อาณาจักรนานาพรรณกรุ๊ปจาก COMMODITY สู่ SHIPYARD INDUSTRY


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

นับตั้งแต่ปี 2508 บริษัทนานาพรรณเอ็นเตอร์ไพร้ซ์ ถือเป็น "นำร่อง" ของการทำส่งออกสินค้าพืชไร่ จากละหุ่ง มาจนถึงข้าวโพด ปัจจุบันนานาพรรณฯ ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อวงการค้าส่งออกข้าวโพดที่น่าเกรงขามเอามาก ๆ รายหนึ่ง

บางครั้งคนอาจจะลืมว่า แท้ที่จริงแล้วนานาพรรณฯ ก็คือเจ้าพ่อถั่วฯ และละหุ่งชนิดไร้เทียมทาน อาจจะเป็นเพราะสินค้าดังกล่าวมูลค่าไม่มาก การค้าไม่โลดโผนหรือตื่นเต้นเช่นข้าวโพด

"ตอนเช้าผมจะต้องมานั่งที่นานาพรรณฯ ติดตามข่าวสาร ทั้งในและต่างประเทศ ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ที่รอง ๆ ผมต้องทุ่มกับงานที่นี่พอสมควร เพราะการค้าข้าวโพดมันตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา" กังวาฬบอก "ผู้จัดการ"

หากจะกล่าวให้ตรงจุดก็คือ นานาพรรณกรุ๊ปมี PROFIT CENTER อยู่ที่ธุรกิจส่งออกข้าวโพดนี้เป็นฐาน!

ในระยะเดียวกับที่นานาพรรณเอ็นเตอร์ไพร้ซ์เกิดขึ้น บริษัทรวมพ่อค้าพืชผลไทยก็ถูกจัดตั้งเพื่อรวมพลังผู้ส่งออกละหุ่งต่อสู้กับญี่ปุ่น ปัจจุบันรวมพ่อค้าฯ ได้กลายเป็นบริษัทของตระกูลตันติพงศ์อนันต์เกือบทั้งหมด เพราะเมื่อหมดภาระหน้าที่ชั่วคราวครั้งนั้นหลายคนก็ถอนตัวเหลือเพียงสุรพล อัศวศิรโยธิน และกงเพ้ง บริษัทส่งออกพืชไร่ขนาดกลางรายหนึ่งเท่านั้น

ปี 2516 บริษัทเกตุบูรพา (1973) ก็เกิดขึ้น และอีก 10 ปีต่อมาก็มีบริษัทในเครืออีกบริษัทหนึ่ง-นานาพรรณพืชผลอบพืชและไซโล เป้าหมายก็เพื่อเสริมการค้าส่งออกพืชไร่ที่มีอยู่เดิมให้แน่นขึ้น จนธุรกิจด้านนี้ของนานาพรรณกรุ๊ปปัจจุบันมีทั้งหมด 4 บริษัท

ว่ากันว่าบรรดาผู้ส่งออกพืชไร่นั้นนิยมตั้งบริษัทขึ้นมาหลาย ๆ บริษัท ก็เนื่องจากหนึ่ง-ยอดขายของแต่ละบริษัทจะดูไม่สูงเกินไป อันจะนำมาซึ่งเสียภาษีนิติบุคคลไม่สูงเกินไปเช่นกัน สอง-หากเกิดอุบัติเหตุทางการค้าก็สามารถดันอีกบริษัทรับช่วงได้

ปกติผู้ส่งออกจะจดทะเบียนบริษัทของตนด้วยทุนไม่มาก จาก 5 แสนบาทจนถึงประมาณ 5 ล้านบาทเท่านั้น!

กังวาฬ มี CONNECTION กับอบ วสุรัตน์ อย่างลึกซึ้ง ข่าวระดับลึกระบุว่าอบซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนมีชื่อเสียงและ "เครดิต" นั้นคือคนที่ค้ำประกันหนี้มหาศาล คราวค้าถั่วเขียวผิวดำกับญี่ปุ่น ของกังวาฬกับธนาคารหลายแห่ง

บริษัทวิทยาคม เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีประวัติยาวนานถึง 40 ปี ประกอบธุรกิจหลักคือการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ประเภทเครื่องใช้สำนักงาน ยาเคมีภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังระบุว่าประกอบธุรกิจส่งออกพืชไร่ด้วย แต่ความจริงไม่ได้ทำอย่างจริงจัง

อบ วสุรัตน์และครอบครัวถือหุ้นใหญ่ที่สุดในบริษัทวิทยาคมซึ่งเป็นฐานธุรกิจที่เด่นชัดของเขา โดยมีอุปจิต วสุรัตน์ลูกชายคนโตเป็นกรรมการผู้จัดการ

ว่ากันว่าเพราะบารมีของอบ กิจการของวิทยาคมก็ดำเนินกิจการมาด้วยดี มีกำไรงดงามมาตลอด อาทิ ปี 2520 กำไรถึง 73 ล้านบาท พอปี 2521 ลดลงเหลือ 34.8 ล้านบาท หลังจากนั้นมาดูเหมือนวิทยาคมจะถดถอยจนไม่สามารถเรียกอดีตกลับคืน มาถึงปี 2526 กำไรเหลือเพียง 5 ล้านบาท และขาดทุนในปีแรกในปี 2527 ถึง 18.61 ล้านบาท

ผลกระทบตรง ๆ และแรงคือการลดค่าเงินบาทในปลายปี 2527 ต่อมาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศถูกจำกัดอย่างมากจากนโยบายของรัฐ ประกอบกับการลงทุนภาครัฐบาลหดตัวอย่างมาก ขณะที่คู่แข่งกลับเพิ่มขึ้น วิทยาคมที่เคย "หากิน" จัดซื้ออุปกรณ์ให้หน่วยราชการจึงมีอันต้องแย่ไปด้วย

ปี 2528 จึงเป็นปีที่วิทยาคมหันมาค้าส่งออกพืชไร่อย่างจริงจังมากขึ้น เนื่องจากวิทยาคมไม่มีมืออาชีพด้าน COMMODITY กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์จึงต้องโดดเข้ามาช่วยอย่างเต็มตัว ในฐานะที่ปรึกษากรรมการบริหาร "เขาจะต้องไปนั่งที่วิทยาคมตอนบ่ายเกือบทุกวัน" คนนานาพรรณฯ กระซิบ

ถือเป็นการทดแทนบุญคุณที่อบ วสุรัตน์ เคยอุ้มชูเขามาในยามยาก!

เวลาพูดถึงการส่งออกข้าวโพด คนในวงการมักจะรวมวิทยาคมเข้าอยู่ในนานาพรรณกรุ๊ปด้วย

ปี 2527 นานาพรรณกรุ๊ฟเริ่มหันมาสนใจค้าข้าวอย่างจริงจัง กังวาฬ เปิดการเจรจากับวิเชียร เตชะไพบูลย์ กรรมการรองผู้จัดการธนาคารศรีนครเพื่อขอแรงสนับสนุน ประจวบกับยุคที่ผู้ส่งออกถูกบังคับให้สต๊อกข้าวอย่างน้อย 2 พันตัน สมัยโกศล ไกรฤกษ์ นั่งเก้าอี้เจ้ากระทรวงพาณิชย์ นานาพรรณฯ เป็นรายหนึ่งที่มีปัญหาทาง "เทคนิค" ไม่สามารถสต๊อกตามจำนวนจนเกือบจะถูกตัดสิทธิ์ส่งออก กังวาฬ "วิ่งเต้น" จนเหนื่อยกว่าจะได้ใบอนุญาตคืน จะด้วยเหตุนี้หรือไม่ นานาพรรณฯ จึงไม่กล้ากระโจนค้าข้าวอย่างเต็มตัว กังวาฬเองยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่า นานาพรรณฯ ไม่มุ่งค้าข้าวชนิดใหญ่ แต่จะพุ่งจุดหนักค้าข้าวบรรจุหีบห่อเล็กแทน

วันนี้นานาพรรณฯ มีข้าวบรรจุกล่องแบบ UNCLE BELL ส่งออกขายตาม SUPER MARKET ในยุโรปและตะวันออกกลาง โดยใช้ BRANDNAME ว่า "KANGWAN" เสียด้วย!

ทวี ตันติพงศ์อนันต์ (อายุ 47 ปี) น้องชายคนแรกของกังวาฬ เป็น OPERATIONMAN ด้านส่งออกพืชไร่ เขาดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของนานาพรรณกรุ๊ป

แม้จะเรียนน้อยแค่ ป. 7 แต่ทวีมีชื่อเลื่องลือในยุทธจักรว่า ฝีมือระดับเซียนคนหนึ่ง ด้วยประสบการณ์โชกโชนทำงานอยู่เบื้องหลังคู่กับกังวาฬมาตลอด ตั้งแต่กังวาฬตั้งบริษัทซิหย่งฮง เมื่อทวีอายุ 16 ปีในขณะที่กังวาฬอายุ 19 ปี

"ผมทำงานด้านขนส่งทางน้ำกับพ่อมาก่อน พอพี่ชายตั้งซิหย่งฮงผมจึงมาช่วย" ทวีเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ทวีเป็นคนเก็บตัว ทำงานหนัก วัน ๆ หนึ่งต้องพูดโทรศัพท์นับร้อยครั้ง ในการเจรจาขอซื้อขายทั้งในและต่างประเทศ และต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วชนิดไม่กี่วินาทีหลายครั้งต่อวัน "ประสบการณ์ 20 กว่าปี ช่วยให้ผมมั่นใจ ดังนั้นการตัดสินใจตกลงการค้าทางโทรศัพท์ครั้ง ๆ หนึ่งมูลค่าเป็นล้านบาท จึงเป็นเรื่องธรรมดา" ทวีเคยพูดให้ฟัง "ผู้จัดการ" ค่อนข้างจะเชื่อมาก เพราะรู้จักทวีดีว่าเขามิใช่คนคุยเขื่อง

บ่าย 3 โมง ทวีก็ออกไป "คลุก" ที่นานาพรรณไซโล ย่านสมุทรปราการ เขาไปที่นั่นทุกวัน ดูแลงานอย่างใกล้ชิด จนเป็นที่กล่าวขวัญกันว่านานาพรรณไซโลมีประสิทธิภาพสูงสุด หมายความว่า ในไซโลขนาดเดียวกันนั้น นานาพรรณฯ มีสินค้าผ่านเข้าออกมากที่สุดในปีหนึ่ง ๆ

ทีมงานด้านส่งออกพืชไร่ของทวี นอกจากจะมีคนตระกูลตันติพงศ์อนันต์ ผู้ได้รับการฝึกฝนการบริหารสมัยใหม่แล้ว ยังมีชาวต่างชาติ 2 คน กัปตันโฮเซ่ และปีเตอร์ ผู้จัดการด้านส่งออกและเดินเรือและผู้ช่วยของเขา "บริษัทผมเป็นแห่งเดียวในย่านทรงวาด ที่จ้างฝรั่งมาทำงานด้านส่งออกพืชไร่" กังวาฬคุยกับ "ผู้จัดการ"

ควบคู่ไปกับการขยายตัวด้านส่งออกพืชไร่อย่างไม่หยุด นานาพรรณกรุ๊ป DIVERSIFIED เข้าสู่อุตสาหกรรมการเกษตรตั้งแต่กรำศึกชนะญี่ปุ่น โดยการตั้งบริษัทสยามน้ำมันละหุ่งเมื่อปี 2515 จนมาถึงปี 2527 อุตสาหกรรมต่อเนื่องกันคือบริษัทไทยคาวาเคน ผลิต ARTIFICIAL WAX

ปี 2528 นานาพรรณกรุ๊ปได้กระโจนพ้นเส้นทางเดิมของตัวเองอย่างสิ้นเชิง เมื่อกลุ่มอุตสาหกรรมจากสแกนดิเนเวียเกือบ 20 กลุ่ม พาเหรดมาเมืองไทยเรียกชื่อตัวเองว่ากลุ่มไทย-นอร์ดิค ได้ "ดัน" กังวาฬออกหน้า เสนอสร้างอู่ต่อเรือ-ซ่อมเรือที่แหลมฉบัง อันเป็นส่วนหนึ่งในแผน EASTERT SEA BOARD กังวาฬสามารถผ่านคู่แข่งอีก 7 รายเข้าป้ายได้รับการส่งเสริมจาก BOARD OF INVESTMENT อย่างพลิกความคาดหมาย แม้แต่โครงการของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต เจ้าพ่อวงการต่อเรือเมืองไทยยังถูกน็อก

โครงการนี้มีมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท สามารถต่อเรือขนาด 20,000 ตันกรอส

ทำไปทำมา กลุ่มไทยนอร์ดิคชักไม่มั่นใจเมืองไทย จึงขอร่วมหุ้นเพียง 40% กังวาฬจึงต้องถือหุ้นใหญ่เกือบ 40% ที่เหลือไปชักชวนพลเรือโท ชาโณ เพ็ญชาติ ประธานบริษัทจุฑานาวี เจ้าของกิจการเดินเรือทะเลรายใหญ่มาร่วมและรวมไปถึงสมชาย คุณปลื้ม (กำนันเป๊าะ) เจ้าพ่อเมืองชลด้วย

"ที่คุณกังวาฬสามารถดึงคุณชาโณมาร่วมหุ้นได้ เพราะคุณกังวาฬเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งของจุฑานาวี และเป็นกรรมการด้วย" แหล่งข่าวกล่าว

บริษัทอู่เรือไทยนอร์เวย์ ตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2528 พร้อมจะดำเนินการทันที แต่ติดที่รัฐบาลยังไม่ได้สร้าง INFRASTRUCTURE รองรับการก่อสร้างจะต้องรอ รอจนกลุ่มไทยนอร์ดิคชักเบื่อ กังวาฬบอกกับ "ผู้จัดการ" กลุ่มนี้อาจจะลดการถือหุ้นลงอีก "แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะกลุ่ม KIPPLE SHIPYARD แห่งสิงคโปร์จะเข้ามาแทน ตอนนี้ตกลงกันในหลักการแล้ว" KIPPLE SHIPYARD ก็เคยเป็น 1 ใน 7 รายที่ "อกหัก" ในการชิงเสนอตัวสร้างอู่ต่อเรือ-ซ่อมเรือเดียวกันนี้นั่นเอง

ถาวร ตันติพงศ์อนันต์ น้องชายรองจากทวี เป็น OPERATION MAN และ BRAIN ของกรุ๊ปคุมงานด้านอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ

ถาวรน้องชายกังวาฬเพียงคนเดียวที่มีโอกาสได้ร่ำเรียนเมืองนอกอยู่ที่ประเทศอังกฤษถึง 11 ปี ถาวรเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ LONDON SCHOOL OF ECONOMICS (LSE) สถาบันมีชื่อแห่งเดียวกับที่ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์เคยเรียน "ขณะผมเรียนปริญญาตรี คุณเริงชัย มะระกานนท์เรียนปริญญาโทที่เดียวกัน ผมเลยรู้จักคนแบงก์ชาติหลายคน เพราะมาเรียนที่นี่กันเยอะ" ถาวรเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

หลังจากจบปริญญาตรี ถาวรเข้าทำงานที่สำนักงานตรวจสอบบัญชี PRICE WATERHOUSE ใช้เวลา 4 ปีสอบ ASSOCIATE OF THE INSTITUTE OF CHARTERD ACCOUNTANT INEGLAND AN WELSH (A.C.A.) ซึ่งเป็นสถาบันทางการบัญชีชั้นสูง บ้างก็ว่าเทียบเท่าปริญญาโท บ้างก็ว่าสูงถึงขั้นปริญญาเอก หลักสูตรนี้คนไทยจบมาไม่กี่คน เช่น พระยาไชยยศสมบัติ ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามะระ ผู้อำนวยการจีบ้า จุฬาฯ ศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีธรรมศาสตร์ และเธียรชัย ศรวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยคนล่าสุด เป็นต้น

ถาวรกลับเมืองไทยปี 2521 ทำงานกับสำนักงานตรวจสอบบัญชี PRICE WATER HOUSE ในเมืองไทยต่ออีก 2 ปี ก่อนที่จะเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว ตำแหน่งแรกจนถึงปัจจุบันคือผู้จัดการทั่วไป บริษัทสยามน้ำมันละหุ่ง และกรรมการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรมอื่น ที่นานาพรรณกรุ๊ปถือหุ้นใหญ่ เขาได้รับการจัดวางในงานนี้อย่างเต็มตัวแต่แรก

ถาวรบอก "ผู้จัดการ" นานาพรรณกรุ๊ปกำลังหาช่องทาง JOINT VENTER ในโครงการอุตสาหกรรมอยู่ตลอดเวลา

ปัญหาใหญ่มากของธุรกิจส่งออกพืชไร่ในเมืองไทยปัจุบันก็คือการขาดช่วงผู้บริหาร เนื่องจากธุรกิจนี้ส่วนใหญ่เป็นของครอบครัว บริหารงานและตัดสินใจอย่างเฉียบขาดโดยคน คนเดียวเป็นส่วนใหญ่ "ที่เป็นเช่นนี้มันเกี่ยวกับลักษณะธุรกิจด้วย ผู้บริหารที่กล้าตัดสินใจซึ่งมีโอกาสได้เสียเงินจำนวนมาก และต้องเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ผู้บริหารที่ทำได้เช่นนี้ต้องเป็นเจ้าของด้วย" ผู้ส่งออกใหญ่คนหนึ่งคอมเมนต์

เมื่อ GENERATION แรกต่อกับ GENERATION ที่สองไม่ได้ บทเรียนในเมืองไทยมีมากที่ "ผิดหวัง" กับ SECOND GENERATION ที่ร่ำเรียนมาจากต่างประเทศ กลับมาแทนที่จะนั่งคลุกในห้องแถวคร่ำคร่าเจรจาข้ามประเทศขายสินค้าพืชไร่ปีละพันล้าน ไปนั่ง ROLLS ROYSE ค้าที่ดินที่พ่อแม่สะสมมาแทน บางรายถึงกับเลิกธุรกิจค้าพืชไร่ไปเลย

กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์ ประธานซุ่นหั่วเซ้งกรุ๊ป ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของประเทศขณะนี้ให้ข้อมูลทั้งแย้งและเพิ่มเติมกับ "ผู้จัดการ" ว่า ปัญหาขาดผู้รับช่วงนั้น แม้แต่ประเทศยักษ์ใหญ่ COMMUDITY ของโลก อาทิ CONTINENIAL GRAIN และ KROHN ก็ประสบปัญหาเช่นกัน "มร. มิตเชล ไฟร์เบอร์ก ประธาน CONTINENTAL GRAIN อายุเกือบ 80 ปี ยังต้องมานั่งคุมงาน" กิตติว่า

นานาพรณกรุ๊ป ภายใต้การนำของกังวาฬ นับว่าโชคดีที่มีผู้รับช่วงพร้อมอยู่แล้ว "อาจจะเป็นเพราะผมผ่านมรสุม ต่อสู้มามาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของอนาคตทั้งนั้น เหตุการณ์มันบังคับให้ผมต้องมองให้ไกล ๆ" กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ คุย และพยายามแก้ข้อสงสัยไปพร้อมกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.