ประเทศไทยกำลังจะขาดแคลนเกษตรกร!

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองเกษตรขนานแท้มาเนิ่นนาน แต่แล้วอยู่ๆ เมื่อพิจารณาดูตัวเลขประชากรเกษตรของประเทศอย่างจริงจัง กลับกลายเป็นว่า อีกเพียงทศวรรษเดียวตัวเลขเกษตรกรที่เหลืออยู่ของไทยจะมีอัตราส่วนเท่ากับประชากรผู้สูงอายุของประเทศเลยทีเดียว ความต่างของตัวเลขเดียวกันอยู่ที่ สำหรับผู้สูงอายุถือว่ามาก แต่สำหรับจำนวนเกษตรกรถือว่า เข้าสู่ภาวะขาดแคลน

จากข้อมูลของสถาบันประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าจำนวนของเกษตรกรลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546-2554 และคาดว่าจะมีเกษตรกรทั้งประเทศเหลืออยู่ประมาณ 20% ของประชากรในปี 2568 ขณะที่แนวโน้มประชากรผู้สูงอายุของไทยจะย่างเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ หรือการมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีเกิน 20% ในปี 2570 ในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

ตัวเลขนี้สวนทางกับชื่อเสียงของความเป็นเมืองเกษตรกรรมและครัวโลกโดยสิ้นเชิง ดังนั้นหากไม่มีมาตรการอะไรสักอย่างมาช่วยพยุงสถานการณ์วิกฤติขาดแคลนเกษตรกร ก็เป็นไปได้ว่าสภาพท้องไร่ท้องนาของเมืองไทยในอนาคต อาจจะมีสภาพไม่ต่างจากกระบวนการผลิตในโรงงานที่มีนายทุนเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ควบคุมการผลิตภาคการเกษตรไม่ต่าง จากระบบการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่สำนักงานวิจัย และพัฒนาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จึงริเริ่มโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมาเมื่อ 3 ปีก่อนหน้านี้ เพื่อค้นหาและสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะมาสืบทอดอาชีพเกษตร โดยร่วมกับกรมอาชีวศึกษา วิทยาลัยการเกษตร และสำนัก งานการปฏิรูปที่ดิน (สปก.) ในฐานะผู้จัดห้องเรียนในชีวิตจริงหรือผู้มอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับผู้เรียนหลังผ่านหลักสูตรนั่นเอง

การเรียนการสอนมี 2 รูปแบบ หนึ่ง จัดเป็นหลักสูตรในระดับอาชีวศึกษาสำหรับสอนนักเรียนในระดับ ปวช.ของโรงเรียนอาชีวะ และสอง จัดเป็นหลักสูตรการอบรมระยะ 3 เดือนให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปผู้สนใจจะเปลี่ยนสถานะมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยใช้สถานที่ของวิทยาลัยเกษตรกรรมในจังหวัดต่างๆ เป็นสถานที่อบรม

โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกร รุ่นใหม่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดว่า คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้เปลี่ยนภาพลักษณ์เกษตรกรแบบเดิมๆ ผู้ครอบครองนามสกุล “ผู้ยากไร้” ตามที่คนมักพูดกันติดปากจากสำนวน “เกษตรกรผู้ยากไร้” ให้พัฒนาไปสู่การเป็น เกษตรกรที่รู้จักวางแผนการผลิต คิดเองได้ รู้จักตลาดและขายเองเป็น รวมทั้งรู้รักษ์สิ่งแวดล้อมภายใต้กระบวนการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งการรักษาสภาพแวดล้อม สุขภาพร่างกาย คุณภาพชีวิต และการประหยัดต้นทุนไปพร้อมๆ กัน

สุวิทย์ ภูมิประเสริฐโชค เจ้าหน้าที่บริหารโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ สกว.เล่าว่า ต้นตอปัญหาหลักที่ทำให้เกิดโครงการมาจากการพบว่าคนรุ่นใหม่หนีจากภาคเกษตรเพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รายได้จากอาชีพเกษตรไม่จูงใจคนรุ่นใหม่ให้หันมายึดอาชีพนี้ หรือคิดจะสืบทอดความเป็นเกษตรกรต่อจากพ่อแม่ สำหรับกลุ่มที่เป็นลูกหลานเกษตรกร แม้ว่าจะมีการให้เกียรติภาคเกษตรว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติตามที่เด็กไทยท่องจำกันมานานก็ตาม

ปัจจุบันรายได้จากภาคเกษตรคิดเป็นเพียง 9% ของจีดีพีของประเทศ หรือถ้าคิดรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของเกษตรกรแล้วก็ยังเทียบไม่ได้แม้กระทั่งกับรายได้ของ ลูกจ้างในร้านสะดวกซื้อที่จบในระดับ ปวช. ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 6-7 พันบาทด้วยซ้ำ

“เพราะฉะนั้นไม่ต้องสงสัยว่า ประเทศไทยจะขาดแคลนเกษตรในอีก 10 ปีข้างหน้านี้แน่ๆ เพราะอาชีพของคนทำเกษตรตามสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี ทุกคนรู้คำตอบของคำถามง่ายๆ อยู่แล้วว่า อีก 10 ปีข้างหน้าคนกลุ่มนี้ก็เข้าสู่วัยเกษียณ พวกเขา จะยังทำอาชีพเกษตรไหวไหม กับอีกคำถามที่ว่าแนวโน้มคนหนุ่มสาว ซึ่งควรจะมีเข้ามาแทนที่ จะเลือกทำเกษตรหรือจะพยายามเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคเมืองมากกว่ากัน ในเมื่อพวกเขามีแหล่งรายได้ที่ดีกว่าการทำเกษตร แค่ไปเป็นลูกจ้างร้านเซเว่นฯ ก็ได้เงินมากกว่า เพราะฉะนั้นนี่คือปัญหาในเชิง ซ้อนทับที่ยืนยันได้ว่า ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ปัญหานี้จะตกผลึกเป็นวิกฤติที่รุนแรงของประเทศเลยทีเดียว”

ในมุมมองของโครงการ รายได้จึงเป็นเป้าหมายหลักหรือถูกกำหนดเป็นต้นทางของการแก้ปัญหา และเป็นประเด็นที่ต้องพัฒนาให้มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่ต่ำกว่าพนักงานบริษัทที่จบระดับ ปวช.ขึ้นไป หรือประมาณ 5-7 พันบาทต่อเดือน ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้า สู่ภาวะขาดแคลนเกษตรกร

“อาจจะมีปัญหาอื่นๆ ในมิติเชิงสังคม หรือทัศนคติในอาชีพเกษตรด้วย แต่รายได้นี่แหละเป็นโจทย์ใหญ่ที่เป็นต้นทาง ของโครงการ ทำให้เราต้องมาคิดว่าถ้าจะจูงใจคนหนุ่มสาวให้ตัดสินใจเข้าสู่ภาคเกษตร เราจะต้องทำให้เขามีความมั่นใจเชิงรายได้ว่าอาชีพเกษตรทำแล้วพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้ รวมทั้งทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าอาชีพเกษตรทำแล้วไม่ต่ำต้อยด้อยค่าไปกว่าอาชีพอื่น”

จากจุดเริ่มต้นโครงการและโจทย์ใหญ่จาก สกว. โครงการเกษตรกรรุ่นใหม่ถูกนำไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ต่อมาก็ดึงวิทยาลัย เกษตรเข้าร่วม และองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้โครงการนี้ไปถึงฝันก็คือ สปก. หน่วยงานซึ่งจะพิจารณาให้สิทธิ์ที่ดินแก่ผู้ผ่านการอบรมเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เพราะที่ดินคือต้นทุนที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญที่สุด เมื่อทุกหน่วยพร้อมจึงเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการจัดสร้างองค์ความรู้ด้านเกษตรรวมถึงเรื่องทรัพยากรให้กับผู้สมัครใจ เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่

3 ปีที่ผ่านมา โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ มีผู้เข้ารับการอบรม ทั้งส่วนที่เป็นนักเรียนอาชีวะระดับ ปวช. ที่เลือกเรียนเป็นเกษตรกร ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีที่ดิน ไม่มีเงินเดือนประจำ ไม่มีอาชีพ และต้องการเรียนรู้เพื่อเป็นเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรเดิมที่ต้องการเรียนรู้แนวคิดใหม่ รวมทั้งสิ้นประมาณ 2,000 กว่าราย ในจำนวนนี้ผ่านเกณฑ์ประเมินและได้รับแจกที่ดินจาก สปก.เฉลี่ยคนละ 2.5 ไร่ในจังหวัดต่างๆ ไปแล้วจำนวน 800 กว่าราย

เกณฑ์ประเมินที่ว่า กำหนดไว้ว่าเกษตรกรจะต้องอาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่ ที่ได้รับไปจริง ไม่มีอาชีพ กิจการหรือรายได้ จากแหล่งอื่น เมื่อลงมือทำจนเริ่มเก็บเกี่ยว ผลผลิตได้ควรจะมีรายได้ขั้นต่ำประมาณ 5 พันบาทขึ้นไป ซึ่งในจำนวนนี้อาจจะตีมูลค่าจากส่วนที่บริโภครวมอยู่ในนั้นด้วย

ส่วนการเปิดโอกาสให้คนสมัครใจเข้าเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ได้หลายกลุ่มหลายวัย โดยไม่จำกัดนั้น สกว.ต้องการให้ การขับเคลื่อนเกษตรกรรุ่นใหม่เกิดขึ้นภายใต้การผสมระหว่างวัยและประสบการณ์ที่หลากหลาย

“เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเกษตรกรรุ่นเดิมๆ วัยมาก การศึกษาน้อย แต่ก็มีประสบการณ์มาก โดยเฉพาะที่เคยล้มเหลวซึ่งจะมาช่วยให้บทเรียนและคอยเตือนเกษตรกรรุ่นใหม่วัยเด็ก ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ ก็จะมีจุดแข็งตรงที่ร่ำเรียนมาโดยตรง มีไฟ รู้จักใช้เทคโนโลยีช่วยในการผลิต แต่อาจ จะตัดสินใจไว ไม่รอบคอบ ก็จะเกิดส่วนผสมในการเรียนรู้ร่วมกันได้ ในแต่ละที่ที่อบรมเราก็พยายามให้เกษตรกรมีอายุและอายุน้อยอยู่ร่วมกัน”

กระบวนการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ จะใช้หลักการสร้างปริญญาจากท้องนา คือ นำสิ่งที่เกษตรกรแต่ละคนต้องเจอในพื้นที่มาเป็นโจทย์ในการพัฒนาตัวเอง

“บทเรียนเริ่มต้นของเกษตรกรรุ่นใหม่ จะใช้บริบทของพื้นที่เป็นตัวตั้งแทนการใช้พืชเกษตรที่นิยมเป็นตัวตั้งเหมือนใน อดีต เป็นการนำความรู้ที่เกษตรกรมีอยู่มา สอนพวกเขาว่าจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างไร เช่น ได้ที่ดินอยู่วังน้ำเขียว คนส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพด อยากปลูกบ้างแล้วมาเรียนวิธีปลูกข้าวโพดแบบนี้ใช้ไม่ได้แล้ว แต่การเรียนของเกษตรกรรุ่นใหม่จะเริ่มจากนำบริบทของพื้นที่และสังคมเกษตรเป็นตัวตั้ง

โจทย์ของทุกคนคือ ที่ดิน 2.5 ไร่ที่เข้าไปทดลองทำ ถ้าเป็นนักเรียนอาชีวะก็คือแปลงที่ดินที่เขาต้องดูแล ก็จะต้องเริ่มมาดูกันว่ามีน้ำในพื้นที่ไหม ดินเป็นอย่างไร เอามาวิเคราะห์ทำอะไรได้บ้าง ภายใต้ทาง เลือกที่มีก็ต้องมาดูอีกว่าเกษตรกรคนนั้นเหมาะกับอะไร อะไรที่จะเป็นตัวให้รายได้ อะไรให้ความสุข เราจะฝึกภายใต้สถาน การณ์อย่างนี้ ชีวิตการเรียนของเกษตรกรรุ่นใหม่จะเหมือน Reality Show แพ้ก็คัดออก เพราะถือว่าคุณไม่ผ่านมาตรฐานที่จะ เป็นเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของที่ดิน” สุวิทย์กล่าว

เพราะฉะนั้นจินตนาการไว้เลยว่า สำหรับผู้มุ่งมั่นมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ คนกลุ่มนี้จะไม่อยู่ในกระบวนการของกลุ่มเกษตรกรที่มีความคิดไปปิดถนนพื่อเรียกร้องขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา เพราะ พวกเขาจะต้องเริ่มต้นจากการเรียนรู้ที่จะพึ่งพา และลงมือทำด้วยตัวเองตั้งแต่วันแรก ที่ตัดสินใจก้าวสู่การเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่

การเรียนตามหลักสูตรระดับอาชีวะ เด็กที่สมัครใจเรียนเกษตร ไม่ใช่ได้แค่ทำแปลงผักทดลองหรือเรียนรู้เรื่องที่ครูกำหนด แต่พวกเขาจะต้องเริ่มต้นเรียนด้วยสถานการณ์จริงเช่นเดียวกับเกษตรกรตัวจริง

“เวลาเรียนในห้องเราจะหาประเด็น ที่เด็กอยากรู้มาเป็นตัวเริ่ม เช่น เราอาจจะชี้ต้นไม้ที่เป็นโรค ชักชวนว่ามาเรียนการจัดการโรคพืชกันไหม กระตุ้นให้เกิดคำถาม เกิดความอยากรู้ เพื่อให้เขาเกิดความต้อง การรับฟังมากกว่าการให้ครูไปตั้งโจทย์แล้ว ป้อนๆๆ เราสามารถหาสถานการณ์มาเป็น กรณีศึกษาให้เขาได้ทุกวัน วันนี้ฝนไม่ตก พรุ่งนี้ราคาขึ้น ปุ๋ยแพง ไม่ว่าอะไรที่เจอจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงทั้งตอนเรียนและที่เขาจะต้องเจอต่อไป ความรู้ที่เรียนจะทำให้เขานำไปใช้ได้ทันที”

สุวิทย์ยืนยันว่าเด็กไทยมีความสามารถ เพียงแต่ต้องกระตุ้นให้ถูกวิธีเทียบแล้วเด็กเกษตรก็ไม่ต่างจากเด็กช่าง ที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาเมื่อเจอสถานการณ์จริง ตัวอย่างกรณีเด็กช่างแข่งรถ ถ้ามองข้ามปัญหาสังคมเรื่องรถซิ่ง การโมดิฟายรถให้วิ่งเร็วขึ้นก็ถือเป็นฝีมือที่เกิดจากความต้องการที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การเรียนรู้และปฏิบัติของกลุ่มเด็กช่างที่แสดงความสามารถที่มีอยู่ดีๆ นี่เอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มนักเรียนอาชีวะ การตัดสินใจเลือกเรียนเป็นเกษตรกร ไม่ใช่ทางเลือกสุดท้าย ในฐานะคนที่อยู่ในระบบการศึกษา หากรู้สึกไม่ชอบ หรือไม่ประสบความสำเร็จด้านเกษตร พวกเขาก็สามารถกลับเข้าไปเรียนในหลักสูตรอื่นๆ ได้เหมือนเดิม แต่หากเรียนจนจบก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับแจกที่ดินจาก สปก.เช่นเดียวกับเกษตรกรคนอื่นๆ หากผ่านเกณฑ์คัดเลือกที่กำหนดไว้

จากกรณีตัวอย่างของต้อย เจียมโพธิ์ เกษตรกรรุ่นใหม่ของโครงการ วัย 36 ปี ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจาก สปก. 2.5 ไร่ ในเขตพื้นที่นิคมเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า หลังจากฝึกอบรมรุ่นที่ 1 กับโครงการที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา แล้วได้แปลงที่ดินสำหรับทดลองทำ เธอบอกว่าครั้งแรกที่ได้มาเห็นที่ดินที่ สปก.จัดไว้ให้เป็นความรู้สึกที่ต่างจากวันนี้โดยสิ้นเชิง

“ตอนเห็นที่ดินครั้งแรก ท้อเลย จะ ไหวหรือเปล่า เพราะที่ดินเป็นเนิน มีแต่หิน รก แค่คิดว่าจะทำให้เตียนได้นี่ก็ไม่รู้จะไหว ไหม”

แต่ในที่สุด เธอก็ผ่านเกณฑ์มาได้ โดยได้รับทุนเริ่มต้น 10,000 บาท หรือประมาณวันละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับช่วงต้นที่ยังไม่มีรายได้จากการใช้ประโยชน์ที่ดิน ต้อยนำเงินที่ได้จ้างรถไถมาไถที่ส่วนหนึ่ง ลงทุนปลูกต้นกล้วยจำนวน หนึ่งเพื่อไว้เก็บขายระหว่างที่ยังปรับแปลงที่ดินไม่หมด ส่วนที่ดินที่ปรับสภาพก็ยกร่อง ทำเป็นแปลงมาตรฐานกว้าง 1 เมตร ยาว 20 เมตรเพื่อปลูกผักปลอดสารพิษ

การจัดการความรู้จากที่เรียนมา เธอใช้ปุ๋ยจากมูลวัวและสุกรหมัก คลุมฟาง รดน้ำจุลินทรีย์ในแปลงผักทุก 7 วัน ในช่วงเย็นเพื่อไล่แมลง โดยใช้ส่วนผสมจุลินทรีย์ 10 ลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เพาะผักในกระบะก่อนนำลงแปลงดิน ใช้ระยะเวลา 25-30 วัน ก็เก็บได้สำหรับช่วงฤดูหนาว และ 45-60 วัน สำหรับฤดูอื่น

ทำมาปีเศษ ต้อยมีรายได้ประจำจากการขายผักสลัดที่ปลูกกิโลกรัมละ 50 บาท (เหมารวมทุกชนิด) ให้กับรถรับซื้อผักของห้างสรรพสินค้าจากกรุงเทพฯ และโรงแรมในพื้นที่วังน้ำเขียว วันนี้เธอมีรายได้ เดือนละประมาณ 17,000 บาท คงเหลือสุทธิต่อเดือนประมาณ 3,000 บาท หลังจากใช้จ่ายเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับค่าไถที่ ค่าปุ๋ยมูลสัตว์ ฟางข้าว เมล็ดพันธุ์ และค่าใช้จ่ายในครอบครัว สำหรับเธอ สามี และลูกอีกสองคน ซึ่งคนโตกำลังสมัครเข้าเรียนวิชาเกษตรในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

แปลงผักของต้อยค่อนข้างทันสมัย ผิดจากสภาพที่ได้รับมาแต่แรก เพราะนอกจากลงทุนเอง เธอยังได้รับการสนับสนุนเงินทุนบางส่วนจากหน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อติดตั้งระบบสปริงเกอร์ และน้ำหยด

จุดแข็งของเกษตรกรรุ่นใหม่อย่างต้อยคือ เธอมีรายได้สูงกว่าอัตราค่าจ้างระดับปริญญาตรีเดือนละ 15,000 ที่รัฐบาลประกาศจะเริ่มในปีหน้านี้ มีทั้งส่วน ที่เป็นรายได้รายวันจากการส่งผักให้ผู้มา รับซื้อ และมีแผนที่จะขยายการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้จากการสร้างเครือข่ายผู้ปลูกผักสลัดโดยชักชวนเพื่อนบ้านและเครือญาติเข้ามาเรียนรู้และปลูกผักรอบบ้านของ เธอมีพืชผักสวนครัวที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัว ที่สำคัญผักสลัดของเธอเป็น ที่ต้องการของตลาดเพราะปลอดสารพิษและปลูกในดินที่ให้ธาตุอาหารดีกว่าผักสลัด ที่ปลูกด้วยระบบปุ๋ยน้ำ

สุวิทย์เล่าว่า กรณีของวังน้ำเขียว ปลูกผักสลัดกันมาก มาจากการทำการบ้าน ที่โครงการสอนวิธีคิดว่า นอกจากปลูกในสิ่งที่กินได้ ถ้าจะขายได้ควรจะปลูกอะไร

“เราสอนวิธีคิด เขาเลือกปลูกผักไม่ใช่ครูอาจารย์ใส่หัวว่าต้องเป็นผัก แต่เขาศึกษาว่าที่นี่มีการท่องเที่ยว ผักสลัดส่งรีสอร์ตได้ ผู้รับซื้อกรุงเทพฯ ก็มาแถวนี้ เพราะมีผักที่มีศักยภาพ แล้วประเมินพื้นที่มีน้ำพอจะปลูกได้รอดเขาก็เลยปลูกผักกัน”

ส่วนแผนงานต่อจากนี้ ต้อยกำลังเริ่มมองแล้วว่า ผักสลัดของเธอจะมีแบรนด์ ได้ไหม เมื่อมีนักวิชาการจาก สกว.มาบอก ว่า ผักสลัดที่ปลูกบนดินเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ยิ่งเป็นผักอินทรีย์ปลอดสารพิษก็ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นอีก

วิสิษฐ์ เชียงพุทรา เกษตรกรรุ่นใหม่ อีกคน เขาเป็นผู้สะท้อนภาพของคนที่เห็นคุณค่าการเกษตรและการใช้ชีวิตตามแนว ทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้อย่างดี

อดีตวิสิษฐ์เคยเป็นวิศวกรโยธา ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ ผ่านงานเมกะโปรเจ็กต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาหลายปี หลังกลับจากสิงคโปร์ที่ทำงานสุดท้ายก่อนมาเป็นเกษตรกร เขามีโอกาสเข้าร่วมกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศ ปั่นจักรยานรณรงค์ให้คนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพและประหยัดพลังงาน จนเกิดประทับใจชีวิตในชนบทเลยตัดสินใจจบอาชีพวิศวกรมาสมัครเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ปัจจุบันเป็นเจ้าของที่ดิน 2.5 ไร่ที่วังน้ำเขียว ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ส่วนที่เหลือกิน ขายในรูปแบบ Barter trade กับเพื่อนบ้าน มีรายได้เดือนหนึ่งแค่ 5 พัน กว่าบาท แต่อยู่อย่างคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกวัน

นอกจากปลูกผัก ปั่นจักรยาน ปัจจุบันวิสิษฐ์ยังรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาสัมผัสชีวิตธรรมชาติในพื้นที่โดยคิดค่ากางเต็นท์หลังละ 100 บาท ซึ่งเป็นรายได้เสริมที่ต้องการให้คนภายนอกเข้ามา สัมผัสธรรมชาติมากกว่าจะมุ่งหวังรายได้อย่างจริงจัง

ส่วนการจัดความรู้ในแปลงเกษตรที่ใช้ในพื้นที่ วิสิษฐ์เริ่มจากทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์เพื่อลดต้นทุนแทนการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อทำให้พืชผักที่ปลูกไว้ให้ผลผลิตสมบูรณ์ และรสชาติดี ขุดบ่อ 2 บ่อรองด้วยพลาสติกเลี้ยงปลาทับทิบ หาสาหร่ายให้ปลากินลดค่าอาหารปลา ใช้จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียและผสมอาหารให้ปลาทำให้ปลาแข็งแรงไม่มีโรค ทำสวนครัวรอบบ้าน แล้วใช้น้ำจากบ่อปลามารดเป็นน้ำปุ๋ยทำให้ ผักงามและปลอดสารพิษ เลี้ยงไก่ 5 ตัว เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนไว้บริโภคเอง ได้ไข่วันละ 3-4 ฟองจนกินไม่ทัน ใช้จุลินทรีย์บำบัดกลิ่นเหม็นในเล้าไก่และผสมจุลินทรีย์ในน้ำให้ไก่กินทำให้แข็งแรงไม่เป็นโรค

“ทุกวันนี้ผมมีความสุขมาก มีความ พอเพียงด้านอาหาร มีสุขภาพแข็งแรงเพราะกินอาหารไร้สารพิษซึ่งผมมองว่าสำคัญ เราต้องปลูกเพื่อกินให้ได้ก่อน ที่เหลือค่อยขาย คราวนี้ราคาจะขึ้นจะลงก็ช่างหัวมัน เพราะเรามีทั้งปลา ทั้งไก่ ไข่ ผักสวนครัว ผมถือว่านี่เป็นการค้าขายแบบ มีภูมิคุ้มกัน” วิสิษฐ์กล่าว

จากตัวอย่างของวิสิษฐ์และต้อย เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่จากโครงการเดียวกันแต่ก็มีความคิดแตกต่างกัน คนหนึ่งทำรายได้สูง อีกคนเน้นบริโภค แต่ไม่ว่าแบบไหนก็เป็นความคิดและความพอใจที่เกษตรกรแต่ละคนเป็นผู้กำหนดและทำให้เป็นจริงตามที่ตัวเองต้องการ

ดังนั้นหากจะย้อนกลับไปดูการวัดความสำเร็จของโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นมองเรื่องรายได้มาเป็นตัวจูงใจถือว่าประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับการสอนให้เกษตรกรคิดเองเป็น และภาพที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ยังช่วยอธิบายได้อย่างเห็นภาพด้วยว่า คำว่า “รายได้” ที่พูดถึงกันนั้นสามารถตีความได้กว้างไปถึงผลลัพธ์ดีๆ ที่เกิดแก่ตัวเกษตรกรในรูปแบบอื่นด้วย เช่น กินดีอยู่ดี มีความสุข ความพอเพียงพอใจ และความรู้สึกมั่นคงในชีวิต แม้กระทั่งการได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัวของเกษตรกรบางคน ดังตัวอย่างจริงของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ยกมาให้เห็น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.