กองเรือดัตช์เยือนไทยนโยบาย GUN BOAT DIPLOMACY ยุคใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ในยุคที่ประเทศตะวันตกตระเวนล่าอาณานิคมทั่วโลก วิธีเริ่มต้นมักจะใช้การติดต่อค้าขายกับชนเผ่าพื้นเมือง ควบคู่ไปกับการขอเผยแพร่ศาสนาและค่อยใช้วิธีการต่าง ๆ นานา เพื่อหาทางปกครองดินแดนใหม่ในที่สุด

กรณีที่ผู้ปกครองพื้นเมืองต้อนรับด้วยความเป็นมิตรก็ไม่สู้มีปัญหา แต่หากไม่ต้อนรับก็ต้องใช้การบังคับโดยอาศัยแสนยานุภาพของกองทัพเรือ เนื่องจากบรรดานักล่าอาณานิคมไม่ว่าจะเป็นสเปน ฮอลแลนด์ โปรตุเกส อังกฤษ ล้วนแต่เป็นเจ้าทะเลในยุคนั้นทั้งสิ้น ก็เลยมีการบัญญัติศัพท์การใช้กำลังบังคับด้วยกำลังทางทะเลนี้ว่านโยบาย GUN BOAT DIPLOMACY

การใช้นโยบาย GUN BOAT DIPLOMACY ที่โด่งดังที่สุดก็ในรายของกองเรือสหรัฐฯ ที่มีพลเรือตรีจัตวาแมทธิว ซี. เปรรี่ ใช้เรือกลไฟแล่นเข้าไปในอ่าวเมืองเอโดะของญี่ปุ่นโดยพลการ และยื่นข้อเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเปิดการค้ากับสหรัฐฯ ในปี 2396 ทำให้ญี่ปุ่นต้องเปิดประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกกับชาติตะวันตก

และเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2529 ที่ผ่านมา กองเรือรบของประเทศเนเธอร์แลนด์ (ฮอลแลนด์หรือดัตช์) จำนวน 4 ลำ ก็ได้แล่นเข้ามาเทียบท่าเรือคลองเตยตรงหน้าที่ทำการการท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่การมาครั้งนี้ต่างกันราวฟ้ากับดินเมื่อเทียบกับการแล่นเรือเข้าญี่ปุ่นของพลเรือจัตวาเปรรี่ แม้จะมีจุดมุ่งหมายทางด้านการค้าเหมือนกัน

กองเรือรบเนเธอร์แลนด์ครั้งนี้ประกอบไปด้วยเรือธงเดอรุยเตอร์ เรือแวนคินส์เบอร์เจน เรือแจนแวนเบรเคิลและเรือคาลเลนเลิร์ต ซึ่งเป็นเรือรบขนาดกลางทั้งสิ้น และจอดเทียบท่าเรือคลองเตยทั้งหมด 4 วัน ก่อนที่จะเดินทางไปยังเมืองท่าเซี่ยงไฮ้ นางาซากิ ปูซาน ฮ่องกง สิงคโปร์ ปีนัง จาการ์ตา สุราบายา และเซเชลล์ ตามลำดับ

พลเรือตรีแจน แวน เรนีซ แถลงต่อสื่อมวลชนของไทยเมื่อเวลา 15.30 น.ของวันที่ 1 มีนาคมว่า การปฏิบัติการของกองเรือรบเนเธอร์แลนด์ครั้งนี้ใช้ชื่อว่า "แฟร์วินด์'86 โดยเป็นการกำหนดโครงการร่วมกันระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการค้าต่างประเทศ

"นอกเหนือจากการแล่นเรือเพื่ออวดธงของกองเรือประเทศของเราแล้ว เรายังต้องการให้ประเทศต่าง ๆ ได้เห็นคุณภาพของอุตสาหกรรมนาวีของชาวดัตช์ ตลอดจนความเชี่ยวชาญด้านการต่อเรือ การออกแบบ และซ่อมเรือ ความเชี่ยวชาญด้านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ทางทะเลซึ่งจะมีบริษัทต่าง ๆ จะมาจัดนิทรรศการให้ชมบนเรือแวนคินส์เบอร์เจน" พอเรือตรีแจน แวน เรนีซ กล่าว ตามหมายกำหนดการ พอเรือตรี แวน เรนีซ มีกำหนดการเข้าพบพลเรือเอกนิพนธ์ ศิริธร ผู้บัญชาการกองทัพเรือวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2529 จึงมีผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเจรจาเรื่องการซื้อขายอาวุธหรือไม่ ผู้บังคับการกองเรือเนเธอร์แลนด์ตอบว่าจะไม่มีการพูดคุยกันเรื่องนี้อย่างแน่นอน และเรื่องที่คุยกันก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับกองเรือแต่ละฝ่ายเท่านั้น

ที่น่าสะท้อนใจก็คือเขาช่างอบรมทหารของเขาได้ดีเหลือเกิน ทำหน้าที่เป็นทหารก็ได้ เป็นเซลส์แมนก็ดี

ประเทศไทยของเราที่ขาดดุลการค้ากับต่างประเทศมหาศาลทุกปี น่าจะมีการพิจารณาหลักสูตรของนายทหารกันใหม่ โดยยึดสโลแกนใหม่ว่า "ยามศึกเรารบ ยามสงบเราค้า" ก็อาจจะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจของประเทศได้บ้าง

"ในเรื่องที่เกี่ยวกับการค้าเป็นหน้าที่ของกระทรวงการค้าต่างประเทศ ที่ ฯพณฯ มร. เอฟ.โบลคีสไตน์ รัฐมนตรีว่าการ จะเดินทางมาเปิดนิทรรศการบนเรือในวันที่ 4 มีนาคม ซึ่งในงานนี้จะได้มีการเชิญชวนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลและนักธุรกิจชาวไทยเข้าร่วมชมด้วย"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีหมายกำหนดการที่จะแวะประเทศฟิลิปปินส์หรือไม่ ก็เรียกเสียงหัวเราะครืนใหญ่ทั้งจากเพื่อนผู้สื่อข่าวด้วยกันและเจ้าหน้าที่ประจำเรือ และพลเรือตรี แจน แวน เรนีซ ตอบว่า

"โครงการแฟร์วินด์ ̕86 เป็นโครงการที่มีการเตรียมการล่วงหน้ามามากกว่า 1 ปี ดังนั้นโปรแกรมในการแวะเมืองท่าต่าง ๆ จึงกำหนดไว้แน่นอนแล้ว ข้าพเจ้าจึงไม่มีสิทธิ์ที่เปลี่ยนแปลง และหากมีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงก็คงไม่คิดที่จะแวะฟิลิปปินส์" คำตอบที่เรียกเสียงฮากลับได้ไม่แพ้กัน

"ผู้จัดการ" ตั้งข้อสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า การเดินทางเข้ามาของกองเรือเนเธอร์แลนด์นั้นมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ส่งเสริมการค้าของประเทศตนจริง ๆ ทันทีที่เข้าเทียบท่าเรือคลองเตยตอนเช้า ช่วงบ่ายลูกเรือส่วนใหญ่ก็ช่วยกันติดตั้งหลังคาผ้าใบเตรียมสำหรับการแถลงข่าวและงานจัดนิทรรศการกันจ้าละหวั่น ไม่เหมือนกับกองเรือสหรัฐฯ ที่แวะเข้าที่พัทยาเพื่อให้ลูกเรือได้พักผ่อนหย่อนใจกันสุดเหวี่ยงลูกเดียว

และยิ่งเห็นจุดมุ่งหมายของกองเรือชุดนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นจากหนังสือแนะนำสินค้าและบริษัทผู้ผลิต ที่น่าจะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังโครงการแฟร์วินด์ ̕86ที่แท้จริง ว่าภารกิจหลักของกองเรือเนเธอร์แลนด์ก็คือการแล่นเรือไปยังเมืองท่าต่าง ๆ ที่คาดหมายว่าจะเป็นตลาดสินค้าแหล่งใหม่ของตน

หนังสือเล่มที่ว่านี้พิมพ์ระบบ 4 สีโดยใช้กระดาษอาร์ตอย่างดีทั้งเล่ม รวมปกด้วยมีจำนวน 56 หน้า ข้างหน้าปกมีโลโกโครงการแฟร์วินด์ ̕86 และมีอักษรพิมพ์ไว้ว่า "ROYAL NETHERLANDS NAVY TAKES INDUSTRY ABOARD" ข้างในตีพิมพ์ชื่อบริษัท ผู้บริหารและลงรูปสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแทบทุกแขนงรวมทั้งสินค้าประเภท "ไฮเทค" และอาวุธสงคราม

สำหรับบริษัทเนเธอร์แลนด์ที่ร่วมในงานแสดงนิทรรศการบนเรือในวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา และพอมีชื่อคุ้นหูคนไทยก็คือบริษัทเชลล์และบริษัทฟิลิปส์ และอีกหลายต่อหลายบริษัท

เมื่อโลกเปลี่ยนไป การค้าระหว่างประเทศก็เปลี่ยนไปรูปแบบของภารกิจของกองเรือรบก็ยังต้องถูกดัดแปลงไปเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางการค้า GUN BOAT DIPLOMACY ในวันนี้ จึงต่างกับ GUN BOAT DIPLOMACY ในยุคล่าอาณานิคมอย่างสิ้นเชิง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.