เสน่ห์ Samsung


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

Samsung ถือเป็นโมเดลบริษัทใหม่จากเอเชีย แต่ความสำเร็จอันน่าทึ่งของ Samsung กลับยากจะลอกเลียนแบบ

บรรดาผู้ก่อตั้ง chaebol (กลุ่มบริษัท) ของเกาหลีใต้ เป็นกลุ่มคนที่มีความมุ่งมั่นทะเยอทะยานสูง เห็นได้จากชื่อที่พวกเขาเลือกมาตั้งให้บริษัทของตัวเอง Daewoo แปลว่า “จักรวาลอันยิ่งใหญ่” Hyundai แปลว่า “ยุคแห่งความทันสมัย” และ Samsung แปลว่า “สามดาว” มีความหมายโดยนัยว่า ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่และจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์

Samsung เริ่มต้นด้วยการเป็นธุรกิจบะหมี่เล็กๆ ในปี 1938 ตั้งแต่นั้นมาก็ขยายตัวกลายเป็นเครือข่ายบริษัท 83 แห่งที่มีสัดส่วน 13% ของการส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้ “พริกที่เผ็ดร้อน” ที่สุดในชามกิมจิของ Samsung คือ Samsung Electronics ซึ่งเริ่มต้น ด้วยการผลิตวิทยุทรานซิสเตอร์ แต่บัดนี้ กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อวัดจากยอดขาย Samsung ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์มากกว่าบริษัทอื่นใดในโลกนี้ และกำลังจะแย่งตำแหน่งผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในโลกมาครองจาก Nokia

จึงไม่แปลกที่ใครๆ ต่างก็อยากจะรู้ความลับเบื้องหลังความสำเร็จของ Samsung จีนถึงกับส่งคนไปศึกษาว่า อะไรที่ทำให้ Samsung ประสบความสำเร็จ เหมือนที่เคยส่งคนไปศึกษาระบบราชการของสิงคโปร์ที่ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์มีประสิทธิภาพสูงสำหรับใครหลายคน Samsung เป็นเหมือนบริษัทต้นแบบของ “โมเดลใหม่ของทุนนิยมแห่งเอเชีย” ที่ไม่สนการเดินตามโมเดลทุนนิยมตะวันตกแบบดั้งเดิม

Samsung แผ่ขยายธุรกิจครอบคลุมหลายสิบอุตสาหกรรม ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย ตั้งแต่ไมโครชิปไปจนถึงประกันภัย แต่ยังคง เป็นบริษัทครอบครัวที่ควบคุมโดยตระกูลเดียว และยังมีการบังคับ บัญชาแบบลำดับขั้น ให้ความสำคัญกับส่วนแบ่งตลาดมากกว่าผลกำไร และมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่คลุมเครือและสับสน แต่ Samsung ก็ยังคงเป็นบริษัทที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างน่าอัศจรรย์ มีเพียง IBM บริษัทเดียวที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรมากกว่า Samsung ในอเมริกา Samsung สามารถแซงหน้าบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นต้นแบบที่ Samsung เคยเลียนแบบมาก่อน อย่างเช่น Sony ได้ Samsung กำลังจะกลายเป็น “General Electric (GE) แห่งเอเชีย” GE เป็นกลุ่มบริษัทของสหรัฐฯ ที่ได้รับความชื่นชมยกย่องอย่างสูง จากบรรดากูรูด้านการบริหารจัดการ

หนึ่งในสิ่งที่น่านิยมของ Samsung คือ ความอดทน บรรดา ผู้บริหารของ Samsung คิดถึงการเติบโตในระยะยาวเป็นหลัก มากกว่าผลกำไรระยะสั้น Samsung เก่งในการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้แก่พนักงาน เป็นบริษัทที่รู้จักคิดในเชิงยุทธศาสตร์ สามารถ มองเห็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต และกล้าที่จะวางเดิมพันสูงลิ่วในตลาดเหล่านั้น

เดิมพันใหญ่ๆ ทั้งหมดที่ Samsung Electronics วางลงในการผลิต DRAM chip, จอ LCD และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ล้วนแต่ ให้ผลตอบแทนกลับคืนมาสู่ Samsung อย่างงดงาม และภายในทศวรรษข้างหน้านี้ Samsung มีแผนจะวางเดิมพันใหญ่อีกครั้ง ด้วยการทุ่มลงทุน 20,000 ล้านดอลลาร์ ใน 5 ธุรกิจใหม่ที่ Samsung เป็นน้องใหม่ แผงเซลล์สุริยะ หลอดประหยัดไฟ LED อุปกรณ์การแพทย์ ยาชีววัตถุ (biotech drug) และแบตเตอรี่ที่จะเป็นแหล่งพลังงานแทนน้ำมันในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และรถ “สีเขียว” อื่นๆ

แม้ธุรกิจใหม่ทั้งห้าดูแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ Samsung ยังคงกล้าพนันด้วยเดิมพันสูงลิ่ว ด้วยความมั่นใจว่า ธุรกิจทั้งห้ามี 2 สิ่งที่เหมือนกันคือ ล้วนเป็นธุรกิจที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกฎเกณฑ์ในด้านสิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ หลอด LED และรถยนต์ พลังงานไฟฟ้า ประการที่ 2 คือ จะมีความต้องการซื้อเพิ่มสูงขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ในอุปกรณ์การแพทย์และยาชีววัตถุ Samsung ได้เปรียบในเรื่องของเงินทุนที่มีอย่างเหลือเฟือ ซึ่งทำให้ สามารถทุ่มการผลิตในปริมาณมากได้ อันจะช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลง Samsung หาญตั้งเป้าหมายว่า จะสามารถทำยอดขายได้ถึง 50,000 ล้านดอลลาร์จาก 5 ธุรกิจใหม่นี้ ภายในปี 2020 หรืออีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ในขณะที่ Samsung Electronics ก็จะยังคงมียอดขายทั่วโลกในระดับ 400,000 ล้านดอลลาร์

จีนมีเหตุผลที่ทำให้ปลื้มกับโมเดล chaebol มากกว่าใคร chaebol เจริญรุ่งเรืองได้ในระยะแรก สาเหตุหลักเป็นเพราะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลเผด็จการ แม้ว่า Samsung จะไม่ค่อยเป็นที่โปรดปรานของบรรดานายพลผู้ปกครองเกาหลีใต้ในขณะนั้นเท่าใดนักก็ตาม ธนาคารถูกกดดันให้อัดฉีดสินเชื่อดอกเบี้ย ถูกให้แก่บรรดา chaebol เพื่อกระตุ้นให้ chaebol ทำธุรกิจใหม่ๆ นับสิบอย่าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักอย่างการต่อเรือและอุตสาหกรรมใช้แรงงานอื่นๆ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ขอให้ชาวเกาหลีใต้เก็บออมเงินมากกว่าใช้จ่าย เกาหลีใต้จึงเติบโตกลายเป็นมหาอำนาจส่งออกอย่างรวดเร็ว

รัฐบาลจีนเองได้วางแผนระยะยาวที่จะผ่องถ่ายเงินสดเข้าส่งเสริมอุตสาหกรรมที่จีนเห็นว่า มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ และทำงานร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างใกล้ชิด อย่างเช่น Huawei และ Haier จีนดูจะเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การแทรกแซงของรัฐ คือเส้นทางไปสู่การคิดค้นสุดยอดนวัตกรรมที่จะหยุดโลกได้และ Samsung ก็คือหลักฐานสนับสนุนความเชื่อนั้นของจีน

แต่นั่นอาจเป็นความเชื่อที่ผิด ประการแรก ความเจริญรุ่งเรืองของเกาหลีใต้ มิได้เกิดจากการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางมากอย่างที่จีนเข้าใจและไม่เกี่ยวกับการมีรัฐบาลเผด็จการเลย เกาหลีใต้ขณะนี้เป็นประชาธิปไตย และดูจะมีความสุขมากกว่า ยุคเผด็จการ ประการที่ 2 ระบบ chaebol ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ ต่อประเทศเกาหลีใต้ มากเท่าที่จีนคิด แม้ว่าความสำเร็จของ Samsung อาจชวนให้คิดเช่นนั้นก็ตาม สินเชื่อดอกเบี้ยถูกที่รัฐบาล ช่วยสนับสนุนกลายๆ ให้ chaebol ได้รับนั้น แม้จะช่วยสร้างบริษัท ที่สุดยอดอย่าง Samsung Electronics และ Hyundai Motors ให้เกิดขึ้นมา แต่ก็สร้างความล้มเหลวและเสียหายอย่างหนักด้วยเช่นกัน ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินเอเชียระหว่างปี 1997-1998 ครึ่งหนึ่งของ chaebol ชั้นนำ 30 แห่งของเกาหลีใต้ต้องถึงกาลล่มสลาย เพราะการขยายธุรกิจอย่างไม่ระมัดระวัง กระทั่ง Daewoo “จักรวาลอันยิ่งใหญ่” ยังถึงกับสิ้นชื่อ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ปกป้อง chaebol แย้งว่า วิกฤติการเงิน เอเชียกระตุ้นให้ chaebol ต้องปฏิรูปตัวเอง ทำให้ไม่กู้เงินมากเกินไปหรือขยายธุรกิจมากเกินไปอีก และไม่ใช้เงินกู้ที่ได้มาง่ายๆ อย่างสุรุ่ยสุร่ายอีกต่อไป Samsung Electronics ก็มีแผนจะใช้เงินสดๆ ของตัวเองทุ่มลงทุนขยายธุรกิจใหม่ โดยไม่พึ่งเงินกู้ กระนั้นก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ก็ยังคงเบียดแย่งที่ของธุรกิจขนาดเล็ก อดีตผู้บริหารใหญ่ของ Samsung Electronics เตือนว่า เกาหลีใต้มีไข่มากเกินไป แต่อยู่ในตะกร้าที่มี อยู่น้อยใบเกินไป และแม้ว่าเกาหลีใต้จะปฏิรูปการเมืองมานาน 10 ปีแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง chaebol กับรัฐบาลก็ยังคงใกล้ชิดกันมากเกิน ประธานาธิบดี Lee Myung-bak ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารของ Hyundai อภัยโทษให้แก่ผู้บริหาร chaebol หลายสิบคน ที่มีความผิดฐานก่ออาชญากรรมทางธุรกิจ

Samsung เป็นบริษัทที่น่าชื่นชมและเต็มไปด้วยความสำเร็จที่น่าศึกษา ไม่เพียงเฉพาะสำหรับบริษัทในเอเชียเท่านั้น แต่ Samsung ก็ไม่ได้ทำทุกอย่างถูกต้องเสมอไป (ตอนนี้ยังมีใครใช้รถ Samsung บ้าง) และความสำเร็จของ Samsung ก็ใช่จะเลียนแบบ ได้โดยง่าย การที่ Samsung มีความอดทนสูง มีความกล้าและเข้มแข็ง เป็นเพราะตระกูลเจ้าของบริษัทและผู้ก่อตั้งที่ล่วงลับไปแล้วคือ Lee Byung-chull ต้องการให้ Samsung เป็นเช่นนั้น การ มีอำนาจควบคุมบริษัทของตระกูล Lee ถูกรับประกันด้วยโครงสร้าง การถือหุ้นไขว้กันระหว่างบริษัทต่างๆ ในเครืออย่างสลับซับซ้อน สภาพเช่นนี้จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ตราบเท่าที่ Samsung ยังมีผู้บริหารที่ชาญฉลาดอย่างผู้ก่อตั้งและบุตรชายของเขา Lee Kun-hee ประธานบริหาร Samsung คนปัจจุบัน แต่หากหลานปู่ ที่ถูกวางตัวให้เป็นทายาทสืบทอดอำนาจลำดับต่อไป ล้มเหลวในการพิสูจน์ความสามารถก็จะเป็นการยากที่ผู้ถือหุ้นของ Samsung จะปลดเขาออกจากตำแหน่งเหมือนกับที่ GE, Sony หรือ Nokia

แม้ Samsung จะเป็นบริษัทที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีทันสมัยมากมาย แต่เรื่องราวของ Samsung ก็เป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่ เรื่องราวของบริษัทที่มีการบริหารโดยครอบครัวเป็นอย่างดี มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งและเน้นการเติบโตระยะยาว โดยใช้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลยอมโอนอ่อนผ่อนตาม Samsung เป็นตัวอย่างโมเดลบริษัทใหม่แห่งเอเชีย เพียงแต่จงอย่าไปคาดหวังให้บริษัทต้องรักษาความเจริญเติบโตในระดับนี้ตลอดไป

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง European Commission


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.