เซ็นทรัลแล็บ/บ้านของยีสต์แสนล้าน..


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ชื่อที่เรียกกันมักคุ้นในกลุ่มวิจัยเหล่านั้นคือ "เซ็นทรัลแล็บ" ซึ่งที่จริงก็ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ตั้งอยู่ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

เมื่อปี 2515 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการขยายตัวของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่อาจจะขยายตัวออกมาทางด้านการเกษตรโดยตรง โดยการใช้เงินกู้จากธนาคารโลกและงบประมาณแผ่นดิน ก่อสร้างสถานที่แห่งใหม่ขึ้นบนเนื้อที่ทั้งสิ้น 7,841 ไร่ ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม แล้วได้เตรียมย้ายนิสิต, อาจารย์ และบุคลากร รวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ เอามาติดตั้ง เริ่มงานขั้นนี้ในปลายปี 2522 เป็นต้นมา อีกทั้งเพื่อพัฒนาให้เกิดความพร้อมด้านการวิจัย, การบริการและเผยแพร่วิชาการแก่ชุมชน รัฐบาลไทยโดยได้รับความเห็นชอบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการขอความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็ได้ให้ความช่วยเหลือในรูปของเงินให้เปล่าแก่มหาวิทยาลัยในปี 2521 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 130 ล้านบาท สำหรับสร้างอาคารศูนย์ ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ณ วิทยาเขตกำแพงแสน จึงทำให้สถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นที่ทำการของหน่วยบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยทันที ประการที่สำคัญสุดนั้นเห็นจะอยู่ตรงเหตุผลที่ว่า สถานที่แห่งนี้มีบริการด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ ข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตร มีศูนย์ปฏิบัติการวิจัย (เซ็นทรัลแล็บ) เฉพาะอาคารแห่งนี้แห่งเดียวก็ก่อสร้างขึ้นคลุมพื้นที่ทั้งหมด 12,037 ตารางเมตร นับว่ากว้างขวางมากทีเดียว ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยแห่งนี้เปิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2523 นั่นเอง

ที่ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยแห่งนี้ มีหน่วยงานค้นคว้าวิจัยถึง 10 หน่วยด้วยกัน คือ

1. หน่วยธุรกิจและห้องสมุด ให้บริการเกี่ยวกับข้อมูล เอกสารและสิ่งตีพิมพ์ รวมทั้งการประสานงานกับส่วนราชการทั้งภายในและภายนอกศูนย์

2. หน่วยชีวเคมีและห้องปฏิบัติการกลาง ในศูนย์รวมเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และให้บริการกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนและบริการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพืชพันธุ์ด้วย

3. หน่วยทดสอบดินปุ๋ยและการประยุกต์ ให้บริการวิเคราะห์ดิน ปุ๋ย พืช และให้คำแนะนำเกี่ยวกับดิน, การใช้ดิน, ใช้ปุ๋ย รวมทั้งการปรับปรุงดินด้วย

4. หน่วยวิจัยพืชผลหลังการเก็บเกี่ยว ค้นคว้า, วิจัยการถนอมอาหาร, ผลไม้ดอกไม้และผัก รวมทั้งการวิเคราะห์เรื่องน้ำตาลด้วย

5. หน่วยวิจัยและกักตุนศัตรูพืช ตรวจวินิจฉัยโรคและแมลง, ศัตรูพืช มีบริการให้คำแนะนำและการป้องกันกำจัดศัตรูพืช

6. หน่วยเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพให้ตรงตามพันธุ์ รวมทั้งปรับปรุงพืชโดยการผสมพันธุ์และวิจัยอื่น ๆ

7. หน่วยวิจัยสภาพแวดล้อม บริการตรวจสอบน้ำ บริการวิเคราะห์หาค่า C O D และ B O D ของน้ำ ทำการวิจัยเรื่องสารเคมีในน้ำและสารพิษที่เจือปนอยู่ในน้ำ

8. หน่วยวิเคราะห์ข้อมูล ให้บริการใช้เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์หาค่าทางตัวเลข และจัดพิมพ์รายการเครื่องมือส่งให้ศูนย์

9. หน่วยเรือนปลูกพืชทดลอง วิจัยและบริการงานวิจัยพืชในเรือนปลูกพืชทดลอง ศึกษาและปรับปรุงการปลูกพืชเศรษฐกิจในสภาพวัสดุที่ต่างกัน

10. หน่วยจุลชีววิทยาประยุกต์ ทำการวิจัยเกี่ยวกับจุลินทรีย์เพื่อปรับปรุงในด้านการเกษตรและด้านอุตสาหกรรม ปรับปรุงการผลิตแอลกอฮอล์เพื่อทำเป็นเชื้อเพลิง ปรับปรุงสายพันธุ์ของยีสต์ ให้บริการตรวจหาน้ำตาลและการผลิตแอลกอฮอล์จากพืชพลังงาน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.