|
รับมือน้ำท่วม กรณีศึกษาจากหาดใหญ่
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
เดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงเวลาที่ชาวหาดใหญ่จะตื่นตัวเป็นพิเศษ เพราะเป็นเดือนครบรอบน้ำท่วมใหญ่ถึง 2 ครั้ง สร้างความเสียหายทิ้งไว้รอบละไม่ต่ำกว่า 1-2 หมื่นล้านบาท ทั้งต่อระบบการค้าและทรัพย์สิน ครั้งแรกเมื่อปี 2543 และอีกครั้ง เมื่อปี 2553 เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นการฉลองครบรอบ 10 ปี หรือครบรอบปี ชาวหาดใหญ่ล้วนไม่อยากให้เกิดขึ้นจึงต้องตื่นตัวและเตรียมพร้อมอย่างไม่ประมาท
“ตอนปี 2543 ไม่ใช่น้ำท่วมใหญ่ครั้งแรก หาดใหญ่เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ที่เป็นที่จดจำของคนไทยทั้งประเทศก่อนหน้านั้นในปี 2531 ครั้งนั้นน้ำจากคลองอู่ตะเภาประมาณ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเอ่อล้นตลิ่งขึ้นมาท่วมเมือง เสียหายมหาศาลสำหรับพวกเรา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไว้ให้มีการขุดคลองเพื่อระบายน้ำเพิ่ม และทำแก้มลิงเพื่อตัดลดน้ำเป็นจุด แต่โครงการก็ยังไม่เกิด เวลาผ่านไป 12 ปี น้ำท่วมอีกครั้งตอนปี 2543 ปริมาณน้ำสูงถึง 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คลองอู่ตะเภาซึ่งรับน้ำได้เพียง 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีครึ่งเดียวของปริมาณ น้ำที่ไหลมา ย่อมรับไม่ไหวและเกิดเป็นความเสียหายในวงกว้างอีก”
ดร.ไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เท้าความถึงเหตุการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ที่ไม่เพียงคนหาดใหญ่เท่านั้น ที่จำได้ แต่คนทั้งประเทศก็ไม่ลืม
ก่อนหน้าน้ำท่วมหาดใหญ่ในแต่ละปี เหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางเป็นวงกว้างหลายจังหวัด เมื่อประเมินความเสีย หายทางเศรษฐกิจแล้วก็ยังเทียบไม่ได้กับความเสียหายของหาดใหญ่ซึ่งเป็นทั้งเมืองเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ และเป็นแหล่ง ท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวจากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านทางใต้อย่างมาเลเซียและสิงคโปร์จำนวนมากในแต่ละปี
“หาดใหญ่เป็นเทศบาลที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เป็นรองแค่กรุงเทพมหานครเท่านั้นในแง่ของการจัดเก็บรายได้ แต่เทศบาลมีรายได้จากการจัดเก็บและเงินอุดหนุนจากภาค รัฐปีละประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งเทียบไม่ได้กับ กทม.และน้อยกว่างบสนับสนุนของเมืองพัทยา ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวเหมือนกันแต่มีงบมากกว่าถึง 2-3 เท่าตัว ทั้งที่ประชากรและพื้นที่เราไม่ได้น้อยกว่า แต่สถานะทางเศรษฐกิจหาดใหญ่ดีกว่าด้วยซ้ำ ปีหนึ่งเรามีงบพัฒนาเพียงแค่ 80 ล้านบาท ที่ เหลือเป็นรายจ่ายประจำ ปีไหนน้ำท่วมจะไม่เหลือ งบประมาณสำหรับการพัฒนา”
ด้วยเหตุนี้หลังน้ำท่วมปี 2531 หาด ใหญ่ต้องรอให้เผชิญน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งในปี 2543 โครงการแก้ปัญหา น้ำท่วมหาดใหญ่ตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสหลังเหตุการณ์น้ำท่วม จึงได้รับการดำเนินงานหลังปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไปถึง 10 ปีจนเกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นก่อน
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสสรุปความว่า
“เหตุการณ์น้ำท่วมที่หาดใหญ่มีความเสียหายทั้งชีวิตคนและทรัพย์สิน ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ไม่ทันรู้ว่าน้ำมาอย่างไร ความจริง เคยไปหาดใหญ่แล้วและเคยชี้ว่าจะทำอย่างไร มีการสร้างสิ่งมาขวางกั้นทางน้ำ ถ้าไปดูทางด้านตะวันตกของเมืองจะพบว่า มีถนน พยายามทำขึ้นมาคล้ายพนังกั้นน้ำ แต่ไม่ได้รักษา ทางทิศเหนือมีถนนที่กำลังสร้างหรือสร้างใหม่ๆ ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นน้ำไม่ให้ไหลออกจากเมืองทำให้น้ำท่วมเมืองสูงถึง 2-3 เมตร ได้บอกมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้วไม่ให้สร้างถนนที่เป็นเขื่อนกั้นน้ำ”
เหตุการณ์ที่เกิดซ้ำเดิม ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน และ 19 ธันวาคม 2543 มอบหมายให้ดำเนินโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองหาดใหญ่ เพราะงบประมาณท้องถิ่นที่มีอยู่ จำกัด เทศบาลหาดใหญ่ย่อมไม่สามารถดำเนินโครงการนี้ได้ด้วยตัวเองลำพัง
การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหาดใหญ่มีการจัดลำดับความสำคัญของแผนงานทั้งในระยะเร่งด่วน ปานกลาง และระยะยาว โดยให้ลดแผนงานและโครงการที่ซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องออก แต่ก็ร่วมมือกันหลายฝ่ายทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานในการแก้ไขปัญหา ภายใต้การปรึกษาหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนป้องกันอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาแบบเบ็ดเสร็จ
แผนงานดังกล่าวกำหนดระยะเวลา ดำเนินการ 10 ปีพอดี คือระหว่างปี 2544-2553 ถูกทดสอบประสิทธิภาพหลังแล้วเสร็จทันที เพราะในเดือนครบรอบเหตุการณ์ น้ำท่วมปี 2543 ช่วงปลายเดือนตุลาคมต่อกับวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ดีเปรส ชั่นถล่มเข้าพื้นที่หาดใหญ่ มีปริมาณน้ำไหล บ่าสูงถึง 1,623 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำของระบบแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ทำไว้รองรับเพียง 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามสถิติสูงสุดของปริมาณน้ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมในรอบ 30 ปีของเมืองหาดใหญ่
แผนจากการประเมินเพื่อตั้งรับของมนุษย์ต่ำกว่าอัตราเร่งของธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึง
“ก่อนหน้าเหตุการณ์ปีที่แล้ว ในปี 2552 จะเห็นว่าเราเอาอยู่ น้ำไม่ท่วมเพราะ ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2543 เพียงเล็กน้อย แต่ปีที่แล้วเกินกว่าศักยภาพน้ำที่เรารับได้ถึง 700 ลูกบาศก์เมตร ถ้าจะให้รองรับได้เราต้องมีโครงการที่รองรับได้ถึง 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีหรือจะถึง 3,000 ก็ได้ แบบนั้นโอกาสที่น้ำจะท่วมหาดใหญ่อีกยากมาก และจะไม่ทำให้เกิดความสูญเสียครั้งละ 2 หมื่นล้าน แต่คงต้องใช้เงินลงทุนซึ่งผมก็ไม่ทราบว่างบประมาณจะเป็นเท่าไร”
ดร.ไพรกล่าวด้วยว่า ถ้าหากประเมินผลสำเร็จในการรับมือในปี 2553 ภายใต้เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น แม้จะมีมวลน้ำมากกว่า ระดับน้ำท่วมลึกและกินพื้นที่กว้าง กว่า แต่จากจำนวนวันที่น้ำท่วมขังและอัตราการลดลงของน้ำสามารถระบายได้เร็ว กว่าเดิม ในแง่วิศวกรรมจึงประเมินว่าประสบผลสำเร็จ แต่ในแง่ความเสียหายต่อ ทรัพย์สินและชีวิต น้ำท่วมหนึ่งวันหรือหลาย วันก็คือความเสียหายเหมือนกัน
“ภาพที่เราไม่ได้เห็นมา 10 ปี กลับมาให้เห็นอีก น้ำท่วมตั้งแต่ 2 เมตรถึง 4 เมตร แต่ท่วมประมาณวันสองวันแห้งหมด แห้งเพราะเรามีคลองระบายน้ำต่างๆ ที่ตัดลดน้ำออกไป ประกอบกับมีระบบการระบายน้ำที่ดี สามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไม่ให้ท่วมแช่ได้ เพราะท่วมแช่หนักๆ เสียหายมากๆ แล้วประชาชนจะอยู่ลำบาก”
ถ้าเทียบมูลค่าความเสียหายด้านเศรษฐกิจ ในปี 2543 มีผู้เสียชีวิตทั้งที่เป็นคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว มีรถยนต์เสียหาย 6,000 กว่าคัน คิดเป็นความเสียหายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศออกมา ประมาณ 16,000 ล้านบาท ปี 2553 ตัวเลขรถยนต์ที่เสียหายจากน้ำท่วมลดลงเหลือ 2 พันกว่าคัน หนึ่ง-เพราะน้ำท่วมแล้วลดเร็ว สอง-มีการประกาศเตือนภัยน้ำท่วมเป็นระบบก่อนหน้าหลายชั่วโมง คนที่ได้รับ ความเสียหายคือ กลุ่มคนที่ไม่เชื่อและไม่ยอมขนย้าย
“แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจปีที่แล้วที่ประเมินออกมาก็ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่น ล้านเท่ากับน้ำท่วมภาคกลางในแต่ละปีที่เกิดขึ้นเพราะเราเป็นชุมชนใหญ่เป็นเมืองพาณิชย์ไม่ใช่พื้นที่เกษตรกรรม”
การประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ได้คิดแค่ความเสียหายที่เกิดขึ้นตรงหน้า แต่ยังรวมถึงการลดศักยภาพของนครหาดใหญ่ ลดโอกาสในการลงทุน การสร้าง งาน ซึ่งเป็นความสูญเสียอีกหลายมุม แต่เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายครั้งก็แสดง ให้เห็นว่าคนหาดใหญ่กัดฟันสู้และสามารถ ฟื้นตัวได้ ทั้งที่นอกเหนือจากปัญหาน้ำท่วม ชาวหาดใหญ่ยังมีปัญหาเรื่องความไม่สงบเข้ามาก่อกวนบ้างเป็นครั้งคราวอีกด้วย
“คนหาดใหญ่สู้ แต่ก็มีข้อจำกัด ผมคุยกับประชาชน ผู้ประกอบการ ปี 2531 ก็หมดตัวทีแล้ว พอเริ่มฟื้นได้ ปี 2543 ก็หมดตัวอีก มาเจออีกทีปี 2553 ถ้าปีนี้ต้อง เจออีกเขาบอกว่าเขาไม่ไหวแล้ว บางคนอายุ 60-70 แล้ว ไม่มีปัญญาจะสู้ใหม่ ถ้าท่วมอีก คงหมดตัว นั่นคือเสียงสะท้อนของพี่น้องประชาชนที่ทำให้เราต้องทุ่มเทกับการวาง แผนและรับมือกับน้ำท่วม”
นี่คือเหตุผลว่างานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมยังเป็นภารกิจที่ต้องพัฒนาและวางแผน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนที่ต้องอยู่รอดปลอดภัยเป็นเดิมพัน
ลักษณะทางกายภาพของหาดใหญ่ ริมตลิ่งคลองอู่ตะเภาหรือแม่น้ำอู่ตะเภา ฝั่ง ซ้ายจะต่ำกว่าฝั่งขวาอยู่เมตรครึ่ง ซึ่งแสดง ว่าถ้าล้นฝั่งขวาฝั่งซ้ายจะท่วมไปแล้วเมตรครึ่ง ถ้าล้นฝั่งขวามาอีกเมตรหนึ่งฝั่งซ้ายก็สองเมตรครึ่ง และพอล้นฝั่งขวาเมื่อไรน้ำก็จะลงเข้าชุมชนทันที แล้วจะอ้อมเข้าเขต ใจกลางธุรกิจ ซึ่งไหลรอดผ่านช่องรางรถไฟ ซึ่งมีอยู่สองช่องใหญ่ๆ เข้าท่วมเมือง
หลังเหตุการณ์ปี 2543 เมื่อคณะรัฐบาลตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหาดใหญ่ขึ้นมาหนึ่งคณะ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะทำงาน แผนงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหลายโครงการที่เริ่มทำ ได้แก่ การขุดคลองระบายน้ำต่างๆ หรือที่เรียกว่าคลอง ร. มีการทำแก้มลิง มีการ ทำระบบระบายน้ำในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่และระบบ สูบน้ำออกจากเทศบาลนครหาดใหญ่ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง เพราะในปี 2543 น้ำท่วมขังในเมืองนานเป็นสัปดาห์มีระดับความลึกตั้งแต่ 2-4 เมตร
“เราต้องการปิดล้อมชุมชนไม่ให้น้ำล้นตลิ่งและไหลหลากมาท่วม น้ำท่วมหาดใหญ่ประกอบด้วยน้ำ 3 ส่วน หนึ่ง-น้ำจากฝนตกในพื้นที่ สอง-น้ำหลากจากบริเวณข้างเคียง และสาม-น้ำที่ล้นคลองอู่ตะเภา เราต้องปิดจุดอ่อนที่มี”
น้ำฝนเป็นเรื่องเหนือการควบคุม ส่วนน้ำหลากบริเวณใกล้เทศบาลมีเทือกเขา คอหงส์ซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่าเมืองมาก เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ฝนตกหนักน้ำจากเทือกเขา จะไหลออกไปหลายทางลงสู่คลองหลายสาย
“ถ้าไม่มีแก้มลิงคอยชะลดทดน้ำหรือตัดน้ำไว้น้ำจะไหลลงเข้าสู่เมืองทันทีเป็นวิกฤติใหญ่ เพราะน้ำไหลเร็วมากเพราะเทือกเขาคอหงส์ติดกับเทศบาลและติดกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ น้ำจากเขาคอหงส์ส่งผลโดยตรงต่อเมืองและซ้ำเติมด้วยน้ำที่ท่วมจากคลองอู่ตะเภา”
เทศบาลนครหาดใหญ่ เดินตามแนว ทางพระราชดำริ จัดทำแก้มลิงบริเวณเขาคอหงส์เพื่อทดน้ำจากเขาในฤดูน้ำ ก่อนจะค่อยๆ ปล่อยลงคลองคลองเรียน ผ่านคลองสามสิบเมตร เข้าคลองเตยซึ่งมีสถานี สูบน้ำใหญ่ แต่แก้มลิงแห่งนี้ก็มีข้อจำกัดตรงที่มีขนาดเล็กเพราะที่ดินแพง เทศบาลมีกำลังจัดซื้อได้เพียงบางส่วนจากราษฎรบางรายที่เห็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและยอมขายให้ในราคาถูก จากเดิมที่ต้องการรวบรวมที่ดินในบริเวณนี้ซึ่งมีจำนวนประมาณ 87 ไร่เพื่อทำแก้มลิงที่มีความจุน้ำได้ 1.2 แสนลูกบาศก์เมตรจึงเหลือแก้มลิงที่มีความจุเพียงครึ่งเดียว
“นอกจากเป็นแก้มลิง บริเวณเขาคอหงส์ยังให้ประโยชน์ในการใช้เป็นพื้นที่เพื่อทำสวนสาธารณะทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ลอยกระทง ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ด้วย”
น้ำปริมาณมหาศาลสำหรับหาดใหญ่ มีจุดสำคัญที่คลองอู่ตะเภา ซึ่งมาจากชายแดนไทย-มาเลเซียตั้งแต่อำเภอสะเดา เมื่อมีปริมาณน้ำฝนมากในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ปริมาณน้ำจำนวนมากที่เกิดขึ้นคือปัจจัยอันดับหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมจากคลองอู่ตะเภาซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเมืองเข้ามาซ้ำเติม
เดช ฤทธิชัย หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เทศบาลนครหาดใหญ่และกรมชลประทานอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระดับที่มีปริมาณน้ำอย่างน้อย 2,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาทีร่วมกัน ซึ่งมีอยู่หลายแนวทางแต่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นได้หรือไม่อยู่ที่งบประมาณและความเป็นไปได้หรือความยากง่ายในการจัดการ
“ในมุมของกรมชลประทาน วิธีที่เป็นไปได้มากสุด คือทำคลอง ร1 สายที่ 2 โดยเราพยายามไม่ให้น้ำเข้ามาในเมืองหาดใหญ่ ด้วยการตัดอ้อมไปเลย ผมมองว่าโครงการนี้มีความเป็นได้ง่ายเพราะแนวที่ดินที่จะต้องเวนคืนยังเป็นที่ชนบท การทำงานก็ง่าย เพราะการขุดคลองง่ายอยู่แล้ว ถ้าทำได้จริงคาดว่างบประมาณน่าจะประมาณ 6 พันล้านบาทแต่ไม่รวมค่าเวนคืน” เดชกล่าว
ส่วนอีกแนวทางที่ได้จากการศึกษาดูงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย คือการจัดทำอุโมงค์ยักษ์ ใต้คลอง ร1
“กรณีนี้ก็ทำได้เลยถ้ามีงบ อาจจะเป็นแสนล้านถ้าจะให้เป็นอุโมงค์ที่รถวิ่งได้ด้วยแบบมาเลเซีย เพราะปีหนึ่งน้ำท่วมจริงๆ ไม่เกิน 10 วัน 300 กว่าวันที่เหลือในหนึ่งปีก็เอามาให้รถวิ่ง ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เพราะใช้แนวคลองเดิม แต่ก็แพง หรือไม่ให้รถวิ่งแต่ไว้สต็อกน้ำสำหรับใช้เพราะเมือง หาดใหญ่ก็โตขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการใช้น้ำมากขึ้น อาจจะสต็อกได้ถึง 10 ล้านตัน ลูกบาศก์เมตร แนวคิดนี้ก็ต้องมาพิจารณาว่าทำแล้วคุ้มไหม ถ้าคุ้มก็น่าทำ เพราะในมาเลเซียที่เขาทำก็เป็นอุโมงค์ใหญ่ขนาด 15 เมตรรถวิ่งได้ด้วย”
ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่ไหนทั้งที่ดำเนินงานมาแล้วและแผนงานที่จะดำเนินการต่อไปสำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของเทศบาลนครหาดใหญ่ การทำงานจะเห็นผลได้ล้วนต้องเกิดจากความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมชลประทานเพราะคลองระบายต่างๆ ล้วนอยู่นอกพื้นที่เขตเทศบาลและดูแลโดยกรมชลประทาน คลองเหล่านี้คือหัวใจหลักในการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของเมือง รวมทั้งเป็นระบบเตือนภัยก่อนมาถึงเมือง และการร่วมมือกับเทศบาลใกล้เคียง
เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ไม่อาจขึ้นอยู่กับหน่วยงานใดหรือพื้นที่ใดเพียงจุดเดียว แต่ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง ในแง่ของการปฏิบัติการเมื่อภัยมาก็เช่นกัน
กรณีที่เกิดน้ำท่วมทางเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลจะเปิดศูนย์อำนวยการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยขึ้นมาทันที ใช้ที่ทำการเทศบาลเป็นศูนย์บัญชาการ และจะมีศูนย์อพยพต่างๆ ทั้ง 4 ศูนย์ของเทศบาลนครหาดใหญ่คอยรับเรื่อง คอยแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ ประกอบกับมีเจ้าหน้าที่ลงไปทำงานในพื้นที่ ทั้งกระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ ทั้งระบบป้องกันน้ำเท่าที่ทำได้ รวมทั้งเตรียมการในการที่จะจัดเตรียมข้าวสารอาหารแห้ง อุปกรณ์ยังชีพ น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค ถ่านไฟฉาย เพื่อช่วยพี่น้องประชาชนในยามวิกฤติ
“ทุกปีพอเดือนพฤศจิกายนมาถึงหรือปลายเดือนตุลาคมมาถึง พอฝนตกหนัก พวกเราไม่เป็นอันทำอะไรกันเลย พวกผมจะหยุดงานทุกอย่าง มาเฝ้าระวังน้ำท่วมหรือเปล่า จะช่วยอย่างไร ประชาชนก็นอน ไม่หลับ นักท่องเที่ยวก็ไม่มาแล้ว เขากลัวน้ำท่วม แล้วภาวะเช่นนี้ทำให้เทศบาลเราต้องใช้งบประมาณเท่าที่มีไประดมสรรพกำลังและอุปกรณ์เพื่อไปป้องกันแก้ไขน้ำท่วมหมด”
โครงสร้างการทำงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเทศบาลนครหาดใหญ่ จะมีนายกเทศมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และมีเจ้าหน้าที่ทั้งจากส่วนราชการระดับหัวหน้าส่วนและข้าราชการการเมืองร่วมเป็นกรรมการและทีมงานในตำแหน่งต่างๆ รวมกันเป็นทีม จากนั้นกระจายศูนย์ประสานงานไปตามเขต สำคัญให้ครอบคลุมพื้นที่ ใช้สถานที่ราชการ เช่น โรงเรียน เป็นศูนย์ประสานงานของแต่ละเขตพร้อมกับแต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานประจำเขต โดยเลือกผู้นำที่มีภาวะผู้นำจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ผู้อำนวยการสถานศึกษา หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่แต่ละเขต เป็นต้น เพื่อให้มีผู้ชำนาญและเข้าใจพื้นที่เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพและดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว
แผนการดำเนินงานป้องกันน้ำท่วมของเทศบาลนครหาดใหญ่ที่พัฒนาแล้วนอกเหนือจากคลองระบายต่างๆ และการพัฒนาแก้มลิง เรื่องของระบบต่างๆ ยังมีการจัดตั้งสถานีตรวจวัดปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำ 13 แห่งรอบเมือง มีสถานีหลักติดตั้งที่สำนักงานชลประทานที่ 16 มีการส่งข้อมูลตรวจวัดระดับคลื่นวิทยุ VHF มีระบบทำหน้าที่ติดตามและรวบรวมข้อมูล ปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำในลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาซึ่งเป็นคลองหลักในการระบายน้ำ และมีการออกแบบการทำงานเพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลตรวจวัดของกรมอุตุนิยม วิทยา เพื่อให้แนวทางที่ได้เหมาะสม สอด คล้องกับบริบทของสังคมที่ทำให้การปฏิบัติงานได้ผลและรวดเร็ว
บทสรุปของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หาดใหญ่ที่ยกมา คงพอจะทำให้เห็นภาพได้ว่า การจะจัดการกับน้ำก้อนใหญ่ให้ได้ผลไม่ให้กลายเป็นอุทกภัย ต้องเริ่มตั้งแต่ศึกษาบทเรียน แม่นข้อมูล เข้าใจบริบทของสังคมและพื้นที่ แบ่งความรับผิดชอบดูแล ประสานงานให้ราบรื่น รู้จุดอ่อน เพื่อให้ การคาดการณ์ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด และตั้งรับได้อย่างได้สมบูรณ์แบบ ขณะที่ภาคประชาชนก็ต้องให้ความร่วมมือ เพื่อเห็นแก่ส่วนรวม เพราะหากไม่มีคิดแต่จะเอาตัวเองรอดอาจจะไม่มีใครรอดสักคน เพราะจะทำให้การวางแผนตั้งรับเต็มไปด้วยช่องโหว่แทนที่จะทำให้เกิดการวางแผนที่สมบูรณ์
ส่วนสิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ก็คือ ก่อนจะจัดการและบังคับน้ำได้นั้น ต้องทำความเข้าใจลักษณะและธรรมชาติของน้ำในพื้นที่ ให้ดีเสียก่อน เพื่อหาจุดพัก วิธีลดและสร้าง ทางให้น้ำไหลไปตามธรรมชาติ โดยให้เกิด ผลกระทบต่อมนุษย์น้อยที่สุด
และนั่นคือการเข้าใจเพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล เพราะคงยากที่มนุษย์จะดันทุรัง และรับมือด้วยการต่อสู้ด้วยวิธีที่ฝืนธรรมชาติของน้ำ ซึ่งไม่มีใครเคยทำได้สำเร็จ และรังแต่จะสร้างความเสียหายที่เกินเยียวยา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|