ต่อยอดไปกระบี่

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจจอดเรือในจังหวัดภูเก็ตยังเติบโตได้ดี แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่จอดเรือทำให้กลุ่มธุรกิจคณิต ยงสกุล ต้องขยายไปจังหวัดกระบี่ เพื่อรองรับดีมานด์ที่ยังมีอย่างล้นเหลือ ความต้องการที่จอดเรือของบรรดามหาเศรษฐียังมีอีกมาก มีรายชื่อรอยาวเป็นหางว่าว แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของจังหวัดภูเก็ตว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักธุรกิจหลายต่อหลายคนบอกว่า ภูเก็ตไม่ได้อยู่ในแผนที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่อยู่ในแผนที่โลกอีกด้วย

โอกาสของธุรกิจจอดเรือดังกล่าวทำให้บริษัท ภูเก็ตโบ๊ทลากูน จำกัด ได้ขยายพื้นที่จอดเรือไปยังจังหวัดใกล้เคียง คือจังหวัดกระบี่ ที่ใช้เวลาเดินทางโดยเรือจากจังหวัดภูเก็ตไปกระบี่ ประมาณ 1 ชั่วโมง ในขณะที่เดินทางโดยรถยนต์ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง

ทำให้บริษัท ภูเก็ตฯ ตัดสินใจตั้งบริษัท กระบี่โบ๊ทลากูน จำกัด เริ่มพัฒนาโครงการเมื่อปี 2552 ก่อสร้างโครงการเฟสแรกบนพื้นที่ 40 ไร่ บนถนนคลองทรายทิศตะวันตก ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งคนละแวกนั้นจะจดจำพื้นที่นี้ ก่อนจะถึงหาดยาว

ในตอนนั้นหาดยาวมีชื่อเสียงมาก มีนักลงทุนต่างชาติสนใจจะมาสร้างโรงแรมและสนามกอล์ฟ บ้านจัดสรร เป็นโครงการที่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ใหญ่โต แต่ก็เลิกไปเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา เพราะประสบปัญหาด้านการเงิน

โครงการเฟสแรกของกระบี่โบ๊ทลากูน จะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยใช้ทุนก่อสร้าง 150 ล้านบาท เริ่มให้บริการที่จอดเรือ ส่วนลูกค้าส่วนหนึ่งจะมาจากภูเก็ต ซึ่งเป็นลูกค้าเดิมของบริษัท ภูเก็ตโบ๊ทลากูน จำกัด แต่บริษัทก็ต้องมีกลยุทธ์ทางด้านการตลาดเพื่อจูงใจให้ลูกค้ามาใช้บริการที่จังหวัดกระบี่ เช่น ค่าบริการจอดเรือจะถูกกว่าที่จอดเรือในภูเก็ตร้อยละ 20 ส่วนค่าเช่าอาคารซ่อมแซมเรือ จะลดเหลือร้อยละ 30-40 ซึ่งราคาจะคงที่เป็นระยะเวลา 2 ปี

โครงการในจังหวัดกระบี่จะแบ่งออกเป็น 4 เฟส เฟสที่ 2 สร้างที่พักอาศัย ร้านค้าปลีก คอนโดมิเนียม คาดว่าจะใช้พื้นที่ 3-4 ไร่ ส่วนเฟสที่ 3 จะสร้างทาวน์เฮาส์สูง 3 ชั้น และเฟส 4 สร้างบ้านเดี่ยว ซึ่งโครงการเฟสที่ 3 และ 4 จะเริ่มก่อสร้างโดยดูสภาพเศรษฐกิจ เพราะกลุ่มลูกค้าจะแตกต่างจากภูเก็ต บริษัทจะเน้นกลุ่มลูกค้าสแกนดิเนเวีย คือ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และฟินแลนด์ เป็นกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินไม่เท่ากับกลุ่มลูกค้ายุโรป และออสเตรเลียที่เป็นลูกค้าในภูเก็ต

จะสังเกตเห็นได้ว่าโมเดลธุรกิจจอดเรือ โรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดกระบี่ คล้ายคลึงกับจังหวัดภูเก็ต แต่จะแตกต่างในด้านผู้บริหาร ที่ศรีญาและสามีเป็นผู้ดูแลกิจการทั้งหมด ขณะที่คณิตนั่งในตำแหน่งประธาน โดยสามีของศรีญา เป็นนักธุรกิจท้องถิ่นในจังหวัดกระบี่คือ ศรคม กิจประสานนั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท กระบี่โบ๊ทลากูน จำกัด

ในขณะเดียวกันศรคมก็เป็นเจ้าของธุรกิจในจังหวัดกระบี่ เช่น ธุรกิจโรงแรมในอ่าวนาง และธุรกิจสัมปทานรังนก ส่วนศรีญาจะรับผิดชอบงานด้านขายและการตลาด

ประสบการณ์ทำงานของศรีญากับบิดาของเธอ คณิตจะสอนให้ทำงานด้วยความตั้งใจและขยัน พร้อมๆ กับเรียนรู้งานจากบิดาและผู้บริหารมืออาชีพ

ศรีญาแสดงความเห็นว่าความแตกต่างของการบริหารงานระหว่างผู้บริหารมืออาชีพและเจ้าของธุรกิจ โดยผู้บริหารมืออาชีพจะมีความระมัดระวังในการทำงาน และศึกษาข้อดีข้อเสีย ขณะที่คณิตในฐานะเจ้าของตัดสินใจทำได้ทันที รู้ว่ามีกำลังในการทำเพียงใด และเป็นคนมองการณ์ไกล

ความรู้และประสบการณ์ในฐานะนักธุรกิจท้องถิ่นของกลุ่มคณิต ยงสกุล ที่ถ่ายทอดสู่ทายาทรุ่น 2 ไม่ได้เผชิญการแข่งขันกับนักธุรกิจภายในประเทศเพียงอย่างเดียวแต่ยังต้องต่อสู้กับธุรกิจต่างชาติที่มากด้วยเงินทุนและเปี่ยมล้นประสบการณ์ แน่นอนว่าธุรกิจคงไม่ตั้งรับเพียงอย่างเดียว ในทางกลับกันก็ต้องรุกเพื่อเปลี่ยนแปลงเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.