|
มากกว่าธุรกิจรีสอร์ตคือ “อิสรภาพทางการเงิน”
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
บ่อยครั้งที่ “ธุรกิจรีสอร์ต” มักถูกมองเป็น “ของเล่นไฮโซ” และทุกครั้งที่ถูกยิงคำถามเช่นนี้ ซีเล็บหรือนักธุรกิจที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของรีสอร์ต “มือใหม่ หัดขับ” จะยกความเชื่อของตนที่มีต่อธุรกิจนี้มาอธิบาย แต่คงมีไม่มากที่เชื่อว่า ธุรกิจรีสอร์ต คือแบบทดสอบของชีวิต มากกว่านั้น คือการมุ่งสู่อิสรภาพทางการเงิน
“ธุรกิจรีสอร์ต กำลังทดสอบทุกอย่างที่ผมเคยผ่านมาทั้งหมดในชีวิต ผมผ่านการเป็นนักการเงิน นักการตลาด นักวางแผนเชิงกลยุทธ์ ผ่านการเป็นฝ่ายบุคคล ในธุรกิจอื่นของผม ผ่านการจัดพอร์ตการลงทุน ผ่านการซื้อหุ้นของไมเนอร์และเซนเทล ผ่านการเป็นลูกค้ารีสอร์ตหลายแห่ง จบด้านวิศวกร ชอบเรื่องออกแบบ ฯลฯ
ผมนำเอาทุกอย่างมาขมวดกันเพื่อแก้โจทย์จนออกมาเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่ชื่อ บลูสกาย”
คำตอบต่อประเด็นธุรกิจรีสอร์ตกับของเล่นไฮโซโดย “วิรัตน์ คุณารัตนอังกูร” นักธุรกิจรีสอร์ตหน้าใหม่ เจ้าของบลูสกายรีสอร์ท ที่สร้างความคึกคักให้นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ด้วยการเปิดตัวรีสอร์ตสุดแนว “มัลดีฟส์ เมืองไทย” ที่เกาะพยาม จ.ระนอง และยังเรียกเสียงฮือฮาด้วยอัตราการเปิดตัว รีสอร์ตใหม่ถึงปีละแห่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
วิรัตน์จบวิศวกรรมโยธาจากจุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ไม่ขอเป็นวิศวกร เขาเลือกเรียนต่อด้านการเงินและธุรกิจระหว่างประเทศที่ศศินทร์ (GIBA ขณะนั้น) พร้อมลงเรียนหลักสูตรเพิ่มเติม โดยหนึ่งในนั้น ได้แก่ หลักสูตรการเจรจาต่อรอง (Ne-gotiation) ซึ่งต่อมาเขาได้ใช้ความรู้ดังกล่าวผันตัวมาเป็นวิทยากรอบรมในหัวข้อนี้
เขาใช้ความรู้ด้านการเงินทำงานด้านสินเชื่อให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จากนั้นก็นำความรู้ด้านการตลาดและการบริหารมาใช้ ที่เชลล์ในฐานะผู้จัดการผลิตภัณฑ์ ก่อนจะนำประสบ การณ์ที่ได้ออกมาทำธุรกิจส่วนตัวอีกหลายหลาก
ธุรกิจหนึ่งที่บางคนอาจพอคุ้นหู คือ “Alfredo Pizza” พิซซ่าแช่แข็งที่วางขายตามร้านคี-ออส และร้านสะดวกซื้อชั้นนำทั้งในไทยและใน 5-6 ประเทศแถบเอเชีย ก่อนจะขายหุ้นทิ้งเพื่อไปโฟกัสที่ธุรกิจฟันปลอม ธุรกิจพิซซ่ามียอดขายหลักล้านชิ้นต่อเดือน
เนื่องจากแม่ยายเป็นทันตแพทย์ที่มีชื่อเสียง วิรัตน์จึงเริ่มบุกเบิกธุรกิจฟันปลอมตั้งแต่ราว 20 ปีก่อน ณ ปัจจุบัน บริษัท PC Dental Group ประกอบด้วย บริษัท Dentaneer ซึ่งเป็นแล็บทำฟันปลอมให้โรงพยาบาล และบริษัท Dental Vision เป็นบริษัทขายวัสดุทันตกรรม
ถึงวันนี้ วิรัตน์เชื่อว่า PC Dental Lab น่าจะเป็นผู้นำทางด้านตลาดฟันปลอมในประเทศไทย แต่ทว่ารายได้จากธุรกิจทันตกรรมก็ไม่ได้มากพอที่จะนำมาลงทุนในธุรกิจรีสอร์ตโดยไม่พึ่งเงินกู้ได้ หากปราศจากเงินผลตอบแทนจากพอร์ตการลงทุนในหุ้น ที่ดิน และสินทรัพย์อื่นของเขา ซึ่งถือเป็นส่วนใหญ่ของงบลงทุนในรีสอร์ต
อีกงานที่เขารักและทำเป็นงานอดิเรก คือ การเป็นวิทยากรอบรมให้กับบริษัทชั้นนำ ของประเทศไทย โดยหัวข้อที่เชี่ยวชาญและบรรยายเป็นประจำ ได้แก่ Win-Win Negotiation, Consultative Selling และ Financial Independence หรือ “อิสรภาพทางการเงิน” อันเป็นหัวข้อที่อยู่ในความสนใจปัจจุบันของเขา เพราะเขาเชื่อว่านี่น่าจะเป็นเป้าหมายสุดท้ายในชีวิตการทำงานของใครหลายคน รวมทั้งตัวเขาเอง
งานวิทยากรไม่ได้เปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานของผู้เข้าอบรม แต่กว่า 10 ปีที่เขาบรรยาย วิธีคิดและเป้าหมายชีวิตในการทำงานของเขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนและตกผลึกมากขึ้นเช่นกัน
“พอสอนไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็พบว่า การจะก้าวสู่อิสรภาพทางการเงินได้นั้น ต้องใช้ศิลปะในการทำงานที่ต้องได้ อันดับแรกคือ ความสุข หลังจากความสุขก็ต้องตามล่าความสำเร็จ โดยเงินถือเป็นเพียงตัวแทนของความสำเร็จที่เกิดจากการทำงานอย่างมีความสุข แต่พอมีเงิน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึง “จุด” ที่เราตั้งเป้าไว้ เราก็ต้องปล่อยวาง แล้วออกจาก “เกม” จึงจะเรียกว่าเราได้รับ “อิสรภาพ” แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องออกแบบเพื่อให้มันเป็น”
“จุด” ที่วิรัตน์หมายถึงก็คือ ดัชนีที่เรียกว่า Wealth Ratio หรือรายรับที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น ค่าเช่ารับ ดอกเบี้ยรับ เงินปันผล ฯลฯ หารด้วยรายจ่ายที่เราจะอยู่ได้อย่างสุขสบายต่อเดือน
เขายกตัวอย่างจากคลาสอบรมคนทำงานรุ่นใหม่ ลูกศิษย์คนหนึ่งพูดถึงเป้าหมายในชีวิตว่า อยากมีเงินใช้ไปตลอดชีวิตโดยไม่ทำงาน หากรายจ่ายต่อเดือนที่จะทำให้เขาอยู่ได้อย่างสบายคือ เดือนละแสนบาท หรือ 1.2 ล้านบาทต่อปี หากถือพันธบัตร 5% เอาไว้ หมายความว่า ต้องมีเงินต้น 24 ล้านบาท จึงจะได้รายรับแสนบาทต่อเดือน นั่นคือ “จุด” ที่ลูกศิษย์ สามารถออกจาก “เกมหาเงิน” ได้เลย หรือจุดที่จะทำให้เขามีอิสรภาพทางการเงิน
Wealth Ratio ของบางคนอาจตั้งไว้ที่ 1:1 ขณะที่คนที่ไม่ชอบใช้ชีวิตเสี่ยงมาก อาจจะตั้งไว้สูงถึง 10:1 แต่นั่นก็หมายความคนนั้นจะมีอิสรภาพทางการเงินช้ากว่า แต่หากใครที่เกิน “จุด” ที่ตั้งไว้แต่ยังคงทำงานหนัก เพื่อสะสมเงินต่อไป วิรัตน์เชื่อว่า ผู้นั้นได้ตกอยู่ใต้กับดัก “เงิน” แล้วและอาจหมดโอกาสที่จะออกจากเกมฯ ไปตลอดชีวิต
“เงินมีธรรมชาติที่น่าสนใจ เงินจะมีค่าน้อยมาก ถ้าเรามีมันมากพอ แต่เงินจะมีค่ามหาศาล ในยามที่เรา ต้องใช้แต่เผอิญไม่มี และเงินเป็นลูกน้องที่ดี เวลาที่เราใช้เงินทำงาน มันจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เป็นหัวหน้าที่เลว เมื่อไรที่เรายอมให้เงินใช้เราทำงาน เราจะตกเป็นทาสของเงินไม่รู้จบ”
วิรัตน์ยกตัวอย่างเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งหลังเรียนจบ เขาเข้าทำงานที่เอสซีจีเพียง 3-4 ปี ระหว่างนั้นเขาค้นพบสินค้าตัวหนึ่งที่เอสซีจีไม่เห็นคุณค่า เขาจึงลาออกไปเปิดบริษัทแข่งกับเครือปูนฯ ทำอยู่เพียง 3-4 ปี ธุรกิจประสบความสำเร็จมากจนต้องขยายธุรกิจ ระหว่าง ที่หุ้นส่วนขอระดมทุนเพิ่ม เขาตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดเพื่อรับเงินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง หลังจากนั้นเพื่อนคนนี้ก็ไม่เคยทำงานหาเงินอีกเลย
“ผมยอมรับว่า เพื่อนคนนี้เก่งจริงๆ ทั้งชีวิตทำงานไม่ถึงสิบปีก็ตัดสินใจออกจาก “เกม” ได้เลย วันนี้เขาทำในสิ่งที่อยากทำ เขาทำงานช่วยเหลือคนอื่น เทียบกับเพื่อนบางคนเป็นมนุษย์เงินเดือนตำแหน่งใหญ่โต แต่ก็ยังไม่มีอิสระอย่างแท้จริง ยังทำงานสะสมเงินมาตลอด เทียบกันแล้ว ผมว่า เพื่อนคนแรกออกแบบชีวิตได้ดีกว่า”
ตามนัยของวิรัตน์ ก้าวแรกที่จะไปสู่อิสรภาพทางการเงิน คือ ต้องกำหนด “จุด” ที่เหมาะสมที่จะเป็นตัวกำหนดว่าเมื่อไรที่ควรต้องถอนตัวออกจากเกมหาเงินให้ได้ก่อน และการออกจากเกมฯ ก็ไม่ได้หมายถึงการไม่ทำงานและการไม่รับเงิน แต่เป็นการทำงานที่ไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่การได้เงินหรือจำนวนเงิน
วิรัตน์ยืนยันว่า สำหรับเขา การสร้างรีสอร์ตเป็นแผนการเตรียมตัวปล่อยวางจากเกมฯ เพราะเป้าหมายที่เขาตั้งไว้สำหรับการลงทุนในรีสอร์ตคือผลตอบแทนทางจิตใจและความสุขท่ามกลางธรรมชาติในบั้นปลายชีวิต แต่ถึงอย่างนั้น หาก 5 ปีผ่านไป “บลูสกาย” เกิดไม่เจ๊ง แบรนด์รีสอร์ตนี้ก็จะแข็งแกร่ง ถึงเวลานั้นเงินก็จะตามมาเอง แม้เราไม่ได้ตั้งเป้าไว้ก็ตาม เพราะเงินคือตัวแทนความสำเร็จ
“ผมบอกกับทีมงานว่า อีก 5 ปี ผมก็ exit จากนั้นจะหาคนอื่นมารันแทน แต่ละรีสอร์ต เราให้เวลาเขาแค่ 5 ปี เพราะเราไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำมันนานกว่านั้น ระหว่างนี้ก็คงต้องวางระบบ แล้วหาคนที่ชอบและใช่มารัน เวลานั้น ผมก็คงเป็นแค่ที่ปรึกษาในยามที่เขาต้องการ แล้วหาอะไรทำที่ไม่เกี่ยวกับเงินหรือที่เงินไม่ใช่เป้าหมาย” วิรัตน์เล่าแผน
หลังออกจากเกมฯ กิจกรรมหลักที่วิรัตน์คงยังทำต่อไป คือ การเป็น “โค้ช” นำพาให้คนอื่นๆ ประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างมีความสุขและความสำเร็จจากการได้ “อิสรภาพทางการเงิน” เช่นเดียวกับเขาที่กำลังจะได้มันมาอย่างสมบูรณ์ในอีกกี่ปีข้างหน้า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|