|
น่าน นครที่ “ยัง” สงบ
โดย
ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ด้วยความที่อยู่ไกล การเดินทางยังยากลำบาก ทำให้ในวันนี้ “น่าน” ยังคงมีความสงบอยู่ แต่ความสงบนี้จะอยู่ได้นานอีกเพียงใดเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
นครเล็กๆ ในอดีตกาล ตั้งอยู่ในหุบเขา ดินแดนแห่งฟากฝั่ง ตะวันออกของภาคเหนือแถบลุ่มน้ำน่าน มีอายุใกล้เคียงกับอาณาจักร สุโขทัย ซึ่งมีอายุยืนยาวกว่า 700 ปี ดังปรากฏนามเรียกขานในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า “นันทบุรีศรีนครน่าน” หรือผู้คนในท้องถิ่นนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “น่าน”
เมื่อ พ.ศ.1852 พญาภูคาได้สร้างเมืองใกล้เทือกเขาดอยภูคา ที่ราบทางตอนบนของตำบลศิลาเพชร ปัจจุบันคืออำเภอปัว
ต่อมาขยายอาณาจักรออกไป โดยจัดส่งราชบุตรบุญธรรม โดยขุนนุ่นไปสร้างเมืองจันทบุรี “เมืองพระบาง” ส่วนขุนฟองไปสร้างเมือง “วรนคร”
จนมาถึงสมัยพญาการเมือง โอรสพญาผานองมีความสัมพันธ์ กับกรุงสุโขทัยที่กำลังมีความเจริญรุ่งเรืองในขณะนั้น
มีการพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุมาจากกรุงสุโขทัย จึงหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับประดิษฐานโดยเลือกดอยภูเพียงแช่แห้ง พร้อมกับย้ายมาสร้างเมืองใหม่ ณ บริเวณเชิงดอย
ในปี พ.ศ.1911 เกิดปัญหาความแห้งแล้ง แม่น้ำเปลี่ยนทิศทาง จึงย้ายเมืองอีกครั้ง โดยย้ายไปอยู่ ณ บ้านห้วยไค้ ทางฝั่งตะวันตกของ แม่น้ำน่านในปัจจุบัน
พ.ศ.1993 เมื่อพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่มีพระประสงค์จะครอบครองเมืองน่าน ด้วยเหตุผลที่ว่ามีทรัพยากร ธรรมชาติที่สมัยนั้นหายากคือบ่อเกลือสินเธาว์ที่บ่อมาง คืออำเภอบ่อเกลือในปัจจุบัน
จวบจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชฯ เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น “พระเจ้านครน่าน” ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครน่านอย่างเป็นทาง การเป็นพระองค์แรก และเป็นองค์สุดท้ายของนครน่านเช่นกัน อันเนื่องมาจากฐานันดรศักดิ์ดังกล่าวได้ถูกยุบไปในเวลาต่อมา
น่านเป็นเมืองที่เงียบสงบ มีบรรยากาศสำหรับผู้คนที่รักการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ ชื่นชมกับปูชนียสถานเก่าแก่ โบราณสถาน อันเป็นศิลปะผสมผสาน อิทธิพลอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรล้านนา มีศิลปะการก่อสร้างที่โดดเด่น โบราณวัตถุที่น่าสนใจ ซึ่งเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา งานหัตถกรรมเป็นที่ยอมรับว่ามีความ เป็นเอกลักษณ์และสวยงาม เช่น ผ้าฝ้ายทอมือที่มีชื่อเสียงของน่าน ผ้าลายน้ำไหลของชาวไทลื้อ หัตถกรรมเครื่องเงิน พืชผักผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีงามของชุมชนที่บ่งบอกความเป็นมาของ “น่าน”
ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดน่านร้อยละ 85 ประกอบด้วยแนวป่าเขาสูงชัน และยังเป็นผืนป่าช่วงปลายสุดของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเชื่อมต่อมาจากเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และต่อแนว เข้าไปจรดกับเทือกเขาหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พื้นที่แถบนี้จึงเป็นต้นกำเนิดของแหล่งธารน้ำหลาย สายไหลรวมเป็นแม่น้ำน่าน
น่านเป็นเมืองที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ความชุ่มชื้นของอากาศจึงยังคงมีความเป็นเมืองที่น่าไปเยือนอยู่เสมอ
วัดภูมินทร์ เดิมคือวัดพรหมมินทร์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2138 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่าน
มีโบสถ์และวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน ประตูไม้ทั้งสี่ทิศแกะสลักสวยงาม โดยฝีมือช่างชาวล้านนาแกะสลักลึก 3 ชั้น ด้วยสักทองขนาดใหญ่แผ่นเดียวหนา 4 นิ้ว ลวดลายเครือเถาทั้งดอกย้อยระย้าและนานาสัตว์ดูงดงาม
จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารแสดงถึงชีวิตและวัฒนธรรมของยุคสมัยที่ผ่านมา ความสวยงามแปลกตาที่ถือว่า เป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยของวัดภูมินทร์คือ พระอุโบสถทรงจตุรมุข พระประธานจตุรพักตร์ นาคสะดุ้งขนาดใหญ่ แห่แหนพระอุโบสถเหินไว้กลางลำตัวนาค
กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าเป็นพระอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย ตรงใจกลางพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ออกด้านประตูทั้ง 4 ทิศ หันพระปฤษฎางค์ชนกัน ประทับนั่งบนฐานชุกชี ซึ่งเหล่าพุทธศาสนิกชนที่จะเดินขึ้นโบสถ์ไปทางทิศไหนก็ตามก็จะพบ พระพักตร์พระพุทธรูปทุกด้าน
วัดภูมินทร์มีการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2410 โดยพระเจ้า อนันตวรฤทธิ์เดช เจ้าผู้ครองนครน่าน ใช้เวลาซ่อมแซมถึง 9 ปี
สำหรับจิตรกรรมฝาผนังคงจะวาดในสมัยที่ซ่อมแซมครั้งใหญ่นี้ ช่างผู้วาดภาพไม่ปรากฏประวัติ เป็นศิลปกรรมแบบไทลื้อ เป็นการสันนิษฐานของกรมศิลปากร งานจิตรกรรมฝาผนังนี้แบ่งได้ 3 ลักษณะ คือ
ชีวิตตำนานพื้นบ้าน ความเป็นอยู่ ของชนพื้นถิ่นในอดีต ลักษณะการแต่งกายของชาวบ้านด้วยการนุ่งผ้าซิ่นลายน้ำไหล การ ทอผ้าด้วยมือ และเรื่องราวชาดก
วัดพระธาตุช้างค้ำ เดิมคือวัดหัวกลางเวียง ตามหลักศิลาจารึกหลักที่ 74 ค้นพบภายในวัด พญาพลเทพฤษชัย เจ้าเมืองน่าน ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง เมื่อปี พ.ศ.2091
วัดนี้มีเจดีย์ช้างค้ำศิลปะสุโขทัยอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบๆ เจดีย์ประกอบด้วยช้างที่โผล่ออกมาครึ่งตัว ที่กุฏิเจ้า อาวาสประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำปางลีลา ชื่อพระพุทธนันทบุรี ศรีศากยมุนี สร้างเมื่อ พ.ศ.1969 โดยเจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครอง นครน่านองค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์ภูคา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน คุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่านที่เรียก “หอคำ” โดยเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช เจ้าเมืองน่านสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2446 เพื่อเป็นที่ประทับ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแข็งแรง ตกแต่งให้อ่อนช้อยสวยงามด้วย ลายลูกไม้ นับเป็นสถาปัตยกรรมก่อสร้าง ที่ดีเด่นแห่งหนึ่งของเมืองไทย
จัดแสดงศิลปวัตถุ ชาติพันธุ์วิทยา ประจำท้องถิ่น เรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ ของชาวเผ่าของเมืองน่าน เช่น ไทยลื้อ เมี่ยน (เย้า) ม้ง ผีตองเหลือง ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมี “งาช้างดำ” ซึ่งเป็น ปูชนียวัตถุคู่บ้านคู่เมืองน่าน มีประวัติว่า ได้มาจากเมืองเชียงตุง เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย เจ้านายบุตรหลานจึงมอบให้เป็นสมบัติของ แผ่นดินพร้อมกับหอคำ
ลักษณะของงาช้างดำ เป็นงาปลีเปลือกสีน้ำตาลเข้ม ความยาว 97 ซม. วัดได้โดยรอบ 47 ซม. มีน้ำหนัก 18 กก. ปลายมน มีจารึกอักษรธรรมล้านนา โดยมีภาษาไทยกำกับไว้ว่า “กึ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน” นั่นก็คือ 18 กก.นั่นเอง
วัดที่น่าสนใจที่ตั้งอยู่ในตัวอำเภอเมืองอีกวัด ได้แก่ วัดพญาวัด บ้านพญาวัด ตำบลดู่ใต้ นับเป็น ปูชนียสถานที่เก่าแก่ มีพระธาตุวัดพญาวัดหรือเจดีย์จามเทวี เป็นศิลปะ ผสมล้านนา ล้านช้าง และน่าน
ภายในพระวิหารประดิษฐาน พระพุทธรูปพระเจ้าสายฝน ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้าน จะมาขอฝนเมื่อเกิดความแห้งแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล
สถานที่สำคัญในเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา โดยเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างอาณาจักรแห่งราชวงศ์ภูคากับอาณาจักรสุโขทัย คือวัดพระบรมธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลม่วงตึ๊ด ข้ามสะพานจากแม่น้ำน่านในตัวเมือง ผ่านบ้านท่าล้อไปตามทางหลวงหมายเลข 1168 สายน่าน-แม่จริม ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นปูชนียสถานที่สำคัญและเก่าแก่ของจังหวัด อายุกว่า 600 ปี ตามพงศาวดารเมือง น่านกล่าวว่า พญาการเมืองโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุที่ได้มาจากเมืองสุโขทัย
องค์เจดีย์นี้ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสบุด้วยทองเหลือง หรือทองจังโก้ลงรักปิดทองตลอดทั้งองค์
สำหรับการพักค้างคืนในตัวเมืองน่าน เป็นนิสัยประจำตัวไป จังหวัดไหนต้องตื่นแต่เช้าเข้าสำรวจตลาดสดเพื่อศึกษาชีวิตชีวาความเป็นไปของแต่ละพื้นถิ่น ที่อยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยเฉพาะอาหารการกิน พืชผัก ชาวบ้านนำมาวางขาย เช่น จิ่งโกร่งนำมาทอด น้ำปู๋ ผักพื้นบ้าน การจับจ่ายของคนในชุมชน อาหารสด แห้ง หรืออาหารสำเร็จรูป
เมื่อเห็นผักในตลาด โดยเฉพาะอยู่ในช่วงหน้าฝนด้วยแล้ว การรับประทานต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจจะมีการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงศัตรูพืชมากกว่าหน้าอื่น ด้วยเหตุที่ว่าหากฝนตกชุก ดินเละความชื้นสูง อาจทำให้ผักเน่าเสีย
ฉะนั้นผักที่น่ารับประทานในฤดูกาลนี้คือผักที่เจริญเติบโตได้ดีในหน้าฝนนั่นเอง เช่น ยอดฟักแม้ว ยอดฟักทอง ผักหวาน ชะอม ผักบุ้ง ยิ่งฝนมากเท่าไร ทำให้แตกยอดเก็บรับประทานได้มากขึ้น หรือประเภทลูก ประเภทหัว ซึ่งทนต่อโรคและแมลง เช่น บวบ ฟักทอง ฟักแม้ว ฯลฯ
อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อยู่ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 90 กม. อันเป็นแหล่งกำเนิดของห้วยน้ำ ลำธารหลากหลายที่ไหลไปสู่ต้นน้ำ น่าน มีความสำคัญทั้งทางธรรมชาติ นิเวศวิทยา ประวัติศาสตร์ ครอบ คลุมพื้นที่อำเภอปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง แม่จริม ท่าวังผา สันติสุข และอำเภอบ่อเกลือมีพื้นที่กว่า 1,680 ตร.กม.
มีสภาพเป็นป่าดิบเขา ชื้นและแล้ง ป่าสน ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าปาล์มดงดิบ
เมื่อมาเยือนอำเภอปัว ไม่ลืม ไปเยี่ยมชมการทอผ้าของที่นี่
ผ้าซิ่นคือผ้านุ่งของผู้หญิง โดยมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น ทั้งขนาด การนุ่งห่ม ตลอดจนลวดลายบนผืนผ้า
การทอผ้าในสมัยโบราณนั้นถือว่าเป็นงานในบ้านสำหรับ ผู้หญิง ทอกันจนเกิดความชำนาญไว้ใช้ในงานบุญประเพณีต่างๆ เช่น งานบวช งานแต่งงาน
ฉะนั้นการนุ่งผ้าซิ่นของผู้หญิงจึงเป็นการแสดงฝีมือให้ผู้คน ได้ชื่นชมในความสวยงาม
ขนาดและลักษณะของผ้าซิ่นขึ้นอยู่กับฝีมือ รสนิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี
ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับขนาดของกี่ที่ทอ หน้ากว้าง หน้าแคบ
เมื่อพูดถึงผ้าลายน้ำไหล คนที่ชื่นชอบชื่นชมจะปฏิเสธว่า เป็นของจังหวัดไหนไปไม่ได้ ที่จะมีความสวยงาม โดดเด่น ทุกคน จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจากอำเภอปัว จังหวัดน่าน แน่นอนเป็นลวดลายที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษนานนับร้อยปีของชาวไทลื้อ
การทอผ้าของชาวไทลื้อที่อำเภอปัวนี้ ใช้ผ้าฝ้ายโดยใช้สีจากธรรมชาติ จากเปลือกไม้ ใบไม้ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยจะทอเป็นผ้านุ่ง ผ้าสไบ ผ้าคลุมไหล่ หรือของใช้ในครัวเรือน ตลอดจนของประดับ ของตกแต่ง
พันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่นำมาใช้ในการย้อมสี เช่น เปลือกประดู่ จะได้สีน้ำตาล แต่การย้อมสีธรรมชาตินี้ต้องเสียเวลาและแรงงาน บางครั้งต้องย้อมหลายครั้งจึงจะได้สีตามต้องการ แต่ผ้าย้อมสีธรรมชาติของที่นี่ได้รับรางวัล OTOP 4 ดาวของจังหวัดน่าน
ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานเข้ามามีบทบาทในเรื่องงานวิจัยในการย้อมสีผ้า หรือแม้แต่ด้านการตลาด ตลอดจนมุมมองการ อนุรักษ์ ไม่เฉพาะเรื่องลวดลายผ้าโบราณ แต่รวมไปถึงการดูแลผ้า อีกด้วย โดยมีกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านดอนไชย ไร่อ้อย ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว เป็นแกนนำเพื่อการพัฒนาและการฟื้นฟู เรียนรู้รักษาศิลปะอันเก่าแก่ โดยให้มีลวดลายสวยงามและคงอยู่ต่อไป
ชาวไทลื้อเหล่านี้อพยพมาจากเมืองยอง เมืองเชียงลาย ในสิบสองปันนาของจีน รวมถึงรัฐฉาน ประเทศพม่า
ในจังหวัดน่านมีชาวไทลื้ออาศัยอยู่ในอำเภอท่าวังผาใน 5 ตำบล คือ ตำบลศรีภูมิ ตำบลบ้านท่าเดื่อ ตำบลป่าคา ตำบลยม ตำบลจอมพล
ชาวไทลื้ออาศัยอยู่ที่อำเภอปัวมีมากกว่าที่อื่นๆ คือที่ตำบล ศิลาเพชร ศิลาแลง วรนคร และสถาน อีกไม่น้อยกว่า 20 หมู่บ้าน ของอำเภอปัว
การแต่งกายของชาวไทลื้อโดยทั่วไป สำหรับผู้หญิงจะสวม เสื้อไม่มีกระดุม แต่จะสะพายเฉียงมาผูกไว้ตรงเอวด้านข้าง เรียกกันว่าเสื้อปั๊ด โดยนุ่งซิ่น สะพายย่าม โพกศีรษะด้วยผ้าขาว หรือชมพู ส่วนชายนิยมใส่เสื้อขาว สวมทับด้วยเสื้อกั๊ก ปักลวดลายด้วยเลื่อม กางเกงม่อฮ่อมขายาว โพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือสีชมพู เช่นกัน
นอกจากผ้าลายน้ำไหล สิ่งที่ขึ้นชื่อของเมืองน่านอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เครื่องเงิน
เครื่องเงินหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยฝีมือชาวเขาเผ่าเมี่ยน หรือเย้า ม้ง ฯลฯ โดยทำเป็นเครื่องประดับ เช่น กำไล สร้อยคอ สร้อย ข้อมือ แหวน ตุ้มหู นับเป็นเครื่องประดับที่สวยงามและหรูหรา
เงินเป็นเครื่องประดับที่มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น ลวดลายเก่าแก่ยังถูกรักษาไว้ ซึ่งมีเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในประเทศไทย เช่น นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ แต่สำหรับที่น่าน เครื่องเงินมีความพิเศษ นอกจากความละเอียดและลวดลายเฉพาะตัว จะมีการผสม เม็ดเงินมากเป็นพิเศษ ซึ่งจะทำให้อ่อนไม่แข็งเกินไป
ความเป็นมาในการทำเครื่องเงินของเมืองน่าน เริ่มขึ้นในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
นครน่านได้แผ่ขยายอาณาจักรออกไปจนถึงสิบสองจุไทลงมา โดยกวาดต้อนเชลยที่เป็นช่างเงิน ช่างทอง ช่างทองแดง ช่างเหล็ก จากเมืองฮ่อน้อย ฮ่อหลวง เมืองยอง เชียงแสน เอามาอยู่ที่นครน่าน
เงินของเมืองน่านนี้ นอกจากจะใช้เป็นเงินตราแล้ว มรดกทางวัฒนธรรมโบราณที่เหล่าบรรพบุรุษได้สร้างสม อันเป็นเอกลักษณ์ ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลวดลาย อันเป็นศิลปะเฉพาะตัว หรือแม้แต่เปอร์เซ็นต์ของเนื้อเงิน
เครื่องเงินเมืองน่าน หรือที่เรียกกันว่าเครื่องเงินชนเผ่า แบ่งออกได้ 3 ลักษณะ คือ
1. ใช้เป็นเงินตรา
2. ครัวเงิน ซึ่งหมายถึงทำเป็นข้าวของเครื่องใช้ อันได้แก่ พานขันเงิน (สลุง) ทัพพี เชี่ยนหมาก ชุดเมี่ยง และอีกมากมาย
และ 3. คือใช้ตกแต่งเป็นเครื่องประดับ เช่น กำไล สร้อยข้อมือ สร้อยคอ ตุ้มหู แหวน ปิ่นปักผม เป็นต้น
ส่วนวิธีการเลือกซื้อเงินแท้ของจังหวัดน่าน จะไม่มันวาว เนื้อ โลหะอ่อน โดยเฉพาะที่ตาขอ โดยน้ำหนักจะมากกว่าสเตนเลส พื้นผิวจะเรียบ ประณีต เพราะทำด้วยมือ
หน่วยงานที่พัฒนาต่อยอดในเรื่องการผลิตให้ได้คุณภาพ คือ ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคา และหัตถกรรมเมืองน่าน ทำหน้าที่ผลิตและจำหน่าย โดยเป็นศูนย์ให้ความรู้ฝึกอาชีพให้กับคนในชุมชน ทางศูนย์ได้รับรางวัลสินค้า OTOP 5 ดาว สำหรับราคาขึ้นอยู่ที่น้ำหนักและลวดลายความยากง่ายเป็นสำคัญ
สำหรับผลไม้พื้นเมืองน่าน จะมีผลผลิตในช่วงปลายปีให้ได้ลิ้มรสกัน คือส้มสีทอง ซึ่งนิยมปลูกกันมากที่ตำบลฟอน ตำบลงอบ ตำบลทุ่งสุน และตำบลหล่ายทุ่ง ของอำเภอทุ่งช้าง ว่ากันว่า มีรสชาติดีกว่าของอำเภอปัว และอำเภอท่าวังผา ที่ปลูกตามที่ราบ เชิงเขาที่มีน้ำไหลผ่าน
เหตุที่ผลผลิตส้มสีทองของอำเภอทุ่งช้างมีรสชาติดีกว่าก็ด้วยน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์และการดูแลบำรุงรักษาเป็นอย่างดีนั่นเอง รสชาติส้มสีทองจะมีความหอมหวานอร่อย อิทธิพลของอากาศที่มีอุณหภูมิระหว่างกลางวันกับกลางคืนต่างกัน 8 ํC ทำให้สาร “คาร์ทีนอยพิกเมนต์” ในเปลือกส้มเปลี่ยนจากเขียวเป็นทอง
ความจริงแล้ว ส้มชนิดนี้คือพันธุ์ส้มเขียวหวาน ซึ่งเดิมที่น่านไม่มีต้นส้มรสดี
หมื่นระกำ ผู้คุมเรือนจำน่านนำส้มจีนเข้ามาปลูกเมื่อเกือบ 100 ปีมาแล้ว และเมื่อประมาณ 75 ปีที่ผ่านมา ศึกษาธิการจังหวัด น่าน อ.ดำรพ นุชนิยม ได้ปลูกส้มเขียวหวานจากกิ่งตอน แต่เปลือก ส้มที่ปลูกกลับกลายเป็นสีเหลืองทองสวยงาม
เมื่อมาเมืองน่าน อำเภอที่คนนิยมไปเที่ยวชม คืออำเภอบ่อเกลือ เมืองบ่อ คือชื่อเดิมของอำเภอบ่อเกลือ ที่หมายถึงบ่อน้ำ เกลือสินเธาว์ ซึ่งมีอยู่ถึง 9 บ่อ เป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่มีความสำคัญมาแต่อดีต
เดิมแถบนี้คือป่าดงพงไพร ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เป็นหนองน้ำ ทำให้มีสัตว์ต่างๆ แวะเวียนมากินน้ำในบ่อ นายพรานผู้ล่าสัตว์ได้ลองชิมน้ำดู จึงรู้ว่ามีรสเค็ม
ข่าวนี้ทราบไปถึงเจ้าหลวงภูคาและเจ้าหลวงบ่อ จึงพากันมา ดูบ่อน้ำเกลือ ในที่สุดเจ้าหลวงภูคาได้ทูลขอคนที่เมืองเชียงแสนจากเจ้าเมืองเชียงราย มาทำเกลืออยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาว บ่อหลวงในปัจจุบัน
บ่อเกลือห่างจากตัวเมืองน่านประมาณ 80 กม. มีชื่อเสียงในด้านการทำเกลือสินเธาว์เพื่อการบริโภค ในสมัยโบราณไปขายถึงกรุงสุโขทัย เชียงใหม่ เชียงตุง หลวงพระบาง รวมถึงสิบสองปันนา
ในอดีตมีบ่อเกลืออยู่หลายบ่อ ปัจจุบันแห้งเกือบหมดแล้ว บ้านบ่อหลวงมีบ่อเกลือสาธารณะอยู่ 2 บ่อ คือ บ่อเหนือและบ่อใต้ ซึ่งบ่อกรุด้วยตอกไม้กันดินปากหลุมถล่มและมีนั่งร้านสำหรับยืนตักน้ำเกลือข้างบ่อเกลือ
บ่อเกลือทั้งสองบ่อมีความเข้มข้นกว่าบ่ออื่นๆ ปัจจุบันยังมี ชาวบ้านเข้ามาตักน้ำเกลือมาต้มทำเกลือ
พอถึงเรื่องอาหารการกิน ผู้เขียนขอเปลี่ยนสถานที่ พาไปลองชิมอาหารญวนที่เชียงใหม่อีกสักครั้ง
ด้วยเมื่อวันก่อนขึ้นไปเชียงใหม่ได้พบกับเพื่อนสนิทคนเมือง โดยบังเอิญ จึงนัดหมายรับประทานข้าวด้วยกัน 1 มื้อ แบบสบายๆ โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ จึงเลือก “งอนหลำ” ซึ่งเป็นร้านอาหารเวียดนามใต้ อาคารชมดอย บนถนนคันคลองชลประทาน
แม้เชียงใหม่จะมีร้านอาหารเปิดไม่เว้นแต่ละวัน แต่สำหรับ อาหารเวียดนามมีนับร้านได้ อาหารเวียดนามมีลักษณะที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะเสน่ห์ที่มีน้ำจิ้มหลากหลายรส ข้าวคืออาหารหลักเหมือนชาติอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับเครื่องปรุงรสเปรี้ยว เช่น น้ำมะขาม เครื่องปรุงเค็ม น้ำปลา กะปิ ปลาร้า ชาวเวียดนามมีอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากก๋วยเตี๋ยวของจีน อาหารเวียดนามเป็นอาหารที่มีผักสดหลากหลายชนิดในแทบทุกเมนู
การได้ไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ ในครั้งนี้ มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของร้าน ศิริพร นาครัตน์ ซึ่งร้านนี้เมื่อก่อนเป็นร้านสุกี้ที่ขายมากว่า 7 ปี
เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น ความคิดก็เริ่มเปลี่ยนแปลง จะนึกถึง แต่เรื่องของสุขภาพเป็นสำคัญ จึงมานั่งคิดว่าจะทำอะไรดี
ในที่สุดได้รู้จักกับชาวเวียดนามซึ่งมีอาชีพเป็นเชฟอาหารเวียดนามโดยเฉพาะ ได้ไปร่ำเรียนจากเขาและหาความรู้เพิ่มเติมจากตำรับตำรา และทดลองทำ ปรับสูตรให้เข้ากับรสชาติของคนไทยแบบเราๆ ซึ่งควบคุมดูแลเองทุกขั้นตอน ใช้ผักปลอดสารพิษ ผักไฮโดรโฟนิก ล้างด้วยความพิถีพิถัน ภาชนะ การปรุงรส การจัดวาง บรรยากาศร้าน ต้องสะอาดถูกสุขอนามัย คัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ
ในร้านดูแล้วสะอาดสดชื่น โอ่โถงสบายตาน่านั่ง เยี่ยมด้วย บริการ เครื่องดื่มจะมีน้ำสมุนไพร เช่น ตะไคร้ อัญชัน กระเจี๊ยบ มีไว้ให้ลิ้มลอง
ข้าวเกรียบปากหม้อญวน ขนาดพอคำ ผัดไส้ให้หอมๆ ห่อด้วยแป้งบางๆ ปรุงรสด้วยพริกไทยและหอมเจียว
ของแปลกในร้านนี้ ขนมเหนียว เหนียวสมชื่อด้วยแป้งบาง ใสอร่อยไปอีกแบบ เมนูที่ขาดไม่ได้ถ้ามาทานอาหารเวียดนามคือ แหนมเนือง
แหนมเนืองของที่นี่คัดสรรเนื้อหมูอย่างดีนำมาบดปรุงรสด้วย สูตรเฉพาะ รสและกลิ่นที่โดดเด่น นวดจนได้ที่นำมาปั้น นึ่ง ย่าง ทานพร้อมน้ำจิ้มที่เข้มข้น ถูกปาก อีกหนึ่งเมนูคือกุ้งพันอ้อย นำเนื้อกุ้งมาปรุงรสนวดจนได้ที่เช่นกัน หลังจากนั้นนำมาพันกับท่อนอ้อย นำไปทอดในน้ำมันที่มีการควบคุมอุณหภูมิจนเหลือง
เมนูเด็ดของร้านนี้ เฝอซี่โครงหมู หมูยอ มีทั้งน้ำ แห้ง และต้มยำ
ผู้ที่รักสุขภาพยังมีปอเปี๊ยะสด หมูย่างใบชะพลู
สำหรับเมนูของหวาน บริการด้วยฟรุตสลัดเย็นถ้วยเล็กๆ เป็นของแถม
ถ้ามาแบบศิลปินบุกเดี่ยว ทางร้านก็มีบริการอาหารชุดเล็ก ไม่ว่าจะชุดใหญ่หรือชุดเล็ก เมื่อดูแล้วอร่อยสมราคา คุณภาพทั้งอาหารและการใส่ใจในการบริการ
คนเราเมื่อสุขภาพดี มีเรี่ยวแรงกำลังวังชาในการประกอบกิจ ไม่ป่วยไข้ ก็คือความสุข ดังประโยค “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” นั่นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|