NEW GENERATION อยากให้ปิยะบุตร-เศรณี-กรพจน์ จับมือกัน


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

สหธนาคารเป็นธนาคารที่เหลือไม่กี่แห่งที่บริหารงานโดย GENERATION เดียว

เหตุผลหนึ่งที่น่ากล่าวถึง คือ บรรเจิด ชลวิจารณ์ และชำนาญ เพ็ญชาติ ผู้ถือหุ้นใหญ่ (ที่มีเหตุผลชอบธรรม) บริหารธนาคารนี้ปัจจุบันทายาทของตระกูลอายุน้อยเกินไป

ขณะที่บรรเจิดอายุ 72 ปี บุตรชายคนแรก-ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ เพิ่งอายุ 36 ปี ชำนาญก็เช่นกันอายุเกือบ 60 ปี แต่เศรณี เพ็ญชาติ ลูกชาย เพิ่งมีอายุประมาณ 30 ปีเท่านั้น

ที่เป็นกฎอันหนึ่งของธุรกิจในประเทศด้อยพัฒนาอย่างประเทศเราต้องเผชิญปัญหาการต่อเนื่องการบริหารงาน ยิ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่นิยม PROFESSIONAL MANAGER ด้วยแล้ว ก็จะเป็นอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

สหธนาคารมีข้อน่าจะยกไว้นิดหนึ่ง ที่บรรเจิดยังทรงพลังแรงงานและสมองบริหารธนาคารอย่างน่ายกย่องทีเดียวในช่วงที่ผ่านมา แต่ทุกวันนี้ย่อมคิดถึงปัญหานี้เหมือนกัน

“ผู้จัดการ” ขอละออกจากวังวนความขัดแย้งระหว่างชลวิจารณ์-เพ็ญชาติ และอัศวินวิจิตรออกไป โดยกล้าคาดการณ์ว่า ผู้บริหารธนาคารแห่งนี้ต่อจากนี้น่าจะได้แก่ ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ เศรณี เพ็ญชาติ และกรพจน์ อัศวินวิจิตร ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด 3 กลุ่มแรก

ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ บุตรชายคนโตของบรรเจิด ชลวิจารณ์ ดูจะได้เปรียบคนอื่น ๆ ตรงที่มีประสบการณ์ทำงานที่ธนาคารนี้มานาน ปัจจุบันเป็นคนหนุ่มคนเดียวของธนาคารนี้ที่ก้าวเป็นผู้บริหารระดับสูง

ปิยะบุตรจบการศึกษาปริญญาตรีและโททางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินและโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ตามลำดับ เมื่อเขามาทำงานที่สหธนาคาร ซึ่งบิดาเป็นผู้บริหารสูงสุด โดยใช้เวลาเพียง 8 ปีเท่านั้น (เช่นเดียวกับแบงก์ลักษณะครอบครัวอยู่ทั่วไป) ก็ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการ และผู้อำนวยการกิจการสาขาพร้อมทั้งดูแลกิจการด้านสินเชื่อและหลักทรัพย์ด้วย

งานที่ปิยะบุตรรับผิดชอบถือเป็นหัวใจของธนาคารทีเดียว!

จากครอบครัวที่มีระเบียบวินัยประกอบกับการทำงานที่บิดา-บรรเจิด ชลวิจารณ์ ดูแลอย่างใกล้ชิด ปิยะบุตรจึงค่อนข้าง “ถอดแบบ” จากบิดา “เขาเป็นคนรอบคอบ สุขุมเกินวัย มีปัญหาอะไรก็วิ่งถึงพ่อทันที” พนักงานสหธนาคารกล่าวถึงสไตล์การทำงานของปิยะบุตร

ปิยะบุตรเป็นคนเรียบ ๆ ไม่หวือหวา “คุณบรรเจิดฝึกลูกชายคนนี้ดีมาก ผมว่าเขาเหมาะนะ ทำงานด้านสินเชื่อและกิจการสาขาในยุคปัจจุบัน รอบคอบ ละเอียด เป็นงาน ถือเป็นมืออาชีพคนหนึ่ง” นายธนาคารคนหนึ่งกล่าว

เศรณี เพ็ญชาติ บุตรชายคนโตของชำนาญ เพ็ญชาติ การศึกษาไม่น้อยหน้าปิยะบุตร จนปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์การเงิน มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น สหรัฐฯ ไปเป็นทหารเสียหลายปี พอได้ยศร้อยเอกก็ลาออกมา เข้าทำงานที่สหธนาคารตามคำขอร้องของบิดา

ทำงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2526 ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ ว่ากันว่าพอเศรณีเข้ามา เค้าของความขัดแย้งก็เริ่มก่อตัวขึ้น

ห้วงเวลาที่ความขัดแย้งประทุขึ้นบางกระแสข่าวระบุว่า ที่มาคือ “ความไม่พอใจของเศรณี” พอควันจางสหธนาคารก็ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา สำนักบริหารการเงิน โดยที่เศรณีเข้าสวมตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักนี้ทันทีเมื่อเดือนตุลาคม 2528

พูดกันทีเล่นทีจริงว่า ตำแหน่งที่เศรณีได้มาเพราะแสดงฝีมือให้เห็นโดยยืมเวทีที่ธนาคารแหลมทอง

เศรณีเป็นตัวแทนซุมม่ากรุ๊ฟแห่งอินโดนีเซียในประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการ ในช่วงเวลาที่สุระ-สมบูรณ์ระเบิดศึกแย่งหุ้นในธนาคารแหลมทองนั้น เศรณีก็เข้าพบ สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการจัดการธนาคารนั้นเพื่อเจรจาขอซื้อหุ้นในนามของซุมม่ากรุ๊ฟ จนสามารถซื้อได้จำนวนหนึ่ง

“เรื่องมาแดงทีหลังว่า คุณเศรณีเป็นตัวแทนของสุระนั่นเอง”

แหล่งข่าวบางกระแสระบุว่า เศรณีก็คือกุนซือของสุระ จันทร์ศรีชวาลานั่นเอง

พอดีช่วงนั้นศึกที่สหธนาคารพักรบชั่วคราว เศรณีคงจะเหงาจึงมาฝึกวิทยายุทธ์ที่ธนาคารแหลมทอง

ดังนั้นจึงเหมาะอย่างยิ่งในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารการเงิน และในอนาคตเขาก็น่าจะได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศด้วย

กรพจน์ อัศวินวิจิตร ลูกชายคนที่สองของอวยชัย อัศวินวิจิตร กรรมการสหธนาคารคนล่าสุด เขาเป็นพ่อค้าเต็มตัวตั้งแต่เรียนเศรษฐศาสตร์ (ภาคค่ำ) ที่ธรรมศาสตร์ ประสบการณ์ทางการค้าต่างประเทศของเขายากที่จะหาคนหนุ่มรุ่นเดียวกันทาบได้

“ในบรรดา YOUNG GENERATION ของผู้ส่งออกข้าวนั้น ลูกชายคุณอวยชัยนี่เก่งมากคนหนึ่ง” ผู้ส่งออกข้าวคร่ำหวอดคนหนึ่งบอก “ผู้จัดการ” และอรรถาธิบายต่อไปว่า “วงการส่งออกข้าวมีปัญหาผู้สืบทอดกิจการมากทีเดียว หลายรายลดบทบาทหรือแทบจะเลิกกิจการค้าไปเลยเพราะไม่มีทายาท แต่คุณอวยชัยเขาเก่ง”

ครั้นเมื่อกรพจน์ข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษา MBA ที่ SOUTHERN CALIFORNIA UNIVERSITY เวลา 3 ปี ทำให้เขาเปลี่ยนแนวคิดพอสมควร อาจจะเป็นได้ว่าสาขาการเงินการคลังที่ร่ำเรียนมาครอบครัว “อัศวินวิจิตร” จึงจัดวางบทบาทของเขาต่อมาและในอนาคตว่ากรพจน์จะเป็น “หัวหอก” ที่คุมกิจการด้าน FINANCE และ INSURANCE ของอัศวินวิจิตร ที่พุ่งเป้า DIVERSIFIED อย่างเต็มตัว ขณะที่เขากำลังฝึกวิทยายุทธ์ที่บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต

หากในอนาคตอันใกล้กรพจน์เข้ามามีตำแหน่งในสหธนาคาร ผู้อำนวยการฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับด้านการตลาด ด้าน TRADE FINANCING น่าจะเป็นของเขา

“ผู้จัดการ” ขอสรุปไว้ตอนนี้ว่าหาก 3 แรงแข็งขันนี้ผนึกกันได้ ในอนาคตสหธนาคารน่าจะสดใสกว่าตอนนี้

ทว่าการ “จับแพะชนแกะ” ครั้งนี้ “ผู้จัดการ” เกรงว่าจะเป็นไปไม่ได้ ไม่มีพื้นฐานความเป็นจริงรองรับ ว่ากันว่า “ความขัดแย้ง” ที่แท้ของสหธนาคารที่คุกรุ่นเวลานี้ก็เกิดจาก NEW GENERATION นี่เอง

ก็นับว่าเป็นความ “โชคร้าย” ของสหธนาคาร!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.