|
ชนกลุ่มน้อยกับโจทย์ CSR
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
“ซีเอสอาร์แบบไทยๆ เน้นบริจาคแต่ไม่มีระบบคิดที่เป็นกิจกรรม”
จุดอ่อนของการดำเนินงานซีเอสอาร์ที่รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้จัดการสำนักประชาสัมพันธุ์ Intouch มองเห็นตลอดช่วงที่ทำงานกับอินทัชมานานกว่า 17 ปี ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าซีเอสอาร์ของบริษัท หรืออดีตชินคอร์ปอเรชั่น ซึ่งเธอมีหน้าที่ดูแลอยู่ด้วยนั้นก็เคยทำตามเทรนด์ซีเอสอาร์แบบไทยๆ มาก่อนเช่นกัน
อินทัชเริ่มทำซีเอสอาร์ที่มีแนวทางชัดเจนภายใต้โครงการแคมป์สนุกคิดของชินคอร์ป ตามชื่อเก่าขององค์กรเมื่อ 11 ปี ก่อน เพิ่งเปลี่ยนแปลงแนวคิดการทำซีเอส อาร์ครั้งใหญ่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โดยน้อม นำแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการกำหนดรูปแบบกิจกรรม เปลี่ยนกิจกรรมจากที่ทำกับเด็กระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย และกำหนดชัดเจนว่าแต่ละโครงการจะต้องมีชุมชน โรงเรียน และเยาวชน เป็นองค์ประกอบหลักของโครงการ เพื่อให้การทำงานที่คิดขึ้นสามารถปักหลักแนวคิดให้อยู่กับชุมชนต่อไปในระยะยาว
“ถ้าเราจะทำโครงการให้ยั่งยืนต้องเริ่มรับปัญหามาจากชาวบ้าน ดูว่าท้องถิ่นมีอะไร มีปัญหาหรือขาดแคลนอะไร ลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญต้องเป็นข้อมูลที่ชาวบ้านบอกมาเอง แล้วเอาปัญหาที่รวบรวมได้มาพัฒนาโครงการกลับไปให้เขา ไม่อย่างนั้นไม่ยั่งยืน” รัชฎาวรรณเล่าถึงแนวคิดขององค์กรที่เริ่มตกผลึกมาได้ไม่กี่ปี
แนวคิดนี้กำหนดว่าต้องประสานระหว่าง 3 องค์ประกอบสำคัญ ก็เพราะโครงการซีเอสอาร์ที่ผ่านมาในยุคต้นๆ ของบริษัทไม่ได้ประสบความสำเร็จเต็มร้อยทุกโครงการ บางโครงการขับเคลื่อนต่อไปได้น้อย ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาหาสาเหตุก็จะพบว่าเป็นเพราะโครงการเกิดจาก “คนคิด” กับ “คนทำ” ไม่ได้เริ่มต้นเรียนรู้ร่วมกัน (Participation learning) เมื่อผู้ให้กับผู้รับคิดคนละทาง “ความสมประโยชน์” จึงไม่เต็มร้อย
“เราอยากให้ชุมชนช่วยตัวเองด้วยในการทำโครงการ เป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ดังนั้นเราก็ต้องเริ่มจากรู้ความต้องการ รู้บริบท สิ่งแวดล้อมของชุมชนก่อน ซึ่งเด็กๆ ที่คัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่จะมีความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ เมื่อชุมชนให้ข้อมูลหรือได้ความรู้จากปราชญ์ชุมชน ก็จะได้ข้อมูลสองส่วนผสมกัน เราจะเป็นคนตบประเด็น โครงการขนาดนี้งบเท่านี้ทำได้ไหมแล้วค่อยดำเนินงาน เด็กไปคิดไปทำร่วมกับชุมชน ทำเสร็จ ชุมชนก็นำไปสานต่อโดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง” รัชฎาวรรณเล่ากระบวนการ และบอกด้วยว่า
รูปนี้เป็นรูปแบบโครงการที่แม้แต่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ยอมรับว่าเป็นการพัฒนาโครงการที่แตกต่าง จากที่องค์กรอื่นๆ เคยทำมา เพราะมีการเชื่อมโยงระหว่าง 3 ส่วนคือ เยาวชน โรงเรียน และชุมชน ขณะที่ขององค์กรอื่นที่ทำส่วนใหญ่จะลงไปที่ชุมชน หรือไม่ก็โรงเรียนอย่างใดอย่างหนึ่ง งบ 40 ล้านบาท ต่อปีสำหรับการทำซีเอสอาร์ของอินทัช จึงลงตัวว่าจะต้องออกมาเป็นรูปแบบนี้ตั้งแต่ปี 2551
ภายใต้ซีเอสอาร์รูปแบบล่าสุด อินทัชสนับสนุนเด็กทำแคมป์ไปแล้ว 8 แห่ง เกิดศูนย์เรียนรู้แล้ว 3 ศูนย์ หากรวมเครือข่ายเด็กระดับมัธยมปลายที่ผ่านค่ายของบริษัทในช่วงแรกก็จะมีจำนวนเด็กที่เข้าแคมป์สนุกคิดรวมแล้วกว่า 5 พันคนจาก 700 กว่าโรงเรียนทั่วประเทศ
ในยุคแรกที่อินทัชทำซีเอสอาร์โดยเน้นที่กลุ่มเด็กมัธยมปลายพบข้อจำกัดด้วย ว่า มัธยมปลายของไทยเป็นช่วงวัยที่เด็กยังไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองเต็มที่ เพราะอยู่ในความดูแลของพ่อแม่เป็นหลัก ทำให้กิจกรรมที่ทำจำกัดอยู่แค่การให้ความรู้ และประสบการณ์กับเด็กในการเข้าค่าย พอจบโครงการก็แยกย้ายกันไป
แต่กระบวนการค้นหาและตีโจทย์โครงการของค่ายรูปแบบใหม่ที่ต้องทำร่วมกับชุมชน นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไปในการทำโครงการ เป็นเหตุผลแรกที่ทำให้อินทัชต้องเปลี่ยนเป้าหมายจากเด็กมัธยมปลายมาเป็นเด็กมหาวิทยาลัย เพื่อให้สะดวกต่อการทำค่ายและกำหนดให้นักศึกษาที่จะเข้าร่วมมาจากมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดและทักษะที่แตกต่างกัน
“กระบวนการนี้จะเห็นเลยว่านักศึกษาแต่ละที่จะมีความถนัดต่างกัน ก็ได้มา แลกเปลี่ยนความคิดและทำงาน พวกเด็กๆ จะได้รับความรู้จากชุมชน ฝึกพัฒนาความรู้ที่ได้มา ฝึกบริหารจัดการ เด็กส่วนใหญ่มีศักยภาพและเข้มแข็งมาก ซึ่งเด็กบางคนก็เป็นเด็กที่เคยร่วมแคมป์สนุกคิดกับเราสมัยอยู่มัธยมปลาย เราก็มีโอกาสได้เห็นเขาเติบโตขึ้น”
เป้าหมายของแต่ละโครงการที่เด็กๆ คิดขึ้น จะเน้นการพัฒนาที่ตัวเด็ก เพราะเป้าหมายหลักของโครงการคือให้เด็กเข้าใจ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจากการลงมือปฏิบัติ เป็นผู้ริเริ่มความคิด แล้วพัฒนาภาย ใต้ความคิดนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้าน
“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่อยู่กับเราตลอดเวลา ตอนแรกยอมรับว่า เราเองก็ไม่เคลียร์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หลายคนรู้แต่ไม่ซึมซาบในใจ จนกว่าจะได้ลองทำ ด้วยตัวเอง อยากให้เด็กรู้ ก็ต้องเปิดโอกาส ให้ลองทำและส่งต่อให้คนอื่น ก็คิดว่าบริษัท เรามีเทคโนโลยีที่มีบทบาทเยอะ ประเทศเราก็มีของดีอยู่ ถ้าลองเอาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้อย่างจริงจังจะปรับตัวเข้ากันอย่างไร”
อินทัชเชื่อว่ารูปแบบการทำแคมป์แบบนี้เป็นวิธีที่ทำให้เด็กซึมซับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริงทั้งในแง่วิชาการและภาคปฏิบัติ จากการเอาตัวเอาใจเข้าไปคลุกคลีกับการทำงาน ขับเคลื่อนให้เห็น จนกระทั่งส่งให้ชาวบ้านรับช่วงไปดำเนินต่อได้ในขั้นตอนสุดท้าย
ศูนย์เรียนรู้แห่งล่าสุดจากค่ายของอินทัชที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาคือ ศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิตภูมิปัญญาผ้าทอมือปกาเกอะญอที่โรงเรียนบ้านป่าเลา อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เป็นโครงการที่รวมเอาเด็กจากมหาวิทยาลัย 3 แห่งในจังหวัดทางภาคเหนือ มาศึกษาวิถีชีวิตเพื่อ ดึงเอาภูมิปัญญาที่มีอยู่ของปกาเกอะญอ ซึ่งอาศัยอยู่จำนวนมากในพื้นที่มาพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สะท้อนคุณค่าวิถีชีวิต และอัตลักษณ์ของปกาเกอะญอให้เป็นที่รู้จัก แก่คนภายนอกมากขึ้น มีแหล่งให้ศึกษาข้อมูล และแลกเปลี่ยน เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในพื้นที่นี้มีดีอะไร มีอะไรให้เผยแพร่และสามารถนำมาใช้พัฒนาชุมชนและสร้างรายได้อย่างไร
สองโครงการก่อนหน้านี้ก็เป็นการนำ วิถีชีวิตและของใกล้ตัวที่ชุมชนมีมาพัฒนาให้เกิดรายได้เช่นกัน โครงการหนึ่งที่นครพนม พัฒนาทำถ่านจากต้นไมยราบที่มีอยู่มากในพื้นที่มาเป็นสินค้าสร้างรายได้ ให้ชุมชน ส่วนอีกโครงการที่จังหวัดตรัง เป็นการจำลองอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมพัฒนาเป็นตุ๊กตาและกลายเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้ชุมชนเช่นกัน
“จากแนวคิดที่เป็นนามธรรม การทำแคมป์ของเด็กจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การพัฒนาที่เป็นรูปธรรมทำให้เกิดการขับเคลื่อนวิถีชีวิตที่ดี โครงการที่เกิดขึ้นอาจจะ ไม่รู้ในวงกว้าง แต่คนในละแวกนั้นรู้ สร้างความภูมิใจให้คนทำงาน ได้ความรู้ ช่วยเรื่องรายได้ชุมชน นั่นเป็นเพราะเราจะไม่เอาสิ่งที่คิดไปใส่ให้เด็ก แต่จะเกาะไปกับเขา จากผลที่ทำมาแสดงให้เห็นว่าศักยภาพในตัวเด็กสามารถดึงเอาสิ่งดีๆ ที่เป็นแกนของชุมชนที่มีอยู่ในแต่ละที่มาปรับเข้ากับวิธีการสมัยใหม่ได้อย่างเห็นผล นอกจากผลต่อวิถีชีวิต เรามีการประมวลผลเชิงตัวเลข ลด รายจ่ายเพิ่มรายได้วัดผลได้ ทำแล้วมีประโยชน์กับคนอื่น”
สำหรับที่ป่าเลา จากบทสรุปการค้น หาจุดเด่นในพื้นที่พบว่า ชาวปกาเกอะญอ เด่นเรื่องทอผ้าทำเองใช้เองมานาน ทำขาย ก็ได้ การแสดงในศูนย์ที่นักศึกษาคิดและพัฒนาร่วมกับชุมชน จึงจัดแสดงให้เห็นลำดับขั้นของการพัฒนาเป็น 4 ส่วน เริ่มจากทำความรู้จักวิถีชีวิตปกาเกอะญอ การทำผ้าทอมือ จุดสาธิตแสดงการย้อมสีและทอผ้า และจุดจำหน่ายสินค้าเป็นจุดสุดท้าย
หากจะถามถึงจุดสิ้นสุดหรือจุดบรรจบระหว่างซีเอสอาร์กับแบรนด์อินทัช ระหว่างความเป็นชนเผ่าปกาเกอะญอกับโฮลดิ้งคอมปะนีของกลุ่มบริษัทสื่อสารเทคโนโลยีว่าเชื่อมโยงกันอย่างไร ก็ต้องอ้างถึงเป้าหมายของการเปลี่ยนชื่อองค์กรจากชินคอร์ปอเรชั่น เป็นอินทัช ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ที่ผ่านมาหลังจากใช้ชื่อเดิมมานานถึง 20 ปี
“เรามีแผนจะเปลี่ยนชื่อมานานตั้งแต่เทมาเส็กเข้ามาถือหุ้นและติดที่กระบวนการ ในฐานะโฮลดิ้งคอมปะนีที่ไม่มีสินค้าและบริการชัดเจนเหมือนเอไอเอสและไทยคม หลังแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบ จากนั้นเราก็อยากให้กิจกรรมที่ทำเป็นตัวสะท้อนถึงคาแรกเตอร์ใหม่ที่เปลี่ยนไป”
อินทัชมีสโลแกนองค์กรว่าเชื่อมโลกสู่อนาคต คาแรกเตอร์เดิมก็เป็นบริษัทเทคโนโลยีจ๋า แต่คาแรกเตอร์ปัจจุบันที่ต้องการแสดงให้คนทั่วไปเห็นกำหนดไว้ 4 ประการ ได้แก่ humble, reliable, caring และ pioneering
“อินทัชเราต้องการติดดิน เข้าถึงชาวบ้านมากขึ้น ภายใต้อินทัชเราจะมีลักษณะแบบนี้ เราอ่อนน้อมถ่อมตน เราเข้าถึง เราใกล้ชิด ที่เน้นมากคืออ่อนน้อมถ่อมตนซึ่งเราจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ทำให้คนรักเรา อยากจะช่วยเหลือเรา ในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยและเป็นสังคมพึ่งพาระยะยาวและทุกส่วนของสังคมควรจะเข้มแข็งเติบโตไปพร้อมกัน”
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ซีเอสอาร์ขององค์กรระดับแนวหน้าหาจุดลงตัวมาทำโครงการกับชนกลุ่มน้อยในครั้งนี้ แม้ว่าโครงการต่อไปพวกเขากำลังจะเริ่มโครงการใหม่กับโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีโจทย์ที่ท้าทายพวกเขาว่าจะสร้าง ความแตกต่างและน่าสนใจให้เกิดขึ้นจากการค้นหาความต้องการใหม่ๆ ในแหล่งที่มีความพร้อมและเจริญแล้วก็ตาม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|