|
เกษตรอินทรีย์ ทางเลือกหรือต้องเลือก
โดย
ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลการสำรวจโดย Pesticide Action Network พบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากยาปราบศัตรูพืชราว 2 แสน คนทุกปี ขณะที่การสำรวจในอินเดียโดยกลุ่มกรีนพีซระบุว่า ประชากรในรัฐปัญจาบมียาปราบศัตรูพืชราว 6-13 ชนิด ตกค้างอยู่ในกระแสเลือด วิทยาการทางการเกษตรสมัยใหม่ที่รวมถึงการใช้ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช การปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว การใช้เครื่องจักรกลทุ่นแรงไปจนถึงเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการคัดสายพันธุ์หรือตัดแต่งพันธุกรรม อาจเคยช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแก่อินเดีย จนเรียกกันว่าเป็นยุคปฏิวัติเขียว แต่ในห้วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ชาวไร่ชาวนาจำนวนมากกำลังหาทางออกจากกับดักของการพึ่งสารเคมี กลับไปหาเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัยทั้งแก่คนปลูกและคนกิน
อินเดียก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลกล้วน เพาะปลูกเลี้ยงปากท้องและชุมชนด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) มานับพันปี จากเดิมที่เคยเพาะปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นซึ่งร่ำรวยในความหลากหลาย ใช้วัวควายไถนา อาศัยปุ๋ยจากมูลสัตว์ต่างๆ และทำไร่นาผสมผสาน นับจากช่วงทศวรรษ 1960 ที่เรียกกันว่ายุคปฏิวัติเขียว ปรัชญาทางการเกษตรได้เปลี่ยนไปสู่การเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ตามนโยบายส่งเสริมของรัฐบาล ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชเป็นดั่งเวทมนตร์วิเศษที่ชาวไร่ชาวนาใช้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งตามด้วยการใช้เมล็ดพันธุ์ผสมที่คัดสรรเพียงไม่กี่ชนิด
รัฐปัญจาบทางตอนเหนือของอินเดีย ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงผลพวงของยุคปฏิวัติเขียว ด้วยเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ ปัญจาบกลายเป็นแหล่งผลิตข้าวสาลี และธัญพืชสำคัญของอินเดีย ข้าวสาลีถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของตลาดภายในประเทศผลิตโดยรัฐที่มีพื้นที่เพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์ของประเทศแห่งนี้ แต่ผลพวงที่ตามมาคือที่ดินเพื่อการเกษตรราว 90 เปอร์เซ็นต์ของรัฐฉ่ำชุ่มไปด้วยสารเคมี และผล การสำรวจโดยกลุ่มกรีนพีซระบุว่า ประชากรในรัฐปัญจาบมียาปราบศัตรูพืชราว 6-13 ชนิด ตกค้างอยู่ในกระแสเลือด ขณะเดียวกันชาวไร่ชาวนาประสบปัญหาผลผลิตลดลงทุกปี ซึ่งผู้เชี่ยว ชาญด้านดินและน้ำหลายท่านต่างเห็นพ้องว่า ผืนดิน ของรัฐรับสารเคมีจนถึงจุดอิ่มตัว การอัดฉีดปุ๋ยจะไม่ช่วยอะไร และผลผลิตในอนาคตจะมีแต่ลดลง
ใช่ว่าชาวไร่ชาวนาจะไม่รู้ถึงสภาพการณ์นี้ พวกเขามักเปรียบปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชว่าเหมือน ‘nasha’ อันหมายถึง เหล้าหรือของมึนเมา ยิ่งใช้มาก ดินก็ยิ่งเสพติด แมลงศัตรูพืชก็ยิ่งดื้อยา อัดฉีดเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ ซึ่งเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมอุตสาหกรรมยาปราบศัตรูพืชของอินเดียจึงใหญ่เป็น อันดับสี่ของโลก อันที่จริงสารเคมีหลายชนิดที่ใช้ในการเกษตรของอินเดีย ถือเป็นสารต้องห้ามในหลาย ประเทศ เช่น ดีดีทีและสารคาร์ไบด์ที่ใช้รมควันมะม่วง
เกษตรกรจำนวนมากตระหนักถึงผลร้ายของ สารเคมีเหล่านี้และเรียกมันว่ายาพิษ แต่ไม่รู้จะกลับ ลำเช่นไร ชาวไร่จำนวนไม่น้อยจะแบ่งที่ดินแปลงหนึ่ง ไว้ปลูกข้าวหรือข้าวสาลี รวมทั้งพืชผักสวนครัวสำหรับกินในครัวเรือน โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ และปลูกด้วยพันธุ์ท้องถิ่นที่ยังหลงเหลืออยู่ ส่วนแปลงที่ปลูกเพื่อขายก็เดินหน้าอัดฉีดปุ๋ยและยาเคมีเต็มสูบเพื่อเร่งผลผลิต ขณะเดียวกันมีเกษตรกรบางรายที่กล้าพอจะทวนกระแส หันมาใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ และขายผลผลิตโดยไม่พึ่งระบบตลาดหรือพ่อค้าคนกลาง ตัวอย่างเช่น ฮาร์เตจ เมห์ธา ชาวไร่อำเภอ บาธินดาของปัญจาบ ซึ่งตั้งราคาข้าวสาลีออร์แกนิกของเขาเป็นสองเท่าของราคาตลาด แต่ก็มีลูกค้าที่พร้อมจ่ายบอกกันปากต่อปาก และสั่งจองกันตั้งแต่ผลผลิตจากไร่ขนาดสองเอเคอร์ของเขายังไม่ทันเก็บเกี่ยว
เหตุผลที่เกษตรกรจำนวนมากไม่พร้อมจะหวนสู่เกษตรอินทรีย์ เป็นเพราะไม่มีทุนรอนสำหรับยังชีพในช่วงต่อสองสามปีแรกที่ผลผลิตต่อไร่จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อไม่อัดฉีดด้วยปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช เหตุเพราะระบบชีวภาพในดินต้องอาศัยเวลาฟื้นตัวหลังถูกรดอาบด้วยสารเคมีมานาน นอกจากไม่มีทุนสำรองไว้ยังชีพ เกษตรกรจำนวนมากยังมีหนี้สินก้อนโตที่เกิดจาก ค่าใช้จ่ายที่หมดไปกับเมล็ดพันธุ์ติดยี่ห้อบรรษัทข้ามชาติ ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชนั่นเอง นัยหนึ่งพวกเขาจำเป็นต้องใช้ยาพิษเพื่อทำเงินไว้จ่ายค่ายาพิษ
ขณะเดียวกันรัฐบาลอินเดียก็ไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ และยังคงใช้เงิน งบประมาณก้อนมหาศาลอุดหนุนราคาปุ๋ยเคมี เช่น ปุ๋ยยูเรียขนาด 50 กิโลกรัม ราคากระสอบละ 2,300 รูปี รัฐบาลก็ใช้เงินอุดหนุนให้เกษตรสามารถซื้อได้ในราคาเพียง 480 รูปี ในช่วงปี 2007-2008 รัฐบาลอินเดียจัดสรรงบประมาณไว้อุดหนุนปุ๋ยเคมีถึง 224 แสนล้านรูปี แต่มีงบอุดหนุนเกษตรอินทรีย์เพียง 4 พันล้านรูปี
กระนั้นก็มีสัญญาณที่ดีจากรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐเล็กๆ อย่างสิกขิมและหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ที่มีนโยบายทำรัฐของตนให้เป็น Organic State สิกขิม มีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมชัดเจนมาก่อนใคร เช่นที่เริ่มประกาศห้ามการใช้ถุงพลาสติกและการทิ้งขยะเคมีและสารพิษมาตั้งแต่ปี 1997 ทั้งวางเป้าหมาย ให้เกษตรกรรมในรัฐ ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่คือขิงและส้ม เป็นเกษตรอินทรีย์โดยสิ้นเชิง ภายในปี 2015 โดยให้การ อุดหนุนทั้งด้านการเงินและความรู้แก่เกษตรกรที่ยินดีจะ หันมาทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งมีแผนสร้างศูนย์บรรจุหีบห่อ พร้อมห้องเย็น 5-6 แห่ง เพื่อให้ผลผลิตคงความสดอยู่จนกว่าจะถึงตลาด ส่วนหมู่เกาะอันดามันฯ ประกาศนโยบาย Organic Mission เมื่อกลางปีก่อน โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จภายในห้าปี ข้อได้เปรียบของรัฐทั้งสองในเรื่องนี้คือ เป็นรัฐขนาดเล็กและที่ดินทางการเกษตรส่วนมากยังไม่ได้ผ่านสารเคมีจนเกินแก้
สำหรับรัฐขนาดใหญ่ที่มีนโยบายสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ รัฐหิมาจัลประเทศ และพิหาร ส่วนรัฐใน ภาคใต้ องค์กรเอกชนหลายแห่งได้สร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกรมากว่าสามทศวรรษ
ดร.จี นัมมัลวาร์ ชาวไร่และผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เป็นผู้หนึ่งที่เผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรในรัฐทมิฬนาฑู และรัฐเพื่อนบ้านอย่างเกรละ มหาราษฎระ อานธรประเทศ และกรณาฏกะ อย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปีเขาพบว่า นับวันจะมีเกษตรกรที่ต้องการหันมาทำเกษตร อินทรีย์มากขึ้น ด้วยเหตุผลหลักคือ พวกเขาตระหนักว่า เกษตรที่พึ่งสารเคมีไม่ใช่วิถีที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม มีราคาแพง สร้างหนี้สินมากกว่ารายได้ ทั้งก่อปัญหาในการส่งออกเพราะปัจจุบันตลาดยุโรปและอเมริกาล้วนมีมาตรฐานด้านนี้สูง ขณะเดียวกัน ประสบการณ์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ได้สั่งสมมา จนถึงจุดที่ชาวไร่ชาวนาไม่จำเป็นต้องเผชิญกับช่วงต่อที่สูญเสียรายได้ยาวนานอีกต่อไป
รัฐบาลอินเดียนอกจากต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่เฉพาะหน้า อย่างราคาอาหารที่สูงขึ้น (Food Inflation) ยังมีโจทย์ใหญ่ระยะยาวเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ที่ต้องวางนโยบายและมาตรการที่รอบคอบ กระนั้น ความมั่นคงทางอาหารที่แท้ คงไม่ใช่มั่นคงแต่เรื่องปริมาณ หากควรรวมถึงคุณภาพของอาหาร ดังนั้น เกษตรอินทรีย์จึงไม่ใช่แค่เกษตรทางเลือก แต่เป็นวิถีที่ต้องเลือก เพื่อความอยู่ดีมีสุขที่ยั่งยืนและสุขภาพที่ดีของคนปลูก คนบริโภค และผืนโลก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|