|
น้ำท่วมปี 2011 ก้าวสำคัญของการเรียนรู้
โดย
พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ สื่อต่างๆ คงรายงานสถานการณ์น้ำท่วมกันอย่างชุลมุนวุ่นวาย ปรากฏการณ์น้ำท่วมครั้งนี้อาจจะมิใช่ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เมืองไทยเคยประสบมา แต่เป็นครั้งที่เสียหายมากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะได้แผ่ขยายวงกว้างออกไปทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมกันถึงสามสิบกว่าจังหวัด ความเสียหายมิใช่จะเกิดขึ้นแต่กับพื้นที่เกษตรกรรมและประชาชนทั่วไปอย่างที่เคยเป็นมา แต่ครอบคลุมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรม ถนนทางหลวงสายหลักและสายรองย่านพาณิชยกรรมในเมือง กล่าวได้ว่าเป็นอัมพาตไปหมดทุกภาคส่วน
อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง
น้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่มากับลมพายุ ลมพายุก็มาพร้อมกับฤดูกาล ปกติเมืองไทยต้องรับทั้งพายุจากลมมรสุมทางตะวันตก ซึ่งมักจะพัดเข้ามาจากทะเลจีนใต้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกันยายน และลมมรสุมทางตะวันออกซึ่งมาจากอ่าวไทยราวเดือนตุลาคมถึงมกราคม เราโชคดีที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมโดยตรง เพราะมีแผ่นดินของประเทศเพื่อนบ้านกำบังอยู่ ได้แก่ พม่า กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ประเทศเหล่านี้รับพายุไปเต็มๆ ก่อนที่จะเข้ามาถึงเมืองไทย และแล้วพายุหมุนหรือไต้ฝุ่นเหล่านั้นก็มักจะกลายเป็นดีเปรสชั่นที่นำฝนตกหนัก มาให้เมืองไทย
อย่างไรก็ตาม ลมพายุรุนแรงและจะเกิดบ่อยครั้งแค่ไหน รวมทั้ง น้ำท่วมจะอยู่ในระดับไหนนั้น ยังมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น โดยยังไม่มีผู้ชี้ชัดได้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด บางคนจึงเชื่อว่ามาจากเทพเทวดาทรงพิโรธ จากชะตากรรม จากการเปลี่ยนแปลงตามวัฏจักรที่เป็นธรรมดาของโลก จากกิจกรรมต่างๆ ที่ล่วงเกินธรรมชาติของมนุษย์ พอจะสรุปคร่าวๆ ได้ว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีอะไรบ้าง
- การปรวนแปรของสภาพภูมิอากาศโลกที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (จากการเผาผลาญเชื้อเพลิงเพื่อการพัฒนาของมนุษย์ทั่วโลก) ทำให้ฤดูกาล อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณฝนตก และระดับน้ำทะเลเปลี่ยนไป เป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่างๆ ติดตามมา
- การใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสม ในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลง การปกครองที่ประเทศไทยกลายเป็นประชาธิปไตย อำนาจการปกครองประเทศตกอยู่กับปวงชนชาวไทย ผู้บริหารปกครองทั้งที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาและที่ใช้กำลังแทรกตัวเข้ามา ซึ่งเรียกว่า “นักการเมือง” “นักรัฐประหาร” ก็ตั้งหน้าตั้งตาเข้ามาพัฒนาแบบกอบโกยผลประโยชน์กันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ที่ดิน ทรัพยากร ป่าไม้ ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างฟุ่มเฟือย ไร้ทิศทาง และไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนในชาติ แนวความคิดของการพัฒนาตาม แนวระบบทุนนิยมเสรีเพื่อเร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้ทำลายสภาพป่าไม้ คุณภาพของดินและสิ่งแวดล้อมลงไปอย่างมาก ที่ดินถูกนำมาใช้อย่างไม่เหมาะสมและผิดประเภท อาทิ ที่ดินที่สมบูรณ์ด้วยป่าไม้บนภูเขา เช่น วังน้ำเขียวถูกหักล้างเปลี่ยนมาเป็นไร่องุ่นและสถานที่ท่องเที่ยว ที่ดินน้ำท่วมถึงเหมาะกับเกษตรกรรมเช่นอยุธยาถูกเปลี่ยนมาเป็นนิคมอุตสาหกรรม ที่ดินหนองน้ำสำหรับรองรับน้ำหลากถูกถมเป็นสนามบิน ที่ดินปลูกผักและผลไม้รอบกรุงเทพฯ ถูกปล่อยให้มีบ้าน จัดสรรและถนนตัดผ่านเต็มไปหมด แทนที่สวนผักผลไม้และเครือข่ายคลองเล็ก คลองน้อยที่สวยงามและหล่อเลี้ยงกรุงเทพฯ อาจ มีผู้โต้แย้งว่า เราต้องก้าวให้ทันการเติบโตทางเศรษฐกิจสังคม แต่อย่างน้อยเราต้องพิจารณาอย่างรอบคอบให้สมดุล คิดถึงระยะยาวให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด บัดนี้ผลพวงต่างๆ ได้เริ่มปรากฏตัวขึ้นแล้ว และกำลังสร้างความระทมทุกข์ให้เราอย่างสาหัส
- ปรากฏการณ์เอลนินโญ่และลานินญาที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ปรากฏการณ์ทั้งสองมีอิทธิพลต่อฤดูกาลว่าจะเกิดฝนชุกหรือความแห้งแล้ง ปัจจุบันปี 2554 ประเทศไทยอยู่ในคาบอิทธิพลของลานินญา คือมีฝนตกชุก ในสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Global Climate Change) ที่เป็นอยู่ขณะนี้ วงจรการเกิดฝนและฤดูกาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกปรวนแปรไปในทางที่รุนแรงขึ้น ปริมาณฝนตกหนักจึงถาโถมเข้าใส่เมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้านชนิดตั้งตัวไม่ติด
- พื้นที่ตั้งของกรุงเทพฯ เป็นที่ลุ่มต่ำในทางภูมิศาสตร์ มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วม อยู่แล้ว การวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่จึงต้องทำให้เหมาะสมกับสภาพ คำนึงถึงจุดอ่อน จุดแข็ง แต่เท่าที่ผ่านมาภาครัฐ (และภาคการเมือง) มิได้คำนึงถึงความเป็นจริงข้อนี้และมุ่งหน้าตัดถนน ถมคลอง ถม ทะเล ขยายเมือง แทนที่จะวางผังเมืองรองรับการขยายตัวให้เหมาะสมกับขีดความสามารถของพื้นที่ เช่น จัดให้มี green belt และการระบายน้ำที่เป็นเครือข่ายที่ดี
วิกฤติครั้งนี้รุนแรงแค่ไหน
วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ รุนแรงแค่ไหน ถ้าจะพูดเป็นภาษาวิชาการ ก็ต้องอ้างอิงตัวเลขและหลักวิชาการ ผู้เขียนจึงจะขอยกความบางตอนจากข้อเขียนของ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ นักวิชาการด้านภัยพิบัติแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 2554 สรุปข้อมูลได้ว่า
- ปริมาณน้ำฝนภาคเหนือในปีนี้เพิ่มขึ้น 40% จากค่าเฉลี่ย ทำให้น้ำในเขื่อนต่างๆ เข้าขั้นวิกฤติ รวมตัวเป็นมวลน้ำผืนใหญ่ไหลลงมาสมทบพื้นที่ภาคกลาง ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า โดยรวมในช่วงสองสามปีนี้ ปริมาณน้ำฝนจะมีปริมาณ เพิ่มขึ้นราว 15% ของค่าเฉลี่ยรอบ 30 ปี
- แผ่นดินในกรุงเทพฯ ทรุดตัวลงปีละ 4 มิลลิเมตร
- ระดับน้ำทะเลฝั่งอ่าวไทยสูงขึ้น 1.3 เซนติเมตรต่อปี
- ภาพรวมระบบผังเมือง การเจริญเติบโตของเมืองทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่สีเขียวลดลงกว่า 50% เทียบกับเมื่อ 30 ปีก่อน กรุงเทพฯ เคยมีพื้นที่ชุ่มน้ำ 40% แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 20%
คาดว่าข้อมูลเหล่านี้อาจจะดิ้นไปได้ เมื่อมีการวิเคราะห์ประมวลผลมากกว่านี้
ถ้ามองในมุมต่าง ภัยน้ำท่วมครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดผลพวงในแง่บวกด้วย กล่าวคือ ได้เกิดนวัตกรรมและมิติใหม่ๆ ในหลายๆ ด้าน ซึ่งสร้างสรรค์ แม้จะมีการขัดแย้งกันบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วนับเป็นบทเรียนของการบริหารจัดการ การวิเคราะห์ และการปฏิบัติ มีความพยายามแก้ปัญหามากกว่าที่เคยเป็นมา มีการรับรู้ปัญหาและการมองอย่างเป็นรูปธรรมจากการใช้แผนที่ดาวเทียม มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันหลายฝ่าย รัฐบาลร่วมกับฝ่ายค้านและฝ่ายทหาร (แม้ในภายหลังจะขัดแย้งกันบ้าง ก็ตาม) สิ่งสำคัญที่ช่วยในการรับมือครั้งนี้ คือเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์จากดาวเทียมที่แสดงให้เห็นข้อมูลแบบ real time ที่แย้งไม่ได้ และการสื่อสารสมัยใหม่ผ่าน smart phones, cable TV, Google Earth, SMS รวมแล้วเมื่อถึงเวลาวิกฤติ เราก็สามารถนำสื่อเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างลงตัว
ภัยพิบัติครั้งนี้ แม้ว่าจะฉุกเฉินไม่ได้ มีการวางแผนล่วงหน้าเท่าที่ควร แต่ก็นับว่า ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีความพยายามและมุ่งมั่น สูง โดยเฉพาะการเปิดใจกว้างรับฟังปัญหา และร่วมมือกันแก้ไข ถึงจะยังไม่เหนียวแน่น และสอดคล้องกันเท่าที่ควร แต่ก็นับว่าเป็นก้าวแรกที่เริ่มต้นด้วยความพยายามที่จะบูรณาการ ซึ่งแต่ก่อนมีแต่การแก้ไขกันเป็นจุดๆ และตัวใครตัวมันแต่เพียงอย่างเดียว
ผลกระทบที่สืบต่อจากนี้รออยู่ข้างหน้า ขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึงมากนัก แต่ต่อไปอาจจะเป็นปัญหาที่หนักหน่วงยิ่งกว่าน้ำท่วมเสียอีก เช่น คนงานหลายแสนคนตกงาน ราคาพืชผลและอาหารจะแพง การลงทุนจะลดลง ฯลฯ ปัญหาดังกล่าวนี้และปัญหาที่ยังซ่อนตัวอยู่ จะแก้ได้ก็ด้วยการวางแผนอย่างรอบคอบและร่วมแรงร่วมใจกันทุกฝ่าย แต่ถ้ารัฐบาลยังดึงดันที่จะดำเนินนโยบายประชานิยมต่อไป ก็คงจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงเป็นแน่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|