|
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล มองเศรษฐกิจ ปี 2555
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ปี 2555 กำลังกลายป็นเรื่องท้าทายเศรษฐกิจระดับโลกและประเทศไทย หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจของยุโรปถดถอยอย่างหนัก คาดการณ์กันว่าจะลุกลาม “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้มุมมองว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
เป็นธรรมเนียมประจำทุกปีของธนาคารไทยพาณิชย์ที่จัดสัมมนาประจำปีวิเคราะห์เศรษฐกิจ ในปีนี้จัดภายใต้หัวข้อ “วิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจปี 2555 ภายใต้ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และโอกาส ธุรกิจไทยภายใต้รัฐบาลใหม่” ซึ่งมีนักธุรกิจ ร่วมฟังกว่า 1,000 คน โดยมีผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมาให้มุมมองทั้งสองด้าน
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงกับบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความไม่แน่นอนหลายอย่าง แต่แรงขับเคลื่อนของไทยยังไปได้ดี เพราะจาก 8 เดือนที่ผ่านมาเศรษฐกิจ ยังขยายตัวค่อนข้างดี แม้ว่าจะประสบกับน้ำท่วม ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากสึนามิ และปัญหาการเมืองภายในประเทศ
อุปสงค์ในประเทศมีมากขึ้น เกิดจากรายได้และค่าจ้างแรงงาน กระตุ้นการใช้จ่าย ส่วนภาคเอกชนปีหน้ายังคงดีต่อไป สังเกตจากการขยายสินเชื่อ แต่ความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลกอาจกระทบไทยได้
ความไม่แน่นอนในยุโรปและสหรัฐ อเมริกา ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาขาดกระสุนในการเข้าพยุงการเงินและการคลัง ภาครัฐมีตัวเลขขาดดุลสูงมาก และ 10 ปีที่ผ่านมาขาดดุล 9 ล้านล้านเหรียญ แสดงให้เห็นว่ารัฐกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สำเร็จ ส่งผล ให้เกิดความผิดหวังเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก
ส่วนกลุ่มประเทศในยุโรป ขาดความเด็ดขาดในการแก้ปัญหา จนก่อให้เกิดการลุกลามในวงกว้างไปสู่ประเทศอื่นๆ ที่มีการแก้ปัญหาคล้ายกัน คือ โปรตุเกส อิตาลี กรีซ และสเปน (กลุ่ม PIGS) อาจเกิดความผันผวนเป็นระยะๆ
เมื่อปี 2540 ประเทศไทยมีประสบการณ์เล็กๆ จากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ในตอนนั้นประเทศไทยเลือกแก้ปัญหาด้วยการพิจาณา การเลือกลำดับขั้นตอน ไซส์ที่เหมาะสม และเลือกเวลาเข้าไปจัดการ
หลังจากไปประชุมที่วอชิงตันครั้งล่าสุด ปัญหาของยุโรปอาจลุกลามใหญ่โต เพราะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง สถานะ การเงินตึงตัวอย่างรุนแรง ธนาคารที่ถือ พันธบัตรของประเทศในกลุ่ม PIGS อาจด้อยค่า เพราะเชิงโครงสร้างต้องการแก้ปัญหาระยะยาว ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้ หลังจากได้รับผลกระทบจากสึนามิ
เศรษฐกิจเอเชีย โดยเฉพาะการรวม ตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC บวกประเทศจีน จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชีย
ผลกระทบเศรษฐกิจไทยด้านการเงิน และธุรกิจ อาจเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น แต่ตัวเลขในปัจจุบันยังไม่สะท้อนผลกระทบ แต่ไทยมีความสัมพันธ์การค้ากับกลุ่ม G3 (สหรัฐอเมริกา และยุโรป) ยังไม่สามารถประเมินผลชัดเจนได้ ถ้าไทยพึ่งพาไม่มากนักและหันไปพึ่งพาเศรษฐกิจใหม่และเพื่อน บ้าน จะทำให้สถานการณ์ไม่แย่เกินไป ถ้าผลกระทบเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง จนกระทบกับคู่ค้าหลักของไทย อาจจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ความไม่แน่นอนของเงินทุนจะเคลื่อนย้าย 2 ทิศทาง ความไม่แน่นอนในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้เงินไหล เข้ามาในตลาดเอเชีย จะเห็นการขายสินทรัพย์และประเทศพัฒนาแล้วจะวิ่งเข้าหา เงินสกุลดอลลาร์
ปี 2555 ประเทศเศรษฐกิจเอเชียจะขยายความร่วมมือการค้าภายในกลุ่ม และส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น แต่อาจผันผวน 2 ทิศทาง ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจต้องพร้อมปรับตัว
การเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุนต้องระวังเงินเฟ้อ ผลกระทบแรงกดดันน่าจะยังมีอยู่และมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลใหม่ ค่าครองชีพ จำนำข้าว และพลังงาน อาจมีแนวโน้มลดลง
ความไม่แน่นอนทางการเงิน การคลัง นโยบายการเงิน ดอกเบี้ยนโยบาย ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะยังมีความเสี่ยงเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ หากมีการเปลี่ยน แปลง และต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ
นโยบายการคลัง ปี 2555 รัฐควรเตรียมกระสุนไว้ให้พร้อมและไม่ควรกระตุ้น เศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น แต่เน้นพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาความสามารถการผลิตของประเทศ ไม่ควรเน้นการบริโภค
รัฐบาลควรจะเน้นพัฒนาภาคการขนส่ง พลังงาน โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ จะทำให้เศรษฐกิจไทยปรับสมดุลและมีบทบาทมากขึ้น รองรับความไม่แน่นอนของต่างประเทศได้
การเข้าร่วมในเออีซีทำให้ไทยมีโอกาสการค้า การลงทุน แต่สิ่งเหล่านี้จะมาพร้อมกับการแข่งขันที่สูง รัฐบาลต้องปรับกฎเกณฑ์เพื่อรองรับ ส่วนเอกชนต้องเพิ่มศักยภาพแบรนด์ให้ไทยได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่สูง ผู้นำต้องระมัดระวัง รอบคอบ ทันท่วงที เป็นคำกล่าวของผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยที่มองรัฐบาลใหม่ด้วยความเป็นห่วง
ธุรกิจส่งออกต้องระวัง
ท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ข่าวสารที่นำเสนอในช่วงระยะเวลานี้ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นอีกบุคคล หนึ่งที่พยายามสรุปให้เห็นภาพรวมที่เกิดขึ้น
เขาเริ่มจากชี้ให้เห็นจีดีพีของ 3 ประเทศหลักๆ ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก คือ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป และญี่ปุ่น มีจีดีพีรวมกันประมาณ 33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือครึ่งหนึ่งของจีดีพีโลก สะท้อนให้เห็นว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับ 3 กลุ่มนี้ แน่นอนว่าเศรษฐกิจโลกย่อมสั่นสะเทือน
กรณีจะหวังพึ่งพาประเทศจีนให้เป็นผู้ขับเคลื่อนรายใหม่ก็เห็นจะเป็นไปได้ยาก เพราะจีดีพีของจีนไม่ถึง 6 ล้านล้านเหรียญ สหรัฐ หรือมีไม่ถึง 1 ใน 5 ของ 3 ประเทศ ส่วนอินเดียจีดีพีมี 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จึงได้ข้อสรุปว่า จีนและอินเดียอุ้มเศรษฐกิจ โลกไม่ได้!!!
ในปี 2555 สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น มีความเสี่ยงและเหนื่อยมากกว่าปีนี้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจยังลุกลามไม่หยุด และไม่มีความร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจชัดเจน เขาได้ยกตัวอย่างกรณีเลห์แมนบราเธอร์ ล้มละลายเมื่อ 15 กันยายน 2551 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะงักร้อยละ 20-30 ซึ่งเลห์แมนฯ มีสินทรัพย์ 7 แสนล้านดอลลาร์ สหรัฐ แต่สามารถฉุดเศรษฐกิจโลกที่มูลค่า 60 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้สภาพคล่องหายไปทันที
ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปตอนนี้ก็คือ กลัวการไม่ชำระหนี้ของประเทศที่มีปัญหา กรีซ สเปน อิตาลี จะทำให้กลายเป็นความเสี่ยง
ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุโรปและสหรัฐ อเมริกา ทำให้หลายๆ คน เริ่มหันมามองว่า ประเทศจีน ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก มีอัตราการเติบโตจีดีพีสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน จึงคาดหวังว่าจีนน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้
แต่อาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะจีนก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ภาครัฐกำลังกด และบีบ สถาบันการเงินไม่ให้ปล่อยเงินกู้ ทำให้ปัจจุบันหาสินเชื่อยาก โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี แทบจะหาเงินกู้ไม่ได้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้ตั้งกองทุน และอยู่ในภาวะขาดทุนอยู่ในปัจจุบัน หรือแม้แต่หุ้นจีนในตอนนี้ประสบภาวะขาดทุนค่อนข้างมาก
นอกจากนี้การลงทุนของจีนในโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยบางแห่งสร้างเพื่อรองรับคน 5 ล้านคน แต่มีคนอาศัยไม่ถึงหมื่น และโครงการขนาดใหญ่ที่ลงทุนไปส่วนมากประสบภาวะขาดทุน
สำหรับธุรกิจนำเข้า-ส่งออกของจีน โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลัก คือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยาง เมื่อจีนส่งออกไม่ได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อไทยอย่างแน่นอน เพราะไทยพึ่งพิงการส่งออกมากถึงร้อยละ 69 ที่ผ่านมาประเทศจีนสั่งนำเข้ายางจากประเทศไทยค่อนข้างสูง รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นฐานการผลิตใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์ยังไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และยังไม่มี การประเมินอย่างชัดเจน เพราะปัญหาน้ำท่วมยังไม่จบ โดยเฉพาะน้ำท่วมในจังหวัดอยุธยา ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค อาจก่อเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล
ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการคิดว่าจะไม่กระทบรุนแรง ควรระมัดระวัง และจากที่คิดว่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อมอาจเป็นผลกระทบทางตรง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|