|
เรียนรู้อาเซียน
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ช่วงระยะเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา หน่วยงานไทยทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่งพยายามบอกกล่าวและให้ความรู้เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงหลายมิติ แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น
เป้าหมายในการรวมตัวของ 10 ประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เพื่อสร้างตลาดการค้า ให้เป็นหนึ่งเดียว (one market) และสังคมเดียว (one community)
เมื่อเร็วๆ นี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม (สสว.) จัดงานสัมมนา AEC and SMEs Challenges: Next Steps ซึ่งเชิญตัวแทนจาก 3 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว และพม่า มาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและเล่าสถานการณ์ ของแต่ละประเทศ
ทั้ง 3 ประเทศเข้ามาร่วมมือภายหลัง ซึ่งรวมถึงเวียดนาม และเป็นที่รู้จักใน ชื่อ กลุ่มอาเซียนใหม่ หรือ CLMV เป็นชื่อย่อของ 4 ประเทศ Cambodia Lao Myanmar Vietnam
Mr.Nguon Meng Tech General Director Cambodia Chamber of Commerce ประเทศกัมพูชา ให้มุมมองสถานะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกัมพูชาว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีขนาดเล็กและเป็น ธุรกิจครอบครัว ส่วนใหญ่ผลิตและขายภาย ในประเทศเป็นหลัก มีโอกาสน้อยมากที่จะนำสินค้าออกไปในต่างประเทศ
การค้าขายในกลุ่มเอสเอ็มอีจะใช้สายสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นหลัก ดังนั้นการพัฒนาไปสู่ความร่วมมือในรูปแบบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังต้องการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและการตลาด
ส่วนภาครัฐของกัมพูชาได้พยายาม กำหนดกรอบความร่วมมือ หรือการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามา และสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ
Dr.Xaybandith Rasphone Board of Directors at the Lao National Chamber of Commerce and Industry ประเทศลาว กล่าวว่า ลาวมีประชากร 6 ล้านคน มีพื้นที่ 2 แสนตารางวา พื้นที่ร้อยละ 60 เป็นป่า อีกร้อยละ 40 เป็นพื้นราบ มีพื้นที่ติดต่อไทย เวียดนาม และจีน
ประชากรลาวมีอาชีพเกษตรกรร้อยละ 80 แต่มีนโยบายที่จะพัฒนาจากภาคการเกษตรไปสู่ธุรกิจบริการ อุตสาหกรรม เช่น เสื้อผ้า อาหาร เครื่องดื่ม และโรงแรม
ลาวมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 13-14 แต่ยังต้องมีการ พัฒนาอีกหลายด้าน เช่น พัฒนาระบบสถาบันการเงินในปัจจุบันยังมีน้อย หรือการหาแหล่งเงินทุนจากต่างชาติให้มากขึ้น
Mr.Zaw Min Win Vice President UMFCCI ประเทศพม่า กล่าวว่า คนพม่ามีพื้นฐานยากจนแต่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของพม่า ทว่ารัฐบาลยังไม่มีกฎหมายดูแลเอสเอ็มอี แต่พยายามที่จะให้มีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน และสนับสนุนด้านภาษีเพื่อลดภาษีจัดเก็บร้อยละ 10 ให้เหลือร้อยละ 8
ผู้บริหารดังกล่าวเสนอแนะให้มีความร่วมมือในกลุ่มการค้าอาเซียน โดยเฉพาะในปี 2558 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า ควรมีการจัดตั้งกองทุนเอสเอ็มอี รวมถึงจัดตั้งหน่วยงานให้ข้อมูลเอสเอ็มอีในอาเซียน เพื่อ เรียนรู้ และหาวิธีการเข้าถึงตลาด ส่วนรัฐบาลพม่าอยู่ระหว่างกระตุ้นธุรกิจหลายประเภท เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ท่องเที่ยว และเหมืองแร่
เขาชี้ให้เห็นจุดอ่อนของพม่าว่า ธุรกิจมีการลงทุนต่ำ และใช้เทคโนโลยีไม่ทันสมัย สิ่งที่รัฐกำลังทำก็คือ การทำงานที่เน้นศูนย์กลางและถ่ายโอนเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และจัดกลุ่มคู่ค้าอุตสาหกรรม
Mr.Tech จากกัมพูชาเล่าถึงอุตสาหกรรมและธุรกิจอาหารว่า ที่ผ่านมาได้รับความช่วยเหลือจากฮ่องกง จีน และไต้หวัน ช่วยพัฒนาเทคนิคและอบรมพนักงาน
แต่สิ่งที่กังวลคือระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟเชื่อมโยงพนมเปญกับเวียดนามช้ากว่าที่คาดหวัง แม้ว่าจะมีการเจรจากันแล้วก็ตาม แต่ยอมรับว่าในภาคปฏิบัติเป็นไปด้วยความลำบาก
ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เหลือร้อยละ 0 ที่ผ่านมา กัมพูชาได้ รับโควตาจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
สำหรับมุมมองด้านแรงงาน ปัจจุบันแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ย 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพูดถึง 300 บาท เท่ากับ 10 ดอลลาร์สหรัฐ มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการย้ายแรงงานเพิ่มมากขึ้น
Dr.Rasphone จากลาว บอกว่าธุรกิจทอผ้าของลาวค่อนข้างแข็ง แกร่ง แต่การแปรรูปอาหารและก่อสร้างยังมีประสบการณ์น้อยมาก เพราะพื้นฐานเป็นประเทศเกษตรกรรม ดังนั้น ความร่วมมือในเออีซีคนลาวต้องปรับตัวและสร้างมาตรฐานอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว ต้องพัฒนาทั้งโรงแรมและห้องพัก
ส่วนแรงงานในลาว คาดหวังให้ทำงานในประเทศมากกว่า เพราะลาวยังขาดแคลนทรัพยากรบุคคล
Mr.Win บอกว่าประเทศพม่ามีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย สิ่งที่พม่าต้องการการสนับสนุนคือ เงินทุน และเทคโนโลยี กระบวนการผลิตอาหาร การผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ อะไหล่รถยนต์ และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ สิ่งที่พม่าต้องการคือ หุ้นส่วนร่วมงาน
การรวมตัวของกลุ่มประเทศอาเซียนยังมีความเหลื่อมล้ำกันหลายด้านโดยเฉพาะระดับการพัฒนาประเทศที่แตกต่างกัน มีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ประเทศกำลังพัฒนาอย่างมาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย ในขณะที่กลุ่มประเทศนิว อาเซียนเป็นประเทศกำลังพัฒนา
ความท้าทายก็คือ ทำอย่างไรให้ความร่วมมืออาเซียนเกิดความเท่าเทียม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|