หมวด 5 ทวิ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

มาตรา 20 ทวิ ในหมวดนี้

"สถาบันการเงิน" หมายความว่า

(1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

(2) บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ และ

(3) สถาบันอื่นที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเงินตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

"กองทุน" หมายความว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

"ผู้จัดการ" หมายความว่า ผู้จัดการกองทุน

มาตรา 29 ตรี ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในธนาคารแห่งประเทศไทยเรียกว่า "กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน" ให้กองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ โดยมี "ฝ่ายจัดการกองทุน" เป็นเจ้าหน้าที่ และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่นๆ

มาตรา 29 จัตวา กองทุนประกอบด้วย

(1) เงินที่ได้รับตามมาตรา 29 เบญจและมาตรา 29 สัตต

(2) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้

(3) เงินและทรัพย์สินอื่นๆ ที่ตกเป็นของกองทุน

(4) ดอกผลของกองทุน

มาตรา 29 เบญจ ให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อัตราดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของยอดเงินฝาก ยอดเงินกู้ยืมหรือยอดเงินที่รับจากประชาชนในแต่ละปีแล้วแต่กรณี ที่สถาบันการเงินแห่งนั้นมีอยู่ ณ วันสิ้นปีการเงินก่อนที่จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด

อัตราตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดให้แตกต่างกันตามประเภทของสถาบันการเงินก็ได้

การคำนวณเงินนำส่งเข้ากองทุน มิให้นำเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่สถาบันการเงินได้รับจากกองทุนมารวมคำนวณเข้าด้วย

ในกรณีที่กองทุนมีเงินและทรัพย์สินเพียงพอที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์แล้ว คณะกรรมการจัดการกองทุนจะประกาศงดการนำส่งเงินเข้ากองทุนก็ได้

มาตรา 29 ฉ สถาบันการเงินใดไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนให้ถูกต้องและครบถ้วนตามมาตรา 29 เบญจ ต้องเสียเงินเพิ่มเป็นจำนวนเงินอีกไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินนั้นนำส่งไม่ครบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด

มาตรา 29 สัตต ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาจัดสรรเงินสำรอง ตามมาตรา 9 ส่งสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนที่เห็นว่าเหมาะสมเป็นคราว ๆ ไป

ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจออกเงินทดรองให้กองทุนไปก่อนได้ตามความจำเป็น แต่กองทุนต้องชำระคืนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด และคณะกรรมการอาจกำหนดให้กองทุนจ่ายค่าตอบแทนสำหรับเงินที่จ่ายทดรองดังกล่าวได้

มาตรา 29 อัฏฐ ให้กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในวัตถุประสงค์ของกองทุนตามมาตรา 29 ตรี และอำนาจเช่นนี้ให้รวมถึง

(1) ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพย์สิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักรตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

(2) ให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงินโดยมีประกันตามควร

(3) ค้ำประกัน หรือรับรอง รับอาวัลหรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงิน

(4)ให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามควรแก่กรณีสำหรับผู้ฝากเงินหรือผู้ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ที่ต้องเสียหายเนื่องจากสถาบันการเงินดังกล่าวประสบวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างร้ายแรง

(5) มีเงินฝากไว้ในสถาบันการเงินตามที่คณะกรรมการจัดการกองทุนเห็นว่าจำเป็นและสมควร

(6) ซื้อหรือเข้าหุ้นในสถาบันการเงิน

(7) ซื้อ ซื้อลดหรือรับช่วงซื้อลดตราสารแสดงสิทธิในหนี้ หรือรับโอนสิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน

(8) กู้หรือยืมเงิน ออกตั๋วเงินและพันธบัตร

(9) ลงทุนเพื่อนำมาซึ่งรายได้ตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดการกองทุน

(10) ทำกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

มาตรา 29 นว ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการจัดการกองทุน" ประกอบด้วยผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการอื่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 9 คน

ให้ผู้จัดการเป็นเลขานุการคณะกรรมการจัดการกองทุน

มาตรา 29 ทศ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.