|
สร้างมูลค่าเพิ่มให้น้ำมันปาล์มดิบ
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลอดเวลากว่า 20 ปีของบริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ เริ่มมองว่า หากต้องการมีธุรกิจที่ยั่งยืน ต้องสร้างมูลค่าให้กับสินค้า
บริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด เริ่ม ทำธุรกิจด้านการผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ เมล็ดในปาล์ม และเส้นใย ตั้งแต่ปี 2530 หลังจากมานิต วงศ์สุรีรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ในฐานะผู้ก่อตั้งและเป็นผู้ริเริ่มปลูกปาล์มน้ำมันในจังหวัดตรัง ไปดูงานในประเทศมาเลเซีย ทำให้มองเห็นโอกาสการสร้างรายได้จากน้ำมันปาล์มน่าจะเทียบเท่ากับการปลูกยางพารา
เขาเริ่มปลูกปาล์มในพื้นที่ 60 ไร่ และรวมตัวกับผู้ปลูกรายอื่นก่อตั้งโรงงานรับซื้อปาล์มน้ำมัน เพื่อรับซื้อปาล์มจากทั้งผู้ถือหุ้น เกษตรกรในจังหวัดตรังและพื้นที่ใกล้เคียง
ปัจจุบันสามารถสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ได้ 3,000 ตันต่อเดือน ขายในราคา 27,000 บาทต่อตัน หรือมีรายได้ประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี มีลูกค้าหลักๆ เช่น มรกต หรือแวว เป็นต้น
แม้ว่าบริษัทจะพึงพอใจในรายได้ปัจจุบันก็ตาม แต่แนวโน้มราคาน้ำมันปาล์ม ดิบลดลง จากเดิมราคาราว 30,000 บาทต่อตัน เหตุผลเป็นเพราะว่าคู่แข่งในตลาดค่อนข้างมาก อย่างเช่นปัจจุบันมีคู่แข่งถึง 65 โรงงานในประเทศ ทำให้น้ำมันปาล์มดิบ ล้นตลาด
จากตลาดรวมน้ำมันปาล์มดิบผลิตจำนวน 2 แสนตันต่อเดือน ขณะที่มีการใช้จริงเพียง 1-1.2 แสนตัน ส่วนที่เหลือ 7-8 หมื่นตันต้องส่งออกไปมาเลเซีย
บริษัทในฐานะผู้ประกอบการรายกลาง ยอมรับว่ายากยิ่งนักที่จะแข่งกับรายใหญ่ที่มีทั้งเงินทุนและกำลังการผลิตที่สามารถต่อรองตลาดได้
ความท้าทายดังกล่าวทำให้บริษัทต้องหาทางเพื่อให้อยู่รอดในอนาคต พร้อม แผนธุรกิจ 5 ปีข้างหน้าที่กำหนดไว้ 3 ส่วนหลักๆ คือ การสร้างแบรนด์น้ำมันปาล์มเพื่อจำหน่ายเอง ปัจจุบันบริษัทอยู่ในฐานะ ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบและส่งน้ำมันไปโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภค
หมายความว่าบริษัทมีบทบาทเป็นเพียงต้นทางในการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และส่งไปขายให้กับโรงงานกลั่นน้ำมันเท่านั้น แต่บริษัทเริ่มมีแนวคิดจะผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตนเอง เพราะหลังจากการสำรวจของตลาด ในจังหวัดตรัง รวมถึงจังหวัดในภาคใต้สามารถซื้อสินค้าของบริษัท
ก่อนหน้านี้บริษัทได้เตรียมการล่วงหน้า และจดชื่อยี่ห้อน้ำมันปาล์มเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการผลิตเพื่อนำออกสู่ตลาดในระยะนี้ เพื่อต้องการตรวจสอบศักยภาพของตลาดอีกครั้ง
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะนำบริษัท เข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ใน 2 ปีข้างหน้า เพื่อระดมทุนขยายกิจการต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างแบ่งแยกบริษัทในเครือที่ไม่เกี่ยวข้อง และเหลือไว้ 2 บริษัทที่สัมพันธ์กับธุรกิจปาล์ม คือบริษัท เอซีเอส จำกัด ดูแลเทคโนโลยี และบริษัท ตรังไบโอเทคโนโลยี ทำหน้าที่ซื้อน้ำมันปาล์มดิบ
บริษัทได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะสร้าง มูลค่าเพิ่มให้น้ำมันปาล์มดิบ เพราะจากการศึกษาน้ำมันปาล์มดิบสามารถนำไปผลิต เป็นสารเคมีคัล สารเหล่านี้จะเป็นวัตถุดิบ ตั้งต้นเพื่อผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น น้ำยาทำความสะอาด ยาสระผม น้ำยาปรับ ผ้านุ่ม ผงซักฟอก ครีมทาผิว เป็นต้น
อย่างไรก็ดี กระบวนการผลิตน้ำมัน ปาล์มเพื่อผลิตเป็นสารเคมีคัล มีกระบวน การผลิตขั้นตอนที่ซับซ้อน อยู่ระหว่างการศึกษาและอยู่ในแผนธุรกิจ 5 ปี
เป้าหมายของการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในส่วนนี้ บริษัทมองว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อย่างมหาศาล เพราะน้ำมันปาล์มดิบจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และราคาสูงมากขึ้นหลังจากนำสินค้าเดิมไปแปรรูป
ส่วนแนวคิดการนำน้ำมันปาล์มดิบไปเป็นส่วนผสมหนึ่งของน้ำมันไบโอดีเซล เขายังไม่มีแนวคิดจะทำมากนัก เพราะภาครัฐยังไม่มีนโยบายชัดเจนในการสนับสนุนไบโอดีเซล
ขณะที่บริษัทมองหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจนั้น บริษัทก็สร้างมูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบที่เกิดจากต้นปาล์ม เช่น การสร้างพลังงานด้วยระบบไฟฟ้ากังหันไอน้ำ โดยนำเส้นใยปาล์มเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผา สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 7 เมกะวัตต์ ได้ส่งขายต่อการไฟฟ้าภูมิภาค หรือแม้แต่การนำน้ำเสียมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าไบโอ แก๊ส ขนาด 2 เมกะวัตต์ขายให้กับ กฟผ. และใช้ภายในบริษัท
นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มประสิทธิภาพวัสดุเหลือใช้จากปาล์มน้ำมันให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น ทะลายปาล์ม ใช้เป็นปุ๋ยสวนปาล์ม และจำหน่ายให้เกษตรกรเพื่อนำไปเพาะเห็ดฟาง ส่วนลำต้นและใบที่มีอายุมากกว่า 30 ปี จะเริ่มให้ผลน้อย พบว่ามีงานวิจัยของกรมป่าไม้จะแปรรูปเป็นวัสดุทดแทนไม้ อยู่ระหว่างการศึกษาทดลอง
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเป็นสิ่งที่บริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด เชื่อว่าจะทำให้บริษัทอยู่ได้อย่างยั่งยืน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|