|

เมื่อสัญลักษณ์ “ทุนนิยม” เริ่มปรากฏให้เห็นในพม่า
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
1 ปีหลังผ่านการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบ 20 ปี พม่าเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่เพียงเฉพาะมิติทางการเมืองระหว่างประเทศที่ต้องการแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยแล้วเท่านั้น แต่ในมิติเศรษฐกิจ สัญลักษณ์ และแนวคิดที่อิงกับระบบ “ทุนนิยม” ได้ปรากฏอยู่ในตัวเมืองและนักธุรกิจของพม่าแล้วเช่นกัน
หลายสิบปีที่ผ่านมา สังคมโลกรู้จัก สหภาพพม่า (Union of Myanmar) หรือชื่อใหม่ “สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์” (The Republic of Union of Myanmar) อดีตอาณานิคมอังกฤษ ผ่านมุมมองสื่อตะวันตกในฐานะประเทศที่มีรัฐบาลเผด็จการทหารปกครอง มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ฯลฯ
แน่นอน การสร้างภาพที่เลวร้ายให้พม่าจากสื่อตะวันตกเช่นนี้ สาเหตุหนึ่งคือ พม่าเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรประมาณ 60 กว่าล้านคน อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ จำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นที่หมายปองจากประเทศตะวันตก เพียงแต่ระบอบการปกครองที่เข้มงวดของรัฐบาลเผด็จการ ในช่วงที่ผ่านมาปิดกั้นโอกาสให้ประเทศเหล่านี้ เข้าไปตักตวงผลประโยชน์ จากจุดเด่นของพม่าจึงเป็นแรงสะท้อนกลับเพื่อบีบให้พม่าเปิดประเทศ
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่พม่ายังปกครอง ด้วยระบอบเผด็จการ ข้อมูลข่าวสารที่ถูกปล่อยออกมาจากประเทศนี้มีไม่มากนัก ดังนั้นสังคมโลกส่วนใหญ่จึงรับรู้แต่เนื้อหาที่ถูกปล่อยออกมาจากสื่อตะวันตกเพียงด้านเดียว
ไม่รู้เลยว่า แท้จริงแล้วภายในพม่า นั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร
โลกเริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่เปิดเผยของพม่า ภายหลังการเลือกตั้ง ใหญ่ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนปีที่แล้ว (2553) และเริ่มตระหนักรู้แล้วว่า พม่ากำลังผ่อนคลายความเข้มงวดที่เคยใช้ในระหว่างที่ถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการขึ้นมาทีละนิด ทีละนิด
มีการปล่อยตัวออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายต่อต้านที่ถูกจำกัดบริเวณอยู่ในบ้านมา นานปี และเริ่มเปิดโอกาสให้เธอออกมามีบทบาทในสังคมมากขึ้น
มีการยกเลิกการบล็อกเว็บไซต์ข่าวหลายสำนัก รวมถึงเว็บไซต์ยูทูบ เพื่อให้ประชากรของพม่าสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้กว้างขวางขึ้น
เริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เปิดโอกาสให้แรงงาน ชาวพม่ามีสิทธิมีเสียงมากขึ้น
การที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของพม่า ตัดสินใจยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนมิตโสนบนแม่น้ำอิรวดี มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ เพราะเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบ ในวงกว้าง ทั้งต่อประชากรและทรัพยากรของประเทศ ทั้งๆ ที่การตัดสินใจเช่นนี้มีผลกระทบต่อความรู้สึกของจีนที่เคยเป็นมิตรประเทศกับพม่ามาช้านาน
ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นท่าทีผ่อนคลายในมิติทาง การเมืองระหว่างประเทศ เพื่อแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า ณ วันนี้ พม่าเป็นประเทศประชาธิปไตยแล้วเท่านั้น
แต่ความเปลี่ยนแปลงที่บ่งบอกมิติในเชิงเศรษฐกิจและธุรกิจ ยังปรากฏออกมาให้เห็นไม่ชัด
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว พม่าและนักธุรกิจของพม่าได้มีความปรับตัว พัฒนา ตัวเองเพื่อเตรียมพร้อมรับกับเศรษฐกิจระบบทุนที่ต้องตามเข้ามาภายหลังการเลือกตั้งใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้มาระดับหนึ่งแล้ว
โดยเฉพาะในเมือง “ย่างกุ้ง” อดีตเมืองหลวงที่ปัจจุบัน ดำรงบทบาทเป็นเมือง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ
ผู้จัดการ 360 ํ เป็นนิตยสารฉบับหนึ่ง ซึ่งให้ความสำคัญกับพม่ามาโดยตลอด โดยเฉพาะการเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลง ของประเทศนี้ ในมิติเศรษฐกิจและธุรกิจ เพราะเชื่อว่าพม่าเป็นประเทศตัวแปรสำคัญ ต่อการก่อกำเนิดประชาคมอาเซียน (AEC) ที่จะเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม ในปี พ.ศ. 2558
(อ่าน “พม่า จุดเปลี่ยนอาเซียน?” เรื่องจากปกนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
จากการเดินทางเข้าไปยังเมืองย่างกุ้งครั้งล่าสุด เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราได้พบความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในมิติทางธุรกิจที่ปรากฏขึ้นในเมืองแห่งนี้
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่บ่งบอกสัญญาณว่าประเทศที่เคยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการมาช้านานแห่งนี้ได้เตรียมพร้อมแล้วที่จะเปิดประเทศ เพื่อรับกับเศรษฐกิจระบบทุน
พฤติกรรมของผู้คนในย่างกุ้ง เริ่มเปิดรับกับวิถีชีวิตในระบบทุนนิยมแล้ว...
“ย่างกุ้ง” อดีตเมืองหลวงของพม่าวันนี้ ยังคงความเป็นเมืองศูนย์กลางของประเทศ ตามภูมิศาสตร์ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นจุดกระจายสินค้าไปสู่ภาคต่างๆ ของประเทศ มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคมากกว่าเมืองอื่นๆ ของพม่า
หลังการโยกย้ายส่วนราชการสำคัญออกจากเมืองย่างกุ้งไปยังเนปิดอ เมืองหลวง แห่งใหม่ ย่างกุ้งในวันนี้เริ่มถูกปรับแต่งพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรม การบริโภคของผู้คน ที่ก่อนหน้านี้เคยถูก “เคอร์ฟิว” มาอย่างยาวนาน
ในอดีตคนพม่านิยมดื่มชาร้อนมากกว่ากาแฟ ดื่มได้ทั้งเช้า บ่าย เย็น ขณะที่พวกเขามองว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มสำหรับคนเจ็บไข้ได้ป่วย แต่บัดนี้ ณ ใจกลางนคร ย่างกุ้ง เริ่มมีร้านเบเกอรี่ ร้านกาแฟสุดหรู เกิดขึ้นแล้ว
รายงานการศึกษาของศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ระบุว่า ขณะนี้มีกาแฟสำเร็จรูปจำหน่ายในตลาดพม่าไม่ต่ำกว่า 15 ยี่ห้อแล้ว
ร้านค้าปลีก-ค้าส่งทันสมัยในรูปแบบ โมเดิร์นเทรดได้เกิดขึ้นให้เห็นในย่างกุ้งแล้ว ทั้ง Capital Hypermarket หรูหรากลางเมือง รวมถึง GANDAMAR Wholesale ศูนย์ค้าส่ง-ค้าปลีกที่เครือข่ายคนในอำนาจรัฐพม่าเพิ่งลงทุนเปิดขึ้นบริเวณชานกรุงย่างกุ้งราว 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้
ไม่รวมอาคารร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตรูปแบบทันสมัยที่เกิดขึ้นตาม 2 ฟากฝั่งถนนทุกเส้นทาง การปรับปรุง-ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ รูปทรงทันสมัย ปรากฏให้เห็นทุกย่านการค้าสำคัญของเมือง
ราคาที่ดินในย่างกุ้งพุ่งขึ้นหลายเท่าตัวหลังพม่ามีการเลือกตั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี โดยปัจจุบันที่ดินชานเมืองย่างกุ้ง มีการซื้อขายสิทธิ์กันที่ไร่ละกว่า 10 ล้านบาท
U Aung Win ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมประเทศพม่า (UMFCCI) บอกว่าพม่ามีเสถียรภาพมากขึ้นและกำลังจะเปิดประเทศ ทุกด้านกำลังจะดีขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา หรือ Asian Corridor รวมถึงจีนก็กำลังทำอยู่ โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุนที่พยายามที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น โดยส่วนหนึ่งก็เรียนรู้จากพัฒนาการในประเทศไทย
U Moe Kyaw เลขาธิการ UMFCCI บอกว่าระบบการเมืองในพม่าเริ่มเปลี่ยนแปลง เพียงแต่โครงสร้างพื้นฐานอาจจะยังไม่ดีเหมือนประเทศอื่น ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เหมือนประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Grater Mekong Sub-Region: GMS) เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) หรือธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (JBIC) ยังไม่ได้เข้ามาให้การสนับสนุนเท่าที่ควร
“อย่าง ADB ก็ไม่ได้เข้ามาในพม่ามากในระยะที่ผ่านมา เพราะอเมริกาคุมอยู่ ซึ่งถ้าดูกลุ่มประเทศตามแนว EWEC หรือ East-West Economic Corridor จะเห็นชัดว่าประเทศอื่นๆ ทั้งเวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย ล้วนได้รับการสนับสนุนหมด แต่พม่ามีเข้ามาน้อยมาก”
U Moe Kyaw บอกอีกว่า อย่างไรก็ตาม วันนี้พม่าเริ่มดีขึ้นแล้ว หลายประเทศ กำลังจะเข้ามา อย่างในไทย เราเห็นมีบริษัทญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนจำนวนมาก ในอนาคตกลุ่มทุนญี่ปุ่นเหล่านี้ก็สามารถมาลงทุนในพม่าได้ เมื่อการเมืองพม่าดีขึ้น ระบบสาธารณูปโภคได้รับการพัฒนาขึ้น
เขาย้ำว่า รัฐบาลรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชนมากขึ้น เราสามารถเสนอความเห็นต่อรัฐบาลว่า ควรจะแก้ไขหรือปรับปรุง กฎระเบียบเรื่องไหนที่จะเอื้อต่อการพัฒนา การค้าการลงทุนได้มากกว่าเดิมมาก
ซึ่งกรณีนี้มีรูปธรรมชัดเจนก็คือการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์สหภาพพม่า ฉบับที่ 9/99 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 1999 ที่เคยห้ามนำเข้าสินค้า 15 รายการ (เดิมเคยมีประกาศฉบับที่ 5/98 ลงวันที่ 20 มีนาคม 1998 กำหนดรายการสินค้าที่ห้าม นำเข้าด้านชายแดน 10 รายการสินค้า) ประกอบด้วยผงชูรส น้ำหวาน เครื่องดื่ม (Soft drink) ขนมปังกรอบทุกชนิด (Biscuits) หมากฝรั่ง ขนมเค้ก ขนมเวเฟอร์ ช็อกโกแลต อาหารกระป๋อง (เนื้อสัตว์และผลไม้) เส้นหมี่ทุกชนิด เหล้า เบียร์ บุหรี่ ผลไม้ทุกชนิด ผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับใช้ในครัวเรือนและเครื่องใช้ส่วนตัวทุกชนิด สินค้าต้องห้ามอื่นๆ ที่มีกฎหมายปัจจุบันห้ามนำเข้า เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่าน มา เป็นต้น
Wah Wah Htun ประธานสภาธุรกิจสตรีแห่งสหภาพเมียนมาร์ (Myamar Woman Entrepreneur Association) ที่มีเครือข่ายสมาชิกทั่วประเทศกว่า 1,500 ราย และเป็นกรรมการ UMFCCI ให้ความเห็นว่า พม่ามีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก ทั้งประมง อาหาร ผลไม้ อัญมณี ป่าไม้ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ฯลฯ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่ถูกเปิดออกสู่สายตาชาวโลกอีกมหาศาล
หลังพม่ามีรัฐบาลใหม่จนถึงขณะนี้เริ่มทำให้เศรษฐกิจของพม่ามีเสถียรภาพมากขึ้น มีพัฒนาการด้านการเมืองมากขึ้น เช่น กรณีของออง ซาน ซูจี ถือเป็นหนึ่งในการเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของพม่า
Wah Wah บอกอีกว่า นอกจากนี้อุปสรรคด้านการค้าการลงทุนที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ ก็ลดลงไปมาก เช่น กรณีที่นักลงทุนต่างประเทศต้องการเข้ามาลงทุนในพม่า หากมูลค่าการลงทุนเกินกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าเตรียมเอกสารทุกอย่างพร้อมสมบูรณ์ 100% ปัจจุบันจะได้รับการเซ็นอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับภายในวันเดียวเท่านั้น
“ภาคเอกชนของพม่าก็เริ่มมีบทบาทในการกำหนดนโยบายของประเทศมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากอดีต”
อภิรัฐ เหวียนระวี เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง บอกกับผู้จัดการ 360 ํ ที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ภายหลังเดินทางมามอบของช่วยเหลือแก่ทางการพม่าเมื่อปลายเดือนกันยายนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่าในตอนนี้ถือว่าดีมาก ด่านฯ แม่สอด-เมียวดี ที่ปิดมานานกว่า 1 ปีก็มีแนวโน้มที่จะเปิดในเร็ววันนี้ ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 23 กันยายน รัฐบาลพม่าได้เปิดรับให้ไทยเข้าไปช่วยซ่อมแซมถนนในฝั่งจังหวัดเมียวดีแล้ว ซึ่งหมายถึงการเปิดให้ไทยเข้าไปในเมียวดีได้แล้วนั่นเอง
ขณะที่กรุงย่างกุ้งถือได้ว่าพม่าเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอีกมากมาย โดย สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ได้จัดสัมมนาเรื่องลู่ทางการค้าและการลงทุน ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน ซึ่งได้รับความสนใจ จากนักลงทุนไทยเดินทางไปร่วมจำนวนมาก และธนาคารไทยพาณิชย์ก็ตกลงในหลักการที่จะเข้าไปเปิดสำนักงานตัวแทนในพม่า ในอนาคตอันใกล้นี้
“วันนี้ เราเดินเที่ยวในย่างกุ้งได้อย่างสบายใจมาก ไม่ต้องกังวลเรื่องอาชญากรรม เพราะกฎหมายของเขาที่นั่นแรงมาก”
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย เพิ่ง เดินทางเยือนพม่า ซึ่งโอกาสนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ลงนามพัฒนาเส้นทางต่อจากเมียวดี-กอกะเร็ก ส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor; EWEC) ด้วย
(อ่าน “East-West Economic Corridor ประตูฝั่งตะวันตกที่รอการเปิด” นิตยสาร ผู้จัดการ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2551 และเรื่อง “มิงกลาบา: เมียวดี” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)
ที่สำคัญ นอกจากในปี 2556 พม่าจะมีโอกาสได้ขึ้นเป็นประธานอาเซียนแล้ว ในอีก 2 ปีข้างหน้า คือปี 2557 พม่าจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ นั่นหมายถึงโอกาสที่จะพม่าจะโปรโมตประเทศครั้งใหญ่ เปิดมิติใหม่รับการค้าการลงทุน และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้มากขึ้น
แน่นอน นั่นหมายถึงสัญญาณการแข่งขันช่วงชิงตลาดที่มีผู้บริโภค 57.5 ล้านคน ซึ่งไทยเคยมีมูลค่าการค้าอยู่ในระดับ 50,000 ล้านบาท/ปี และมีโอกาสที่จะถูกช่วงชิงจากประเทศคู่ค้ารายอื่นได้ทุกเมื่อ
ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นและช่วงชิงโอกาสที่กำลังจะเปิดขึ้นอย่างเต็มตัวแห่งนี้ได้ดีกว่ากัน เพราะตลาดพม่าอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|