ท่อสินค้าไทยเข้าพม่าจากเหนือจรดใต้

โดย เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

หากนับจุดผ่านแดนถาวรไทย-พม่า ตลอดแนวตั้งแต่เหนือจรดใต้จะมีเพียง 3 จุดคือ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในไทย-ท่าขี้เหล็ก ในพม่า, อ.แม่สอด จ.ตาก ในไทย-เมียวดีในพม่า และ อ.เมือง จ.ระนอง ในไทย-เกาะสอง ในพม่า แต่ในความเป็นจริง การค้าระหว่างไทย-พม่าเกิดขึ้นผ่านช่องทางชายแดนต่างๆ ในพื้นที่ 7 จังหวัดของไทย คือ แม่ฮ่องสอน (ด่านศุลกากรบ้านห้วยผึ้ง อ.เมือง) เชียงราย (ด่านศุลกากรแม่สาย) เชียงใหม่ (ด่านศุลกากรเชียงดาว) ตาก (ด่านศุลกากรแม่สอด) กาญจนบุรี (ด่านศุลกากรสังขละบุรี) ประจวบคีรีขันธ์ (ด่านศุลกากรบ้านสิงขร) และระนอง (ด่านศุลกากรระนอง)

ส่วนชายแดนด้าน จ.ราชบุรี เพชรบุรี และชุมพร นั้น ที่ไม่ปรากฏการค้าขายระหว่างกัน เนื่องจากพรมแดนที่ติดต่อกันกับพม่าเป็นพื้นที่ป่า ไม่มีชุมชนอาศัยอยู่

ทั้งนี้ สินค้าไทยจะถูกลำเลียงผ่านเส้นทางคมนาคมที่สำคัญคือ เส้นทางการค้าระหว่างแม่สอด-เมียวดี-ท่าเรือชายฝั่งเมาะละแหม่ง (ระยะทาง 150 กม.) ก่อนต่อไปยังกรุงย่างกุ้ง ระยะทาง 310 กม. ถนนสายนี้สามารถเชื่อมต่อไปยังบังกลาเทศ อินเดีย หรือต่อขึ้นไปทางเหนือถึงมัณฑะเลย์-ลาเฉียว-ชายแดนมูเซ/ลุ่ยลี่ หรือยุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองฯ เต๋อหง-นครคุนหมิง มณฑลหยุนหนันของจีน

(อ่าน “สาละวิน ลุ่มน้ำแห่งความหวังที่กว้างใหญ่ นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกันยายน 2553 และเรื่อง”เต๋อหง ช่องทางสินค้าจีนที่ไทยไม่อาจมองข้าม” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือแบบให้เปล่า พัฒนา เส้นทางจากเชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่าฝั่งเมืองเมียวดี จนถึงเชิงเขาตะนาวศรี ระยะทาง 17.35 กม. มูลค่า 122.9 ล้านบาท

ล่าสุด ในโอกาสที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย เดินทางไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามร่วมกันที่จะดำเนินการพัฒนาถนนสายนี้ต่อจากเชิงเขาตะนาวศรี-เมืองกอกะเร็ก ระยะทางประมาณ 27-28 กม. มูลค่าการก่อสร้าง 872 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางอินดู-พะอัน หรือผาอัน-ท่าตอน เชื่อมโยงเข้ากับถนนคอนกรีตเดิมที่สามารถขยายได้ในอนาคต ไปจนถึงกรุงย่างกุ้ง

รวมถึงการลงนามที่จะซ่อมแซมสะพานมิตรภาพไทย-พม่าข้ามแม่น้ำเมยที่ชำรุดมาหลายปีแล้วด้วย

(อ่านเรื่อง “แม่น้ำเมย: ลำน้ำหมื่นล้าน” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

นั่นหมายถึงโอกาสที่ด่านเมียวดีถูกทางพม่าสั่งปิดมาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2553 จะได้รับการคลี่คลายในโอกาสอันใกล้นี้ด้วย

ถ้าหากเส้นทางสายนี้ได้รับการพัฒนาจะทำให้สินค้าไทยที่ส่งผ่านช่องทางแม่สอด-เมียวดีเข้าถึงกรุงย่างกุ้งได้ภายในเวลาวันเดียว ก่อนจะกระจายไปยังเครือข่ายการค้าทั่วประเทศ โดยเฉพาะในหัวเมืองทางภาคใต้ของพม่าที่มีย่างกุ้งเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าโดยภูมิศาสตร์มาช้านานแล้ว

นอกจากนี้ยังสามารถส่งสินค้าต่อจากย่างกุ้งขึ้นไปถึงมัณฑะเลย์-มูเซ-คุนหมิงที่อยู่ห่างออกไป 2,020 กม. หรือย่างกุ้ง-ตามู 1,200 กม.

โดยพม่ามีเส้นทางรถไฟรองรับอยู่ในบางพื้นที่ รวมระยะทางกว่า 40,007 กม. โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง และเส้นทางสายหลักคือ ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ ระยะทาง 716 กม. ที่ถือเป็นเส้นทางรถไฟที่ได้มาตรฐานที่สุดของพม่าในขณะนี้

ในอนาคต ทางจีนก็มีโครงการที่จะพัฒนาเส้นทางรถไฟจากคุนหมิง-ลุ่ยลี่-มูเซ-ลาเฉียวเข้ามาเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟของพม่าด้วย โดย U Moe Kyaw เลขาธิการสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศพม่า (UMFCCI) ยืนยันว่าจีนสนใจที่จะพัฒนาเส้นทางรถไฟสายนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานในระดับรัฐบาล แต่ก็มีการส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจเบื้องต้นแล้วเช่นกัน

อีกเส้นทางหนึ่งที่ถือเป็นช่องทางส่งสินค้าเข้าพม่าที่ค้าขายกันมานาน คือเส้นทางจากเชียงราย-เชียงตุง เชื่อมต่อเข้าตองยี-มัณฑะเลย์ หรือขึ้นเหนือไปยังเชียงรุ่ง สิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน (เส้นทาง R3b)

ซึ่ง “มัณฑะเลย์” เป็นเหมือนศูนย์กลางการกระจายสินค้าในพื้นที่ภาคเหนือของพม่าอยู่ด้วย

(อ่าน “R3b เส้นทางที่ต้องมีพี่เลี้ยง” นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

นอกจากนี้ยังมีการค้าผ่านช่องทางชายแดนจังหวัดระนอง-เกาะสอง ที่เป็นจุดผ่านแดนถาวร และมีช่องทางเข้าออกหลายจุดคือ ท่าเทียบเรือสะพานปลา ต.นางริ้น อ.เมือง ระนอง, ปากน้ำระนอง ต.ปากน้ำ อ.เมือง ระนอง และท่าเทียบเรือของบริษัทอันดามันคลับ ต.ปากน้ำ อ.เมือง ระนอง

อนาคตอันใกล้ ไทย-พม่ายังมีโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม เส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือ-จังหวัดกาญจนบุรี (ถนน รถไฟ สายส่งไฟฟ้า และท่อก๊าซ-น้ำมัน เชื่อมต่อระหว่างเมืองทวายกับชายแดนไทย-พม่า ที่บ้านน้ำพุร้อน จ.กาญจนบุรี) ซึ่งรัฐบาลพม่าได้ทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ร่วมกับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ

โครงการนี้จะเป็นการเชื่อมโยงข่าย Economic Corridor ระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยที่สามารถลดระยะเวลาการขนส่งและพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.