|
ห้วงเวลาต้องระวัง
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปีหน้า โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัฐ มองว่าจะยังดีอยู่ แต่ยังต้องอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง โดยเฉพาะธุรกิจส่งออก
โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัฐ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ นักเศรษฐศาสตร์ มองในมุมมหภาคเกี่ยวกับภาพรวมของประเทศไทยในครึ่งปีหลัง 2554 และในปีหน้าว่า ในปีนี้จีดีพีที่สำนัก งานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดการณ์ ไว้ในไตรมาส 2 ปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากผลกระทบ เหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และสิ่งที่เกิดขึ้นได้สอนให้ ประเทศไทยรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายในประเทศจะยังคงดีอยู่ในไตรมาส 3 และ 4 แต่จีดีพีจะไม่แตะร้อยละ 4 จะเหลือ เพียงร้อยละ 3.6 เท่านั้น เพราะเหตุการณ์เศรษฐกิจในต่างประเทศทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตชะลอลง
แม้เศรษฐกิจภายในประเทศจะยังดี อยู่ แต่แรงต้านจากต่างประเทศจะมากขึ้นตามลำดับ และมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยนับจากนี้ไปมี 2 เรื่องคือ การค้าโลกที่มีบทบาทสูงต่อประเทศไทย และราคาสินค้าหลายอย่างมีโอกาสต่ำลง
แต่โฆสิตยังเชื่อว่าจีดีพีในปี 2555 ยังเติบโตในอัตราร้อยละ 4 แต่ด้วยแรงต้าน ภายนอกประเทศจะส่งผลต่อธุรกิจส่งออกของไทย โดยเฉพาะลูกค้าที่ส่งออกไปยัง กลุ่มสหรัฐอเมริกาและยุโรป ผู้ประกอบการ จำเป็นต้องปรับตัวอย่างรุนแรง และมองว่า เป็นภาวะที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะวัตถุดิบ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิต สินค้าจะไม่มีความชัดเจนด้านราคา
ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดแผนธุรกิจของ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นนโยบายขององค์กร นี้เริ่มมาค่อนข้างนาน ที่โฆสิตมักกล่าวย้ำเสมอว่า
“บุคลิกของธนาคารกรุงเทพเกาะติดการเจริญเติบโตของประเทศ”
การเป็นธนาคารที่มีทรัพย์สินอันดับ หนึ่ง หรือ 2,011,856.76 ล้านบาท ของสถาบันการเงินในประเทศ และเป็นองค์กร ที่มีอายุ 67 ปี มีกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่มากที่สุด แต่เมื่อเวลาผ่านไปคงเป็นไปไม่ได้ที่ธนาคารกรุงเทพจะยึดติดกับลูกค้ารายใหญ่ อย่างเดียว ขณะที่ยังมีจุดอ่อนลูกค้ารายย่อย
การพบปะครั้งล่าสุดระหว่างโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ และชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพกับสื่อมวลชน แม้จะไม่เปิดเผยว่าธนาคารกรุงเทพจะมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการธุรกิจอย่างไร แต่นัยของการแข่งขัน ที่รุนแรงของสถาบันการเงินภายในประเทศ รวมไปถึงธนาคารต่างชาติที่เข้ามาชิงพื้นที่อีกด้านหนึ่ง สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือกรอบความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กำลังบีบให้ธนาคารต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไม่มีเงื่อนไข
โฆสิตบอกว่าธนาคารจะเน้นลูกค้ารายกลาง ลูกค้าปลีก และรายย่อยมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยเป็นเรื่องใหญ่สำหรับธนาคารที่กำลังหาบุคลิกให้ตัวเองและหน้าที่หลักนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ ของศิริเดช เอื้องอุดมสิน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่
เป้าหมายในการเข้าไปเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยทำให้ธนาคารเริ่มคำนึงถึงการขยายสาขาให้เพิ่มมากขึ้น เพราะสาขา เป็นช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงองค์กรแห่งนี้
ขณะที่ลูกค้าขนาดกลางมีผู้บริหาร มาเสริมในปีนี้คือ ธงชัย อานันโทไทย ผู้ช่วย ผู้จัดการใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้ธงชัยเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารสินเอเซีย แต่หลังจากธนาคารกรุงเทพผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ขายหุ้นให้กับธนาคารไอซีบีซีจากประเทศ จีน ทำให้เขากลับมาร่วมงานในธนาคารกรุงเทพอีกครั้ง
ส่วนการรวมตัวของประเทศในกลุ่ม อาเซียน 10 ประเทศ หรือเออีซี กลายเป็น สิ่งที่ธนาคารกรุงเทพมองว่าใกล้ตัวมากขึ้น และประชาคมอาเซียนจะร่วมมือเชื่อมโยงกันอย่างก้าวกระโดด
การลงทุนธุรกิจในต่างประเทศที่ผ่าน มาธนาคารให้ความสำคัญในประเทศจีนเป็นลำดับแรก แต่จากนี้ไปเป้าหมายคือ เออีซีเริ่มจริงจังมากขึ้น ซึ่งธนาคารมองว่า อย่างน้อยก็มีความได้เปรียบกว่าธนาคารอื่นๆ ปัจจุบันธนาคารมีสาขากระจายอยู่ใน เอเชียและทั่วโลก มากที่สุดคือมาเลเซีย มี 5 สาขา เวียดนาม 2 อินโดนีเซีย 1 ลาว 1 ฟิลิปปินส์ 1 สิงคโปร์ 1 จีน 4 ฮ่องกง 2 ไต้หวัน 3 ลอนดอน 1 นิวยอร์ก 1 ญี่ปุ่น 2 ส่วนพม่าตั้งตัวแทนดูแล 1 แห่ง
ไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัด การใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารตั้งทีมงานเฉพาะกิจขึ้นมา 2 คน เพื่อติด ตามสถานการณ์เออีซี เงื่อนไข กฎระเบียบ ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อนำไปเป็นข้อมูลให้คำปรึกษากับลูกค้าที่สนใจเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน
“เราทำงานหลายๆ เรื่อง เพียงแต่เราไม่ได้ออกมาบอกกล่าวเท่านั้น” เป็นคำกล่าวของไชยฤทธิ์ที่สะท้อนให้เห็นบุคลิกของสถาบันการเงินตราสัญลักษณ์บัวหลวงได้เป็นอย่างดี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|