|
กรีนเชิงสัญลักษณ์จาก ปตท.
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
“โลกมันชัดเจนว่าก้าวสู่เรื่องกรีนโปรดักส์ทั้งนั้น เป้าหมายของ ปตท.จึงอยากมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรีน เราเริ่มจากไบโอพลาสติกหรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ที่สำคัญเราต้องพัฒนาธุรกิจให้เอาไปใช้ได้จริงด้วยการหาการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ให้เจอ”
ดร.ปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.กล่าวกับผู้จัดการ 360 ํ ในงานเปิดตัวแก้วพลาสติกย่อยสลายได้ 100% ของร้านกาแฟคาเฟ่อะเมซอน
ปตท.เปิดตัวโครงการร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่นจาก ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้แต่ ผู้รู้ยังจำกัดในกลุ่มนักลงทุน การกล่าวถึงธุรกิจอย่างจริงจังอีกครั้งในงานเปิดตัวถ้วย กาแฟเล็กๆ ของคาเฟ่อะเมซอนจึงเป็นการ ประกาศเปิดตัวธุรกิจใหม่ให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้โดยทั่วถึงอีกครั้ง โดยอาศัยผลิตภัณฑ์ ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่คุ้นเคยอย่างแก้วกาแฟมาเป็นตัวสื่อความหมาย
การเปิดตัวด้วยวิธีนี้ให้ประโยชน์กับ กลุ่ม ปตท.และคาเฟ่อะเมซอนไปพร้อมกัน เพราะเป็นทั้งการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ของ ปตท.ให้ตลาดรู้จักในวงกว้าง และเปิดตัวจุดขายใหม่ให้กับร้านกาแฟที่มีสาขามากที่สุดของประเทศไทย
“นี่คือจุดเริ่มต้น อาจคิดว่าเป็นเชิงสัญลักษณ์เรื่องกรีน แต่เราทำซีเรียสนะ เรา ลงทุนกับมิตซูบิชิฯ ตั้งบริษัทขึ้นอีก 3 ปี โรงงานจะแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตถึง 2 หมื่นตันต่อปี เมื่อทุกอย่างคอมพลีท เราก็คิดว่า ปตท.สามารถที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจ ไบโอพลาสติกได้ นี่คือเป้าหมายที่เราตั้งไว้ แต่วันนี้อาจจะพูดได้ว่าเป็นเชิงสัญลักษณ์ที่เราออกมาบอกว่าผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก ถึงจะเป็นของใหม่แต่ก็ผ่านการทำงานของศูนย์วิจัยมาแล้ว จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปที่ใช้ได้จริง”
ดร.ปรัชญากล่าวว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามนโยบายที่ ปตท.กำหนดไว้ว่าจะเติบโตด้วย กรีน (Green Growth) ดังนั้นนอกจากการ พัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอย่างเอทานอล การพัฒนาพลาสติกจากวัตถุดิบที่ย่อยสลาย ได้ก็เป็นเป้าหมายที่ ปตท.ศึกษาและทำงาน ในศูนย์วิจัยมานาน จนนำมาสู่ความร่วมมือ กับมิตซูบิชิฯ โดยถือหุ้นฝ่ายละ 50% จดทะเบียนภายใต้บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด (PTT MCC Biochem Company Limited) ทุนจดทะเบียน 360 ล้านบาท เพื่อดำเนินการผลิตไบโอพลาสติก ผลิตสารตั้งต้น Bio-Succinic Acid (BSA) และผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด Poly-butylene Succinate (PBS) โดยใช้วัตถุ ดิบจากธรรมชาติคือ น้ำตาล
โรงงานดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนก่อสร้าง 7 พันล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 100 ไร่ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (AIE) จังหวัดระยอง จะเริ่มก่อสร้างในปี 2555 คาดว่าจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2557 โดยจะผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS จากพืชเป็นรายแรกของโลกจากปัจจุบันที่เม็ดพลาสติก PBS จะผลิตจากปิโตรเลียมทั้งสิ้น โดยโครงการสารตั้งต้น BSA จะมีกำลังการผลิต 36,000 ตันต่อปี และ PBS จะมีกำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี กำลังการผลิตนี้คาดว่าต้องใช้น้ำตาล เป็นวัตถุดิบประมาณ 5 หมื่นตันต่อปี ซึ่ง ปตท.จะตัดซื้อจากโควตาน้ำตาลส่งออก
“เป้าหมายระยะสั้น เราจะเป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียน เพราะเราเป็นบริษัทที่มีโรงงานแห่งแรกในภูมิภาคนี้ ระยะกลางเราต้องการจะเป็นผู้นำในเอเชีย ในระยะไกลเราคาดว่าจะเป็นผู้นำของโลกได้ เพราะผมคิดว่าประเทศไทยมีศักยภาพ”
ความเห็นของ ดร.ปรัชญาเกี่ยวกับศักยภาพของไทยเป็นมุมมองเดียวกับผู้ร่วมทุนชาวญี่ปุ่น ซึ่งมิตซูบิชิฯ ให้เหตุผลในการ ตัดสินใจร่วมทุนครั้งนี้ในทำนองเดียวกันว่า การตั้งโรงงานในไทยจะมีความได้เปรียบทั้งในด้านที่ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างอ้อยและมันสำปะหลัง ในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลและมันสำปะหลังรายใหญ่ของโลก และตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทย ก็เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีในการส่งสินค้าไปยังจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งมีอัตราบริโภค พลาสติกชีวภาพสูงจะทำให้ได้เปรียบด้านการค้าจากต้นทุนการขนส่งอีกทางหนึ่งด้วย
ดังนั้น นอกจากพื้นที่ 100 ไร่ที่เป็น จุดก่อสร้างโรงงาน ปตท.ยังมีพื้นที่สำรองในบริเวณเดียวกันอีกจำนวน 1,500 ไร่ เพื่อเตรียมพัฒนาสู่การเป็น bio-hub ของเอเชีย ตามแนวทางที่วางไว้ในระยะกลาง-ไกลด้วย
ดร.ปรัชญากล่าวว่า ในระยะเบื้องต้นกลุ่มลูกค้าหลักของพลาสติกชีวภาพจะเน้นตลาดต่างประเทศ ในยุโรป อเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มความต้องการใช้งานสูงขึ้นประมาณ 25% ต่อปี โดยในปี 2553 คาดว่าจะมีความต้องการใช้พลาสติก ชีวภาพทั่วโลกประมาณ 200,000 ตันต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,200,000 ตัน ภายใน ปี 2563
แผนการดำเนินธุรกิจของบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม แบ่งออกเป็น 2 เฟส ได้แก่ เฟส 1 พัฒนาตลาด PBS ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งออกแบบการก่อสร้างโรงงานผลิต PBS ขนาด 20,000 ตันต่อปีและพัฒนาทางเลือกเทคโนโลยีการผลิตสารตั้งต้น BSA และเฟส 2 จะเริ่ม การก่อสร้างโรงงานผลิต PBS และโรงงานผลิต BSA ขนาด 36,000 ตันต่อปี คาดว่าจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปี 2557
“การบ้านของเราตอนนี้คือพยายาม เริ่มทำตลาด เริ่มหารูปแบบการใช้งานของไบโอพลาสติก ชักชวนคนมาลองใช้ เพราะวันนี้ PBS ยังเป็นส่วนที่ใช้น้อย ตัว PLA (พลาสติกย่อยสลายแบบใสและเปราะบางกว่า) ก็ยังน้อย แต่เราเห็นอนาคตว่าการเติบโตจะสูงมาก กว่าโรงงานจะเสร็จผมคิดว่ากำลังการผลิต 2 หมื่นตันที่กำหนดไว้น่าจะขายได้หมด”
ตัวอย่างการใช้งานที่ ดร.ปรัชญา ยกมาให้ฟัง ส่วนใหญ่คือกลุ่มที่ต้องการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เช่น ภาคการ เกษตร อย่างในญี่ปุ่นที่ใช้พลาสติกคลุมแปลงผักกันแพร่หลาย ซึ่งใช้แล้วไม่ต้องเก็บทิ้งไว้ก็จะกลายเป็นปุ๋ย กลุ่มห้างสรรพสินค้าต่างๆ ฯลฯ
“ที่ญี่ปุ่นเขามีกลุ่มผู้ใช้เยอะ เขาคุ้ม แล้ว เพราะค่าแรงเขาสูง ใช้คลุมดินเสร็จก็ทิ้งเป็นปุ๋ยไปเลย เทียบกับที่ต้องจ้างคนมาเก็บแพงกว่าเสียอีก ประเด็นนี้คืออีกจุดที่เรามอง เมื่อข้อจำกัดว่ามันแพงถ้าผลิตน้อยก็ไม่คุ้มเราถึงพยายามที่จะสร้างโรงงาน ที่มันใหญ่ขึ้น พยายามหาตลาดเพื่อให้ได้อีโคโนมีออฟสเกล ราคาก็จะลงมาแข่งขันได้ บวกกับช่วยประหยัดต้นทุนเรื่องการทำลาย ผมเชื่อว่านี่เป็นเทรนด์ของโลก ไม่ใช่เทรนด์ เฉพาะที่ไหน ตลาดไทยก็น่าจะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน”
อย่างไรก็ตาม แก้วไบโอพลาสติกของอะเมซอนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธุรกิจที่จะนำ ปตท.ไปสู่ผู้นำธุรกิจใหม่ในตลาดโลกนี้ ปัจจุบันประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ตัวแก้วและหลอดซึ่งเป็นพลาสติกแบบขุ่นที่เป็น PBS กับแก้วใสและฝาปิดจากพลาสติก PLA แม้จะเริ่มทยอยออกมา ใช้งานในร้านกาแฟคาเฟ่อะเมซอนบริเวณสำนักงานใหญ่ของ ปตท.แล้ว 3 สาขา และถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมใช้ 100% แต่ก็ยังอยู่ในช่วงต้องพัฒนาปรับให้ดียิ่งขึ้น อาทิ พัฒนาการเคลือบลามิเนทเพื่อให้ทนความร้อนสูงขึ้น จากปัจจุบันแก้วที่ผลิตออก มาสามารถทนความร้อนได้เพียง 80 องศาเท่านั้น และเรื่องดีไซน์
ปตท.คาดว่าเมื่อถึงปี 2557 (2014) เมื่อโรงงานแล้วเสร็จและเริ่มผลิตแก้วพลาสติกย่อยสลายได้ 100% ก็จะถูกป้อนให้กับร้านกาแฟคาเฟ่อะเมซอนที่มีอยู่ 591 สาขาทั่วประเทศ แล้วเมื่อนั้นยอดจำหน่าย กาแฟของร้านซึ่งมียอดขายปีละ 30 ล้านแก้วในปัจจุบัน ก็คงจะปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงที่ ปตท.ยังไม่ได้ผลิตเองนี้ คาเฟ่อะเมซอนซึ่งถือเป็นผู้นำร่องในการโปรโมตการใช้ไบโอพลาสติกและเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้กับธุรกิจกรีนของปตท.ไปในตัว จะเป็นผู้รับต้นทุนค่าเม็ดพลาสติกไบโอที่ต้องอิมพอร์ตเข้ามาไปก่อน ด้วยการจำหน่ายกาแฟที่บรรจุในแก้วไบโอพลาสติกในราคาเดิม
ส่วน ปตท.ต้องถือว่าได้รับประโยชน์ล่วงหน้าไปแล้ว เพราะกรีนเชิงสัญลักษณ์จากแก้วไบโอพลาสติกของคาเฟ่อะเมซอนในครั้งนี้กลายเป็นสารที่ส่งถึงผู้บริโภคไทย ในวงกว้างให้รับรู้แล้วว่า ในทศวรรษต่อจากนี้ไป ปตท.จองตำแหน่ง “ผู้เล่นหลักของกรีนโปรดักส์” รายใหญ่ของไทยเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่งแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|