|
แม่บ้านเฮ! เมื่อได้รับการคุ้มครอง
โดย
ศศิภัทรา ศิริวาโท
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
หากเราพูดถึงคำว่า แม่บ้าน หลายๆ ท่านอาจนึกถึงผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ลาออกจากการทำงานนอกบ้านมาคอยทำงานบ้านและเลี้ยงลูกแทน แต่คำว่า แม่บ้าน ในที่นี้หมายถึงบุคคลที่รับจ้างทำความสะอาดบ้านหรือดูแลความเรียบร้อยของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการกวาดบ้าน ซักผ้า ทำกับข้าว และไปซื้อของตามที่นายจ้างสั่ง อาชีพแม่บ้าน ถือว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่อยู่ในสังคมไทยมานาน เพราะเกือบทุกบ้านจะต้องมีแม่บ้านเป็นคนคอยดูแลบ้าน หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ที่คนส่วนใหญ่ย้ายไปอยู่คอนโด มิเนียมก็ยังมีคนเป็นจำนวนไม่น้อยเลยที่จ้างแม่บ้านสำหรับทำความสะอาดห้อง
อาชีพแม่บ้านมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก แต่ประเทศที่มีแม่บ้านเป็นจำนวนมากนั้นส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศจีน อินเดีย และเม็กซิโก เป็นต้น คนที่ทำงานเป็นแม่บ้านส่วนมากมักจะเป็นคนที่อยู่อาศัยในชนบทของประเทศนั้นๆ ที่ต้องการย้ายเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ หรืออาจจะเป็นแรงงานต่างด้าวที่ย้ายเข้ามาในประเทศเพื่อหางานทำ อย่างเช่นประเทศไทย คนที่ทำงานเป็นแม่บ้านส่วนใหญ่มักจะเป็นแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า หรือถ้าเป็นคนไทยก็จะเป็นคนไทยที่มาจาก ต่างจังหวัดที่เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ
ปัจจุบันหลายประเทศมักมีการจ้างคนงาน จากประเทศอื่นเข้ามาทำงานเป็นแม่บ้าน เพราะว่าคนในประเทศเหล่านี้ไม่นิยมทำอาชีพแม่บ้านแล้ว ทำให้หาคนมาทำอาชีพนี้ได้ยากมาก เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และประเทศส่วนใหญ่ใน ตะวันออกกลาง อาชีพแม่บ้านในประเทศเหล่านี้เป็น อาชีพที่มีความต้องการในตลาดแรงงานสูงมาก อย่าง เช่นที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีแม่บ้านอย่างน้อยหนึ่งล้านคนได้รับการจ้างงานในตอนนี้และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประเทศเหล่านี้มักจะหาคนงานต่างชาติจากประเทศฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย บังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา เอธิโอเปีย เวียดนาม และมองโกเลีย เข้าไปทำงานเป็นแม่บ้าน เพราะคนงานต่างชาติจากประเทศเหล่านี้หาได้ง่ายและจ่ายค่าจ้างได้ถูกกว่า
คนที่ทำงานในอาชีพแม่บ้านนั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิงแต่กลับได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย และทางสังคมน้อยมาก หรืออาจจะไม่ได้รับเลยก็ได้ ในบางประเทศ ทำให้แม่บ้านส่วนใหญ่มักจะถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง หรือการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ได้เงินเดือนน้อย ไม่มีวันหยุด ในบางกรณีอาจ ถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนายจ้างได้ เช่น ที่อเมริกา คนที่ทำงานเป็นแม่บ้านนั้นไม่ได้รับความคุ้มครองขั้นพื้นฐานจากกฎหมายแรงงานเหมือนกับอาชีพอื่นๆ
นอกจากนี้เวลาที่มีการตกลงกันในเรื่องของการทำงานนั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นการพูดคุยตกลงกันด้วยปากเปล่าว่า แม่บ้านจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ มีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง มีอาหารและที่อยู่ให้หรือไม่ และมีวันหยุดได้กี่วัน โดยส่วนใหญ่แล้วอาชีพ แม่บ้านจะไม่มีการเซ็นสัญญาการทำงานเหมือนกับอาชีพอื่นๆ
แม้ว่าในบางประเทศจะมีกฎหมายคุ้มครองคนที่เป็นแม่บ้าน และให้มีการเซ็นสัญญาจ้างงานกับแม่บ้าน แต่ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่ก็มักจะเพิกเฉยต่อกฎหมายเหล่านี้ เพราะเห็นว่าคนที่ทำอาชีพแม่บ้านมักจะเป็นคนที่มีการศึกษาน้อย และอาศัยอยู่ตามชนบท เป็นคนที่มาจากต่างประเทศ จึงมักไม่ค่อยรู้กฎหมายและไม่สามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้
เช่นที่ประเทศบราซิลกฎหมายกำหนดไว้ว่า ไม่ว่าบุคคลใดที่ต้องการจะจ้างแม่บ้านจะต้องมีการเซ็นสัญญาจ้างงาน และลูกจ้างจะต้องได้รับสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล วันหยุด และค่าจ้างขั้นต่ำเหมือนกับอาชีพต่างๆ แม้ว่าจะมีกฎหมายเป็นข้อบังคับว่าจะต้องมีการเซ็นสัญญา แต่ก็เป็นเรื่องปกติสำหรับคนบราซิลถ้าจะจ้างแม่บ้านโดยที่ไม่มีการเซ็นสัญญา เพราะผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่เชื่อว่า คนที่เป็นแม่บ้านเหล่านี้ไม่รู้กฎหมาย จึงไม่กลัวว่าจะถูก ฟ้องร้อง ซึ่งกรณีเหล่านี้มีอยู่น้อยมากที่แม่บ้านจะฟ้องร้องนายจ้างเพื่อเรียกร้องเงินชดเชยจากการที่ถูกเอาเปรียบด้วยสัญญาว่าจ้างปากเปล่า
อย่างที่ประเทศกัวเตมาลา ผู้หญิงส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นแม่บ้าน กฎหมายระบุไว้ว่าคนที่ทำอาชีพแม่บ้านนั้น จะมีเวลาทำงานเหมือนกับอาชีพอื่นๆ คือในหนึ่งวันจะต้องมีเวลาหยุดพักอย่างน้อย 10 ชั่วโมง และในหนึ่งอาทิตย์จะต้อง มีวันหยุดอย่างน้อยหนึ่งวัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่เป็นแม่บ้านส่วนใหญ่มักจะไม่มีวันหยุด และต้องทำงานอย่างหนักในแต่ละวัน เรียกได้ว่ามีเวลาได้หยุดพักน้อยมากๆ
เมื่อแม่บ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครองเทียบเท่ากับอาชีพ อื่นๆ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ทำให้ในการประชุม แรงงานระหว่างประเทศประจำปีนี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทางคณะกรรมการมีการประชุมกันเพื่อลงคะแนนในการผ่านอนุสัญญาให้คนที่ทำงานเป็นแม่บ้านได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายและสังคม เหมือนกับคนที่ทำงานในอาชีพอื่นๆ (The Convention Concerning Decent Work for Domestic Workers)
อนุสัญญาฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะกำหนดมาตรฐานสากลในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการ ทำงานของแม่บ้านมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก โดยจะมีการคุ้มครองทั้งเด็ก ผู้หญิง และผู้ชายที่ทำงานเป็นแม่บ้าน ด้วยการกำหนดชั่วโมงในการทำงานใน แต่ละวันว่าทำงานมากที่สุดได้กี่ชั่วโมง มีการรับรอง ว่าในแต่ละอาทิตย์แม่บ้านจะต้องมีวันหยุดเหมือนกับอาชีพอื่นๆ มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ มีการกำหนดอายุขั้นต่ำของคนที่จะทำงานเป็นแม่บ้านคือ อายุ 18 ปี เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องของแรงงานเด็ก หรือถ้าหากว่ามีการจ้างงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี นายจ้างจะต้องอนุญาตให้เด็กไปเรียนได้ตามปกติ และแม่บ้านจะได้รับความคุ้มครอง ถ้าหากว่าถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ
เรื่องการถูกทำร้ายร่างกายและถูกลวนลาม ทางเพศนั้นเป็นเรื่องที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่มีการป้องกันใดๆ ที่จะปกป้องคนที่เป็นแม่บ้านจากการถูกทำร้ายนี้ ทำให้บางประเทศถึงกับห้ามประชาชนออกไปทำงานเป็นแม่บ้านที่ต่างประเทศเลย เช่นประเทศอินโดนีเซีย มีการสั่งห้ามไม่ให้ประชาชน ออกไปทำงานเป็นแม่บ้านที่ประเทศมาเลเซียตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2554 เนื่องจากมีแม่บ้านเป็นจำนวนมากในมาเลเซีย ถูกทำร้ายร่างกายด้วยการโดนน้ำร้อนราด หรือโดนกรรไกรแทง ในบางกรณีก็มีการยึดหนังสือเดินทางของแม่บ้านไว้
จากกรณีนี้ทำให้ประเทศ มาเลเซียมีการทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ ว่า แม่บ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศมาเลเซียจะมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีขึ้น จะมีวันหยุดอย่างน้อยหนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศอินโดนีเซียก็มีคำสั่งออกมาอีกครั้งในการห้ามแม่บ้านไม่ให้ไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากแม่บ้านชาวอินโดนีเซียได้ทำการฆาตกรรมนายจ้าง เพราะถูกนายจ้างข่มขืน ทำให้แม่บ้านชาวอินโดนีเซียคนนี้ถูกตัดสินประหารชีวิต นอกจากนี้ยังมีนายจ้างชาวซาอุดีอาระเบียอีกหลายคนเช่นกันที่ต้องถูกลงโทษ เพราะทำร้ายร่างกายแม่บ้าน รัฐบาลอินโดนีเซียจึงเห็นว่าเป็นการไม่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในการไปทำงาน เป็นแม่บ้าน จึงตัดสินใจสั่งห้ามไม่ให้ไปทำงานและคำสั่ง นี้จะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อรัฐบาลทั้งสองประเทศได้ข้อตกลงในเรื่องการป้องกันและดูแลคนงานต่างด้าวที่เข้า ไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบียแล้ว
เมื่อเกิดกรณีความไม่เป็นธรรมกับแม่บ้านในที่ต่างๆ มากขึ้น จึงไม่น่าเป็นที่แปลกใจที่รัฐบาลและกลุ่ม ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับอนุสัญญาฉบับนี้ จึงทำให้อนุสัญญาฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 396 เสียงที่เห็นชอบให้ผ่าน และมีประเทศ และกลุ่มนายจ้างที่ไม่เห็นด้วยเพียง 16 เสียงเท่านั้น
สำหรับกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ขอ ออกเสียงในครั้งนี้อย่างประเทศอังกฤษก็ให้เหตุผลว่าอนุสัญญาฉบับนี้เป็นอะไรที่ลำบากมาก สำหรับรัฐบาลในการควบคุมดูแล โดยเฉพาะในข้อตกลงที่ต้องการให้มีการควบคุมชั่วโมงในการทำงาน และในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยให้เหมือนกับอาชีพอื่นๆ เนื่องจากอาชีพแม่บ้านจะต้องอยู่อาศัยในบ้านของนายจ้างเป็นส่วนใหญ่ การป้องกันเรื่องการทำร้ายร่างกายและการล่วงละเมิดทางเพศนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ
เมื่อการประชุมแรงงานระหว่างประเทศจบลง มีบางประเทศออกมาเปิดเผยแล้วว่า จะให้สัตยาบันในการปฏิบัติตามอนุสัญญานี้ โดยรัฐบาลจะกลับไป ดูกฎหมายของประเทศตัวเองว่า มีเนื้อหาในการปกป้องคุ้มครองแม่บ้านเหมือนกับอนุสัญญาหรือไม่ และถ้ายังขาดตรงไหนอยู่ก็จะทำการเพิ่มเติมลงไป เพื่อให้แม่บ้านได้รับการคุ้มครองจากทั่วโลกในแบบเดียวกัน
หากทุกประเทศนำอนุสัญญาฉบับนี้ไปปรับและบังคับใช้เป็นกฎหมายในแต่ละประเทศจะทำให้แม่บ้าน ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายและทางสังคม เพราะงานของพวกเขาเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อสังคมและครอบครัวที่พวกเขาทำงานด้วย
เมื่อแม่บ้านมีสภาพการทำงานที่ดีขึ้น งานที่ทำก็จะมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและความสัมพันธ์กับนายจ้างก็จะดีขึ้นไปอีกด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|