ความประทับใจของแขกผู้มาเยือน ย่อมมาจากน้ำใจของเจ้าบ้าน

โดย ชาญ เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

การแข่งขันรักบี้โลก (Rugby World Cup 2011) ของประเทศนิวซีแลนด์ในเดือนกันยายน-ตุลาคม ปีนี้เป็นเหตุการณ์ที่ผู้ประกอบการธุรกิจนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวยินดีมาก เพราะปี พ.ศ.2554 เป็นปีที่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของนิวซีแลนด์วิกฤติที่สุดปีหนึ่งเลยก็ว่าได้ หลังจากนิวซีแลนด์เจอจัดหนักจากแผ่นดินไหวใหญ่ 7.1, 6.3, และ 6.0 ริกเตอร์ที่เมืองไครส์เชิร์ช ถึง 3 ครั้งติดกันในระยะเวลาแค่ 9 เดือน ทำให้มีการเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่เมืองหนึ่งโดนแผ่นดินไหวหนักๆ ถึง 3 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึงปี แถมแผ่นดินไหวยังลามไปที่เกาะเหนือ เมืองใหญ่ๆ อย่างเวลลิงตัน โอ๊กแลนด์ ทำให้ผู้คนขวัญผวากันทั้ง 2 เมือง แถมยังมีแผ่นดินไหวใกล้ๆ ทะเลสาบเทาโป สถานที่พักผ่อนตากอากาศที่เกาะเหนือถึง 6.3 ริกเตอร์ หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่ไครส์เชิร์ชครั้งที่ 3 ไม่นาน

รัฐบาลนิวซีแลนด์ต้องกู้เงินต่างชาติมาซ่อมแซม ความเสียหายจากแผ่นดินไหวกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรแค่ 4 ล้านคนอย่างนิวซีแลนด์ หนี้ขนาดนี้ถือว่าสูงมากแถมเศรษฐกิจปีนี้ยังฝืดเคืองสุดๆ อีก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจหรอกครับ เพราะหลังจากแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งแรกที่เขตเมืองไครส์เชิร์ชก็มีอาฟเตอร์ช็อกไม่หยุด จนถึงวันนี้เมืองไครส์เชิร์ชเจออาฟเตอร์ช็อกไปแล้ว 7,500 ครั้ง ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี แบบที่เรียกว่าจะกำลังทำงาน ขับรถ นอนหลับกำลังฝัน แม้กระทั่งเข้าห้องน้ำอยู่ ก็มีแผ่นดินสะเทือนให้เสียวเล่นแบบไม่เลือกเวลา ความแรงตั้งแต่ 3 ไปจนถึง 5.5 ริกเตอร์ แผ่นดินไหว เมื่อไหร่ใครกำลังนอนหลับก็ไม่แย่มาก อย่างมากก็สะดุ้งตื่นเพราะกลิ้งตกเตียงแล้วนอนไม่หลับทั้งคืน แต่ถ้าใครกำลังอ้าปากให้หมอกรอฟันอยู่แล้วเจอไหว 5.5 ริกเตอร์ ก็ปากแหกไปละกัน

ขนาดคนนิวซีแลนด์ยังเสียวกันขนาดนี้ ฉะนั้น ไม่ต้องห่วงว่านักท่องเที่ยวจะไม่ผวายิ่งกว่า จำนวนนักท่องเที่ยวมานิวซีแลนด์ปีนี้ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจครับ ใครล่ะอยากจะมาเดิน ชมเมืองแล้วเจอแผ่นดินไหวอิฐกระเด็นตกใส่หัวให้แตกเล่น ขนาดโรงแรมลดราคาที่พักกันถูกสุดๆ นักท่องเที่ยวก็ยังโหรงเหรง ส่วนใหญ่มีแต่พวกขี้เหนียวแต่กล้าบ้าบิ่น ยอมเสี่ยงตายดีกว่าจ่ายแพง ซึ่งก็มีไม่มากนัก แถมพวกนี้รับไปก็แทบไม่ได้กำไรอีกด้วย ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวดีใจนักที่จะมีการแข่งรักบี้โลกในปีนี้ เพราะนั่นหมายความว่าจะต้องมีแฟนรักบี้เดินทางมานิวซีแลนด์กันมากมายในเวลา 2 เดือนที่มีการแข่งรักบี้ โลกนี้ โรงแรมที่เคยว่างก็จะต้องเต็ม ราคาที่เคยยอมลด ถูกสุดๆ คราวนี้จะเล่นตัวให้หนำใจ

ซึ่งก็เป็นอย่างที่คาดไว้ โรงแรมที่เคยยอมขายถูกแบบไร้ยางอายต่างก็เปลี่ยนมาโก่งราคาสุดๆ แบบ ไร้ยางอายแทนกันหมด ในช่วงการแข่งขันรักบี้โลก ยิ่งโรงแรมใกล้ๆ กับสนามแข่งในเขตอีเดนปาร์ค เมือง โอ๊กแลนด์นั้นขึ้นราคาค่าห้องกระฉูด ในช่วงการแข่งขัน โรงแรมบอนด์สตรีท เป็นหนึ่งในโรงแรมในเขตอีเดนปาร์ค ซึ่งเดินแค่ 5 นาทีก็ถึงสนามแข่งแล้ว เมื่อรู้ว่า การแข่งรักบี้จะมีช่วงไหน โรงแรมนี้ก็ตัดสินใจขึ้นราคา ห้อง 1000% จากที่เคยลดสะบั้นช่วงแผ่นดินไหวแค่อาทิตย์ละ 278 ดอลลาร์ต่อห้อง ก็ขึ้นราคาเป็นคืนละ 350 ดอลลาร์ต่อห้องทันทีแบบไม่กลัวโดนด่าแม่ เพราะใกล้สนามแข่งขนาดนี้ ยังไงก็ต้องเต็มแน่ โดนด่าแม่ ดีกว่าอดกอบโกย

ปัญหาคือโรงแรมนี้ตัดสินใจขึ้นราคาช้าไปหน่อย คือเพิ่งจะตัดสินใจเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ฉะนั้นในเดือนกุมภา พันธ์ หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่โรง แรมทั่วประเทศต่างลดราคากระฉูดเพื่อเรียกลูกค้า ก็มีแฟนรักบี้ชาวอังกฤษอายุ 19 ปี คือคีแรน ลีนกับแฟนสาวจองห้องมา 3 อาทิตย์ในช่วงรักบี้โลกในราคาอาทิตย์ละ 278 ดอลลาร์ทางอินเทอร์เน็ตและจ่ายเงินมัดจำ เรียบร้อยได้รับอีเมลยืนยันการจองห้องในวันที่ 8 มีนาคม

ฉะนั้นเมื่อเจ้าของโรงแรมตัดสินใจจะโก่งราคา 10 เท่าในเดือนกรกฎาคม จึงเกิดอาการช็อก เมื่อเห็นว่ามีการ ยืนยันการจองห้องกับเด็กหนุ่มสาว 2 คนนี้ในราคาโปรโมชั่นลดสะบั้นหั่นแหลกช่วงแผ่นดินไหว เจ้าของโรงแรม ไม่รอช้า รีบติดต่อนายลีนทันทีว่าค่าห้องช่วงรักบี้โลกนั้นคืนละ 350 ดอลลาร์ ถ้าคุณไม่จ่าย 350 ดอลลาร์ต่อคืน เราจะยกเลิกการจองของคุณ ซึ่งนายลีนก็ได้แต่อึ้ง เพราะ เขาไม่มีเงินจ่ายค่าห้องราคาแพงขนาดนั้น

แต่จริงๆ แล้วตามกฎหมาย การทำสัญญาตกลงซื้อขายนั้นประกอบด้วยการเสนอซื้อ หรือเสนอขาย (Offer) และจบด้วยการตกลงรับข้อเสนอ (Acceptance) ฉะนั้น การที่นายลีนติดต่อโรงแรมไปว่าเขาจะพัก 3 อาทิตย์ นั่นก็คือการเสนอซื้อและการที่โรงแรมส่งอีเมลกลับมายืนยันการจองห้องก็เป็นการตกลงรับข้อเสนอ และสัญญานี้ก็เป็นอันตกลงกันเรียบร้อยแล้ว และยังมีเงินมัดจำของนายลีน เป็นหลักฐานยืนยันอีกชั้นอีกถึงเจตนาผู้เสนอซื้อว่าจะมาพักแน่ๆ ฉะนั้น การที่โรงแรมบอนด์สตรีททำแบบนี้ก็แปลว่า ผิดสัญญา นายลีนมีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะเรียกร้องให้โรงแรมจ่ายส่วนต่างของค่าห้องที่เหลือ หากเขาไม่สามารถ หาที่พักราคาเดียวกันได้ ฉะนั้น สมมุติว่าหากนายลีนหาที่พักที่ราคาถูกสุดราคาอาทิตย์ละ 500 ดอลลาร์ โรงแรมบอนด์สตรีทจะต้องจ่าย 222 ดอลลาร์ที่เหลือ เพราะนี่เป็นค่าเสียหายที่นายคีแรนต้องจ่ายเพิ่มจากการที่โรงแรมบอนด์สตรีทยกเลิกสัญญา

แต่แน่นอนครับ ถึงตามกฎหมายนายลีนได้เปรียบ แต่เด็กอายุ 19 จะมีเงินที่ไหนไปจ้างทนาย และจ่ายค่าตัดสินคดีในศาล ซึ่งแพงหูฉี่ นายลีนจึงปรึกษานางลีน แม่ของเขาว่าจะทำอย่างไรดี นางลีนก็เป็นแค่แม่บ้านธรรมดาๆ แถมยังพิการอีก ไม่มีเงินอะไรจะให้ลูกไปสู้คดี เธอจึงตัดสิน ใจเขียนจดหมายหาหนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์ เฮอรัลด์ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของนิวซีแลนด์ เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง ซึ่งหลังตรวจสอบหลักฐานแน่ชัดหมดแล้วว่าเป็นเรื่องจริง จึงนำเรื่องนี้ไปลงข่าวทันที

หลังเรื่องนี้เป็นข่าวไปทั่วประเทศ ชาวนิวซีแลนด์หลายคนก็ตกใจมากกับการกระทำของโรงแรมบอนด์สตรีท และเห็นใจนายลีนกับแฟนเขามาก มีชาวนิวซีแลนด์กว่า 65 คนติดต่อหนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์เฮอรัลด์ทันที ว่าพวกเขามีห้องว่างที่บ้าน ยินดีจะให้นายลีนกับแฟนมาพักในช่วงรักบี้ในราคาถูก หรือบางคนก็ให้อยู่ฟรีๆ เลยด้วยซ้ำ มีชาวนิวซีแลนด์หลายคนถึงกับโทรไปหานางลีนถึงอังกฤษเพื่อเสนอให้ลูกชายของเธอกับแฟนสาวมาอยู่บ้านพวกเขาได้เลยตอนมาดูรักบี้โลก และขอโทษกับการกระทำของโรงแรมบอนด์สตรีทแทนคนนิวซีแลนด์ทั้งประเทศด้วย

ในบรรดาชาวนิวซีแลนด์ที่เสนอความช่วยเหลือที่น่า สนใจ คือผู้หญิงแม่ม่ายเสนอว่าหนุ่มสาวคู่นี้มาอยู่บ้านเธอ ได้ เธออยู่กับลูกสาวและหมาแก่ๆ ตัวหนึ่ง มีสามีภรรยา คู่หนึ่งเสนอว่าทั้งสองมาอยู่บ้านเขาได้ฟรีๆ เลย และจะมีอาหารให้และจะขับรถไปส่งหนุ่มสาวคู่นี้ถึงสนามเลยด้วย และยังมีนายบิล มีด พ่อม่ายวัย 76 ปี ซึ่งอยู่บ้านคนเดียว เสนอว่าทั้งสองสามารถมาอยู่กับเขาได้เลยตลอดการแข่งขัน สามารถใช้ครัวทำอาหารได้แต่เขาไม่มีแรงจะทำอาหาร ให้หรอก เพราะแก่มากแล้ว และสองคนนี้อยากจะจ่ายเขา เท่าไหร่ก็ได้ แล้วแต่ทั้งสองจะเห็นเหมาะสม เมื่อถูกถามว่า ทำไมถึงเสนอความช่วยเหลือ นายบิลตอบว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับสองคนนี้ทำลายชื่อเสียงประเทศนี้ ผมไม่ต้องการให้คนนิวซีแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าภาพที่ใช้ไม่ได้”

แน่นอนว่าพอนายลีนกับแม่เขาเจอแบบนี้เข้าไป ก็ซาบซึ้งมากกับน้ำใจของชาวนิวซีแลนด์ที่เห็นใจชาวต่างชาติ และต้องการปกป้องชื่อเสียงของประเทศเขา นางลีน บอกหนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์เฮอรัลด์ว่าลูกชายกับแฟนของเขา “ยิ้มไม่หุบตลอดทั้งวัน” และทั้งสอง “ยิ้มกว้างถึงขนาดว่าถ้ากว้างกว่านี้อีกนิด หน้าพวกเขาจะต้องแตกเป็นเสี่ยงๆ แน่”

คนนิวซีแลนด์ต่างคอยดูว่านายลีนกับแฟนเขานี่ จะเลือกพักที่ไหน เพราะข้อเสนอที่ได้รับนี่มีเยอะมาก และข้อเสนอแบบที่พักฟรีเลยก็ยังมี บางที่ก็เป็นที่พักหรูในเขตเศรษฐี เช่น อพาร์ตเมนต์ในเขต Viaduct Harbour ซึ่งเป็นย่านของคนมีเงินที่นิยมการเล่นเรือ มีท่าจอดเรือยอชต์ใหญ่โต ซึ่งเด็กวัยรุ่นอายุ 19 ที่ไม่ใช่ลูกคนมีเงินอย่างนายลีน เห็นข้อเสนอก็น่าจะตาลุกแล้วรีบรับข้อเสนอทันที เพราะกว่าจะเรียนจบทำงานแล้วเงินเดือนเพิ่มจนสูงพอที่จะอยู่แบบหรูหราขนาดนี้ได้ ก็คงอีกหลายปี

เป็นเรื่องน่าแปลกที่สุดท้าย นายลีนกับแฟนสาวของเขาก็เลือกที่จะอยู่โรงแรมราคาถูก ชื่อ Abacus Unitel ซึ่งเป็นโรงแรมที่ห้องพักเล็กๆ ครัวและห้องซักผ้าต้องใช้รวม แบบสไตล์ยูธโฮสเทล (Youth Hostel) ค่าที่พักอาทิตย์ ละ 240 ดอลลาร์ นายลีนบอกหนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์เฮอรัลด์ว่า เขาตื้นตันมากที่ชาวนิวซีแลนด์ห่วงใยเขาและเสนอความช่วยเหลือให้เขาขนาดนี้ แต่เขาไม่ต้องการจะไปอยู่ที่ไหนฟรีๆ ให้เป็นภาระใคร และเขาเก็บที่อยู่และเบอร์ติดต่อของผู้ที่เสนอความช่วยเหลือให้เขาไว้หลายคน และเขาจะต้องหาโอกาสนัดพบคนพวกนี้หลายคนเพื่อทำความรู้จักและขอบคุณพวกเขาเมื่อเขาและแฟนมาถึงนิวซีแลนด์ให้ได้ เรื่องนี้จึงจบลงด้วยดี ความผิดหวังและเสียใจในตอนแรกที่ถูกเบี้ยวสัญญา เลยกลายเป็นความประทับใจ เพราะความมีน้ำใจของชาวนิวซีแลนด์ที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลืออย่างไม่คาดฝัน

เมื่อผมอ่านเรื่องนี้จบ ผมก็อดไม่ได้ที่จะภูมิใจถึงความมีน้ำใจและความช่วยเหลือของคนไทยที่มีกับชาว ต่างชาติในเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 7 ปีก่อนที่นักท่องเที่ยว หลายคน ถึงจะประสบเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน บางคนถึงกับเสียสมาชิกในครอบครัว แต่ถึงจะตกใจและเสียใจกับเหตุการณ์ในตอนแรก แต่ความรู้สึกนั้นก็กลับกลายเป็นความประทับใจและตื้นตันกับน้ำใจและความช่วยเหลือของคนไทยที่มีให้พวกเขา มีเรื่องราวเกี่ยวกับความมีน้ำใจของคนไทยต่อชาวต่างชาติในเหตุการณ์สึนามิลงข่าวไปทั่วโลก และประเทศไทยกลับมีนักท่องเที่ยวมากขึ้นอีกหลังจากเหตุการณ์นี้ เพราะชื่อเสียงความมีน้ำใจของคนไทยสร้าง ความประทับใจให้ชาวต่างชาติมากมาย

แต่ผมก็ไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้ว่าเมืองไทยเองก็ยังมีปัญหาการต้มตุ๋น โกง หรือเอาเปรียบนักท่องเที่ยวที่ต้องแก้ไข เป็นเรื่องปกติที่คนไทยจะได้ยินข่าว นักท่องเที่ยวถูกโกง ข่าวเร็วๆ นี้เกี่ยวกับการต้มตุ๋นก็มีเช่น จ่ายค่าห้องออนไลน์แล้วมาถึงไม่มีโรงแรมที่ว่านั้นจริง หรือว่านักท่องเที่ยวถูกเรียกค่าบริการในอัตราที่แพงกว่าปกติ และอื่นๆ อีกมาก แน่นอนครับ ผมเชื่อว่าหากนักท่องเที่ยว ที่ถูกต้มตุ๋นจากการจ่ายเงินให้โรงแรมที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง มาถึงเมืองไทยแล้วไม่มีที่พัก ไม่มีเงิน แล้วไปให้ข่าวหนังสือ พิมพ์แบบนายลีน จะต้องมีคนไทยยื่นมือให้ความช่วยเหลือ เขามากมายอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะความมีน้ำใจของคนไทยเอง และความต้องการปกป้องชื่อเสียงประเทศชาติ แต่นักท่องเที่ยวไม่ได้เป็นแบบนายลีนทุกคน หลายคนเมื่อประสบเหตุการณ์ไม่ประทับใจ ก็ไม่มาออกข่าวให้คนไทยรู้หรอก แต่จะเก็บความไม่พอใจนั้นไว้กลับไปบอกเพื่อน ร่วมชาติของพวกเขา ซึ่งเมื่อเขากลับไปถึงประเทศเขา มันก็สายเกินไปแล้วที่เราจะมีโอกาสแก้ตัว เปลี่ยนความไม่พอใจของเขาเป็นความประทับใจ และคนไทยส่วนใหญ่ที่ซื่อสัตย์ จริงใจ และมีน้ำใจ ก็จะต้องได้รับผลกระทบจากการกระทำของคนกลุ่มน้อยที่ไม่คิดถึงผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศชาติ เสียผลประโยชน์ในอนาคตไปพอสมควรอย่างน่าเสียดาย

ผมจึงอยากให้มีการบังคับใช้กฎหมายและกำหนด บทลงโทษอย่างจริงจังในการปราบปรามและลงโทษการกระทำไม่ซื่อสัตย์หรือเอาเปรียบนักท่องเที่ยว เพื่อรักษาชื่อเสียงในระยะยาวของประเทศ ผมเชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างมากทีเดียว และด้วยความมีน้ำใจ อัธยาศัยไมตรีของชาวไทยส่วนใหญ่ ประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศที่ต่างชาติให้ความนิยมมากขึ้นอย่างแน่นอน และผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากความประทับใจของต่างชาติที่มีต่อเมืองไทยก็ไม่ใช่ใคร ก็คือพวกเราชาวไทยด้วยกันเอง

อ้างอิง:
- J Finn, “The Phenomena of Agreement”, from J Burrows, J Finn, and S Todd, “Law of Contract in New Zealand (3rd ed, 2007)”, Wellington, Lexisnexis NZ.
- N Jones, “Cup bed stoush: Couple lose lodging”, 8 Jul 2011, The New Zealand Herald, http://msn.nzherald.co.nz/business/news/article.cfm?c_id=3&objectid=10737080 (accessed on 31 Jul 11).
- N Jones, “Offers flood in for ousted couple”, 9 Jul 2011, The New Zealand Herald, http://msn.nzherald.co.nz/nz/news/article.cfm?c_id=1&objectid=10737386&ref=rss (accessed on 31 Jul 11).
- N Jones, “Cheated pair find new room”, 27 Jul 2011, The New Zealand Herald, http://msn.nzherald.co.nz/nz/news/article.cfm?c_id=1&objectid=10741063 (accessed on 31 Jul 11).


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.