|
เล่าประสบการณ์ผ่านนักลงทุน
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
คำพังเพยที่บอกว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ” น่าจะเป็นบทพิสูจน์ให้เรียนรู้อาเซียนได้บ้าง
ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยที่มีเจ้าของเป็นกลุ่มนักลงทุนมาเลเซีย และกำหนดบทบาทของตัวเองชัดเจนว่าเป็นธนาคารอาเซียน ทำให้สถาบันแห่งนี้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะปลุกกลุ่มประเทศในอาเซียนให้ตื่น ล่าสุดได้จัดสัมมนาหัวข้อ “ประตูสู่อาเซียนกับธนาคารซีไอเอ็มบีไทย”
ธนาคารนำนักลงทุนมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะผู้ลงทุนโดยตรง เช่น บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน)
หลักชัย กิตติพล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยฮั้วยางพารา ผู้ผลิตและค้ายางดิบ บอกว่าบริษัทลงทุนปลูกยางในลาวมา 6 ปี จำนวนพื้นที่ 2 แสนไร่ ในเขตพื้นที่เวียงจันทน์ คำม่วน สุวรรณเขต เป็นต้น และจุดเริ่มต้นของการเดินทางไปลงทุนในครั้งนั้นเพราะรู้จักกับคนท้องถิ่น
แม้บริษัทจะดำเนินงานอยู่ในลาวมาได้ระยะหนึ่งแล้วก็ตามแต่ยอมรับว่า ยังเรียนรู้ประเทศลาวได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะจากการได้ร่วมงานกับคนลาวพบว่าจะต้องใจเย็น เพราะผลของงานจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายทั้งหมด
แม้ว่าคนไทยจะเข้าใจภาษาลาวได้ร้อยละ 70-80 ก็ตาม แต่ก็ต้องเรียนรู้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะคำที่มักจะได้ยินบ่อยครั้งระหว่างคนไทยกับคนลาว ก็คือ เป็นบ้านพี่เมืองน้อง
“ทำอะไรในลาวต้องระมัดระวัง ใจเย็น เราต้องเป็นน้องอย่าเป็นพี่” หลักชัยกล่าว นัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความผูกพันระหว่างคนไทยกับคนลาวนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้กันอีกมาก ไม่ใช่เพียงได้ยินได้ฟังมา และคิดว่าเป็นไปตามนั้นก็หาไม่ การเข้าไปลงทุนในลาวจำเป็นต้องเรียนรู้กฎระเบียบในลาว เพราะมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย อย่างเช่นการเช่าพื้นที่ในลาว ช่วงแรกที่เข้าไปลงทุนเช่าพื้นที่ 1 เฮกตาร์ (2.5 ไร่) ค่าเช่า 2 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เวลานี้ปรับขึ้นมาเป็น 30 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนบริษัทเช่าเป็นระยะเวลา 35 ปี
หลักชัยบอกว่าได้ลงทุนในลาวจำนวน 1,200 ล้านบาท ส่วนประโยชน์ด้านภาษีได้รับการยกเว้นภาษีจากบีโอไอ 7 ปี หลังจากเริ่มมีรายได้ไปอีก 7 ปี ไม่ต้องเสียภาษี จากนั้นอีก 3 ปีแรกจะเสียภาษีครึ่งหนึ่ง และสุดท้ายเสียภาษีร้อยละ 15
ประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการร้านอาหารและกาแฟ ภายใต้แบรนด์แบล็คแคนยอน เปิดให้บริการร้านอาหารในกลุ่มประเทศอาเซียน เล่าประสบการณ์ว่า เหตุผลที่ตัดสินใจออกไปทำตลาดในอาเซียน เพราะได้รับเชิญจากหน่วยงานรัฐที่ในเวลานั้นมีนโยบายให้ประเทศไทยเป็น “ครัวของโลก” ตอนนั้นก็ร่วมเปิดบูธนำต้มยำกุ้งไปทำให้ลูกค้ารับประทาน
จากการทำธุรกิจในอาเซียนพบว่าประเทศไทยและประเทศในอาเซียนมีความคล้ายคลึงกันหลายด้าน เช่น สังคม วัฒนธรรมและการเมือง แต่คนไทยไม่กล้าเดินทางไปค้าขายในต่างประเทศ
ประวิทย์แนะนำผู้ประกอบการว่า หากต้องการเรียนรู้ในแต่ละประเทศอย่างแท้จริง ให้ซื้อตั๋วทัวร์ท่องเที่ยวไปให้เห็นกับตามากกว่าที่จะนั่งฟังที่ปรึกษา หรือร่วมมงานสัมมนาเท่านั้น
เขายังแนะนำว่ากรณีธุรกิจอาหารที่มีเมนูหรือสูตรของตนเองควรจะมีการจดลิขสิทธิ์เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ เหมือนอย่างเช่นที่เขาไปเห็นโลโกของสุกี้ยากี้เอ็มเคที่กัมพูชา ทั้งๆ ที่เอ็มเคยังไม่มีสาขาอยู่ที่นั่น
ส่วนในประเทศพม่า มีวัฒนธรรมค่อนข้างแข็งแกร่ง เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการก็ต้องเรียนรู้เช่นกัน ด้านประเทศลาวได้รับอิทธิพลจากไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะละครไทย คนลาวจะชื่นชอบอย่างมาก
“ผมมีแผนเปิดสาขาแบล็คแคนยอนในเวียงจันทน์ปลายปีนี้ มีคนลาวแนะนำผมว่าหากต้องการให้คนมามากๆ ให้เชิญนางเอก “เรยา” จากละครเรื่องดอกส้มสีทองมาด้วย เพราะในวันนั้นคนลาวจะมาอยู่ที่ร้านกันหมดอย่างแน่นอน” ประวิทย์เล่า
นิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เล่าประสบการณ์ในประเทศอินโดนีเซียว่า ปตท.เข้าไปลงทุนปลูกปาล์มในอินโดนีเซีย เพราะมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม ร้อนและมีฝนตลอดทั้งปี
การเข้าไปทำธุรกิจในอินโดนีเซียต้องมีความเข้าใจในวัฒนธรรมที่นับถือศาสนาอิสลาม ขณะที่ดั้งเดิมนับถือศาสนาพุทธ
อย่างไรก็ดี เรื่องหลักที่ต้องรู้มี 2 เรื่อง คือ ต้องพูดภาษาอังกฤษ ถ้าพูดไม่ได้อย่างน้อยต้องพูดภาษาท้องถิ่น ทำให้ ปตท. จ้างพนักงานจากภาคใต้ที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่น เรื่องที่สองกฎระเบียบที่แบ่งแยกระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะความล่าช้าของส่วนภูมิภาคที่จะนำกฎหมาย หรือกฎระเบียบต่างๆ มาปฏิบัติ จะใช้เวลานาน และมีการเปลี่ยนกฎระเบียบบ่อยครั้ง ทำให้บางครั้งยากต่อการทำงาน
ในฐานะที่นิพิฐเป็นประธานสภาธุรกิจไทย-อินโดนีเซีย จึงมีนโยบายผลักดันให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะลงทุนทำสวนปาล์มขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินทุน เครื่องจักร ปุ๋ย และโลจิสติกส์
ประสบการณ์ของผู้ประกอบการทั้ง 3 รายที่ก้าวออกไปในตลาดอาเซียนเป็นเพียงการฟังเรื่องราวสั้นๆ ในห้องประชุมสัมมนาเท่านั้น แต่หากต้องการสัมผัสด้วยตัวเองก็ต้องเริ่มเดินทางตั้งแต่วันนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|