ไม่ชอบงานนั่งอยู่กับที่

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

มานิต วงศ์สุรีรัตน์ มีจุดหักเหของชีวิตหลายครั้ง เริ่มต้นทำงานเป็นเซลส์แมน แต่ชีวิตก็ผกผันไปเป็นครู ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจพันล้านจากธุรกิจน้ำมันปาล์ม ทว่าบั้นปลายชีวิตปรารถนาปลดพันธนาการไปตั้งชมรมอาสาพัฒนาประเทศไทย

มานิต วงศ์สุรีรัตน์ วัย 57 ปี ไม่ได้วางแผนชีวิตไว้อย่างชัดเจน หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรี ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2518

มานิตยอมรับว่าเขาไม่ใช่เด็กเรียนที่เข้ามหาวิทยาลัยเพื่อตั้งหน้าตั้งตาเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เขาเป็นนักกิจกรรมตัวยง เริ่มจากสมัครเป็นสมาชิกสภานักศึกษา ตั้งแต่ปีที่ 1 และจนถึงปีสุดท้ายเข้าร่วมเป็นผู้บริหาร ทำให้ได้ประสบการณ์มากมาย และมีเพื่อนฝูงมาก

นอกจากกิจกรรมต่างๆ ทั้งวิชาการและค่ายอาสาแล้ว เขายังเล่นกีฬาเกือบทุกประเภท ฟุตบอล บาสเกตบอล รักบี้ แทบจะเรียกได้ว่า อะไรที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ สนุก และมีความสุข เขาจะไม่พลาด จึงทำให้ชีวิตในวัยเรียนไม่น่าเบื่อ

หลังจากจบการศึกษา เขาเริ่มทำงานครั้งแรกเป็นเซลส์แมน ขายอุปกรณ์โรงงานและสารเคมี บริษัท ริชมอน จำกัด นับว่าตรงกับความรู้ที่ร่ำเรียนมา แต่ก็มีโอกาสทำงานเพียง 1 ปีเท่านั้น เนื่องจากบิดาเสียชีวิต ทำให้ตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่จังหวัดตรัง เพื่อกลับไปดูแลครอบครัว

เมื่อกลับมาอยู่บ้านเขาเลือกอาชีพครู โรงเรียนตรังวิทยา สอนวิชาเคมี ชีวะและฟิสิกส์ ระดับมัธยมปลาย แต่สอนได้เพียง 3 ปีเศษเท่านั้น เพราะในใจมีความคิดตลอดเวลาว่า ปรารถนามีธุรกิจเป็นของตนเอง

ในช่วงที่มานิตเป็นครูสอนหนังสือ เขาทำสวนปาล์มควบคู่กันไป ตอนนั้นมีพื้นที่ปลูก 100 ไร่ ส่วนผลปาล์มที่ได้จะนำไปจำหน่ายที่จังหวัดกระบี่และสตูล ตอนนั้นต้องขับรถไปส่งผลปาล์มด้วยตนเอง ขับรถจากตรังไปกระบี่ประมาณ 200 กิโลเมตร

“ผมไม่ชอบงานที่นั่งอยู่กับที่” วลีดังกล่าวของมานิตบ่งบอกถึงบุคลิกการทำงานของเขาเป็นอย่างดีว่า เขาชอบทำงานอิสระ มีโอกาสได้ใช้ความคิด รวมไปถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น ทำให้การทำงานในแต่ละวันมีความท้าทาย

จากการคลุกคลีอยู่ในธุรกิจปาล์ม เขาจึงเริ่มศึกษาธุรกิจน้ำมันปาล์มอย่างจริงจัง ทำให้มองเห็นโอกาสธุรกิจ จึงได้รวมตัวกับเกษตรกรด้วยกันเอง ซึ่งเขามีอายุน้อยที่สุดในตอนนั้น แต่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำเพื่อไปศึกษากระบวนการผลิตปาล์มในประเทศมาเลเซีย

หลังจากได้เห็นกระบวนการผลิตปาล์ม ทำให้เห็นโอกาสมากมายจากผลปาล์ม และโชคดีที่เพื่อนสมาชิกรู้จักคนมาเลเซียที่มีความรู้ด้านโรงงาน

จึงทำให้กลุ่มเกษตรกรรวมตัวสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีโรงงานในจังหวัดตรัง เมื่อโรงงานสร้างแล้วเสร็จ ผลปาล์มที่ปลูกในจังหวัดตรังและใกล้เคียง ก็ถูกส่งเข้าโรงงานทั้งหมด

ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่ได้จากโรงงานเป็นส่วนหลักที่สร้างรายได้ให้กับบริษัท แต่โรงงานก็สร้างผลเสียด้านสิ่งแวดล้อม เพราะมีน้ำเสียออกจากโรงงาน ทำให้บริษัทได้ศึกษาจากบริษัท เอเชียปาล์ม จำกัด นำน้ำเสียมาบำบัด และยังร่วมกับสถาบันพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำน้ำเสียมาเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้านอกจากการนำน้ำเสียมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า บริษัทยังได้นำเส้นใยปาล์มมาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผา

แนวคิดการสร้างกระแสไฟฟ้าจากน้ำเสีย หรือนำวัตถุดิบที่เหลือใช้จากการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้เกิดขึ้นในบริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัดเพียงแห่งเดียว

มานิตต่อยอดความรู้ด้านเคมีที่ได้ร่ำเรียนมา พร้อมกับการแบ่งความรู้จากเพื่อนสนิทของเขาก็คือ ปรีชา โกวิทยา ประธาน บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกวาซาบิเพื่อนร่วมรุ่นในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะบริษัท ลานนาฯ มีแนวคิดในการทำธุรกิจต่อยอดผลิตไฟฟ้าจากน้ำเสียเช่นเดียวกัน

จากพื้นฐานความรู้ด้านเคมี ทำให้มานิต เชื่อว่าวิทยาศาสตร์เป็นองค์ความรู้อยู่บนเหตุและผล จะช่วยพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมได้อีกมาก เพราะวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้ โดยเฉพาะมานิตและปรีชาพิสูจน์ให้เห็นแล้วในระดับหนึ่ง

แม้ว่าปัจจุบันบริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด จะมีรายได้ถึง 1,200 ล้านบาทต่อปี แต่มานิตพบว่า น้ำมันปาล์มดิบที่ผลิตและจำหน่ายในปัจจุบันยังสามารถต่อยอดให้กับธุรกิจได้อีก เพราะวัตถุดิบมีคุณสมบัติพัฒนาไปสู่สินค้าอื่นได้อีกมากมาย เช่น เครื่องสำอาง น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น

การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจะทำให้บริษัทมีความมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น เมื่อถึงเวลานั้น มานิตปรารถนาที่ปลดพันธนาการของตัวเอง ให้ออกมาทำงานร่วมกับสังคมมากขึ้น

ความฝันของเขาก็คือการตั้ง “ชมรมอาสาสมัครพัฒนาประเทศไทย” ด้วยการร่วมทำงานกับคนไทยทุกเหล่าอาชีพ เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นด้านสังคม เกษตร การค้า ให้สามารถพัฒนาประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าและเท่าเทียมกัน

ถ้าหากเป็นไปได้ เขาปรารถนามีเพื่อนร่วมเส้นทางประมาณ 1 ล้านคน เพื่อกระตุ้นให้คนที่อาสาจะไปเป็นรัฐบาลทำงานและดูแลประชาชนอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะภาคการเกษตรควรมีโครงสร้างชัดเจน เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น โดยให้หน่วยงานทุกฝ่ายของรัฐทำงานร่วมกัน

แม้มานิตจะทำงานหนักในภาคธุรกิจ แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็ยังมีความเป็นห่วงสังคมไทยไม่น้อย เพราะสิ่งที่เขาอยากเห็นมากที่สุดคือคนมีงานทำ และรายได้ดี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.