้ใหม่


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ประเด็นข่าวน้ำท่วมถือว่าเป็นหัวข้อไฮไลต์ทุกวันของสื่อสารมวลชนตลอดเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีองค์กรบางแห่งพยายามที่จะบอกกิจกรรมในช่วงเวลาเดียวกัน ดังเช่น เอไอเอประกาศลงทุน 10,500 ล้านบาท เดินหน้าโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ

บรรยากาศงานแถลงข่าวของผู้บริหาร 2 คน คือ มาร์ค ทัคเกอร์ กรรมการอำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เอไอเอ และรอน แวน โอเยน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย พูดเรื่องหลัก 2 ประเด็น เรื่องแรก การลงทุนสร้างตึก ใหม่เพื่อให้เช่า และเรื่องที่สอง การช่วยเหลือ น้ำท่วม

สื่อมวลชนพุ่งเป้าให้ความสนใจประเด็นเรื่องการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเอไอเอ เพราะเอไอเอประกาศสร้างตึกใหม่ด้วยเงินลงทุน 10,500 ล้านบาท จำนวน 2 ตึก ตึกแรกเรียกว่า อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ เป็นอาคารสำนักงาน เชิงพาณิชย์สูง 35 ชั้น ตั้งอยู่ข้างที่ทำการใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย บนถนนรัชดาภิเษก โดยใช้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2557

ส่วนอาคารที่สองเรียกว่า อาคารเอไอเอ สาทร ทาวเวอร์ อาคารสำนักงานพาณิชย์ เงินลงทุน 4,500 ล้านบาท จำนวน 28 ชั้น บริเวณถนนสาทร คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2558 ซึ่งอาคารทั้งสองแห่งจะสร้างภายใต้แนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน

อาคารใหม่ทั้งสองแห่งถือว่าเป็นการลงทุนครั้งแรกในอสังหาริมทรัพย์มูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทยของเอไอเอ และเป็นครั้งแรกที่ลงทุนในฐานะเจ้าของตึก เพราะตึกทั่วไปที่เอไอเอมีอยู่ในปัจจุบันเป็นอาคารเช่าทั้งหมด

อาคารใหม่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เช่า โดยบริษัทจะจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาบริหาร ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้บริษัทคาดหวังว่าจะมีรายได้เพิ่ม และเป็นการกระจายความเสี่ยง

แม้ว่าธุรกิจหลักและรายได้หลักจะมาจากการให้บริการประกันชีวิตที่มีฐานลูกค้า 5 ล้านราย มีส่วนแบ่งการตลาดเป็น อันดับหนึ่งในไทยก็ตาม แต่องค์กรก็พยายามแสวงหารายได้จากส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่นที่ผ่านมาได้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

การแสวงหารายได้เพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงจากรายได้หลักเพียงช่องทางเดียวเป็นนโยบายของกลุ่มเอไอเอในเอเชีย และ เอไอเอ ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของเอไอเอในบริษัทในฮ่องกง และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อเดือนตุลาคม 2553

การปรับตัวของกลุ่มเอไอเอในเอเชียแปซิฟิกที่มีบริษัทหลัก อยู่ใน 14 ประเทศ เกิดขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ กลุ่มเอไอจี สหรัฐ อเมริกาในฐานะผู้ถือหุ้นหลักได้รับผลกระทบจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ จนทำให้ต้องแยกกิจการในส่วนที่ดี ซึ่งก็คือธุรกิจประกันชีวิตเอไอเอออกมาเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ ส่วนเอไอจีก็แก้ไขปัญหาหนี้เสียต่อไป

อย่างไรก็ดี รายได้หลักของเอไอเอในประเทศไทยยังมาจากการประกันชีวิตเป็นหลัก และมองว่ายังมีตลาดอีกจำนวนมาก เพราะจากผลการศึกษาพบว่าร้อยละ 76 ของคนไทย หรือ 48 ล้าน คนยังไม่มีประกันชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจว่าเอไอเอได้โหมโฆษณาผ่านหน้าจอโทรทัศน์เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกประเภท โดยเฉพาะการประกันสุขภาพและประกันชีวิตวัยเกษียณ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.