ไตโยโกเบเป็นใครมาจากไหน?


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ตอบกันสั้น ๆ และกระชับ ไตโยโกเบ คือธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาตั้งสำนักงานที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2526 มีนายโนริอาเกะ ยามากูชิ เป็นผู้จัดการ พิศมร บุญประคอง เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ

ที่ตั้งสำนักงานตัวแทนก็อยู่ชั้นที่ 11 อาคารธนิยะในย่านสีลม

หน้าที่หลักของสำนักงานตัวแทนธนาคารไตโยโกเบนั้นก็คือการดูแลลูกค้าจำนวนราว ๆ 50 ราย ที่ใช้บริการติดต่ออยู่กับธนาคารไตโยโกเบ สาขาสิงคโปร์ ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นกิจการของคนญี่ปุ่น ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยทั้งสิ้น

และพร้อมกับหน้าที่หลักดังกล่าว อีกหน้าที่หนึ่งก็ได้แก่การมองหาลูกค้ารายใหม่ ๆ ด้วย

เมื่อเข้ามาตั้งสำนักงานตัวแทนได้ปีเศษ ๆ นั้น ไตโยโกเบ ก็ได้พยายามที่จะติดต่อขอซื้อหุ้นบริษัทการเงินหลายแห่ง

"ก็เป็นธรรมดาเพราะการเป็นสำนักงานตัวแทนก็เล่นได้เฉพาะเงินตราต่างประเทศ เขาก็ต้องมองหาบริษัทการเงินบางแห่งที่เขาจะเข้าไปร่วม เพื่อจะได้มีโอกาสเล่นกับเงินบาทได้บ้าง เพราะมีลูกค้าของเขาจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเงินบาท..." แบงเกอร์คนหนึ่งวิเคราะห์

เลือกไปเลือกมาผลสุดท้ายก็มาลงที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีธนาคารกรุงศรีอยุธยาของตระกูล "รัตนรักษ์" ถือหุ้นใหญ่ เจรจากันอีกพัก ธนาคารไตโยโกเบก็เข้าไปถือหุ้นในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา 10 เปอร์เซ็นต์

ก็จับมือเซ็นสัญญาร่วมทุนกันไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2528

ช่วงใกล้ ๆ กับที่บริษัทปุ๋ยแห่งชาติติดต่อขอกู้เงินจำนวน 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากธนาคารไตโยโกเบ สาขาสิงคโปร์ผ่านทางสำนักงานตัวแทนที่กรุงเทพฯ

และกลายเป็นลูกค้าที่มีปัญหาวุ่น ๆ เกี่ยวกับเงินจำนวน 3 ล้านเหรียญงวดที่สอง ซึ่งกว่าจะตกลงกันได้ก็ทำเอาพะอืดพะอมไปตาม ๆ กัน

ผู้จัดการสำนักงานตัวแทนธนาคารไตโยโกเบอย่างนายโนริอาเกะ ยามากูชินั้น ก่อนจะมาประจำที่กรุงเทพฯ เขาเคยผ่านงานมาแล้วหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นในญี่ปุ่น เม็กซิโก หรือแคนาดา ก็เรียกว่าเป็นแบงเกอร์ที่มีประสบการณ์มาเยอะ

ยามากูชิ เคยพูดกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศคนหนึ่งเกือบปีมาแล้วว่า เขาต้องมานั่งศึกษางานอยู่เป็นเดือนด้วยความที่ไม่รู้จักเมืองไทยมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจ ซึ่งเมื่อศึกษาแล้วเขาก็ต้องยอมรับว่า การเป็นแบงเกอร์ที่นี่จะใช้หลักคิดอย่างที่ใช้กันในญี่ปุ่นหรืออีกในหลายประเทศไม่ได้เด็ดขาด

"ในญี่ปุ่นเวลาคุณจะให้ใครกู้เงินคุณจะต้องดูหลายอย่าง และต้องใช้เวลาศึกษาโครงการกันก่อนจะตัดสินใจ แต่คุณจะไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ในเมืองไทย เมืองที่ธุรกิจดี ๆ เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นของครอบครัวที่ต่าง ๆ กันกว่า 40 ครอบครัว คุณจะต้องศึกษาความเป็นมาตลอดจนสายสัมพันธ์ของครอบครัวต่าง ๆ เหล่านี้ มากกว่าการดูบาลานซ์ชีตเสียอีก" ยามากูชิ แสดงทัศนะของเขา

นับว่ายามากูชิก็เริ่มเข้าใจอะไรบ้างแล้ว

และเข้าใจว่าก็คงจะเข้าใจมากขึ้นเมื่อเกิดเรื่องเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทปุ๋ยแห่งชาติเมื่อปลายปีที่แล้ว

ส่วนว่าจะเข้าใจอย่างไรนั้น ก็คงต้องถามยามากูชิกันเอาเอง

เพราะ "ผู้จัดการ" ก็พยายามถามแล้ว แต่เผอิญยามากูชิไม่อยากพูด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.