ว่าด้วยเรื่อง “แปดริ้ว”

โดย ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดในภาคกลางที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงและลำคลองต่างๆ

เมื่อพูดถึงหลวงพ่อโสธร พุทธศาสนิกชนจะรับรู้ในเรื่องการแสดงอภินิหารให้ปรากฏ ขอให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ดลบันดาลให้คนเจ็บไข้ไม่สบายหายจากอาการป่วย พวกที่ไม่มีบุตร มีบุตรยาก พากันไปนมัสการขอให้มีบุตร แม้แต่เหล่าบรรดาผู้แสวงโชคลาภ ก็จะได้รับความสำเร็จสมตามคำอธิษฐานไว้แทบทั้งสิ้น

องค์หลวงพ่อพระพุทธโสธรมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ทั้งหมด 16 องค์ในรูปปั้นของท่าน ตามคำบอกเล่าของหลวงพ่อเจริญ วัดป่ามะม่วง

หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เสริมแต่งจากเดิมโดยการพอกปูนลงรักปิดทองปางสมาธิเพชร ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิพระชงขวาทับพระชงซ้าย พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายวางซ้อนกันอยู่บนเพระเพลา กว้าง 3 ศอก 5 นิ้ว พระเนตรเนื้อเลียนแบบพระสมัยล้านช้าง ได้บูรณะหรือสร้างขึ้นปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือต้นรัตนโกสินทร์ ประวัติการสร้างโดยใคร ปีไหน ไม่มีหลักฐาน เพียงแต่มีเรื่องเล่ากันต่อมาว่า

มีพระภิกษุ 3 รูป ในแถบ จังหวัดทางภาคเหนือ ร่ำเรียนพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ได้จำแลงกายเป็นพระพุทธรูปลอยมาตามลำน้ำ เมื่อมาถึงบริเวณหนึ่งได้ปรากฏองค์ขึ้น ชาวบ้านที่ ได้พบเห็นจึงช่วยกันนำเชือกเพื่อฉุดขึ้นแต่ไม่สามารถนำขึ้นมาได้ พระทั้งสามองค์จึงจมหายไปบริเวณนี้คือสัมปทวน (สามพระทวน)

ต่อมาได้ผุดขึ้นที่คลองคุ้ง (บางพระ) ชาวบ้านพยายามช่วยกันนำขึ้นแต่ก็ไม่สำเร็จ

หลังจากนั้นพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ได้สำแดงอภินิหารในบริเวณที่เรียกว่าแหลมลอยวนอีก จนกระทั่งองค์หนึ่งได้ลอยไปจนถึงแม่น้ำแม่กลอง และปรากฏองค์ขึ้นที่สมุทรสงคราม ชาวประมงแถบนั้นพร้อมใจกันอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่นับถือ ของประชาชนโดยถ้วนหน้าได้รับการขนานนามว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม”

องค์ที่ 2 ลอยวนเวียนและมาผุดขึ้นที่หน้าวัดหงษ์ เหตุที่ชื่อ วัดหงษ์ ด้วยเหตุว่าวัดนี้เดิมมีเสาใหญ่ที่มีรูปหงษ์อยู่บนยอด ต่อมา เสาหักเสียหายชำรุดจึงนำธงไปติดไว้ จึงชื่อวัดเสาธงในเวลาต่อมา ครั้งเมื่อมีพายุหนักเสาหักลงมาส่วนหนึ่งจึงชื่อ “วัดเสาทอน” และกลายเป็นวัดโสธร ประชาชนได้พากันอาราธนาและฉุดขึ้นฝั่งในที่สุดแต่ไม่สำเร็จ

จนมีอาจารย์ผู้รู้สำเร็จไสยศาสตร์ได้ทำพิธีปลูกศาลเพียงตา บวงสรวง กล่าวคำอัญเชิญชุมนุมเทวดา อาราธนา ใช้สายสิญจน์คล้องที่พระหัตถ์พระพุทธรูปจนขึ้นมาบนฝั่งได้สำเร็จ และอัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ที่วัดโสธรแต่นั้นมา

องค์ที่ 3 ลอยไปในแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวกันว่า ณ บริเวณ นั้นมีชาวบ้านถึง 3 แสนคน เพี้ยนเป็นสามเสนในทุกวันนี้

พระพุทธรูปองค์นี้ได้ไปผุดขึ้นที่คลองสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ประชาชนได้อาราธนานำขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลีใหญ่ ใน “หลวงพ่อโต” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มากอีกรูปหนึ่ง

พระอุโบสถหลังใหม่ของวัดโสธร ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2530 ลักษณะพระอุโบสถเป็นแบบรัตนโกสินทร์ประยุกต์ ประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จริง

แต่เดิมนั้นหลวงพ่อพุทธโสธรประทับอยู่ในโบสถ์ที่มีขนาดเล็กร่วมกับพระพุทธรูปอื่นๆ อีกจำนวน 18 องค์ เมื่อปี พ.ศ.2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนิน มาที่วัดแห่งนี้และทรงมีราชปรารถถึงความคับแคบของพระอุโบสถ พระจิรปุณโญ อดีตเจ้าอาวาสจึงได้รวบรวมเงินบริจาคสำหรับการก่อสร้างพระอุโบสถ

พระอุโบสถหลังใหม่สร้างครอบพระอุโบสถหลังเดิมด้วย เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อ โสธรและพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน การสร้าง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ.2531 และทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำน้ำหนัก 7 กก. ประดิษฐานเหนือยอดมณฑป เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2539

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงตัดลูกนิมิต เมื่อ 30 สิงหาคม 2549

ศิลปะภายในพระอุโบสถประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยรอบ ในเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์ เป็นเรื่องราวสีทันดรมหาสมุทร จตุโลกบาล สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรหมโลก ดวงดาวและ จักรวาล โดยตำแหน่งดวงดาวของเพดานกำหนดตำแหน่งตรงกับวันที่ 5 กันยายน 2539 เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ

ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดในภาคกลางที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยพระบรมไตร โลกนาถ ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งถิ่น ฐานบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงและลำคลองต่างๆ

คำว่า “ฉะเชิงเทรา” เป็นภาษาเขมร คลองลึก ส่วนที่เรียกกัน ว่าเมืองแปดริ้วนั้น มีคำบอกกล่าวกันมาว่า มีปลาช่อนขนาดใหญ่ชุกชุม เมื่อนำมาตากทำเป็นปลาแห้ง จะต้องแล่เนื้อปลาถึง 8 ริ้ว

พื้นที่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ถือได้ว่าชาวบ้านในแต่ละชุมชนได้มีส่วนในการอนุรักษ์บ้านเรือนเก่า ซึ่งยังมีความสวยงามเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งวิถีชีวิตในชุมชนที่มีมนต์เสน่ห์เฉพาะแต่ละท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทางวัฒนธรรมที่ยังมีให้ไปสัมผัสแล้วท่องเที่ยว สร้างความเข้มแข็ง ให้กับชุมชน โดยไม่ต้องพึ่งพาชุมชนภายนอกเป็นการสร้างงานให้ผู้คนในท้องถิ่นโดยออกมาในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ถือว่าเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ตลาดบ้านใหม่ ตลาดร้อยปียังมีชีวิต ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน ในอดีตสถานที่แห่งนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มีอาชีพค้าขาย เป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้า

เมื่อปี พ.ศ.2547 ชุมชนบ้านใหม่ได้ร่วมมือกันฟื้นฟูตลาดชุมชนซึ่งมีอายุกว่า 100 ปี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิตย้อนยุค รวมอาหารอร่อยเมนูแบบโบราณ ทั้งปรับปรุงอาคารบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพที่ดี

ตลาดบ้านใหม่เป็นชุมชนเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นตลาดริมน้ำที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก

แม้ว่าวันเวลาจะผ่านล่วงเลยมากว่า 100 ปี แต่ตลาดริมน้ำ แห่งนี้ยังคงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาคารห้องแถวยังคงสภาพเหมือน เดิมกว่า 60 ห้อง เป็นบ้านไม้แบบโบราณ ประตูไม้บานพับมีช่องทางเดินตรงกลาง โดยหน้าบ้านจะหันหน้าเข้าหากัน ผู้คนรุ่นเก่ายังคงอยู่อาศัย ซึ่งยังคงรักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้อย่างน่ายกย่อง เป็นการบอกเรื่องราวในอดีตแก่ผู้มาเยือนได้อย่างดียิ่ง

ตลาดย้อนยุคอีกแห่งของจังหวัดฉะเชิงเทราที่น่าไปเยือน คือตลาดเก่าที่รอยต่อสองจังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ ตลาดคลองสวนร้อยปี ตั้งอยู่ริมคลองประเวศบุรีรมย์ ในพื้นที่ตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นตลาดเก่าแก่มาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่

ในอดีตคลองสวนเป็นเส้นทางสำหรับการเดินทางไปกรุงเทพฯ จากประตูน้ำท่าถั่ว จังหวัดฉะเชิงเทรา แล่นผ่านตลาดคลองสวนก่อนจะแล่นเข้าสู่ประตูน้ำ (วังสระปทุม) กรุงเทพฯ

วิถีชุมชนทั้งชาวไทยจีน ชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิม ล้วนมีวัฒนธรรมที่ผสมผสานอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยดูจากโรงเจ วัด หรือสุเหร่าที่ตั้งอยู่เคียงข้างกัน เป็นแหล่งนัดพบของผู้คน ทั้งคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติในร้านกาแฟ จะได้ชื่นชมบรรยากาศวิถีชีวิตร่วมสมัยย้อนยุคกว่า 100 ปี สูตรอาหารเฉพาะกาแฟโบราณ ดั้งเดิมของเก่าและสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า

สำหรับตลาดน้ำบางคล้า มีลักษณะเด่น เป็นเมืองสองน้ำอันเกิดจากการรุกล้ำของน้ำทะเล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับ ความเค็มของน้ำในแม่น้ำแถบนี้ตลอดมา จึงมีระบบนิเวศทั้งน้ำจืด และน้ำกร่อย มีพื้นที่ส่วนใหญ่ติดริมแม่น้ำบางปะกง ชาวบ้านจึงมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำมาตลอด ชีวิตและยาวนาน ตัวตลาดอยู่ในโป๊ะริมน้ำ

เมื่อผ่านเข้ามายังตัวอำเภอบางคล้า สิ่งที่ควรไปชมคือค้างคาวแม่ไก่ที่วัดโพธิ์

ริมฟากสองฝั่งแม่น้ำบางปะกงมีความสวยงามเป็นธรรมชาติที่น่าชม แม้แต่ผู้ประพันธ์เพลงยังนำไปพร่ำพรรณนาถึงความสวยงามเมื่อยามได้ยล เป็นบทร้องที่ร้องแล้วมองเห็นมโนภาพ อยากไปสัมผัสให้เห็นกับตาของตัวเองทีเดียว

การล่องเรือชมลำน้ำบางปะกง เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจในการชื่นชมธรรมชาติ ประวัติศาสตร์แห่งลุ่มน้ำบางปะกง โดยเริ่มล่องจากท่าน้ำหน้าวัดโสธรวรารามวรวิหาร ผ่านตัวเมืองฉะเชิงเทรา ดูบ้านเรือน ทิวทัศน์ของฝั่งแม่น้ำ บ้านเรือนที่ยังคงสภาพอยู่อย่างไทย อาคารไม้สักที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด ตำหนักกรม ขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ แนวกำแพงเมืองโบราณ ศาลากลางเก่า วัดวา อาราม เรือนแพ โดยไปขึ้นฝั่งที่ตลาดบ้านใหม่ แวะสักการะเทพเจ้าแห่งโชคลาภที่วัดจีนประชาสโมสร

“วัดเมือง” เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2377 พร้อมๆ กับการสร้างป้อมและกำแพงเมือง โดยช่างฝีมือจากเมืองหลวง มีรูปแบบสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับพระปรางค์วัดพระ ศรีรัตนศาสดารามต่างกันในรายละเอียดเท่านั้น

เจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ ประดิษฐานอยู่ที่สมาคมสงเคราะห์ การกุศลเป็นรูปยืน องค์ลอย ทำจากซีนีดา ด้านในหล่อ เต็มองค์ เนื้อองค์สีออกเหลือง ในมือเจ้าแม่กวนอิมถือคัมภีร์ เรียกว่า “ปางถือ คัมภีร์” โปรดสั่งสอนมนุษย์ ทุกชนชั้นวรรณะ มีผู้พบลอยน้ำมาติดฝั่งบริเวณข้าม สะพานแม่น้ำบางปะกง เมื่อ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 ชาวแปดริ้วได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้

วัดอุทัยภาติการาม (วัดซำปอกง) เดิมคือวัดจีน ปัจจุบันแปรสภาพเป็นวัดญวนในลัทธิมหายาน วิหารมีลักษณะเหมือนศาลเจ้า เป็นที่ประดิษฐานพระไตรรัตนนายก “เจ้าพ่อซำปอกง” หรือ “หลวงพ่อโต”

วัดจีนประชาสโมสร หรือวัดเล่งฮกยี่ เป็นวัดจีนลัทธิมหายาน สร้างเมื่อ พ.ศ.2449 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

คำว่า “ฮก” แปลว่า วาสนา โชคลาภ ความมั่งมีศรีสุข

“เล่ง” หมายถึง มังกร มังกรแห่งโชค วาสนา

ตามหลักฮวงจุ้ยจีนกล่าวว่า วัดนี้ถือเป็นตำแหน่งท้องมังกร หัวมังกร อยู่ที่วัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพฯ ส่วนหางมังกรอยู่ที่วัดเล่งฮั่วยี จังหวัดจันทบุรี

ทั้งสามตำแหน่งของมังกรพาดผ่านดินแดนของความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ เยาวราชเป็นดินแดนแห่งการค้าขาย ฉะเชิงเทราเป็นแหล่งความสมบูรณ์พืชพันธุ์ ธัญญาหาร และจังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งอัญมณีอันมีค่า

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ท้าวจัตุโลกบาลขนาดใหญ่ 4 องค์ ทำจากกระดาษที่ประตูทางเข้า พระประธาน 1 องค์ และองค์ 18 อรหันต์ทำด้วยกระดาษนำมาจากเมืองจีน รูปหล่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภ

ระฆังใบใหญ่น้ำหนักกว่า 1 ตัน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ใบในโลก ที่รอบระฆังมีอักษรมหาปรัญชาปกรมิตราสูตร ถือกันว่าผู้ใดได้ตีระฆังก็เหมือนกับการสวดมนต์ที่ได้บุญกุศล

วัดพยัคฆอินทาราม (วัดเจดีย์) จากหลักฐานจารึกแผ่นเงิน ที่พบตรงรอยแตกตรงคอระฆังของเจดีย์องค์ใหญ่ ทำให้ทราบว่าสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 โดยปลัดเมืองฉะเชิงเทรากับภรรยา พระเกรียงไกรขบวนยุทธกับยายอิน โดยเริ่มสร้างเจดีย์เมื่อ พ.ศ.2416 และวัดนั้นสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2429 เป็นวัดเก่าแก่ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ 23 กันยายน 2524

สิ่งที่ควรค่าแก่การชื่นชม เจดีย์องค์ใหญ่ เจดีย์องค์เล็ก อุโบสถและหอระฆัง วิหารพระพุทธบาท

วัดสัมปทวนนอก สร้างขึ้นปลายสมัยกรุงธนบุรี มีพระอุโบสถ ที่มีลายปูนปั้นอยู่บนชายคาระเบียงโบสถ์ แสดงภาพพระเวสสันดร ชาดก อีกด้านเป็นการแสดงภาพวิถีชีวิตของชาวแปดริ้วในอดีตหน้าวัดมีหอพระที่งดงาม

แม่น้ำบางปะกง เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งที่ไหลลงสู่อ่าวไทยทางด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีต้นกำเนิดจากแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำปราจีนบุรี ที่ไหลมาบรรจบกันที่บริเวณตำบล บางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ความยาวตลอดลำแม่น้ำประมาณ 122 กม.

เมื่อเริ่มเข้าฤดูฝน หลังเดือนเมษายน ปริมาณน้ำในแม่น้ำบางปะกงจะสูงขึ้นจนถึงเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นปริมาณน้ำจะน้อยลง และน้อยมากที่สุดในเดือนธันวาคม

ลุ่มน้ำบางปะกง มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 7,978 ตร.กม. ครอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และชลบุรี แบ่งออกเป็น 4 ลุ่มน้ำย่อย คือแม่น้ำนครนายก คลองท่าลาด คลองหลวง และแม่น้ำบางปะกง สายหลัก อันเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวไร่ชาวสวนอย่างเหลือคณานับ

การล่องเรือชมปลาโลมาบริเวณตำบลท่าข้าม อำเภอบาง ปะกง ปลาโลมาจากอ่าวไทยจะตามแหล่งอาหารเข้ามาหากิน เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน-มกราคมของทุกปี บริเวณนี้จะมีปลาดุกทะเลเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นอาหารโปรดของโลมา

ปลาโลมาจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ 60-80 ตัว พร้อมผสมพันธุ์ จะกระโดดขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำพร้อมๆ กันครั้งละ 3-4 ตัว

พันธุ์ปลาโลมาที่พบมากบริเวณนี้คือโลมาอิรวดี (หัวบาตรหลังสีครีม) โลมาหลังโหนก (โลมาปากขวดหรือโลมาเผือก)

นอกจากชื่นชมปลาโลมาแล้ว ยังได้เห็นป่าชายเลนอันเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์และนกนานาชนิด นกแสก นกกระยาง นกกาน้ำ นกนางนวล นกกระเต็น ลิงแสม ค้างคาวแม่ไก่

ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่ปลูกมะม่วงมากที่สุดกว่า 86,000 ไร่ อำเภอที่ปลูกมาก ได้แก่ บางคล้า และแปลงยาว สำหรับมะม่วงที่นิยมปลูกได้แก่ เขียวเสวย แรด ทองดำ เจ้าคุณทิพย์ น้ำดอกไม้

คนในสมัยก่อนจะมีข้าวเหนียวมูนรับประทานกับมะม่วงสุก จะมีเฉพาะฤดูกาล ยิ่งตำรับชาววังด้วยแล้ว มะม่วงที่จะใช้ทานกับข้าวเหนียวมูนจะต้องเป็นมะม่วงอกร่องเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีมะม่วงให้รับประทานตลอดทั้งปี โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้ เป็นมะม่วงที่นิยมรับประทานสุก เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก เพราะเจริญเติบโตเร็ว ทรงพุ่มโปร่ง ออกดอกทะวาย ดอกดก ออกดอกง่าย สามารถบังคับให้ออกนอกฤดูกาล ติดผลปานกลาง ผลมีขนาด ใหญ่ ให้ผลทุกปี ผลอ่อนเกือบกลม หัวใหญ่ปลายแหลม ผลค่อนข้างยาว เนื้อมาก ผิวบาง เมล็ดเล็ก ผลดิบสีเขียวนวล เนื้อแน่น รสเปรี้ยว แต่พอสุกจะมีผิวสีเหลือง กลิ่นหอม ผิวละเอียด เสี้ยนน้อย รสหวาน ตั้งแต่ออกดอกจนเป็นผลระยะเวลาประมาณ 115 วัน ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราช ดำริตั้งอยู่ที่ตำบลเขาหินซ้อน อยู่ห่างจากอำเภอพนมสารคาม ประมาณ 17 กิโลเมตร ริมทางหลวงหมายเลข 304 ระหว่างกิโลเมตรที่ 51-52

ศูนย์แห่งนี้ได้รับสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522 มีเนื้อที่ประมาณ 1,895 ไร่ ด้วยพื้นที่บริเวณนี้มีสภาพเสื่อมโทรม ดินหมดความอุดมสมบูรณ์ เนื้อดินเป็นทราย มีการชะล้างพังทลายของดินสูง พระองค์ได้ทรงพัฒนาพื้นที่ สภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ พัฒนาแหล่งฟื้นฟูสภาพป่า พัฒนาดิน วางแผนในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ด้วยวิธีการเกษตรแผนใหม่ตาม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนมีโอกาสพึ่งพาตัวเองได้

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ศูนย์รวมการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ ถือว่าเป็นต้นแบบและแนวทางและตัวอย่างในการศึกษาในพื้นที่อื่น โดยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ภายในศูนย์แบ่งพื้นที่เป็นการสาธิตและทดลองงานต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาที่ดิน การปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โครงการสวนป่าสมุนไพร แปลงทดลองปลูกพืช มะม่วงทุกพันธุ์ทั้งของไทยและต่างประเทศ อโวคาโด พันธุ์หวายที่มีในประเทศไทย ตลอดจนงานศิลปาชีพ โดยจัดตั้งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.