|
ชมบ้านสวยทุกรายละเอียด
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังอยู่บ้านในโครงการบนเนื้อที่ 5 เอเคอร์มานานถึง 10 ปี Rhonda กับ Graham Colvin จึงตัดสินใจสร้างบ้านสไตล์อังกฤษทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของซิดนีย์ Rhonda ย้ำเสียงหนักแน่นว่า
“ดิฉันรู้ความต้องการของตัวเองดีว่าอยากได้บ้านสไตล์คันทรี ที่ผสมผสานกันระหว่างสไตล์อังกฤษกับออสเตรเลีย”
แต่สถาปนิกเป็นคนโน้มน้าว ให้พวกเขาเบี่ยงเบนจากแนวคิดเดิม เหตุผลหลักคือเงินทุนน้อยเกินไป แม้ทั้งคู่จะยอมเชื่อคำแนะนำนั้น แต่ Rhonda ไม่ยอมวางมือง่ายๆ เธอเข้าไปมีส่วนในขั้นตอนการออกแบบเพื่อให้ได้ทุกอย่างตามต้องการ ตอนนี้เธอเชื่อมั่นว่า หากปราศจากแรงผลักดันและแนวคิดของเธอ บ้านหลังนี้ต้องเป็น “บ้านที่แสนจะธรรมดา” อย่างแน่นอน
ผู้มาเยือนทุกคนต่างยอมรับ ว่า บ้านขนาด 3 ห้องนอน 2 ห้อง น้ำหลังนี้ เหมือนถอดแบบจากบ้านชนบทอังกฤษอย่างไม่ผิดเพี้ยน ที่สำคัญ แลดูเหมือนเป็นบ้านเก่าแก่ที่มีอายุกว่าศตวรรษด้วยซ้ำ
การที่ Rhonda หลงใหลบ้านคันทรีสไตล์อังกฤษ เป็นผลพวง จากความรักในประวัติศาสตร์อังกฤษนั่นเอง
“ดิฉันโปรดปรานประวัติศาสตร์ยุคกลางเป็นพิเศษ คุณจะเห็นว่าบนชั้นมีหนังสือประเภทนี้เยอะแยะไปหมด ดิฉันหลงใหลได้ปลื้มกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นประวัติศาสตร์อังกฤษ โดยเฉพาะยุค Tudor”
ทั้งเครื่องใช้และเครื่องแต่งบ้าน เช่น หมอนอิงลายสุนัขพันธุ์บูลด็อกของอังกฤษ พรมผนังรูปการล่าสัตว์ในห้องนั่งเล่นและ อ่างล้างจานจากเมืองเบลฟาสต์ ประเทศอังกฤษ คือสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เธอยังศึกษาจากนิตยสารบ้านคันทรีของอังกฤษมากมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ทั้งยังนำรูปถ่ายและ บทความที่เก็บสะสมไว้หลายปีมาให้สถาปนิกและช่างฝีมือเรียนรู้ เพราะพวกเขายอมรับว่า ไม่คุ้นเคยกับแนวคิดบางอย่างที่เธอต้องการให้ทำ
อย่างไรก็ตาม Rhonda เรียนรู้ว่า การพึ่งรูปจากนิตยสารเพียงอย่างเดียวก็มีข้อเสียเหมือนกัน โดยเฉพาะรูปจากนิตยสารอังกฤษเล่มหนึ่งซึ่งเธอเห็นว่า เป็นตัวอย่างห้องครัวสไตล์คันทรีอย่างสมบูรณ์แบบแต่มันเกือบทำให้งานออกแบบห้องครัวล้มเหลว เพราะเมื่ออธิบายให้ช่างไม้ฟังเกี่ยวกับตู้ในห้องครัวแล้ว เธอก็ส่งรูป ในนิตยสารให้ดูเป็นตัวอย่าง แต่เมื่องานแล้วเสร็จ Rhonda แทบลมใส่ เพราะตู้สีครีม (buttery cream) ที่เธออยากได้กลายเป็นสีเหลืองอ่อน (canary yellow) ที่แสนจะน่าเกลียดในสายตาของเธอ เพราะปัญหาเฉดสีในรูปผิดเพี้ยนนั่นเอง ต้องเสียเวลาแก้ไขอีกพักใหญ่
ส่วนเตาซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สุดในห้องครัว สองสามีภรรยาเลือกติดตั้งเตา Belling นำเข้าจากอังกฤษ เพื่อให้แลดูเหมือนครัวในบ้านฟาร์มเฮาส์ของนักล่าสัตว์ยุคโบราณ เมื่อปูกระเบื้องสีขาว โดยรอบแล้ว ยิ่งสะท้อนให้เสน่ห์ของความเก่าแก่โดดเด่นขึ้นอีกมาก จากรสนิยมของเจ้าบ้าน ทำให้คาด หมายได้ว่า ของเก่าต้องมีบทบาทในงานตกแต่งอย่างมาก หากพวกเขาหาของดั้งเดิมไม่ได้ก็ใช้วิธีผลิตขึ้นใหม่ เช่น เตียงโลหะขนาดใหญ่ พิเศษในห้องนอนใหญ่ ซึ่งเป็นเตียง แบบโบราณที่สั่งทำใหม่และถูกใจเจ้าของอย่างมาก
สำหรับห้องรับประทานอาหาร ทั้งคู่เลือกนำของเก่าและใหม่มาผสมผสานกันได้อย่างน่าทึ่ง โดยโต๊ะอาหารแบบฟาร์มเฮาส์ที่สั่งทำขึ้นใหม่โดยใช้ไม้รีไซเคิลนั้น แลดูสวยสง่าเข้าชุดกับเก้าอี้ American spindle-back 6 ตัวซึ่งเป็นของเก่าได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ส่วนหน้าต่างกระจกบานใหญ่ในห้องน้ำใหญ่ พวกเขาได้จากร้านขายของทอดตลาด ที่สำคัญ เมื่อติดตั้งแล้วยังไม่คิดติดม่านด้วยซ้ำ เพราะตัวบ้านสร้างบนเนื้อที่กว้างใหญ่เสียจนไม่ต้องกังวลว่าจะมีคนนอกมาละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ เพราะสามีกับลูกสาวของ Rhonda ทำธุรกิจผสมพันธุ์ม้าและเป็นนักขี่ม้าตัวยง คอกม้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น นั่นหมายความว่า พวกเขาต้องติดตั้งหน้าต่างบานพับในคอกม้าจำนวนมากด้วย Rhonda เล่าว่า
“ดิฉันถึงกับอ้าปากค้างเมื่อรู้ค่าใช้จ่ายที่ต้องติดตั้งหน้าต่างใหม่ ทั้งหมด เลยตัดสินใจประหยัดด้วยการใช้หน้าต่างรีไซเคิลแทน แล้วก็โชคดีที่มีแหล่งขายหน้าต่างบานพับนับร้อยๆ บาน”
ดังนั้น เมื่อเดินดูทั่วบ้านจึงได้เห็นทั้งหน้าต่างและไม้ “รีไซเคิล” มากมาย ตัวอย่างคือไม้ปูพื้น ซึ่งเจ้าของเล่าว่า หาแผ่นกระดานเก่าความยาว 200 เมตรยากมาก แต่ช่วงนาทีสุดท้ายก่อนถึงเส้นตายที่กำหนดว่าต้องเริ่มงานปูพื้น มีโทรศัพท์แจ้งข่าวดีว่า พบไม้เก่าแก่อายุกว่า 100 ปี คุณสมบัติครบตามความต้องการแล้ว เป็นไม้จากที่ทำ การไปรษณีย์ Surry Hills ซึ่งเก่าแก่มากแต่ไม้ก็เลอะยางไม้เป็นด่างดวงเต็มไปหมด เมื่อจ้างช่างถูกระดาษทรายและขัดเงาเรียบร้อยแล้ว Rhonda มีความสุขมากเมื่อช่างบอกว่า “มันเป็นพื้นไม้คุณภาพดีที่สุด เท่าที่เคยพบ”
Rhonda ยืนยันว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เธอไม่คิดเปลี่ยนแปลงอะไรแม้สักอย่างเดียว
“ต้องยอมรับว่า เวลานั้นมีหลายครั้งเหมือนกันที่ดิฉันเฝ้าถามตัวเองว่า นี่เรากำลังทำอะไรอยู่นะ เพราะมันใช้เวลาถึงหนึ่งปีเต็ม แต่ผลที่ได้ล้ำค่าเกินความทุ่มเททั้งในแง่เวลา ความวิตกกังวล และค่าใช้จ่าย ดิฉันมีความสุขกับโครงการนี้มาก โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทุกขั้นตอน เพราะในที่สุดแล้วเมื่อรวมสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทำให้เราได้ภาพรวมที่สร้างความประทับใจให้ไม่รู้ลืม คำพูดที่ว่า “ฉันน่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้” จึงไม่เคยอยู่ในความคิดของดิฉันแม้แต่น้อย”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|